จิตวิทยาของการแอบรัก :
ชวนสร้างตัวละครแอบชอบให้นักอ่านฟินแบบฉ่ำๆ
การแอบรักใครสักคน เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกๆ คน ความรู้สึกตอนแอบรักมันเต็มไปด้วยความตื่นเต้น ประหม่า ดีใจ และบางครั้งก็ชวนสับสน ซึ่งการจะเขียนตัวละครที่มีอาการแบบนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจพื้นฐานทางจิตวิทยาของการแอบชอบ ว่ามันส่งผลต่อความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมยังไงบ้าง
บทความนี้จะพาทุกคนไปส่องแง่มุมเหล่านี้กัน พร้อมแถมเคล็ดลับการเขียนตัวละครแอบรักให้ด้วย แพ็กเกจสุดคุ้มขนาดนี้ เตรียมแคปหน้าจอเก็บไว้อ่านเลย!
เมื่อแอบรักใครสักคน… กระบวนการทางความคิดจะเปลี่ยนไป พวกเขาจะ...
โฟกัสมากขึ้น
เวลาตัวละครแอบชอบใครสักคน สายตาของพวกเขาก็เหมือนแม่เหล็ก ดึงดูดให้โฟกัสไปยังคนที่แอบชอบ ราวกับว่านี่เป็นสิ่งที่น่าสนใจเพียงสิ่งเดียวในโลกใบนี้ พวกเขาจะสังเกตเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของคนนั้น ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ น้ำเสียง หรืองานอดิเรกที่ชอบ หรือแม้แต่ท่าทางเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเขาก็กลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจไปหมด
โดยการโฟกัสที่มากขึ้นนี้สามารถแสดงออกมาได้ผ่านบทบรรยายความคิดภายใน (internal monologue) และการกระทำของตัวละคร
ตัวอย่าง: ในเรื่อง “10 Things I Hate About You” แคท สแตรทฟอร์ด เริ่มสังเกตเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของแพทริค เวโรนา ที่เธอไม่เคยสนใจมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้มขี้เล่น น้ำเสียงที่ฟังดูอบอุ่น หรือแม้แต่ท่าทางกวนๆ ของเขา โดยรายละเอียดเหล่านี้เผยให้เห็นถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นของแคท และบ่งบอกถึงความรู้สึกที่เริ่มก่อตัวในใจเธอ
มองโลกในแง่ดีเกินจริง
เวลาแอบชอบใครสักคน เรามักจะมองเขาหรือเธอในแง่ดีเกินจริง ข้อเสียเล็กๆ น้อยๆ กลายเป็นเรื่องน่ารัก ความผิดพลาดกลายเป็นบทเรียน และทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาหรือเธอทำดูสมบูรณ์แบบไปหมด ซึ่งนี่อาจทำให้ตัวละครมองข้ามข้อเสีย และสร้างภาพลักษณ์ของอีกฝ่ายที่สมบูรณ์แบบขึ้นมาเองในหัว
ตัวอย่าง: ในเรื่อง “500 Days of Summer” ทอม แฮนเซน มองซัมเมอร์ ฟินน์ในแง่ดีเกินจริง เขาหลงใหลในตัวเธอ มองว่าเธอเป็นผู้หญิงที่พิเศษและสมบูรณ์แบบ แม้กระทั่งนิสัยและความคิดที่ดูแปลกประหลาดของเธอก็กลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดในสายตาของเขา
มีความคิดฟุ้งซ่าน
เวลาแอบชอบใครสักคน ความคิดของเราก็เหมือนผีเสื้อที่บินไปมา เดี๋ยวก็ไปโผล่ที่โน่น เดี๋ยวก็ไปโผล่ที่นี่ ยากที่จะโฟกัสกับอะไรได้นานๆ ไม่ว่าจะทำอะไรเราก็มักเผลอไปคิดถึงคนที่ชอบอยู่บ่อยๆ ซึ่งความคิดฟุ้งซ่านเหล่านี้อาจทำให้ตัวละครเสียสมาธิในการทำกิจวัตรประจำวันได้
ตัวอย่าง: ในเรื่อง “บันทึกของบริตเจ็ต โจนส์” บริตเจ็ตมักจะเพ้อฝันถึงมาร์ค ดาร์ซี ชายหนุ่มที่เธอแอบชอบอยู่บ่อยครั้ง ความคิดของเธอมักจะเวิ่นเว้อไปถึงเรื่องราวโรแมนติกของเธอและเขา ซึ่งมันถ่ายทอดผ่านบันทึกประจำวันของเธอที่ทั้งขำขันและสะท้อนตัวตน
Writing Tip: ใช้บทบรรยายความคิดภายใน (internal monologue) และการพรรณนา
เพื่อถ่ายทอดกระบวนการทางความคิดของตัวละครที่แอบชอบใครสักคน ลองใช้บทบรรยายความคิดภายใน เผยให้เห็นความคิดและความรู้สึกของพวกเขา นอกจากนี้การใช้บทพรรณนาอย่างมีสีสัน ยังช่วยให้นักอ่านเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าตัวละครมองคนที่เขาแอบชอบอย่างไร เน้นลงรายละเอียดที่ตัวละครสังเกตเห็น รวมถึงมุมมองที่อาจจะมองอีกฝ่ายในแง่ดีเกินจริง
ตัวอย่าง
- บทบรรยายความคิดภายใน: แทนที่จะเขียนว่า “หัวใจฉันเต้นแรงเมื่อเจอเขา” ลองใส่ความรู้สึกลงไปอีกนิด แล้วเปลี่ยนเป็น “หัวใจฉันเต้นแรงขึ้นทุกครั้งเวลาเขาเดินผ่านมา ทำไมวันนี้เขาดูหล่อเป็นพิเศษนะ?”
- พรรณนา: แทนที่จะเขียนว่า “เขาเป็นผู้ชายที่หล่อเหลา” ลองเขียนว่า “ดวงตาสีฟ้าสดใสของเขาเปล่งประกาย ดึงดูดฉันให้มองอย่างไม่อาจละสายตาได้”
เมื่อแอบรักใครสักคน… ปฏิกิริยาจะเปลี่ยนไป พวกเขาจะ...
ตื่นเต้นและฟิน
เวลาแอบชอบใครสักคน หัวใจของเราจะเต้นแรงจนแทบทะลุออกมานอกอก ท้องไส้ปั่นป่วนเหมือนมีผีเสื้อนับร้อยกำลังโบยบิน ร่างกายรู้สึกเหมือนมีกระแสไฟวิ่งผ่านเพียงแค่เห็นหน้าหรือคิดถึงคนที่ชอบ อาการเหล่านี้ก็เกิดขึ้นได้หมด
ตัวอย่าง: ลาร่า จีน โคเวย์ จากเรื่อง “To All the Boys I've Loved Before” รู้สึกทั้งตื่นเต้นและประหม่าเมื่อเธอเริ่มคุยกับปีเตอร์ คาวินสกี้ ความรู้สึกดี๊ด้าของเธอถูกถ่ายทอดผ่านการกระทำและความคิดภายใน
กังวลและประหม่า
นอกจากความตื่นเต้นแล้ว การแอบชอบใครสักคนยังนำมาซึ่งความกังวลและประหม่า เราอาจจะกังวลว่าอีกฝ่ายจะมองเราอย่างไร หรือกลัวโดนปฏิเสธ ซึ่งมันอาจส่งผลให้เราทำตัวเก้งก้าง เงอะงะ กระสับกระส่าย หรือคิดมากจนเกินไป
ตัวอย่าง: วิลเลียม แท็คเกอร์ จากเรื่อง “Notting Hill” เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่รู้สึกประหม่าและเก้ๆ กังๆ เวลาอยู่กับแอนนา สก็อตต์ ซึ่งนำไปสู่โมเมนต์ฮาๆ และน่ารักๆ ความขัดแย้งภายในและความไม่มั่นใจของเขา แสดงออกมาชัดเจนผ่านบทพูดและการกระทำ
หึงและไม่มั่นใจ
เวลาแอบชอบใครสักคน อาการที่เด่งมากๆ คือความรู้สึกหึงหวง และคิดว่ามีคนมาแย่งเขาไป หรือรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองว่าคู่ควรกับคนที่เราชอบหรือเปล่า สิ่งนี้สามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่น่าอึดอัด อยู่ไม่สุข หรือคิดมากกับการกระทำและคำพูดของตัวเอง ที่สำคัญความรู้สึกเหล่านี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการสำรวจตัวเองได้ด้วยเช่นกัน
ตัวอย่าง: แฮร์รี่ จากเรื่อง “When Harry Met Sally” รู้สึกหึงเวลาเห็นแซลลี่อยู่กับผู้ชายคนอื่น ซึ่งความหึงนี้นำไปสู่การสารภาพความรู้สึกของตัวเอง และช่วยเพิ่มมิติให้กับการพัฒนาตัวละครของแฮร์รี่
Writing Tip: Show, Don’t Tell
เพื่อสื่ออารมณ์ของตัวละครได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคนิคสำคัญคือ การทำให้นักอ่านเห็นภาพมากกว่าเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ แทนที่จะบอกตรงๆ ว่าตัวละครรู้สึกอย่างไร ลองบรรยายอาการทางร่างกาย และใช้บทสนทนาเพื่อเผยให้เห็นอารมณ์ของพวกเขา
1. บรรยายอาการทางร่างกาย
- หัวใจเต้นแรงจนแทบจะทะลุออกมา (ตื่นเต้น)
- แก้มร้อนผ่าว (เขินอาย)
- เสียงสั่นเครือ (ประหม่า)
- มือเย็นเฉียบ (กลัว)
- ยิ้มไม่หยุด (ดีใจ)
2. บทสนทนาที่สื่ออารมณ์
- “สวัสดีครับ... เอ่อ... ผมดีใจที่ได้เจอคุณนะครับ” (ประหม่า)
- “ฉันรอคอยที่จะเจอคุณมานานแล้ว!” (ตื่นเต้น)
- “คุณ... คุณดูดีจังนะคะวันนี้” (เขินอาย)
- “เขาไปไหน!? ทำไมแกอยู่กับเขา!!?” (หึง)
3. ฉากที่แสดงปฏิกิริยาทางอารมณ์
- ฉากที่ตัวละครบังเอิญเจอกับคนที่แอบชอบ ความตื่นเต้น ประหม่า หรือดีใจ จะแสดงออกมาผ่านสีหน้า ท่าทาง และการพูดคุย
- ฉากที่ตัวละครเห็นคนที่แอบชอบอยู่กับคนอื่น ความหึง โมโห หรือเสียใจ จะสามารถสื่อสารผ่านสีหน้า ท่าทาง และบทสนทนาที่สั้นๆ แต่หนักแน่น
การแสดงให้เห็นถึงปฏิกิริยาทางร่างกาย บทสนทนาที่สื่ออารมณ์ และฉากที่แสดงปฏิกิริยาทางอารมณ์ จะช่วยให้นักอ่านรู้สึกอินและเข้าใจความรู้สึกที่ซับซ้อนของตัวละครยามแอบรักใครสักคน ราวกับว่าพวกเขาเองก็กำลังอยู่ในสถานการณ์นั้น
เมื่อแอบรักใครสักคน… พฤติกรรมจะเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น
พฤติกรรมเปลี่ยนไป
พฤติกรรมของเรามักเปลี่ยนไปเมื่อแอบชอบใครสักคน เรามักจะลองทำอะไรใหม่ๆ เปลี่ยนสไตล์การแต่งตัว เปลี่ยนทรงผมใหม่ หรือแม้แต่พยายามทำตัวแตกต่างไปจากเดิม ทั้งหมดก็เพื่อดึงดูดความสนใจจากคนที่แอบชอบ
ตัวอย่าง: ในเรื่อง “Clueless” เชอร์ โฮโรวิตซ์คอยช่วยไทแปลงโฉมตัวเองเพื่อให้หนุ่มที่แอบชอบสนใจ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเชอร์ในการรับบทคิวปิดยิงศรรักให้กับไท เผยให้เห็นการเติบโตและ self-awareness มากขึ้น
ความใจดีและความเอื้อเฟื้อ
นอกจากการเปลี่ยนตัวเองแล้ว เวลาเราแอบชอบใครสักคน ก็มักพยายามทำดีกับเขาคนนั้นเป็นพิเศษ หวังสร้างความประทับใจหรือแสดงความรู้สึกดีๆ ที่มี อยากดูแลเอาใจใส่ อยากทำให้ยิ้มได้ แค่เห็นเขามีความสุขก็มีความสุขมากๆ แล้ว
ตัวอย่าง: โจ ฟ็อกซ์ จากเรื่อง “You've Got Mail” มักส่งดอกไม้และอีเมลให้กำลังใจแคทลีน เคลลี่แบบลับๆ เขาไม่ยอมเปิดเผยตัวตน นับว่าเป็นการพยายามแสดงความรู้สึกในแบบที่ไม่ตรงไปตรงมา แต่การกระทำเหล่านี้ช่วยเพิ่มมิติให้กับตัวละคร
กล้าที่จะเสี่ยง
คงจะเหมือนกับเพลงลองของสูงที่กล่าวว่า “อยากรักก็ต้องเสี่ยง ไม่อยากให้เธอเป็นเพียงภาพในความฝัน” เพราะเวลาเราแอบชอบใครสักคน มันทำให้เรามีความกล้าหาญมากขึ้น กล้าที่จะลองออกจาก comfort zone กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความกลัวที่เกิดขึ้นในใจ เช่นกลัวความเจ็บปวด กลัวถูกปฏิเสธ แล้วลองเสี่ยงทำในสิ่งที่ปกติไม่กล้าทำ ไม่ว่าจะเป็นการสารภาพรัก ชวนออกไปเดท หรือทำสิ่งพิเศษเพื่อคนที่ชอบ
ตัวอย่าง: มีอา เธอร์โมโปลิส จากเรื่อง “The Princess Diaries” กล้าที่จะจุ๊บไมเคิลในตอนจบของเรื่อง แสดงให้เห็นถึงการเติบโตและความกล้าหาญของเธอ การตัดสินใจเสี่ยงครั้งนี้ สะท้อนถึงความมั่นใจและเส้นทางการพัฒนาอารมณ์ของเธอ
Writing Tip: สร้างฉากที่ชวนติดตาม
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะแสดงออกได้ดีที่สุดผ่านฉากที่ตัวละครมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลที่พวกเขาชอบ หรือคนอื่นๆ รอบตัวพวกเขา การตอบโต้เหล่านี้ทำให้นักอ่านเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมได้ เช่น การกล้าเสี่ยง การแสดงความเมตตา หรือการเปลี่ยนแปลงนิสัยตามปกติของพวกเขา
ตัวอย่าง
อยากแสดงความกล้าเสี่ยง ลองเขียนประมาณว่า นางเอกแอบชอบพระเอก แต่ไม่กล้าคุยด้วย วันหนึ่งพระเอกเดินมาชนแก้วน้ำของนางเอกหก ปกติแล้วนางเอกจะเป็นคนเก็บตัว แต่ครั้งนี้เธอตัดสินใจเดินไปหาพระเอกแล้วบอกว่า “ขอโทษนะคะ ฉันจะไปเอาผ้ามาเช็ดให้”
ประโยคสั้นๆ นี้ แสดงถึงความกล้าที่จะเสี่ยงเปิดบทสนทนา แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่น่าอึดอัดก็ตาม
เคล็ดลับการเขียนฉากแอบรักให้อิน
ค่อยๆ เพิ่มความตื่นเต้น
เริ่มต้นด้วยสัญญาณเล็กๆ น้อยๆ ที่บ่งบอกถึงความสนใจ ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มระดับความเขินอาย การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และความรู้สึกที่มี จนกลายเป็นความแอบชอบที่ชัดเจน
ตัวอย่าง: แทนที่จะเขียนว่า “เธอใจเต้นแรงเมื่อเห็นเขา” ลองเขียนว่า “เธอเผลอสบตากับเขา พวงแก้มร้อนผ่าว ก่อนรีบเบนหน้าหนี แล้วลอบมองเขาอีกครั้งตอนที่เขาไม่ทันสังเกต” ฉากนี้สื่อถึงความเขินอายและความสนใจที่เริ่มก่อตัวขึ้น
สื่ออารมณ์ผ่านรายละเอียด
แทนที่จะให้ตัวละครพูดตรงๆ ว่ารู้สึกอย่างไร ลองใช้รายละเอียดเช่น ท่าทาง สายตา บทสนทนา หรือบรรยากาศ เพื่อสื่อถึงความรู้สึกที่ยังไม่ถูกพูดออกมา
พัฒนาตัวละครให้มีมิติ
ไม่ใช่แค่ตัวละครที่แอบชอบที่มีรายละเอียด แต่ตัวละครที่ถูกแอบชอบก็ควรมีด้วย ใส่พัฒนาการให้ตัวละครทั้งความฝัน ปัญหา และนิสัยส่วนตัว ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักอ่านรู้สึกผูกพันและเข้าใจตัวละครมากขึ้น
ใส่ความตลกและสื่อสารได้อย่างเข้าถึง
ในสถานการณ์ที่ชวนอึดอัด การใส่ความคิดขำๆ และเหตุการณ์ที่ฮา จะช่วยให้นักอ่านรู้สึกผูกพันกับตัวละคร และเข้าใจความรู้สึกของพวกเขามากขึ้น
สะท้อนผลลัพธ์ที่หลากหลาย
ไม่ใช่ทุกความแอบชอบจะลงเอยด้วยความรักที่สมหวัง การเล่าเรื่องในมุมมองที่แตกต่างจะช่วยให้เรื่องราวของเรามีมิติและน่าสนใจมากขึ้น ตัวอย่างเช่น นางเอกแอบชอบพระเอก แต่พระเอกมีแฟนแล้ว แม้จะเสียใจแต่สุดท้ายนางเอกก็ตัดสินใจมูฟออน และค้นพบความสุขในตัวเอง การเล่าเรื่องในลักษณะนี้จะสื่อถึงการเติบโตทางอารมณ์และความเข้มแข็งของตัวละคร
.......................
เป็นอย่างไรบ้างคะกับสิ่งที่นำมาฝากวันนี้ การทำความเข้าใจกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของคนที่แอบรักเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะมันจะช่วยให้เราสร้างตัวละครที่มีมิติและเรื่องราวที่น่าสนใจได้มากขึ้น ขอเพียงแค่เรารู้จักผสมผสานเทคนิคแต่ละข้อเข้าด้วยกัน แค่นั้นก็เพียงพอที่เราจะได้เรื่องราวโรแมนติกที่ยอดเยี่ยมแล้ว
หากสนใจเคล็ดลับการเขียนหรืออยากเป็นนักเขียนที่เก่งขึ้น สามารถกดติดตามรวมบทความเด็ดได้ที่ "เปิดคัมภีร์! ส่งต่อเคล็ดลับที่จะทำให้การเขียนนิยายของคุณกลายเป็นเรื่องง่าย!" เชื่อว่าน่าจะมีเคล็ดลับการเขียนที่ตรงใจทุกคนอยู่แน่ๆ ค่ะ
0 ความคิดเห็น