นักเขียนต้องอ่าน! 6 ขั้นตอนสร้างตัวละครที่ยอดเยี่ยม ไม่เหมือนใคร

นักเขียนต้องอ่าน! 
6 ขั้นตอนสร้างตัวละครที่ยอดเยี่ยม ไม่เหมือนใคร  

เวลาอ่านนิยายที่ดี เราคิดว่าหนึ่งในองค์ประกอบหลักที่ทำให้วางไว้ลงเห็นจะไม่พ้นตัวละครที่ดีและน่าสนใจ เมื่อตัวละครน่าสนใจ ทำให้เราอยากรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นกับตัวละครตัวนั้น ก็จะทำให้เราอยากอ่านต่อ อยากรู้ฉากต่อไป วันนี้เราขอชวนมาดูเทคนิคการสร้างพัฒนาการตัวละครที่ดีกันดีกว่า

ทำไมตัวละครถึงสำคัญต่อเรื่องนัก  

ในนิยายทุกเรื่อง พัฒนาการตัวละครทำให้ตัวละครของเรามีความลึก มีมิติที่ดี และทำให้เรามองเห็นแรงจูงใจในการกระทำสิ่งต่างๆ ยิ่งเราทำให้ตัวละครมีพัฒนาการที่ดีมีการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม มีเส้นทางชีวิตแปลกๆ ใหม่ๆ ก็จะทำให้คนอ่านของเราเข้าใจและรับรู้อารมณ์ ความคิดเหล่านั้นได้มากขึ้น ได้เข้าใจและได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์ไปพร้อมกับตัวละคร จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรจะสร้างตัวละครที่น่าเชื่อถือ ตลอดจนมีพัฒนาการที่ดี  

จะสร้างตัวละครในนิยายได้อย่างไร

1 พัฒนาข้อมูลภูมิหลังของตัวละคร

นักเขียนบางคนเอาแต่สร้างอุปสรรคใหม่ๆ ให้กับตัวละคร และเขียนว่าตัวละครทำอย่างไรบ้าง ตอบสนองอย่างไรบ้าง แต่แทนที่จะเขียนให้คนอ่านรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เราควรทำให้คนอ่านสัมผัสได้ด้วยว่า เพราะอะไร ตัวละครถึงถูกผลักดันให้ทำแบบนั้น ทำไมถึงตอบสนองเหตุการณ์แบบนั้น พัฒนาการตัวละครที่ดีจะทำให้การกระทำสมเหตุสมผล และผลักเรื่องราวไปข้างหน้า  

ทำได้อย่างไร  

อย่างแรกเลยคือต้องสร้างภูมิหลังของตัวละครก่อน นักเขียนบางคนเขียนภูมิหลังตัวละครหลายหน้า เขียนเรื่องราวที่ชัดเจนออกมา บางคนก็ไม่ได้ทำเลย เพราะกลัวว่าจะเสียเวลา แต่จริงๆ แล้ว ยอมเสียเวลาเล็กๆ น้อยๆ มาเขียนก่อน ก็จะช่วยให้เราชัดเจนและมีแผนการที่ดีขึ้น เมื่อเราเขียนจริงจะทำให้คนอ่านเข้าใจและเชื่อมโยงกับตัวละครของเราด้วย  

เริ่มจากลองคิดถึงชีวิตของตัวละคร ว่าจะเป็นอย่างไร เมื่อคุณคิดถึงก็จะนึกภาพวา่เขาหรือเธออยู่ที่ไหน มีประสบการณ์แบบไหน มีความทรงจำแบบไหน ใช้ชีวิตอย่างไร จากนั้นก็แยกเขียนออกมาอีกสักสามสี่ฉากให้มันสอดคล้องกับนิสัยของตัวละคร สร้างฐานสู่อนาคตในนิยายของคุณ อาจจะเขียนถึงความคิดของตัวละครที่เชื่อมโยงกับอดีตก็ได้ การทำภูมิหลังตัวละคร เขียนความแตกต่างที่ปรากฏในชีวิตตัวละครทำให้คุณสามารถย้อนกลับมาอ่านใหม่ได้อีกครั้ง และไม่หลงลืมเรื่องเล็กๆ น้อยๆ  

2 สร้างเป้าหมายและแรงจูงใจให้กับตัวละคร  

ควรจะสร้างเป้าหมายที่ชัดเจนของตัวละคร เขาหรือเธออยากทำอะไร อยากเป็นใคร หวาดกลัวอะไร มีแรงกระตุ้นและมีเป้าหมายอย่างไรในชีวิต ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เขาหรือเธอกลายเป็นใคร คนแบบไหน เป้าหมายปัจจุบันคืออะไร ถ้าหากทำออกมาให้ชัดเจน เวลาเราเขียน เราจะทำให้คนอ่านได้เข้าใจและรับรู้จุดนี้ได้ดีขึ้น ไม่ต้องเขียนแบบตีแผ่ชัดเจน แต่ต้องทำให้คนอ่านเข้าใจให้ได้  

3 ใช้อุปสรรคเป็นตัวเปิดเผยบุคลิกนิสัยของตัวละคร

การจะรู้จักใครสักคนคุณต้องใช้เวลา นิยายก็เหมือนกัน ควรจะค่อยๆ เปิดเผยลักษณะนิสัยของตัวละครออกมาทีละนิด เพื่อให้คนอ่านได้ทำความเข้าใจลักษณะนิสัยที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่ ลองหาสถานการณ์ท้าทาย มาส่งให้ตัวละครได้ทดสอบ แล้วใช้สถานการณ์นี้แหละ แสดงลักษณะนิสัยออกมา การรับมือ วิธีการตอบรับ แนวคิด ความเชื่อต่างๆ ที่มีต่อสถานการณ์ บอกนิสัยของตัวละครได้หมด

4 เลือกมุมมองการเล่าให้เหมาะสม

การใช้มุมมองว่าใครเป็นคนเล่าเรื่อง เป็นเรื่องสำคัญ และทำให้เรารู้จัก / เข้าใจตัวละครได้มากขึ้น ลองเลือกผู้เล่าที่เหมาะสมจากต่างมุมมอง เพื่อให้คนอ่านได้รู้ข้อดีข้อเสียของตัวละคร เช่น ถ้าคุณอยากเล่าความคิดของตัวละครก็ต้องเลือกมุมมองบุคคลที่หนึ่ง จะได้ทำให้คนอ่านเห็นและเข้าใจความคิดของตัวละคร แต่ถ้าเล่าผ่านมุมนี้ ก็จะไม่สามารถเล่าถึงความคิดของตัวละครอื่นๆ ได้เช่นกัน การเล่าผ่านหลากหลายมุมมองจะช่วยให้นิยายของคุณหลากหลายและแนบเนียนมากขึ้น  

5 ผูกปมให้ดีและหาจุดคลายที่เหมาะสม  

หนึ่งในข้อผิดพลาดที่นักเขียนมือใหม่ทำคือ ใส่รายละเอียดมากจนเกินไป แต่กลับไม่ได้ส่งผลอะไรกับเนื้อหา หรืออนาคตของตัวละครเลย ในชีวิตจริงแล้ว เราอาจทำอะไรไร้เหตุผลได้ แต่ในนิยาย คนอ่านมักจะมองหาเหตุและผลเสมอ เพราะฉะนั้น เวลาเขียนเราควรหาจุดที่สมเหตุสมผล คลายปมอย่างเหมาะสม รายละเอียดที่ใส่มาก็ควรจะส่งผลต่อเนื้อเรื่องด้วย  

6 ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกฝน

หลังจากใช้เวลาพัฒนาตัวละครแล้ว ก็จะต้องเขียนตัวละครอื่นๆ ให้มีมิติด้วยเช่นกัน ทำไปทีละตัวๆ ฝึกฝนไปเรื่อยๆ เขียนบ่อยๆ ใช้เวลาเขียนในแต่ละวันต่อเนื่องสม่ำเสมอ ใส่อารมณ์ที่หลากหลาย เขียนฉากที่หลากหลาย สร้างอารมณ์ที่หลากหลายให้กับตัวละคร สุดท้ายแล้วเมื่อเขียนให้ตัวละครเชื่อมต่อกัน ก็จะทำได้ดีและน่าสนใจ

ทีมงานนักเขียนเด็กดี

 

ทีมงาน writer

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น