พล็อตแบบไหนก็รอด! 
เติม 3 ข้อบกพร่องให้ตัวละครลูกรักของเรากัน

 

แย่แล้วๆ ใครที่เขียนนิยายแล้วรู้สึกว่าตัวละครเพอร์เฟ็กต์เกินไป ต้องหยุดเขียนด่วนๆ เลย ถึงนักอ่านหลายๆ คนจะชอบตัวละครที่เก่งขั้นเทพ จะเกิดใหม่แล้วรู้อนาคต หรืออัปสกิลจนเก่งขนาดไหน แต่ถ้าตัวละครของเราดันสมบูรณ์แบบเกินไป ไม่มีอุปสรรคหรือข้อบกพร่องมาขัดขวางตัวละครซะบ้าง ก็เตรียมโบกมือลานักอ่านของเราไปได้เลย เพราะตัวละครที่เก่งเกินไปก็ทำให้นักอ่านเบื่อได้เหมือนกัน มาลองดูกันว่า ข้อบกพร่องที่ทำให้ตัวละครของเราน่าสนใจนั้น มีอะไรบ้าง 

via unsplash.com
via unsplash.com

3 ข้อบกพร่องง่ายๆ ที่ทำให้ตัวละครน่าสนใจมากขึ้น

1. ข้อบกพร่องทางกายภาพ

แน่นอนว่าข้อบกพร่องที่อธิบายความไม่สมบูรณ์แบบของตัวละครได้ดีที่สุด ก็คือ ร่างกายที่แตกต่างกัน นั่นเองค่ะ ในทุกๆ สังคมจะมีบรรทัดฐานเกี่ยวกับความสวยความงามที่แตกต่างกันอยู่แล้ว แต่เราจะเขียนให้ตัวละครของเรามีข้อบกพร่องที่น่าสนใจได้ยังไงล่ะ มาดูกัน 

  1. ทำให้ตัวละครมีทัศนคติเชิงบวกต่อข้อบกพร่อง 

เชื่อไหมว่าทัศนคติของตัวละครที่มีต่อข้อบกพร่องของตัวเอง สามารถดึงดูดความสนใจจากนักอ่านได้ง่ายๆ เพียงแค่ตัวละครเหล่านั้น “ยอมรับในตัวเอง” เท่านั้นเองค่ะ ไม่ว่ารูปร่างของตัวละครจะอ้วนหรือผอม จะเตี้ยหรือสูง หากพวกเขาดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ ความคิดเห็นด้านลบจากคนอื่นๆ ก็เป็นเพียงแค่เรื่องตลกในชีวิตเท่านั้นเองค่ะ สิ่งที่ขับเคลื่อนตัวละครที่มีข้อบกพร่องให้ไปได้ไกล ก็คือ ความคิดในแง่บวก และการดำเนินชีวิตที่ทำให้เห็นภาพสะท้อนจากคนอื่นๆ นั่นเอง เมื่อตัวละครยอมรับในตัวเองแล้ว ก็จะนำไปสู่ข้อต่อไปเลยค่ะ

2. ค้นหาความงามในสายตาของคนอื่น 

เมื่อตัวละครพอใจในตัวเองแล้ว ในสายตาของคนอื่น มองว่าข้อบกพร่องนั้นเป็นอย่างไรบ้าง นี่แหละคือโจทย์ที่ยากที่สุดของข้อนี้ ไม่ใช่แค่เพียงว่าตัวละครคนนี้อ้วน เลยไม่ถูกรัก หรือตัวละครมีความรักเลยอยากผอมเท่านั้น เราต้องตีโจทย์ด้วยการทำให้ข้อบกพร่องนั้นเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายและจิตใจ 

ตัวอย่าง ตัวละครออกัสต์ พูลล์แมน จากเรื่อง Wonder ที่เกิดมาพร้อมกับโรค Treacher Collins จนทำให้กระดูกโครงหน้ามีความผิดปกติ เด็กชายต้องใช้ชีวิตอย่างเหงาๆ อยู่ในการดูแลของครอบครัว จนวันหนึ่งได้ไปโรงเรียน เพื่อนในวัยเดียวกันเห็นหน้าก็เกิดความกลัว และบางคนก็บูลลี่เขา แต่เชื่อไหมว่าเรื่องราวไม่ได้แย่อย่างที่คิด เพราะมันทำให้เราได้เห็นความรักของครอบครัว พี่น้อง และมิตรภาพของเด็กๆ ในเรื่องได้อย่างดีทีเดียว 

ตัวละครออกัสต์ พูลล์แมน จากเรื่อง Wonder ที่เกิดมาพร้อมกับโรค Treacher Collins กระดูกโครงหน้าเกิดความผิดปกติ
ตัวละครออกัสต์ พูลล์แมน จากเรื่อง Wonder ที่เกิดมาพร้อมกับโรค Treacher Collins กระดูกโครงหน้าเกิดความผิดปกติ

2. ข้อบกพร่องทางอารมณ์หรือบุคลิกภาพ

ข้อบกพร่องของตัวละครทางอารมณ์ เป็นได้ทั้งตัวดึงดูดความสนใจ และสาเหตุของความขัดแย้งต่างๆ ภายในเรื่องได้ค่ะ หากเราต้องการเสริมข้อบกพร่องนี้ จะต้องพิจารณาพื้นฐานอารมณ์ของตัวละครก่อนว่า สามารถเริ่มต้นอารมณ์ไปทางบวกได้อย่างไร และสามารถปลี่ยนแปลงอารมณ์ไปทางลบได้อย่างไร ลองพิจารณาจากคุณสมบัติเหล่านี้ดูค่ะ

ข้อบกพร่องของตัวละคร : ต้องการครอบครอง 

อารมณ์ด้านบวก : ปรารถนาต่ออีกฝ่าย ให้ความสนใจต่อคนที่ชื่นชอบ 

อารมณ์ด้านลบ : อึดอัดที่จะต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรือหายใจร่วมกัน 

ข้อบกพร่องของตัวละคร : หลงตัวเอง 

อารมณ์ด้านบวก : แข็งแกร่ง และเด็ดขาด มีความมั่นใจในตัวเอง 

อารมณ์ด้านลบ : โฟกัสแค่ตัวเอง ขาดความเอาใจใส่ต่อผู้อื่น หยิ่งผยอง

ข้อบกพร่องของตัวละคร : ขี้อาย

อารมณ์ด้านบวก : มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีอารมณ์อ่อนไหว 

อารมณ์ด้านลบ : ไม่รักตัวเอง เปราะบาง อ่อนแอ 

ข้อบกพร่องของตัวละคร : ต้องการการควบคุม

อารมณ์ด้านบวก : มีความรับผิดชอบ น่าเชื่อถือ และมีวินัย

อารมณ์ด้านลบ : เคร่งครัด ครอบงำผู้อื่น ชอบมีบทลงโทษ

จากตัวอย่างที่ยกมา เราสามารถเอาไปจำลองใช้เวลาสร้างคาแรคเตอร์ตัวละครได้เลยค่ะ คุณสมบัติทั้งสองด้านนี้ มีประโยชน์มากๆ ตรงที่ถ้าเราอยากแสดงให้เห็นว่า ตัวละครเปลี่ยนผ่านความเกลียดชังไปสู่การรักกันได้อย่างไร หรือในทางกลับกัน ตัวละครที่ขี้อายสามารถทำให้ผู้อื่นตกหลุมรักได้อย่างไร เราสามารถใช้ข้อบกพร่องที่ตรงข้ามกันนี้นำมาอธิบายได้ค่ะ

 

3. ข้อบกพร่องของตัวละครอุดมการณ์

ไม่ว่าจุดยืนทางอุดมการณ์ของเราจะเป็นแบบไหน แต่จงจำไว้ว่า อุดมการณ์ของตัวละครอาจเป็นได้ทั้งข้อบกพร่อง และเป็นตัวดึงดูดคนอื่นได้ เช่น ชายหญิงคู่หนึ่งออกเดทกัน พวกเขามีความชอบเหมือนๆ กัน และถูกใจกัน แต่มีความแตกต่างอยู่ที่อุดมการณ์ของพวกเขา อาจเป็นนโยบายรัฐ พรรคการเมือง แนวคิดทางครอบครัว และอุดมการณ์ต่างๆ เป็นต้น ความแตกต่างเหล่านี้ เป็นข้อบกพร่องของตัวละครแต่ละตัวจากจุดที่พวกเขาเกิดและเติบโตมานั่นเองค่ะ 

ดังนั้น ตัวละครของเราอาจจะเจอคนที่มีอุดมการณ์ที่น่าสนใจในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป มุมมองเหล่านี้ก็อาจสร้างความขัดแย้งได้เช่นกัน 

ถามว่าทำไมเราถึงต้องทำให้อุดมการณ์เป็นข้อบกพร่อง? เพราะอุดมการณ์เป็นความคิด แนวคิดเชิงลึกที่เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ เช่น สภาพแวดล้อม การศึกษา การเติบโต ประสบการณ์ เป็นต้น เมื่อตัวละครมีอุดมการณ์เกิดขึ้นแล้ว พวกเขาจะยึดมั่นและแน่วแน่กับแนวคิดนั้นๆ และต้องใช้เวลานานเหมือนกัน กว่าจะเปลี่ยนความคิดต่างๆ ได้ 

ฉะนั้น ข้อบกพร่องทางอุดมการณ์จึงไม่ได้หมายถึงสิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิด แต่เป็นการสร้างแรงดึงดูด และแรงผลักดันให้ตัวละครมีแนวทางของตัวเอง นั่นเอง 

 

เป็นยังไงบ้างคะ ทริคง่ายๆ 3 ข้อนี้ พอจะเอาไปเติมในตัวละครของเราได้ไหม ถ้าใครยังนึกคาแรคเตอร์ตัวละครไม่ออกก็ลองเอาวิธีในข้อ 2 ไปลองใช้ได้นะคะ ตั้งค่าตามตัวอย่างที่ยกมาได้ง่ายๆ เลยค่ะ รับประกันให้เลยว่าพล็อตแบบไหนก็รอด ถ้าใช้ 3 ทริคนี้ช่วย! 

แต่หากใครกำลังมองหาเคล็ดลับอื่นๆ เพิ่มเติม คลิกลิงก์ด้านล่างนี้แล้วไปตะลุยทริคดีๆ จากทีมงานเด็กดีได้เล้ยยยย 

เคล็ดลับนักเขียน

พี่แนนนี่เพน

 

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด