7 คำแนะนำง่ายๆ ถ้าอยากเขียนนิยายจบเรื่อง! 

 

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้กล่าวว่า “Everything should be made as simple as possible, but not simpler.” เราควรทำทุกๆ สิ่งให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องไปง่ายจนเกินไป 

การเขียนนิยายก็เช่นกันค่ะ ถึงเราจะสามารถเขียนนิยายจบได้แค่วางพล็อตให้จบเรื่อง แต่มันก็ไม่ได้ง่ายถึงขนาดว่า ‘นั่งลงแล้วเขียน’ ก็จบกระบวนการได้เลย ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง เราคงไม่มาอ่านบทความนี้กันแน่นอน เพราะเราต่างก็รู้กันว่าการเขียนนิยายให้จบเรื่องมีกระบวนการที่ซับซ้อนกว่าที่คิด ไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่าระหว่างทางเราจะเจอปัญหาที่กลายมาเป็นอุปสรรคในรูปแบบไหนบ้าง แต่ถ้าใครมาอ่านบทความนี้เพราะอยากจะเขียนนิยายให้จบเรื่องจริงๆ เราก็มีคำแนะนำดีๆ ให้นำไปลองใช้กันค่ะ

via :
via : pixabay

#1 สรุปแนวคิดพล็อต  

ใช้ช่วงเวลาไหนก็ได้ที่เราว่างสรุปแนวคิดพล็อตนิยายของเราให้ครบถ้วน ดูว่าแนวเรื่องของเราเป็นแบบไหน แล้วเลือกเรื่องราวที่เราอยากจะอ่านมากที่สุดก่อนเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเราอยากจะเขียนนิยายให้จบเรื่อง เราต้องเขียนจากเรื่องที่เราหลงใหล เป็นเรื่องที่เราชอบจนหยุดจินตนาการไม่ได้ ถ้าเราหาไอเดียที่ทำให้เราชอบนิยายของเราเจอแล้ว เราก็จะลุยต่อได้เรื่อยๆ มีแรงใจมาเขียนต่อจนจบได้แน่นอน แต่ถ้าลองสรุปแนวคิดดูแล้ว เรื่องที่เขียนอยู่ดูไร้แรงบันดาลใจชอบกล ก็ต้องพิจารณาแล้วว่าจะเขียนต่อไปหรือกลับไปรีไรต์ให้เป็นในแบบที่เราชอบอ่าน 

Key Message : ต้องชอบเรื่องที่เขียนถึงจะไปต่อได้ ถ้าไม่มีต้องหาให้เจอ 

 

#2 รู้ว่าตัวเองเป็นนักเขียนสายไหน

สตีเฟ่น คิง กล่าวว่า “Put interesting characters in difficult situations and write to find out what happens.” ให้เราใส่ตัวละครที่น่าสนใจในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และเขียนเพื่อหาว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง 

คำแนะนำนี้ช่วยให้เราพิจารณาตัวเองได้เลยว่า เราเป็นนักเขียนสายไหน?

ถ้าเราเป็นสายสร้างพล็อต ร่างโครงเรื่อง วางแผนทุกอย่างก่อนที่จะเริ่มต้นเขียนนิยาย เราต้องรู้จักตัวละครของเรา และสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขาตั้งแต่ต้นจนจบ

แต่ถ้าเราเป็นสายด้นสดที่เริ่มต้นด้วยแนวคิด ตัวละคร และไอเดียต่างๆ เราจะเขียนไปตามเส้นทางที่เราวาดไอเดียเอาไว้ และจะเกิดอะไรขึ้นกับตัวละครของเราก็ได้ 

แต่ไม่ว่าเราจะเป็นนักเขียนสายไหน หรือสุดท้ายเราจะเป็นนักเขียนทั้งสองสาย แต่การจะเขียนให้จบต้องพึ่งกฎ 70:30 เอาไว้ 

ในแง่ของการเป็นสายสร้างพล็อต เมื่อมีโครงร่าง (70) แล้ว เราต้องไม่ลืมว่าไอเดียระหว่างทาง (30) สำคัญแค่ไหน แต่ถ้าหากเราเป็นสายด้นสด เราก็ต้องไม่ลืมว่าจินตนาการ (70) อาจทำให้เราออกนอกทะเลได้ เพื่อป้องกันจินตนาการที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เราก็ควรมีพล็อตคร่าวๆ (30) เอาไว้ด้วยเช่นกัน 

Key Message : ต้องรู้ว่ากำลังเขียนไปสู่จุดจบแบบไหน ถ้าไม่มีรีบร่างด่วนๆ 

 

#3 รู้จักตัวละครให้เหมือนเพื่อนสนิท

ตัวละครสำคัญกับการเขียนนิยายให้จบเรื่องยังไง? ถ้ายังนึกไม่ออกลองลิสต์ตัวละครสำคัญในนิยายมาสัก 3 ตัวละคร แล้วมาตอบคำถามเหล่านี้กัน

  • ตัวละครต้องการอะไร? มีเป้าหมายในเรื่องอย่างไร?
  • มีสิ่งใด หรือใคร ที่ขัดขวางเป้าหมายของตัวละคร เพราะเหตุใด?
  • ตัวละครทำอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น?
  • ตัวละครมีบทบาทในเนื้อเรื่องหลักอย่างไร?

ถ้าตอบคำถามเหล่านี้ได้ หมายความว่าเรารู้จักตัวละคร และเส้นเรื่องของเราดีมาก แต่ถ้ายังมีส่วนไหนที่นึกไม่ออก เราอาจจะต้องกลับไปทบทวนเนื้อหานิยายของเราอีกรอบว่าเราทำพลาดไปตรงไหน เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าตัวละครของเรามีจุดอ่อนหรือจุดแข็งตรงไหน เราจะพาตัวเองและคนอ่านติดตามตัวละครเหล่านั้นไปจนจบเรื่องได้อย่างไร

Key Message : ต้องรู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวละครถึงจะพาตัวละครไปหาจุดจบได้

 

#4 ผลักดันให้ครบตามองค์ประกอบ 

ไม่ว่าพล็อตนิยายของเราจะเป็นแบบไหน เป้าหมายหลักของเรายังเป็นการดึงดูดนักอ่านด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ และชวนให้อยู่ด้วยกันจนกว่าจะเขียนจบเรื่องอยู่ดี

หากตอนนี้เรายังตัน คิดไม่ออกว่าจะพานิยายของเราไปจนถึงตอนจบได้ยังไง ลองผลักดันตัวละครของเราให้เป็นไปตามองค์ประกอบกันก่อน ถ้ายึดตามองค์ประกอบที่สำคัญ ลองเช็คลิสต์ดูว่าตอนนี้นิยายของเราดำเนินเรื่องมาถึงตอนไหนกันแล้ว 

  • ช่วงเปิดเรื่อง : เราชวนให้ทุกคนได้รู้จักกับตัวละครผ่านสภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์ต่างๆ ในสังคม
  • ช่วงผูกปม : เราผลักตัวละครหลักไปสู่ปัญหาที่เลวร้าย
  • ช่วงดำเนินเรื่องและคลี่คลายเรื่อง : ตัวละครพยายามแก้ปัญหาแต่เรื่องราวกลับไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
  • ช่วงไคล์แม็กซ์ : ตัวละครเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหา และหาทางออกจากปัญหาเหล่านั้น
  • ช่วงจบ : เราให้ตัวละครได้รู้ทุกอย่าง และมอบเส้นชัยให้ในท้ายที่สุด

ตัวอย่างที่ยกมาเช็คลิสต์ ทำให้เรามองเห็นภาพรวมของนิยายเรามากขึ้นบ้างไหม ถ้าเราลองเช็คดูแล้วเหลือช่วงไหนที่เรายังไม่ได้ทำบ้าง ก็รีบเข้าไปจัดการร่างพล็อตคร่าวๆ เอาไว้ก่อน แล้วลุยกันต่อจนกว่าจะเขียนจบกัน! 

Key Message : ต้องรุ้ภาพรวมนิยายและเติมเต็มส่วนที่เหลือให้สมบูรณ์ 

 

#5 ไม่เขียนมั่ว

หนึ่งในคำแนะนำที่สำคัญและขาดไม่ได้เลยคือ การหาข้อมูลสำหรับเขียนนิยาย ไว้ล่วงหน้า แม้ว่าเราจะไม่ได้เขียนอ้างอิงประวัติศาสตร์ แต่การศึกษาหาข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับนิยายเอาไว้ก่อน จะทำให้เรามีเรื่องราวที่อยากเล่าและเขียนเล่าออกมาได้เร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาไปหาข้อมูลและทำความเข้าใจในภายหลัง 

เคล็ดลับที่แนะนำให้ใช้มากที่สุดก็คือ การอ่านนิยายที่เป็นแนวเรื่องเดียวกัน ทริคนี้ช่วยให้เรามองเห็นภาพของแนวนิยายที่เราเขียนชัดเจนมากขึ้น รู้ว่าการดำเนินเรื่องแนวนั้นๆ มีความเฉพาะเจาะจงในเรื่องไหนบ้าง ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเอาไอเดียเหล่านั้นมาใช้ทั้งหมด แค่อ่านให้เห็นแนวทาง และสร้างนิยายในแบบที่เป็นตัวเราขึ้นมาก็พอ 

Key Message : ต้องมีความรู้ในเรื่องที่เขียน 

 

#6 เขียนให้แย่ที่สุด

ท้าทายตัวเองด้วยการเขียนนิยายออกมาตามจำนวนคำหรือตัวอักษร ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเขียนออกมาให้ได้กี่หน้า โดยไม่สนใจว่าจะเขียนออกมาเป็นแบบไหน แค่เขียนร่างคร่าวๆ ของตอนถัดไปออกมาให้หมด ยิ่งถ้าตอนนั้นๆ เราเขียนไม่ออก ยิ่งต้องเขียนออกมาให้ได้ 

ไม่ต้องกังวลว่าร่างนั้นจะออกมาแย่ เพราะมันจะแย่แน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะได้จากการทำแบบนี้ก็คือ การปลดปล่อยไอเดียที่พลุ่งพล่านจนไม่สามารถหยิบจับอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอันได้ ให้มีตัวตนบนหน้ากระดาษว่างเปล่านั่นเอง

แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากจะเขียนร่างนิยายออกมาให้ดี จะได้ไม่ต้องเสียเวลามานั่งแก้ไข แต่ลองคิดในมุมกลับกันว่า ระหว่างเขียนไอเดียที่อาจจะดูแย่ออกมาให้หมด กับ นั่งจ้องหน้าเวิร์ดที่ว่างเปล่า แบบไหนจะทำให้เรามีไอเดียมาเขียนนิยายต่อได้กัน 

Key Message : เขียนออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะเขียนได้ (ได้ทำดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย)

 

#7 อย่ายอมแพ้

นักเขียนทุกคนล้วนมีอุปสรรคเป็นของตัวเอง แม้แต่นักเขียนชื่อดังที่ตีพิมพ์นิยายมาแล้วหลายเรื่องก็ยังมีช่วงเวลาที่ยากลำบากเหมือนกัน ไม่มีใครบอกเราได้ว่าจะต้องใช้เวลานานแค่ไหนกว่าจะเขียนนิยายให้จบเรื่องได้ มีแค่เราเท่านั้นที่รู้ว่านิยายของเราเป็นยังไง แล้วเราพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้นิยายของเราจบเรื่องได้หรือไม่ คำตอบทั้งหมดนี้อยู่ที่เราแล้ว ถ้าเรายังอยากเดินบนเส้นทางนักเขียนก็อย่าเพิ่งยอมแพ้จนกว่าจะเขียนนิยายจบ!

Key Message : ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น 

 

เป็นยังไงกันบ้างเอ่ย? อ่านจบแล้วพอจะมีไอเดียกลับไปเขียนนิยายให้จบเรื่องได้บ้างไหม แต่ละคำแนะนำที่เอามาฝากในวันนี้ แม้จะไม่ใช่กิจวัตรประจำวันอย่างเช่น การเขียนนิยายทุกวัน หรือ การมีวินัยในการเขียน แต่คำแนะนำเหล่านี้ช่วยให้เราค้นเจอจุดบอดที่ทำให้เราเขียนนิยายไม่ถึงไหนได้แน่นอน และพี่เชื่อมากๆ ว่าถ้าใครทำตามคำแนะนำได้ จะต้องเขียนได้เร็วขึ้น และเขียนจบได้ในเร็ววันนี้แน่ๆ เอาเป็นว่าหยิบคำแนะนำมาสักหนึ่งข้อ แล้วมาเริ่มเขียนนิยายกันเลย มา!  

เริ่มเขียนนิยาย

พี่แนนนี่เพน 

 

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

beltza Member 16 เม.ย. 64 21:15 น. 1

ข้อ6 เป็นวิธีที่เราใช้บ่อยที่สุด.. บางทีบทมันวิ่งพล่านอยู่ในหัว แต่ไม่สามารถสื่อประโยคดีๆออกมาได้ เลยต้องพิมพ์ไปเรื่อย ผิดมั่งถูกมั่ง ดีมั่งไม่ดีมั่ง แล้วค่อยมาเรียบเรียงใหม่

0
กำลังโหลด

1 ความคิดเห็น

beltza Member 16 เม.ย. 64 21:15 น. 1

ข้อ6 เป็นวิธีที่เราใช้บ่อยที่สุด.. บางทีบทมันวิ่งพล่านอยู่ในหัว แต่ไม่สามารถสื่อประโยคดีๆออกมาได้ เลยต้องพิมพ์ไปเรื่อย ผิดมั่งถูกมั่ง ดีมั่งไม่ดีมั่ง แล้วค่อยมาเรียบเรียงใหม่

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด