9 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์

             ประกาศรายชื่อผลงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย จากงานประกวดรางวัลซีไรต์ ประจำปีนี้แล้วนะจ๊ะ ซึ่งมีผลงานที่ผ่านเข้ารอบมาทั้งหมด 9 เรื่องด้วยกัน ซึ่งพี่ปัดก็ได้แอบไปหาข้อมูลของผลงานทั้ง 9 เล่ม มาฝากน้องๆชาวDek-D ด้วยนะจ๊ะ อย่ารอช้าไปดูผลงานชิ้นแรกกันเลยดีกว่า


เคหวัตถุ ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์

          เราใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องราวมากมาย เรื่องสั้นแปดเรื่องใน "เคหวัตถุ" ทำให้เราต้องมองสิ่งของต่างๆ รอบตัวด้วยดวงตาที่เปลี่ยนไป เรื่องสั้นทั้งหมดใช้ลีลาการเล่าเรื่องที่โดดเด่นและสร้างสรรค์ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงร้อยรัดกันอย่างลึกซึ้งระหว่างวัตถุและจิตใจ ร่มอาจไม่ได้เป็นแค่อุปกรณ์กันฝน เช่นเดียวกับน้ำตาลที่อาจไม่เพียงเติมรสชาติความหวานให้กับเครื่องดื่ม และตู้เย็นที่อาจทำประโยชน์ได้มากกว่าเก็บรักษาอาหาร


          เรื่องสั้นเหล่านี้ยังก็สะท้อนถึงสัมพันธภาพที่มีรูปลักษณ์อันหลากหลายของผู้คนร่วมสมัย ในช่วงเวลาที่ทุกคนดูเหมือนถูกเคลือบฉาบด้วยเปลือกแห่งวัตถุ ผู้เขียนได้ตั้งคำถามที่สำคัญแก่เราว่า มนุษย์แข็งกระด้างขึ้นจริงหรือ หรือเรายังคงเป็นเผ่าพันธุ์เดิมที่เต็มเปี่ยมด้วยความอ่อนไหว หากแต่ด้วยเงื่อนไขแห่งยุคสมัย ได้ปิดโอกาสให้เราไม่สามารถแสดงอารมณ์ที่แท้จริงออกมา

          หลายเรื่องใช้จินตนาการพาเราไปสู่เหตุการณ์อันเหลือเชื่อ แต่เรื่องราวที่ดูเกินจริงกลับสะท้อนความจริงในหลายแง่มุม กระตุ้นให้สมองต้องคิดตามและคิดต่อ ถึงที่อยู่ที่ยืนของผู้คนในปัจจุบัน เรายืนอยู่ที่จุดไหน ด้วยท่าทีเช่นไรต่อตัวเอง ต่อผู้คนรอบข้าง และต่อมนุษย์ที่อยู่ร่วมสมัยกับเรา

 


เราหลงลืมอะไรบางอย่าง ของ วัชระ สัจจะสารสิน

          เราหลงลืมอะไรบางอย่าง เป็นรวมเรื่องสั้นสิบสองเรื่องที่กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมและความเป็นไปของเหตุการณ์บ้านเมืองที่ทันสมัยในเชิงให้รายละเอียด นักเขียนเน้นความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกของผู้คนทั้งในสังคมชนบทและสังคมเมือง ที่ถูกกลายกลืนด้วยความเจริญของสังคมเมือง จากความละเมียดละไมไปสู่ความหยาบกระด้าง และในที่สุดความรู้สึกแบบสังคมเมืองก็ครอบคลุมสภาพจิตใจของชนบทไว้ได้อย่างสิ้นเชิง นักเขียนยังเลือกที่จะท้าทายอำนาจรัฐด้วยการตั้งคำถามบางประการผ่านตัวละครวิกลจริต นำเสนอภาพเมืองที่สกปรก เต็มไปด้วยสารพันปัญหา รวมทั้งมลพิษและอาหารขยะด้วยเรื่องเล่าของคนเก็บขยะ กล่าวได้ว่ารวมเรื่องสั้นชุดนี้โดดเด่นด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องในแบบเฉพาะตน คือตั้งคำถามกับปัญหาในลักษณะที่เป็นปัญญาชน นำเสนอสัญญะในเชิงเปรียบเทียบ เว้นจากการสรุปหรือแนะทางออกด้วยการเปิดปลายให้ผู้อ่านขบคิดต่อคำถามเหล่านั้นเอาเอง


           การตั้งชื่อชุดว่า เราหลงลืมอะไรบางอย่าง เป็นการชี้ชวนให้ผู้อ่านฉุกคิดว่าขณะที่เรามองชีวิตไปข้างหน้า และพร้อมจะก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือของโลกอย่างรวดเร็วนั้น เราหลงลืมอะไรบางอย่างหรือเปล่า เรากำลังละทิ้งความรู้สึกที่ครั้งหนึ่งเคยละเอียดอ่อน แล้วลุ่มหลงไปกับสื่อที่พัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง เราละทิ้งความฝัน ความปรารถนาและจินตนาการที่คนรุ่นก่อนเคยให้ความสำคัญไปแล้วหรือ นับว่า “เราหลงลืมอะไรบางอย่าง” เป็นเรื่องสั้นชุดหนึ่งที่ท้าทายกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับจิตสำนึกของคนในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

 


เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า ของ จำลอง ฝั่งชลจิตร

           มีเส้นบางๆ อยู่ระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่ง แม้ในปัจจุบันเส้นแบ่งที่ว่าจะรางเลือนจนแทบมองไม่เห็นก็ตาม นี่คือรวมเรื่องสั้นที่เล่นกับประเด็นนี้แบบลงลึกในหลายแง่หลายมุม เรื่องสั้นทั้งสิบห้าเรื่องผูกร้อยด้วยโครงสร้างที่ไม่หวือหวา จนดูเหมือนเป็นเพียงชีวิตประจำวัน หรือการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ หากแต่ด้วยมุมมอง ชั้นเชิงการเล่า และภาษาที่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ ก็ทำให้เรื่องเล็กๆ ที่ดูไม่สลักสำคัญ กลับกลายเป็นมีความหมายอันน่าพินิจ ทั้งหมดยืนยันถึงบทบาทที่แท้จริงของนักเขียนในฐานะ "นักเล่าเรื่อง" เรื่องที่นำมาเล่าไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาใหญ่โต ขอเพียงเล่าโดยนักเล่าผู้มีฝีมือ ก็สามารถสะกดความสนใจของผู้คนได้แล้ว


           เรื่องสั้นชุดนี้โดดเด่นมากในการชี้เส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าแม้เส้นแบ่งนี้ยังคงมีอยู่ หากแต่ถ้านักเขียนรู้ถึงกลไกของมันแล้ว ก็สามารถกระโดดข้ามไปมาได้อย่างอิสระ หลายเรื่องใช้การเขียนแบบเรื่องซ้อนเรื่อง สะท้อนถึงวิธีคิดและกระบวนการสร้างสรรค์ของนักเขียน ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนมากมายกว่าจะได้งานแต่ชิ้น เรื่องของนักเขียน กับเรื่องที่เขาเขียน ยังเป็นสองเรื่องที่เล่าคู่ขนานกันไปได้อย่างน่าติดตาม ในขณะที่บางเรื่องมีลักษณะล้อเล่นกับความเป็นนักเขียน คล้ายเป็นการย้อนมองตัวเองของตัวผู้เขียน ว่าแท้ที่จริงนักเขียนก็ไม่ได้เป็นผู้ยิ่งใหญ่อะไรเลย ก็แค่คนๆ หนึ่งที่ต้องดิ้นรนอยู่ในสังคมเท่านั้น


          รวมเรื่องสั้นชุดนี้ถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษา ถึงความพยายามของนักเขียนร่วมสมัยของไทย ในการสร้างงานที่ล่วงผ่านสู่เรื่องเล่าแบบใหม่ แทนที่ขนบการเล่าเรื่องแบบเดิมที่อยู่ยืนยาวมาช้านาน


ข่าวการหายไปของอาริญาและเรื่องราวอื่นๆ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์

          นักเขียนใช้ความเป็น “นักเล่าเรื่อง” เล่าภาพชีวิตของคนเฉพาะท้องถิ่น คนชนบทและคนเมือง “เสียงเล่า” ของเขาเป็นเสียงที่อยู่ในกระแสร่วมสมัย แต่ด้วย “กลวิธีการนำเสนอเรื่องเล่า” นักเขียนได้ใช้น้ำเสียงโน้มน้าวให้ผู้อ่าน รื่นรมย์ รันทด และสะเทือนใจได้ลึกซึ้ง และด้วยลีลาที่นักเขียนพยายามจะทำให้ “เรื่องเล่า” มีลักษณะแปลกและต่างรูปแบบ ผู้อ่านจึงได้ยินเสียงของ


            “นักเล่าเรื่อง” พยายามปรุงแต่ง เรียงร้อยและจัดวางจังหวะถ้อยคำและข้อความ เมื่อเปลี่ยนผู้เล่าและเปลี่ยนเสียงเล่า น้ำเสียงก็เปลี่ยนไป บางครั้งก็ใช้น้ำเสียงของคนเฉพาะถิ่น บางครั้งก็ใช้น้ำเสียงของคนชนบท และบางครั้งก็เป็นน้ำเสียงของคนเมือง ในบางเรื่องก็เพิ่มผู้ฟังให้ร่วมเล่า


         ในภาพรวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็สะท้อนความน่าเศร้าของระบบวัตถุนิยมและความโง่เขลาของมนุษย์ ที่ท้ายสุดก็ตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมเดียวกันทั้งคนชนบทและคนเมือง

 


ตามหาชั่วชีวิต ของ ‘เสาวรี’


           รวมเรื่องสั้น ตามหาชั่วชีวิต โดยเสาวรี ประกอบด้วยเรื่องสั้น ๙ เรื่อง มีเนื้อหาสาระที่หลากหลายโดดเด่นทางด้านเนื้อหาและแนวคิดที่มีเอกภาพร่วมกัน


           ผู้เขียนตั้งคำถามกับผู้อ่าน ตั้งคำถามกับสังคม ว่าเรากำลังตามหาอะไรกันอยู่ ? บางคนอาจตามหามาชั่วชีวิตแต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ากำลังตามหาอะไรโดยสะท้อนผ่านตัวละครที่ต่างมีชีวิตกะพร่องกะแพร่งไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ต่างพยายาม “ตามหา”เพื่อ “เติมเต็ม” ให้กับส่วนที่ตนขาด ตามหาการยอมรับนับถือจากผู้คน ตามหาตัวตนที่ไม่เคยมีของตัวเอง ตามหาความอบอุ่นของครอบครัว ตามหาชีวิตสมรสที่ซื่อสัตย์ ตามหารากเหง้าเผ่าพันธุ์ ตามหาความรัก ความเมตตา ต่างล้วนตามหาความสมบูรณ์ของชีวิต


          ด้านกลวิธีการนำเสนอ ผู้เขียนมีชั้นเชิงและลีลาการเขียนที่ลื่นไหล มีแง่มุม มีวิธีการเล่าด้วยท่วงทำนองที่หลากหลาย ทำให้เรื่องซึ่งเป็นประเด็นปัญหาทางสังคมอันชวนเคร่งเครียด “น่าเบื่อ” กลายเป็นเรื่อง “น่าอ่าน” ด้วยการมองโลกอย่างละเมียดละไม ไม่ฟูมฟาย ไม่ตัดสิน ทิ้งประเด็นให้ผู้อ่านได้คิดต่อ กระตุ้นให้หันกลับมามองตัวเอง และทบทวนเป้าหมายของชีวิต


          เป็นไงบ้างจ๊ะ นี้แค่ออร์เดิร์ฟมาเรียกน้ำย่อยนะจ๊ะ ยังมีอีก 4 เรื่อง ที่พี่ปัดจะเอามาให้ดูกันในอาทิตย์หน้า พี่ปัดสัญญาจ๊ะว่าจะไม่ลืมเป็นอันขาด หวังว่าผลงานของนักเขียนที่ผ่านเข้ารอบซีไรต์ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับน้องๆ นักเขียนชาวDek-D ไม่มากก็น้อยนะจ๊ะ

 

พี่ปัดขอขอบคุณข้อมูลจากwww.seawrite.comค่ะ

รูปภาพประกอบจากwww.thaiwriterassociation.org,www.komchadluek.netค่ะ

พี่ปัด
พี่ปัด - Columnist คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์นักเขียน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
ม่านนที Member 29 ก.ค. 51 13:40 น. 6
อ่านแล้วรู้สึกว่านักเขียนแต่ละท่านมีมุมมองความคิดทางสัมคมดีจัง อยากเขียนเรื่องราวผ่านตัวละครสะท้อนสังคมให้ถึงแก่นได้บ้าง มีโอกาสต้องลองหาผลงานของท่านเล่านี้มาอ่านบ้างแล้ว ขอบคุณที่นำบทความดีๆ มาเล่าสู่กันฟังนะคะ
0
กำลังโหลด
♪♫•_♦Luzifia♦_•♫b Member 30 ก.ค. 51 18:38 น. 7
น่าอ่านมากเลย   เรื่องตามหาชั่วชีวิตอ่ะค่ะ    ^^

มันก็จริงนั่นล่ะ   คนเราตามหาสิ่งโน้นสิ่งนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด    วันก่อนอยากได้เพื่อน   วันนี้อยากได้แฟน   เดี๋ยวต่อไปก็อยากได้สามีล่ะ   เอิ๊ก ๆ ^^

จะเป็นกำลังใจให้นักเขียนค่ะ     ^O^
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด