แจก 5 เทคนิคเล่าเรื่องแบบบุคคลที่ 1 (POV) ให้น่าสนใจ

แจก 5 เทคนิคเล่าเรื่องแบบบุคคลที่ 1 (POV) ให้น่าสนใจ

 

มุมมองบุคคลที่หนึ่ง (หรือ POV) เป็นเรื่องราวที่เล่าโดยตัวเอก และใช้สรรพนาม “ฉัน” “ผม” และ “ข้า” แทนที่จะเป็นสรรพนามบุคคลที่สามเช่น “เขา” หรือ “เธอ” มุมมองบุคคลที่หนึ่งเป็นหนึ่งในมุมมองที่ทำให้นักอ่านใกล้ชิดกับตัวละครมากที่สุด เนื่องจากนักอ่านจะได้สัมผัสเรื่องราวจากสิ่งที่เกิดขึ้นภายในหัวของผู้บรรยายโดยตรง

วันนี้เรามาพร้อมเคล็ดลับ 5 ข้อที่จะช่วยสร้างการเล่าเรื่องในมุมมองบุคคลที่หนึ่งให้ได้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงข้อผิดพลาดที่ควรเลี่ยงเพื่อความปังแบบฉ่ำๆ เตรียมสมุดกับปากกาไว้จดแล้วมาดูกัน

 

 

เปิดเผยข้อมูลใหม่แก่นักอ่านและตัวละคร POV ในเวลาเดียวกัน

หนึ่งในความท้าทายที่พบบ่อยที่สุดของมุมมองบุคคลที่หนึ่งก็คือ เรามีสโคปข้อมูลที่จำกัด เราเล่าได้แต่เฉพาะสิ่งที่ตัวละครในมุมมองบุคคลที่หนึ่งรู้เท่านั้น นอกจากนี้ เนื่องจากมุมมองนี้เป็นเลนส์เดียวที่นักอ่านมองเห็นโลกที่เราเล่า เราจึงควรใส่เฉพาะสิ่งที่ตัวละครจะคิดจริงๆ เท่านั้น

ลองดูตัวอย่างจากเรื่อง Premeditated Myrtle โดย Elizabeth C. Bunce (หน้า 178)

“ฉันกำลังคิดถึงสิ่งที่เราคุยกันเมื่อคืนนี้ เมอร์เทิล และฉันเชื่อว่าคุณพูดถูก ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงได้เชิญคุณโวดเฮาส์มารับประทานอาหารเย็นคืนพรุ่งนี้”
 

ฉันรู้สึกงุนงง “นั่นจะช่วยคุณแฮมม์ได้อย่างไร”


“อะไร? ไม่ ฉันหมายถึงเรื่องอื่นที่เราคุยกัน”

 

ฉันจ้องมองเขาด้วยความตกใจ แน่นอนว่า “เรื่องอื่น” คือการที่พ่อจะแต่งงานอีกครั้ง แต่แต่งงานกับพริสซิลลาเหรอ? ความคิดนั้นมาจากไหนบนโลกนี้?

ผู้บรรยาย POV บุคคลที่หนึ่ง ให้ความสนใจไปที่คุณแฮมม์มากจนเธอไม่ได้พิจารณาสิ่งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวเธอ สิ่งนี้ทำให้นักเขียนสามารถทำให้ทั้งตัวละครและนักอ่านรู้สึกว่าข้อมูลใหม่นี้ถูกมองข้าม เพิ่มความตึงเครียดให้กับฉากและดึงนักอ่านไปพร้อมกับผู้บรรยาย

 

ยกระดับเสียงของตัวละครในทุกบรรทัด

ในการบรรยายแบบบุคคลที่สาม (POV 3) มีระยะห่างระหว่างนักอ่านกับผู้บรรยายมากกว่า ซึ่งหมายความว่า เสียงของตัวเอกจะมาจากบทสนทนาที่หนักแน่นมากกว่าในคำอธิบายหรือบทพรรณนา แต่ในการบรรยายแบบบุคคลที่หนึ่ง ระยะห่างนั้นไม่มีอยู่จริง เพราะตัวเอกพูดจากความคิดของตัวเองโดยตรง เสียงภายในของพวกเขาจึงควรสตรองพอๆ กับคำพูดเมื่อบรรยายถึงโลกรอบตัว 

ลองดูตัวอย่างจากเรื่อง Titanshade โดย Dan Stout (หน้า 7)

มันเป็นตอนท้ายของวันศุกร์ และผมนั่งอยู่ที่บาร์ของมิกกี้เดอะฟินน์ มือของผมหมุนวนรอบถ้วยกาแฟอุ่นๆ ขณะที่ผมนั่งเงียบๆ ตรงตู้เพลง สายตาจับจ้องไปที่นาฬิกาซึ่งมีตะปูอยู่เหนือแถวขวดเหล้า เข็มนาทีของมันขยับเข้าใกล้ช่วงเวลาพระอาทิตย์ตกดินมากขึ้นเรื่อยๆ ทันทีที่กะของผมสิ้นสุดลง ผมก็มีอิสระที่จะสั่งอะไรก็ได้ที่แรงกว่านี้

แม้จะเป็นแค่เพียงสามประโยคเท่านั้นในหนังสือเล่มนี้ แต่เรากลับเข้าใจตัวละครตัวนี้ได้ดีโดยอิงจากเสียงภายในของเขา การสลับวลีเช่น “ตอนท้ายของวันศุกร์” และ “กาแฟอุ่นๆ” มีความยูนีคมากกว่า “วันศุกร์ตอนเย็น” หรือ “กาแฟสด” และจุดที่เขาสนใจ ไม่ว่าจะเป็นตู้เพลง เหล้า และนาฬิกา ก็ทำให้เราดำดิ่งลึกลงไปในหัวของเขา แทนที่จะบรรยายห้องด้วยการตั้งชื่อสิ่งต่างๆ

 

ปรับเปลี่ยนโครงสร้างประโยคของเรา

กับดักที่มักพบในมุมมองบุคคลที่หนึ่งคือการขึ้นต้นทุกประโยคด้วย “ฉัน” นี่อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นพิเศษเมื่อเราอธิบายว่าตัวละครของเรากำลังทำอะไรอยู่ มองหาวิธีในการเริ่มประโยคโดยอ้างอิงถึงสถานที่หรือเวลา หรือวิธีที่เราสามารถแสดงสิ่งที่ตัวละครสังเกตเห็นได้โดยไม่ต้องขึ้นต้นด้วย “ฉันเห็น” หรือ “ฉันได้ยิน”

ลองดูตัวอย่างจากเรื่อง Winter Loon โดย Susan Bernhard (หน้า 15)

ที่โรงพยาบาล แพทย์เอาของเหลวอุ่นๆ ให้ฉัน ตรวจนิ้วเท้าและนิ้วมือของฉันว่ามีอาการบวมเป็นน้ำเหลืองหรือไม่ พยาบาลห่มผ้าห่มให้และยื่นเครื่องดื่มร้อนให้ฉัน พวกเขาบอกว่าฉันโชคดีแค่ไหนที่ไม่แข็งตาย แต่ใบหน้าแม่ของฉัน สีน้ำเงินชิโครี่ เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ฉันเห็น ฉันไม่รู้สึกว่าตัวเองโชคดีเท่าไหร่ เมื่อพวกเขาถามฉัน ฉันก็เบือนหน้าหนี ฉันไม่รู้จะพูดอะไรแล้ว

เวอร์ชั่นจืดชืด​อาจจะเป็นประมาณว่า “ฉัน​มา​ถึง​โรง​พยาบาล ที่ๆ ฉัน​ดื่ม​ของเหลว​ร้อน​และ​ห่ม​ผ้า พวกเขาบอกว่าฉันโชคดีที่ไม่แข็งจนตาย ฉันมองเห็นเพียงใบหน้าสีน้ำเงินชิโครี่ของแม่เท่านั้น ฉันไม่รู้สึกโชคดี ฉันเลือกไม่ตอบคำถามของพวกเขา”

แต่ในตัวอย่างข้างต้น นักเขียนเปลี่ยนโครงสร้างประโยค และขึ้นต้นประโยคด้วย “ฉัน” เพียงประโยคเดียวเท่านั้น ผลลัพธ์ที่ได้จะน่าสนใจและไม่รู้สึกซ้ำซาก

 

อย่าใช้เวลาในหัวของตัวละครของเรานานเกินไป

เนื่องจากมุมมองบุคคลที่หนึ่งพูดจากความคิดของตัวละครโดยตรง จึงอาจเป็นเรื่องง่ายที่จะจมอยู่ในความคิดของพวกเขา เพื่อไม่ให้เรื่องเวิ่นเว้อเกินความจำเป็น เราควรทำให้เสียงสะท้อนของตัวเอกกระชับและมีความเกี่ยวข้องกับพล็อต นักอ่านจะได้ไม่รู้สึกว่ายืดยาวเกินไป

ลองดูตัวอย่างจากเรื่อง Ember in the Ashes โดย Sabaa Tahir (หน้า 4)

“ลืมมันซะ คุณอยู่ที่ไหน? เช้านี้ป๊อบมีคนไข้หลายสิบคนเลย”

 

และฉันก็กรอกให้นายเอง เพราะหมอนั่นไม่สามารถทำด้วยตัวคนเดียวได้ ทำให้แนนต้องบรรจุแยมของพ่อค้าด้วยตัวเธอเอง ยกเว้นว่าเธอยังพูดไม่จบ ตอนนี้พ่อค้าจะไม่จ่ายเงินให้เราแล้ว และเราจะอดตายในฤดูหนาวนี้ แล้วทำไมนายถึงไม่สนใจล่ะ?

 

ฉันพูดสิ่งเหล่านี้ในหัวของฉัน รอยยิ้มจางหายไปจากหน้าดารินแล้ว

 

“ฉันไม่ได้ถูกตัดขาดจากการรักษาสักหน่อย” เขากล่าว “ป๊อปรู้เรื่องนี้”

ในมุมมองบุคคลที่หนึ่ง นักเขียนสามารถแชร์ backstory นี้ได้โดยอธิบายถึงความกังวลของตัวเอก ซึ่งเอาจริงๆ สามารถทำได้ถึงสามย่อหน้าเลย แต่เพื่อให้นักอ่านได้รับข้อมูลที่เราต้องการบอกเล่า และดึงเรากลับเข้าสู่ฉากนั้นแบบไวๆ  จากสามย่อหน้าก็อาจจะเหลือแค่สามประโยค และมันทำให้เรื่องราวดำเนินไปได้

 

ลองเปิดด้วยความเชื่อหรือความคิดเห็นจากตัวเอก

หากเริ่มต้นเรื่องด้วยเนื้อเรื่องหรือบทสนทนา มุมมองบุคคลที่หนึ่งอาจทำให้นักอ่านรู้สึกกะทันหันเกินไป การเริ่มต้นด้วยความคิดของตัวละครสัก 2-3 บรรทัด และกำหนดกรอบวิธีคิดเป็นวิธีหนึ่งในการแนะนำเสียงของตัวเอก และทำให้การเปลี่ยนผ่านไปยังฉากเปิดเรื่องของเราราบรื่นยิ่งขึ้น

ลองดูตัวอย่างจากบทแรกของเรื่อง The Great Gatsby โดย F. Scott Fitzgerald

คำสอนของพ่อเมื่อครั้งผมเป็นเด็ก และอ่อนต่อโลกมากกว่าตอนนี้ ยังวนเวียนอยู่ในใจผมจนถึงทุกวันนี้

 

ท่านสอนไว้ว่า “เมื่อใดก็ตามที่แกรู้สึกอยากตัดสินใครสักคน ขอให้จำไว้เพียงแค่ว่า ไม่ใช่ทุกคนในโลกจะมีโอกาสทัดเทียมแก”

 

พ่อไม่ได้อธิบายเพิ่มเติม แต่เรามักจะสื่อสารกันแปลก ๆ อย่างนี้แหละ คือไม่พูดอะไรมากแต่ผมเข้าใจดีว่าคำพูดของพ่อมีความหมายมากมายยิ่งกว่านั้น

 

สิ่งที่ตามมาคือ ผมไม่ค่อยตัดสินใคร เป็นนิสัยที่ทำให้ธรรมชาติของความเป็นคนอยากรู้อยากเห็นในตัวผมปรากฏชัดขึ้น และยังทำให้ผมตกเป็นเหยื่อของพวกที่ผ่านอะไรในชีวิตมามากอยู่หลายครั้งหลายคราด้วยกัน

 

จิตที่ไม่ปกติยึดติดกับคุณสมบัติข้อนี้ได้อย่างรวดเร็วถ้ามันเกิดขึ้นกับคนปกติ (อย่างตัวผม) เมื่อครั้งที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยผมโดนกล่าวหาว่าเป็นนักการเมือง เนื่องจากผมปิดบังความลับของกลุ่มคนที่ผมไม่รู้จัก

นอกเหนือจากการให้ความรู้สึกว่าตัวเอกมองโลกอย่างไร และบอกเป็นนัยถึงเรื่องราวที่จะเกิดขึ้น บรรทัดเหล่านี้ไม่ได้จำกัดประเภทของซีนที่เรากำลังก้าวเข้าไป ทำให้เรามีอิสระในการไปในทิศทางใดก็ได้ การมีช่วงเวลาเกริ่นนำในหัวของตัวเอกจะช่วยลดโอกาสที่นักอ่านจะสับสนด้วย

 

...............

 

การเขียนจาก POV ที่ใกล้ชิดอย่างมุมมองบุคคลที่หนึ่งมีความท้าทายค่อนข้างมาก เพราะไม่มีระยะห่างระหว่างผู้บรรยายกับความคิดของพวกเขา แต่นั่นก็ทำนักอ่านสนิทกับตัวละครของเรามากขึ้น หวังว่าเคล็ดลับวันนี้จะช่วยให้ทุกคนสร้างเสียงจากมุมมองบุคคลที่หนึ่งได้ง่ายขึ้น และทำให้นักอ่านดื่มด่ำกับมุมมองนี้ มาสร้างตัวละครและเรื่องราวที่มีชีวิตชีวากันค่ะ

 

พี่น้ำผึ้ง : )

 

ขอบคุณภาพ unsplash.com
พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด