ทำแล้วพัง 5 กับดักที่นักเขียนต้องเลี่ยง!

ทำแล้วพัง 5 กับดักที่นักเขียนต้องเลี่ยง!

 

การเขียนนิยายเหมือนกับการปีนเขา ยอดเขาสูงใหญ่เปรียบเหมือนช่วงเวลาแห่งความสำเร็จ ส่วนหุบเหวก็เหมือนกับอุปสรรคที่เราต้องฟันฝ่าไปให้ได้ แต่ระหว่างการเดินทางนี้เอง มันก็จะมีทางแยกผิดบ้างถูกบ้างที่จะเปลี่ยนการผจญภัยครั้งนี้ให้กลายเป็นฝันร้ายได้ เพื่อให้เราก้าวเดินบนเส้นทางการเป็นนักเขียนสายนี้ได้อย่างราบรื่น บทความนี้ขอนำเสนอ 5 กับดักที่นักเขียนนิยายอาจตกหลุมพราง  มาดูกันดีกว่าค่ะว่ามีอะไรบ้าง จะได้ไม่พลาดทำ!

 

 

กับดักที่ 1 หลงรักร่างแรกของเรามากเกินไป

หลังจากการเขียนนิยายมายาวนาน เพิ่งพิมพ์คำว่า “จบ” ลงบนร่างแรก ใจฟูฟ่องไปหมด ทุกคำราวกับเป็นมาสเตอร์พีซ พล็อตเรื่องช่างแยบยลเหลือเกิน แต่ใจเย็นๆ ก่อน! ร่างแรกเปรียบเหมือนเด็กแรกเกิด น่ารักน่าเอ็นดูแต่มันยังไม่พร้อมเผชิญโลกใบใหญ่นี้

ไม่มีใครหรอกที่จะสร้างสรรค์ต้นฉบับแรกที่ไร้ที่ติ ไม่เว้นแม้แต่บรรดานักเขียนขั้นเทพ ตัวแม่ตัวมัม มันอาจเต็มไปด้วยช่องโหว่ของเนื้อเรื่อง ตัวละครที่ยังไม่พัฒนาเต็มที่ บทสนทนาที่ฟังดูแปลกๆ ร่างแรกคือสนามเด็กเล่นของเรา เป็นพื้นที่ปลดปล่อยไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ให้โลดแล่นอย่างมีอิสระ

เคล็ดลับคือ มองร่างแรกของเราด้วยสายตาที่วิเคราะห์ เตรียมใจที่จะรีไรต์ แก้ไข และบางครั้งอาจต้องรื้อบางส่วนเพื่อเขียนใหม่เสียด้วยซ้ำ กระบวนการนี้อาจรู้สึกเหมือนฉีกทึ้งผลงานอันเป็นที่รัก แต่จำไว้ว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเติบโต นิยายที่ดีที่สุดนั้นไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาในครั้งเดียว แต่ถูกเขียนขึ้นมาใหม่จากเดิมต่างหาก

 

 

กับดักที่  2 อย่าเมินเฉยต่อคำติที่สร้างสรรค์

อยู่กับคนที่ชมเราตลอดเวลาก็ดูแฮปปี้ดีใช่มั้ย? เพื่อนๆ และครอบครัวอาจจะสาดคอมเมนท์ชื่นชมรัวๆ ทำให้เรารู้สึกเหมือนเป็นนักเขียนคนดังคนต่อไป ถึงแม้จะดีต่อใจ ฟังแล้วฟิน แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ช่วยให้นิยายของเราพัฒนาขึ้นเลย

แต่ฟีดแบ็คเชิงสร้างสรรค์ (Constructive criticism) คือเพื่อนแท้ที่ปลอมตัวมา มันช่วยชี้จุดอ่อนที่เราอาจมองไม่เห็น และยังเสนอแนวทางในการพัฒนานิยายให้ดีขึ้นอีกด้วย ลองหาฟีดแบ็คจากเบต้ารี้ดเดอร์ กลุ่มเขียนนิยาย หรือปรึกษาบรรณาธิการมืออาชีพ ความเห็นของพวกเขาเหล่านี้อาจเปลี่ยนนิยายของเราจาก “ดี” เป็น “สุดยอด” ได้เลยนะ

การรับฟังฟีดแบ็ค (feedback) เป็นเรื่องสำคัญ แต่มันก็ต้องมีจุดสมดุลด้วยเช่นกัน ฟีดแบ็คบางอย่างอาจไม่ตรงใจเรา หรือไม่เข้ากับเรา ซึ่งนั่นก็ไม่เป็นไร ลองพิจารณาว่าคำแนะนำไหนเข้ากับแก่นเรื่องที่เราอยากเล่า แล้วอันไหนที่ไม่ใช่ เลือกฟังเฉพาะส่วนที่ช่วยเสริมนิยายของเราให้ปัง!

 

 

กับดักที่  3 อย่าสร้างตัวละครที่มีแค่มิติเดียว

ตัวละครที่ “แบนราบ” เกินไปเป็นสิ่งที่ควรเลี่ยง นักอ่านคงไม่อยากอ่านนิยายที่ตัวละครไม่มีมิติหรอก ตัวร้ายที่ร้ายกาจแบบไม่มีเหตุผล หรือพระเอกที่เพอร์เฟ็คไร้ที่ติ มันไม่น่าดึงดูดเลย เพราะนักอ่านต่างโหยหาตัวละครที่มีความซับซ้อนและสมจริง

หัวใจสำคัญของตัวละครที่ดึงดูดนักอ่านคือการมี “มิติ” ในทุกแง่มุม โดยอาจพิจารณาสิ่งต่างๆ เหล่านี้

  • เรื่องราวเบื้องหลัง: พวกเขาเคยผ่านอะไรมา? ประสบการณ์เหล่านั้นส่งผลต่อความคิดและการกระทำของพวกเขาอย่างไร?
  • แรงจูงใจ: อะไรที่ผลักดันให้พวกเขาทำสิ่งต่างๆ?
  • จุดบกพร่อง: ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ลองสร้างจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดที่ทำให้ตัวละครน่าสนใจยิ่งขึ้น
  • ความกลัว: ตัวละครของเรากลัวอะไร? ความกลัวเหล่านี้ส่งผลต่อการตัดสินใจของพวกเขาอย่างไร?
  • ความฝัน: ตัวละครของเราใฝ่ฝันถึงอะไร? ความฝันเหล่านี้อาจเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาออกไปเผชิญโลกกว้าง
  • นิสัยแปลกประหลาด: เพิ่มเสน่ห์ให้ตัวละครด้วยนิสัยหรือพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เหมือนใคร มันจะทำให้ตัวละครของเราน่าจดจำ

ตัวละครของเราควรเติบโตและมีพัฒนาการไปตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครที่อยู่กับที่มันน่าเบื่อ ลองแสดงให้เห็นถึงอุปสรรค ชัยชนะ และการเปลี่ยนแปลงของพวกเขา ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ที่พวกเขาเผชิญ การมีชีวิตชีวาแบบนี้จะทำให้นักอ่านอินไปกับเส้นทางของตัวละคร

 

 

กับดักที่  4 เติมข้อมูลแบบพอดีคำ ไม่ต้องยัดเยียด

การอธิบายข้อมูลพื้นฐานนั้นสำคัญ แต่ถ้าเราเทข้อมูลลงไปให้ผู้อ่านรัวๆ ทีเดียวทั้งหมด อาจทำให้นิยายเราดูน่าเบื่อและน่าสับสน เปรียบเสมือนเสิร์ฟอาหารจานใหญ่ยักษ์เต็มโต๊ะนั่นแหละ กินยังไงให้หมด!

ลองเปลี่ยนวิธีเป็นการหยอดข้อมูลทีละนิด เหมือนโรยเศษขนมปังให้ไก่กิน ค่อยๆ เผยรายละเอียดอย่างเป็นธรรมชาติ ให้นักอ่านได้เรียบเรียงเรื่องราวด้วยตัวเอง วิธีนี้จะช่วยให้นิยายของเราลื่นไหล น่าติดตาม และดึงดูดนักอ่านให้อยู่หมัด

อีกเคล็ดลับสำคัญคือ Show, Don’t Tell แทนที่จะบอกนักอ่านว่าตัวละครรู้สึกโกรธ ลองแสดงออกผ่านท่าทาง คำพูด และการกระทำของตัวละคร เทคนิคนี้จะทำให้เรื่องราวของเรามีชีวิตชีวาและดึงดูดนักอ่านได้มากกว่าการบอกเล่าตรงๆ

 

 

กับดักที่  5 อย่าลืมเปิดเรื่องให้ปัง

การเปิดเรื่องของนิยายเปรียบเสมือนประตูสู่โลกของเรื่องราว เหมือนการทักทายผู้อ่านเป็นครั้งแรก มันเป็นโอกาสสร้างความประทับใจแรกพบ ถ้าเปิดเรื่องเรื่อยๆ น่าเบื่อ หรือชวนงง นักอ่านอาจปิดนิยายของเราก่อนที่จะได้สัมผัสงานดีๆ เลยก็ได้ ลองนึกภาพเป็นการสัมภาษณ์งาน เราอยากดึงดูดความสนใจของกรรมการตั้งแต่แรกพบ ไม่ใช่ปล่อยให้เขาหลับไปกลางทางระหว่างการสัมภาษณ์

การเปิดเรื่องที่ดีต้องชวนติดตามตั้งแต่บรรทัดแรก อาจจะด้วยฉากตื่นเต้น คำถามชวนสงสัย หรือแนะนำตัวละครที่น่าสนใจ จุดนี้จะทำให้นักอ่านอยากรู้ว่าเรื่องราวจะดำเนินต่อไปอย่างไร 

ถึงแม้การเปิดเรื่องจะต้องดึงดูดความสนใจ แต่ก็อย่าลืมปูพื้นเรื่องด้วย แนะนำโทน บรรยากาศ และเดิมพันของตัวละคร ให้นักอ่านได้กลิ่นอายของเรื่องราวโดยไม่ต้องยัดเยียดข้อมูลมากเกินไปตั้งแต่หน้าแรก

วิธีทดสอบว่าการเปิดเรื่องของเราน่าสนใจไหม คือลองให้คนอื่นอ่านแค่หน้าแรก ถ้าเขาอยากอ่านต่อ แสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว แต่ถ้าเขาไม่สนใจ ก็ถึงเวลาปรับปรุงจนกว่าจะกลายเป็นการเปิดเรื่องที่ชวนติดตามจนวางไม่ลง

 

...................

 

การเขียนนิยายเปรียบเสมือนการเดินทางอันยาวไกล มีทั้งช่วงที่สนุกสนาน ตื่นเต้น มีอุปสรรค และบทเรียนมากมายที่จะค้นพบ เคล็ดลับสำคัญคือการหลีกเลี่ยงกับดักทั้ง 5 อย่างนี้ เมื่อเราก้าวข้ามผ่านมันได้ นิยายของเราก็จะปังและมัดใจนักอ่านได้สำเร็จ หยิบปากกาขึ้นมา ปลดปล่อยจินตนาการ และปล่อยให้เรื่องราวของเราเบ่งบานเฉิดฉาย!

หากสนใจเคล็ดลับการเขียนหรืออยากเป็นนักเขียนที่เก่งขึ้น สามารถกดติดตามรวมบทความเด็ดได้ที่ "เปิดคัมภีร์! ส่งต่อเคล็ดลับที่จะทำให้การเขียนนิยายของคุณกลายเป็นเรื่องง่าย!" เชื่อว่าน่าจะมีเคล็ดลับการเขียนที่ตรงใจทุกคนอยู่แน่ๆ ค่ะ

 

 พี่น้ำผึ้ง : )

 

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด