10 เทคนิค เขียนบทสนทนาอย่างไรให้เป็นธรรมชาติ

10 เทคนิค เขียนบทสนทนาอย่างไรให้เป็นธรรมชาติ    

 

ไม่ว่าคุณจะเขียนนิยายในหมวดไหน การเรียนรู้วิธีเขียนบทสนทนาให้เป็นธรรมชาติน่าอ่านนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับนักเขียนทุกคน ถ้าเขียนบทสนทนาไม่สนุก คนอ่านก็จะเบื่อ แต่ถ้าบทสนทนาสนุก เป็นธรรมชาติ ทำให้คนอ่านเชื่อว่าเหมือนเป็นคนจริงๆ ในชีวิตคุยกัน เท่ากับคุณทำให้คนอ่านพอใจแล้ว  

แน่นอนบทสนทนาที่ดีไม่จำเป็นต้องน่าเชื่อถือหรือเป็นมนุษย์จริงๆ เสมอไป มันอาจจะเขียนเว่อร์ๆ ตลกๆ หรือดราม่าเกินจริงก็ได้ แต่บทสนทนานั้นต้องพาตัวเรื่องไปข้างหน้าให้ได้ ถ้าไม่มีบทสนทนา เขียนแต่คำบรรยายพรรณนาวนๆ ไป ตัวละครเงียบกริบ คนอ่านเบื่อสุดๆ แน่นอน  

เพราะบทสนทนาเป็นส่วนประกอบสำคัญของการเขียนนิยาย เราอยากให้คุณเขียนออกมาให้ดี น่าสนใจน่าอ่าน เรามาดูกันดีกว่าว่ามีเทคนิคอะไรดีๆ สร้างบทสนทนาให้เป็นธรรมชาติลื่นไหล  

 

1 บทสนทนาที่มีเป้าหมาย

มีคำกล่าวว่า บางทีชีวิตที่มีแต่น้ำก็น่าเบื่อ อยากตัดไปตอนเนื้อข้นๆ จัง ก็เหมือนกัน บทสนทนาที่ดีนั้นควรสมจริงก็จริง แต่ไม่ใช่แปลว่าจะปล่อยให้เยอะแยะจนน่าเบื่อ ควรจะตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออก และใส่แต่เนื้อหาใจความสำคัญๆ เพื่อให้คนอ่านได้เสพแต่สิ่งที่สำคัญต่อเนื้อเรื่อง

2 คำพูดธรรมดาเรียบง่าย  

ถ้าเขียนให้มันเว่อร์วังเกินไป คนอ่านอาจจะรู้สึกว่าไม่คุ้นเคย ไม่เหมือนสิ่งที่พบเจอ เวลาบรรยายพยายามเขียนให้เรียบ  

3 บรรยายการกระทำแทรก  

เป็นเทคนิคที่น่าสนใจ คุณควรบรรยายการกระทำแทรกบทสนทนาไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าตัวละครกินข้าวอยู่ ให้ลองเขียนสลับดู เช่น “...” เขาพูดจบก็ดื่มน้ำ มันจะแสดงให้เห็นการเคลื่อนไหวด้วย ไม่ใช่เขียนแค่บทสนทนาเพียวๆ อย่างเดียว หรือเขียนแค่ เขาพูด เขาบอก เขาว่า  

4 บทสนทนาของแต่ละตัวละครควรแตกต่างเป็นเอกลักษณ์

อีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการเขียนบทสนทนาคือ แต่ละตัวละครควรเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่ทุกคนพูดจาเหมือนกันหมด บางตัวละครอาจจะตลก บางตัวละครอาจจะมั่นใจในตัวเอง บางตัวละครอาจจะชอบซักถาม ถ้าเราสร้างความแตกต่างของแต่ละตัวละครได้ จะทำให้เรื่องมีเสน่ห์  

5 พัฒนาความสัมพันธ์ตัวละคร  

บทสนทนาเป็นเครื่องมือที่แสดงให้เห็นพัฒนาการความสัมพันธ์ของตัวละครได้ดีในภาพรวม จำไว้ว่า บทสนทนาที่ดีสร้างความสัมพันธ์ และยังทำได้มากกว่านั้น เพราะมันจะทำให้เรารู้สึกว่า ตัวละครเริ่มรู้จักกัน เข้าใจกัน ผ่านคำพูดต่างๆ  

6 แสดงแต่ไม่บอกให้มากที่สุด  

เวลาเขียนบทสนทนา ไม่ควรปล่อยทุกสิ่งทุกอย่างออกมาให้หมด ควรเขียนให้คนอ่านได้เดาเอาเองบ้าง ก็จะทำให้นิยายสนุกและน่าสนใจมากขึ้น ลองอ่านบทความเรื่องเทคนิคการเขียนแบบแสดงแต่ไม่บอก หรือ Show Dont Tell ได้เลย

7 สลับกันคุย กลับไปกลับมา

อย่าเขียนให้ตัวละครตัวใดตัวหนึ่งพูดคนเดียววนๆ บทสนทนาที่ดีควรจะสลับกันคุย กลับไปกลับมาระหว่างตัวละคร เหมือนการเล่นเทนนิสหรือปิงปอง เมื่อคุยกันไปมา ก็จะทำให้คนอ่านรู้สึกเพลิดเพลิน อย่าให้ตัวใดตัวหนึ่งเงียบกริบ แล้วอีกตัวพูดเอาๆ จนเกินไป นอกจากเป็นบุคลิกของตัวละครที่เราต้องการใส่จริงๆ  

8 อ่านบทสนทนาดังๆ  

ถ้าอยากให้บทสนทนาเป็นธรรมชาติ วิธีที่ดีที่สุดคืออ่านออกเสียงดังๆ จำลองสถานการณ์ว่าถ้าเราเป็นตัวละครเราจะออกเสียงแบบไหน สำเนียงแบบไหน พูดแล้วเข้าปากไหม ขัดๆ บ้างหรือเปล่า ถ้ารู้สึกว่านี่ไม่ใช่คำพูดที่คนจริงๆ พูด ก็ลองปรับเปลี่ยนใหม่ดู  

9 ตัดบทสนทนาที่ไม่จำเป็นออก  

เวลาพูดคุยกัน ควรเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น ไม่ควรออกนอกเรื่องมากเกินไป เช่น ไปบรรยายถึงลมฟ้าอากาศมากเกินไป แถมไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง หรือไปพูดถึงเรื่องที่ไม่ได้ส่งผลอะไรกับเนื้อเรื่อง พูดถึงใครก็ไม่รู้ เรื่องอะไรก็ไม่รู้ พูดลอยๆ ไม่มีประเด็น  

10 จัดรูปแบบประโยคสนทนาในนิยายให้น่าอ่าน  

การจัดรูปแบบ จัดหน้าก็สำคัญเช่นกัน อาจจะทำให้พอดีๆ ไม่ใช่มีแต่บทสนทนาพรืดทั้งหน้า หรือมีแต่บรรยายรัวๆ ไม่มีบทสนทนาเลย ควรให้น้ำหนักอย่างเหมาะสม อาจจะคุยอยู่สักห้าหกบรรทัด เปลี่ยนมาสลับบรรยาย หยุดคิด หรือให้คนอ่านได้พักบ้าง เวลาจะขึ้นบทสนทนาใหม่ ก็เว้นบรรทัดมาลง ไม่ใช่เขียนติดกันเป็นพรืดๆ  

ทีมงานนักเขียนเด็กดี

     

 

ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด