รีวิว 7 ปี ที่เขียนนิยายออนไลน์กับ Dek-D จนเป็นอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ | The Chosen EP.49 G.Lina/อโนทัย

รีวิว 7 ปี ที่เขียนนิยายออนไลน์กับ Dek-D 
จนเป็นอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ 

The Chosen EP.49 G.Lina/อโนทัย

* * * * * * * 

ในยุคที่ใครๆ ก็เป็นนักเขียนได้ และมีแพลตฟอร์มให้นักเขียนเลือกลงนิยายออนไลน์มากมาย ทำไม “G.Lina/อโนทัย” ถึงเลือกลงนิยายบนเว็บไซต์ Dek-D ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา… แพลตฟอร์มนี้มีข้อดีอะไรที่ทำให้นักเขียนสาวคนนี้ประทับใจ วันนี้เราชวนเธอมาเล่าให้ฟังในสัมภาษณ์นี้แล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน “ไปร์ท” หรือ “G.Lina/อโนทัย” เป็นเพียงนักเขียนมือใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นเหมือนกับใครหลายๆ คน คือ อ่านนิยายมาเยอะก็เลยอยากเขียนนิยายของตัวเองดูบ้าง จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในวันนั้น ทำให้เธอเขียนนิยายออนไลน์เป็นอาชีพมาจนถึงทุกวันนี้ 

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ไปร์ทมีผลงานนิยายมาแล้ว 14 เรื่อง แต่ละเรื่องได้รับการซัพพอร์ตที่ดีจากนักอ่านอยู่เสมอ มีผลงานติดท็อปนิยายเด็กดีอย่างเรื่อง หงส์อินทนิล, หงส์ไม่หวน, เป็นอนุฯสุขใจยิ่ง, นางร้ายด้ายแดง และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย นิยายเรื่องล่าสุดอย่าง “หงส์อินทนิล” ที่เพิ่งเขียนจบไป ก็ได้รับฟีดแบ็กที่ดีจากนักอ่าน จนขึ้นไปติดท็อปนิยายอีบุ๊กขายดีประจำสัปดาห์นานถึง 1 เดือน

 ในบทสัมภาษณ์นี้ ไปร์ทเล่าให้เราฟังถึงเส้นทางการเป็นนักเขียน ตลอดจนเหตุผลที่ทำให้เธอลงนิยายออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Dek-D มานานกว่า 7 ปี รวมถึงรีวิวการลงนิยายที่ Dek-D ว่ามีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง? คอมเมนต์โหดจริงไหม? เขียนนิยายเป็นอาชีพได้จริงหรือเปล่า? นักเขียนมือใหม่เหมาะไหม? มาค้นหาคำตอบในสัมภาษณ์นี้กันเลย 

จากนักเขียนมือสมัครเล่นสู่อาชีพนักเขียน

จุดเริ่มต้นที่มาเขียนเลยคือเราเป็นอ่านตัวยงเลยค่ะ แล้วตอนเด็กๆ ชอบเขียนเรียงความประกวด เรารู้สึกว่าเราเขียนได้ดี อยากจะเขียนนิยายบ้าง ก็เลยโอเค ลองเขียนลงดูดีกว่า เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนนิยายค่ะ 

ตอนนี้ก็เขียนนิยายมาประมาณ 7 ปีแล้วค่ะ นิยายตอนนี้ก็น่าจะประมาณ 14 เรื่องค่ะ เรื่องปัจจุบันที่เพิ่งจบไปก็คือ “หงส์อินทนิล” นอกจากเขียนนิยายแล้ว งานที่ทำอยู่อีกงานก็คือ ดูแลเด็กพิเศษ ดูแลพัฒนาการ แล้วก็ทำศิลปะอิสระร่วมกับนักจิตวิทยาค่ะ

ลักษณะงานจะค่อนข้างเกี่ยวกับเรื่องจิตเวช ก็จะเป็นเรื่องของพัฒนาการ เรื่องของเด็กๆ วัยรุ่น ซึมเศร้า ก็มีการเข้าไปทำงานตรงนี้ด้วยเหมือนกัน เราก็เลยใช้ประสบการณ์ หรือเอาสิ่งที่เรารู้จากการทำงาน มาใส่ในนิยายด้วย 

จริงๆ ต้องบอกว่า เราต้องใช้แรงใจเยอะอยู่เหมือนกันนะ เพราะว่าใน 7 วัน เราเขียนนิยายไปแล้ว 4 วัน ทำงานประจำไปแล้ว 3 วัน เราไม่ได้มีวันหยุดเลย อย่างตอนเขียนนิยาย เราเขียนนิยาย 4 วัน เราก็จะมีแพลนของเราว่า เราจะเขียนกี่ตอน เราก็มักจะเขียนตอนหรือสองตอนก็พอ เอาที่เราไม่ได้เหนื่อยมาก เพราะว่าเราก็อยากทำงานทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไปค่ะ 

การเขียนนิยายถือว่าเป็นอาชีพของเราค่ะ แต่ยังไงก็ยังคิดว่าเป็นมือสมัครเล่นอยู่ เรารู้สึกว่าเรายังต้องพัฒนาอีกเยอะเลย แล้วก็จะพัฒนาไปพร้อมกับนักอ่านเหมือนกัน

 “ไปร์ท” นักเขียนนามปากกา “G.Lina/อโนทัย”   ในช่วง 7 ปีมานี้ ไปร์ทเขียนนิยายออนไลน์มาแล้วกว่า 14  เรื่อง
 “ไปร์ท” นักเขียนนามปากกา “G.Lina/อโนทัย”   ในช่วง 7 ปีมานี้ ไปร์ทเขียนนิยายออนไลน์มาแล้วกว่า 14  เรื่อง

เขียนนิยายออนไลน์เป็นอาชีพ 
มีรายได้ มั่นคง และอิสระ

รายได้สูงสุดคือ 6 หลัก แต่ว่าต่ำสุดตอนนั้นก็คือ 4 หลักแบบต้นๆ ถือว่าการเขียนนิยายเป็นรายได้หลักเหมือนกัน รายได้ของไปร์ทค่อนข้างคงที่ค่ะ ไม่ค่อยโดดขึ้นโดดลง ถือว่าโอเค  เพราะโดยเฉลี่ยก็จะได้ประมาณหนึ่งอยู่แล้วค่ะ

รายได้ที่มาจากการเขียนก็จะแบ่งเป็นเงินเก็บ เป็นเงินฉุกเฉิน เป็นเงินใช้จ่ายในครอบครัว ส่วนใหญ่ก็จะเป็น 3 ก้อนนี้ค่ะ ก็ถือว่าค่อนข้างมากค่ะ รายได้ที่ได้จากการเขียน ทำให้เราทำอะไรได้หลายอย่างตามที่เราต้องการ 

อีกอย่างหนึ่งคือ การเขียนนิยายมันเป็นอาชีพอิสระ เราไม่จำเป็นต้องไปนั่งในออฟฟิศ เรารู้สึกว่าการเขียนนิยายเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ได้ทั้งรายได้ ได้ความมั่นคงและได้อิสระ มันอาจจะมีหลายอาชีพที่เป็นแบบนี้ แต่ว่าเราเลือกที่จะเป็นนักเขียน เรารู้สึกว่าเราสบายใจ แล้วก็มั่นคงกับทั้งครอบครัว ทั้งตัวเองด้วยค่ะ 

ส่วนที่บ้านคือ ตั้งแต่เด็กๆ คุณพ่อคุณแม่ เขาเป็นคนซื้อหนังสือให้เราอ่าน นิยายทุกเล่มที่เรามีในบ้านเขาเป็นคนจ่าย เพราะฉะนั้น เวลาเราบอกว่าเราจะเขียนนิยาย เขาก็จะเข้าใจว่า อ๋อ ลูกอยากเขียนนิยาย เขาอาจจะไม่ได้มองเรื่องรายได้เพราะที่บ้านก็มีธุรกิจ อย่างน้อยอยู่บ้านทำงาน เขาแฮปปี้ว่ามีลูกอยู่บ้านด้วย เห็นเราทำแล้วออกมาได้ดีเขาก็เลย โอเค 

ผลงานนิยายของ “G.Lina/อโนทัย”   ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาบนเว็บนิยาย Dek-D.com
ผลงานนิยายของ “G.Lina/อโนทัย”   ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาบนเว็บนิยาย Dek-D.com

เหตุผลที่เลือกลงนิยายบนแพลตฟอร์ม Dek-D 

Dek-D ซัพพอร์ตนักเขียน 

ถ้าย้อนกลับไปตอนนั้นคือ Dek-D เป็นแพลตฟอร์มแรกๆ ที่มีนิยายลงออนไลน์ แล้วนักเขียนหลายๆ คนก็ได้รับโอกาสจากเด็กดี เด็กๆ ที่มีความฝันสามารถที่จะมาเขียนนิยายออนไลน์ได้ค่ะ แล้วก็สร้างรายได้จากการเขียนนิยายออนไลน์ได้ด้วย เราก็เลยเขียนลง Dek-D ดีกว่า 

อีกอย่างหนึ่งคือ ทีมงานก็ซัพพอร์ตด้วย นักอ่านทุกคนก็ซัพพอร์ต แล้วก็รู้จักเราจากที่นี่ค่ะ จนถึงปัจจุบันก็ยังได้รับการซัพพอร์ตที่ดีอยู่ เรารู้สึกว่าเรามีโอกาสที่ Dek-D พอเขียนนิยาย เราก็เลยอยากจะลงที่นี่ค่ะ 

นักอ่าน Dek-D ซัพพอร์ตดีมาก

นักอ่านในเด็กดี เขาน่ารัก คือเขาซัพพอร์ตเราทุกอย่างเลย แล้วเขาก็จะอินกับนิยายได้ง่ายกว่าตัวบุคคล เขาจะไม่ค่อยแบบ สู้ๆ นะคะ เขาจะแบบว่า อุ๊ย ตอนนี้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เขาวิเคราะห์ตัวละครให้ด้วย ไม่ได้แค่กดสติ๊กเกอร์มาให้เรา

สำหรับการอ่าน นักอ่านเด็กดีมักจะวิพากษ์วิจารณ์ได้ละเอียดกว่าที่อื่นที่เคยเห็นมา นักอ่านของเด็กดีเขาคอมเมนต์เยอะจริง แต่ว่าแรงไหม ส่วนตัวไปร์ทไม่ได้รู้สึกว่าเขาคอมเมนต์แรงนะ 

ฟีดแบ็กโดยรวมของนักอ่านเขาซัพพอร์ตเราดีมาก แล้วก็บางคอมเมนต์ทำให้เรายังเขียนนิยายต่อมาจนถึงทุกวันนี้เลย เรายังจำคอมเมนต์ในหลายๆ เรื่องได้อยู่เลยว่า การอ่านนิยายของเราทำให้เขาจบวันได้ดีขึ้น หรือบางคนมาชวนไปเมืองนอก ถ้าไปบอกเขานะว่ามาที่นี่ เขาจะให้กินอาหารฟรี หรือการที่เขาไปทำคีโมมา พอเขามาอ่านนิยายเราแล้ว เขารู้สึกว่าวันนี้เขาโอเคมากเลยกับการทำคีโม สำหรับเรา เรารู้สึกว่ามันก็แค่นี้เอง มันเป็นการส่งต่อความรู้สึกดีๆ ส่งต่อเอเนอจี้บางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่า เรายังอยากเขียนต่อไป 

นิยายเรื่อง “หงส์อินทนิล” ติดท็อปนิยายอีบุ๊กขายดีประจำสัปดาห์นานถึง 1 เดือน
นิยายเรื่อง “หงส์อินทนิล” ติดท็อปนิยายอีบุ๊กขายดีประจำสัปดาห์นานถึง 1 เดือน

ระบบขาย Dek-D มีให้เลือกเยอะ 

เราจะชอบ 2 อย่างก็คือ แบบแพ็คเกจ และแบบอ่านล่วงหน้า สำหรับแบบอ่านล่วงหน้าก็จะให้นักอ่านตัดสินใจเลยว่าเขาจะอ่านไหม เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักอ่านที่ยังไม่ได้มีกำลังซื้อมากพอให้เขารออ่าน ส่วนคนที่มีกำลังก็ซื้อก่อนได้ ก็รู้สึกว่าโอเคเลยค่ะ ทำให้มีตัวเลือกและตัดสินใจได้ดีขึ้น อีกแบบหนึ่งก็คือ แพ็คเกจ เราสามารถทำเป็นช่วงๆ ให้เขาอ่านได้ หรือเป็นแบบทดลองให้เขาอ่านก่อนได้ ก็เลยจะชอบการขาย 2 แบบนี้ค่ะ

แล้วก็การซื้อขายในเด็กดีมันก็ง่ายขึ้นด้วย นักอ่านเขาเติมเงินมาจ่ายเราได้มากขึ้น แล้วมีการขายที่หลากหลาย ก็เลยทำให้เรามีโอกาสได้รับรายได้จากตรงนั้นมากขึ้น 

นักอ่าน Dek-D เปย์หนักมาก 

นักอ่านในเด็กดีมักจะสนับสนุนแบบ ลงมาเลย เขาพร้อมที่จะเปย์มากๆ เขาเติมเหรียญพร้อมแล้ว เขาก็พร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อให้เราเขียนต่อไป ก็มีที่มาบอกว่ารีบๆ ลงบ้าง เขาจะพยายามไปหาวิธีเติมเหรียญให้ได้ก็มีเหมือนกัน เพื่อที่จะมาซัพพอร์ตเรา เขาสนับสนุนหนักมากๆ เหมือนกันค่ะ  

นิยายเรื่อง “หงส์อินทนิล” นิยายเรื่องล่าสุดที่เพิ่งเขียนจบไป
นิยายเรื่อง “หงส์อินทนิล” นิยายเรื่องล่าสุดที่เพิ่งเขียนจบไป

7 ปี 14 เรื่อง มีเคล็ดลับเด็ดอะไรอยากแชร์บ้าง?

ถามว่าปีหนึ่งมีนิยายออกมากี่เรื่อง? คือมันแล้วแต่คนเลย แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคนเลย อย่างไปร์ทจะรู้สึกว่าได้ประมาณ 2 เรื่องหรือ 3 เรื่องต่อปี ถ้าหนึ่งเรื่องก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนต่อ 1 เรื่องค่ะ

คือส่วนใหญ่เป็นการวางแผนการลงมากกว่าว่า เราจะลงแบบไหน เพื่อที่เราจะสบายตัวที่สุด เมื่อก่อนอาจจะเป็นการด้นสด หมายถึงว่าเขียนตอนเช้าลงตอนเย็น แต่เรารู้สึกว่ามันเหนื่อยเกินไป ตอนหลังเราเลยเขียนสต๊อกเอาไว้ก่อน แล้วเราก็จะลง เพราะฉะนั้นประมาณ 2-3 เรื่องเนี่ย มันจะพอดีกันที่จะมีช่วงว่าง ให้เราได้พักสักอาทิตย์หนึ่ง แล้วเราจะได้ลงต่อเลย เราสามารถบอกกับนักอ่านเป็นการโปรโมตไปเลยว่า มีเรื่องหน้านะคะ ตามได้เลย มันก็จะเป็นการวางแผนการลงรายตอนที่มันจะพอดีกันค่ะ 

ส่วนเรื่องจำนวนคำ ก็ไม่ได้วางแผนค่ะ แต่ว่าส่วนใหญ่ถ้าในหน้า Word จะเขียนให้ได้ 5 หน้า เพราะว่าเราเคยประกวดมา แล้วได้เข้าไปในรอบลึกๆ เขาสอนว่าในออนไลน์ นักอ่านปัดได้ไม่นานหรอก แค่ 5 หน้า A4 กำลังพอดี เราก็เลยจะใช้ประมาณ 5 หน้า A4 ใน Word มาตลอดค่ะ ใช้วิธีนี้เอา ไม่ได้นับตัวอักษรเลย 

ตั้งแต่เขียนมา ยังไม่เคยคิดว่าจะหยุดเขียนเลยค่ะ อาจจะอย่างที่บอกว่าเป็นเพราะ เรื่องของคอมเมนต์ที่นักอ่านเคยส่งต่อเอเนอจี้ดีๆ ให้กับเรา แล้วเราก็รู้สึกว่าเรายังไม่เบื่อ เหมือนที่หลายๆ คนบอกว่า เวลาเราทำอะไรที่เรารัก เราจะทำได้เรื่อยๆ ตอนนี้เรายังไม่มีความคิดนี้ในหัวเลยว่าเราจะหยุดเขียนค่ะ

“การเขียนนิยายเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้ทั้งรายได้ ได้ความมั่นคง และได้อิสระ” - G.Lina/อโนทัย
“การเขียนนิยายเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้ทั้งรายได้ ได้ความมั่นคง และได้อิสระ” - G.Lina/อโนทัย

ฝากถึงนักเขียนมือใหม่

ถ้าให้ฝากถึงนักเขียนมือใหม่ก็อยากบอกว่า ให้เขียนไปเถอะ ไม่ว่ามันจะผิดจะถูก ไม่เป็นไร ยิ่งเป็นเรื่องแรกๆ มันไม่มีทางดีอยู่แล้ว ให้เขียนต่อไป ถ้ายังรักที่จะเขียนอยู่นะคะ ส่วนตัวรู้สึกว่าเรื่องที่นักเขียนใหม่เขาเขียนออกมา มันเป็นเรื่องที่ใหม่มาก ไปร์ทเองไม่สามารถย้อนกลับไปเขียนคาแรคเตอร์แบบนั้น หรือวิธีการแบบนั้นได้ในอีก 5 ปี ทุกวันนี้ก็ไม่สามารถกลับไปเขียนนิยายแบบเดิมได้

 เพราะฉะนั้น ให้เริ่มต้นเขียนเลย ผลจะออกมาเป็นยังไงให้เรายอมรับมัน แล้วก็ภูมิใจมันกับมัน ว่า เราเริ่มที่จะเขียนแล้ว ขอให้ทำต่อไป เพราะว่าคุณอาจจะเป็นไอเดียหรือแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้กับนักเขียนรุ่นเก่าก็ได้ค่ะ 

“การเขียนนิยายเป็นอาชีพหนึ่งที่ได้ทั้งรายได้ ได้ความมั่นคง และได้อิสระ” - G.Lina/อโนทัย  

นี่อาจจะเป็นสรุปรีวิวอาชีพนักเขียนนิยายออนไลน์ที่สั้น กระชับ ได้ใจความที่สุดเลยก็ว่าได้ ถ้าหากเรามีความชอบในการอ่าน รักในการเขียน ขยันอดทน และพยายามมีผลงานอย่างต่อเนื่อง เหมือนที่นักเขียนสาวคนนี้ทำมาอย่างสม่ำเสมอตลอด 7 ปีที่ผ่านมา  เชื่อว่าการเขียนนิยายออนไลน์ให้กลายเป็นอาชีพ ต้องไม่ใช่เรื่องยากอย่างแน่นอน 

นอกจากเรื่องราวเส้นทางนักเขียนที่ไปร์ทนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้ เธอยังเล่าให้เราฟังถึงเหตุผลที่เธอลงนิยายออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Dek-D มานานกว่า 7 ปีว่า เด็กดีเป็นแพลตฟอร์มที่ให้โอกาสนักเขียนมือใหม่ได้ทำตามความฝัน เธอเองก็เริ่มต้นเขียนนิยายที่เด็กดีเหมือนกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมามีทีมงานคอยซัพอร์ต และระบบขายที่หลากหลาย ทำให้เธอวางแผนการลงนิยายออนไลน์ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้เธอประทับใจมากก็คือ คอมมูนิตี้นักอ่านที่ดี นักอ่านเด็กดีซัพอร์ตนักเขียนดีมาก ทำให้เธอพัฒนาตัวเองจากคอมเมนต์ และสามารถเขียนนิยายเป็นอาชีพได้เพราะได้รับการสนับสนุนที่ดีจากนักอ่านนั่นเอง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอเลือกลงนิยายที่ Dek-D ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

ใครที่มีความฝันอยากเป็นนักเขียน หรือมีไอเดียอยากลองเขียนนิยายของตัวเองดูบ้าง มาเริ่มต้นเขียนนิยายของเรากันได้เลย!

เริ่มต้นเขียนนิยาย

อ่านผลงานนิยายของ G.Lina/อโนทัย

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น