ถอดบทเรียน "7 ดราม่าคุ้นตาจากเวทีประกวด" ที่ไม่ควรเกิดซ้ำในวันข้างหน้า!

     สวัสดีจ้าชาว Dek-D.com และแล้วผลการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2016 ที่กองเชียร์ทั่วโลกต่างลุ้นให้ตัวแทนจากประเทศของตัวเองได้ชัยชนะกลับไป ก็ออกมาเป็นที่เรียบร้อยว่าสาวงามจากประเทศฝรั่งเศสได้คว้ามงกุฎนางงามจักรวาลไปครอง ส่วน "น้ำตาล-ชลิตา ส่วนเสน่ห์" มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์คนล่าสุด ก็ได้ฝ่าฟันเวทีประกวดครั้งนี้ได้อย่างสมศักดิ์ศรีจนได้เข้ารอบลึก 6 คนสุดท้าย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งค่ะ
          
     พูดถึงเวทีประกวด-แข่งขันกันทั้งที นอกจากความปลื้มปิติที่น่าภาคภูมิใจแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หนีกันไม่พ้นก็คือ "ดราม่าชวนเพลีย" ที่มักเกิดจากผู้เข้าประกวดเองและกองเชียร์ จนเป็นเรื่องให้วิพากษ์วิจารณ์กันไม่จบสิ้น ถึงเวลาแล้วรึยังที่เราจะหยุดวงจรดราม่าเหล่านี้ ด้วยการมาช่วยกันถอดบทเรียนจากมัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเดิมซ้ำซาก? ถ้าหากเราคิดตรงกัน พี่ส้มขอเชิญชวนให้น้องๆ มาลองเรียนรู้ข้อคิดจากปมดราม่า 7 ข้อนี้ไปพร้อมๆ กันค่ะ
                 
    
1. มรสุมข่าวลือ "นางงามเด็กเส้น" จนเจ้าตัวต้องสละมง!
    
ถ้าใครที่เป็นแฟนเวทีการประกวดนางงามก็คงพอจำเหตุการณ์มรสุมข่าวลือ "นางงามเด็กเส้น" กันได้นะคะ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสาวสวยผู้คว้ารางวัลชนะเลิศนั้นไม่ใช่ตัวเต็งที่เก็งกันไว้ อีกทั้งถูกขุดคุ้ยประวัติด้านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบนโซเชียลออกมาแฉ พร้อมข่าวลือหึ่งว่าเธอได้ตำแหน่งเพราะเป็นเด็กเส้น แม้ว่ากองประกวดก็ได้ออกมายืนยันถึงความโปร่งใสแล้ว แต่เจ้าตัวก็ได้ตัดสินใจจัดการกับความกดดันรอบด้านด้วยการสละตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องช็อควงการพอสมควรค่ะ
      
สำหรับบทเรียนที่ได้จากเรื่องนี้ อาจมองได้ว่าบรรดากองเชียร์ทั้งหลายกำลังใช้สิทธิ์ในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสรีที่เกินขอบเขตจนเป็นการโจมตีชีวิตคนๆ หนึ่งให้ได้รับความกดดันมากไปรึเปล่า? หรือกองประกวดควรมีมาตรการที่รัดกุมในการคัดกรองผู้สมัคร และสามารถเปิดเผยการตัดสินได้อย่างชัดเจนมากขึ้นแค่ไหน อย่างไร? เพื่อเป็นการป้องกันดราม่าที่รุนแรงแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกนั่นเองค่ะ
        
เครดิต : https://pixabay.com
         
       
2. รวมฮิตผิดกติกา ปลดฟ้าผ่าหลายเวที
     
ว่าด้วยประเด็นของการผิดกติกานี้ ถือเป็นปัญหายอดฮิตที่สามารถพบได้ในการประกวด-แข่งขันหลายแคมเปญเลยล่ะค่ะ ซึ่งส่วนมากจะมีสองกรณี ได้แก่ผู้เข้าร่วมมีคุณสมบัติไม่ตรงตามกติกาที่ได้ระบุไว้ตั้งแต่แรก อย่างเคสการประกวดภาพถ่าย ที่ภาพเก่าเก็บเกินกติการะบุไว้ได้เข้าผ่านเข้ารอบไปซะงั้น พอถูกจับได้ก็เจ้าของผลงานต้องถูกตัดออกจากการประกวด และกรณีที่ผิดกติกากันในเกมแข่งขันแบบซึ่งหน้า แต่ทว่ากรรมการดันมองไม่เห็นไปซะได้! จนเกิดกระแสดราม่าด่ากราดกันข้ามชาติข้ามประเทศ
    
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนจากการผิดกติกา ก็คือความซื่อสัตย์ที่บกพร่องค่ะ ซึ่งได้กลายเป็นการบ้านให้ทางผู้จัดการประกวด-แข่งขัน ต้องกลับไปทบทวนและเพิ่มความรอบคอบในการตรวจสอบให้ละเอียดถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้น ส่วนผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมและกองเชียร์ก็อาจต้องมาไล่ลำดับความสำคัญกันใหม่ ว่าเราให้คุณค่ากับทรัพย์สินที่เป็นรางวัลมากกว่าน้ำใจนักกีฬา จนต้องโกงเพื่อให้ได้รางวัลมาแล้วรึยัง?
   
เครดิต : https://pixabay.com
   
    
3. ซื้อสิทธิ์ขายเสียง ขอเพียงให้ได้ Popular Vote
    
การจัดให้มีรางวัล Popular Vote ถือเป็นหนึ่งในสีสันของการทำให้เวทีประกวดดูสนุกและน่าติดตามมากขึ้น เพราะทำให้กองเชียร์รู้สึกมีส่วนร่วมในการส่งกำลังใจให้ผู้เข้าประกวดในดวงใจได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็เกิดดราม่าจากการซื้อเสียงคะแนนโหวตเพื่อให้นางงามตัวเต็งที่ได้เข้าไปประกวดในเวทีระดับโลก เนื่องจากแฟนคลับของเธอได้ต่างชักชวนให้คนรอบข้างโหวตให้เธอ โดยยินดีตอบแทนเป็นเงินหรือสิ่งของ ทั้งที่งานนี้สาวงามต้นเรื่องก็ไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วยเลยจ้า ซึ่งก็ทำให้เกิดกระแสเม้าท์แกมกัดข้ามประเทศกันให้แซด ว่าเล่นอะไรไม่โปร่งใสเอาซะเลย!
     
ถ้าหากพิจารณากรณีนี้ด้วยเหตุผลของความเท่าเทียม การขายเสียงคะแนนโหวตของตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ายอมรับในระดับสากล เพราะคนที่ไม่มีกำลังซื้อเสียงโหวตก็อาจจำต้องพ่ายแพ้ ทว่าก็มีผู้คนที่ซื้อเสียงอีกจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าฉันไม่ได้บังคับใคร และเขาก็ยินดีรับสิ่งตอบแทนนั้นเอง แต่ถ้าลองทบทวนดูแล้วว่าถ้านางงามที่พวกเขารักได้รับตำแหน่ง Popular Vote ได้เพราะการซื้อเสียง ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าภาคภูมิใจสักเท่าไหร่...
    
เครดิต : https://pixabay.com
    
      
4. ออกแบบชุดสวยมาเพื่อเดินบนเวที แต่ชวนคนตีกันซะงั้น...
    
ดราม่าเรื่องเครื่องแต่งกายที่ผู้เข้าประกวดสวมใส่บนเวทีมักมีให้เห็นกันจนชินตา ซึ่งประเด็นหลักที่ถูกยกมาเป็นสาเหตุนั้นก็คงหนีไม่พ้นเรื่องความเหมาะสม ที่เป็นข้อโต้แย้งเสมอว่านี่คือการนำศิลปวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การทำนุบำรุงรักษามาเผยแพร่บนเวทีโลกในสไตล์ใหม่ หรือเป็นการดัดแปลงให้ศิลปะชั้นสูงต้องลดคุณค่าลงกันแน่? จนเป็นเรื่องราวใหญ่โต ที่บางกรณีก็ต้องจบลงด้วยการยกเลิกเครื่องแต่งกายต้นเหตุแล้วออกแบบใหม่ หรือถ้าแก้ไขไม่ทันก็ต้องมาแถลงข่าวขอโทษกันในภายหลัง 
    
การจัดการกับปัญหานี้ คงยกให้เป็นภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ค่ะ เพราะผู้ออกแบบชุดเองก็ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของศิลปะแขนงต่างๆ ที่อยากนำมาประยุกต์เข้ากับเสื้อผ้าที่สวมใส่ว่าเหมาะสมเพียงใด ส่วนผู้เชี่ยวชาญในศิลปวัฒนธรรมก็ควรเปิดใจและเข้าไปมีบทบาทในการให้คำแนะนำกับดีไซน์เนอร์ตั้งเริ่มออกแบบ เพื่อหาจุดที่ยอมรับร่วมกันได้ ซึ่งน่าจะดีกว่ามาติติงแล้วต้องโละทิ้งกันในตอนท้ายนะจ๊ะ
    
เครดิต : https://pixabay.com
    
     
5. เชียร์กันเลยเถิด เกิดแต่ผลเสีย
     
สำหรับดราม่าหลังเวทีประกวด-แข่งขันที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด และเกินการควบคุมมากที่สุด ก็คงต้องยกให้ความเลยเถิดของกองเชียร์(ที่ไม่ค่อยน่ารัก)นี่แหละค่ะ แน่นอนว่าทุกเกมการแข่งขันมีความมันส์และความลุ้นกันอยู่ทุกวินาที ซึ่งพอผลออกมาไม่ตรงกับที่คาดหวังไว้ก็ย่อมมีความผิดหวังเป็นธรรมดา แต่ว่าจุดที่ไม่ธรรมดาก็คือการตอบโต้อย่างรุนแรง ยกตัวอย่างเคสที่คอลูกหนังไม่พอใจผลการแข่งขัน เลยจุดพลุกลางแมทช์แข่งฟุตบอลจนไฟไหม้สนามเสียหาย หรือเคสที่แฟนคลับนางงามไปค่อนแคะผู้เข้าประกวดท่านอื่น ว่าสวมใส่ชุดที่ดูไร้ราคามาประกวด
       
เหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นการวางตัวไม่เหมาะสมของกองเชียร์เอง ทว่าผู้ที่รับผิดชอบผลเสียที่ตามมานั้นกลับไม่ใช่เพียงกองเชียร์ที่เป็นต้นเหตุ แต่ยังรวมถึงผู้จัด และผู้เข้าประกวด ที่ต้องเสียภาพลักษณ์ในฐานะเป็นตัวแทนที่ร่วมสร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ แต่กลับกลายเป็นเวทีจุดชนวนให้ผู้คนมาแสดงความรุนแรงกันไปซะได้นะคะ
     
เครดิต : https://pixabay.com
     
       
6. หนึ่งความผิดพลาด ถูกอาฆาตตลอดไป...
         
การติดตามชมรายการประกวด-แข่งขัน ถือเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายขึ้น แต่ในทางกลับกันผู้ชมบางท่านก็อินเกินไป จนถึงขนาดที่ว่าด่าสาดเสียเทเสียกับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินรายการ เช่นเดียวกับภาพเหตุการณ์การประกาศผลผิดในเวทีประกวดนางงามโลกที่ทุกคนจำได้ติดตา ว่าต้องขอมงกุฎคืนหลังจากมอบให้ผิดคนไปแล้ว ซึ่งแน่นอนว่าความผิดครั้งนี้มีดราม่าตามมายกใหญ่จนถึงขั้นด่ากราดพิธีกรแบบไม่ให้ผุดไม่ให้เกิดเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการจับแพะชนแกะโยงประเด็นให้เกิดความแตกแยกระหว่างประเทศไปอีก
    
จากความผิดพลาดที่ว่า สำหรับผู้จัดและพิธีกรเองนั้นก็คงมีโจทย์ให้กลับไปทบทวนถึงการเตรียมสคริปต์งานให้รัดกุมเพื่อป้องกันเหตุการณ์แบบนี้เกิดซ้ำ เพราะมันกระทบจิตใจต่อตัวผู้เข้าประกวดและกองเชียร์อย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน ชาวเน็ตที่ช่วยกันโหมกระพือดราม่านี้ด้วยการแกะเกาเรื่องใหม่ๆ แบบไม่มีมูลเหตุและหลักฐานที่เพียงพอ ก็อาจต้องหยุดคิดสักนิดว่าการถกประเด็นใหม่ๆ ขึ้นมานี้ ช่วยให้เกิดผลดีในการเรียกร้องความยุติธรรมแก่ใครได้บ้าง หรือในทางกลับกัน เรากำลังได้รับความบันเทิงจากความเจ็บปวดและอับอายของผู้อื่นอยู่รึเปล่า?
     
เครดิต : https://pixabay.com
        
           
7. คำตัดสินออกมาไม่โดนใจ ผิดที่ใคร กองเชียร์ หรือ กรรมการ?
    
การที่กองเชียร์ไม่ยอมรับคำตัดสินจากกรรมการ ถ้าหากไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้มาโต้แย้ง ก็คงกลายเป็นการกระทำที่เลื่อนลอยที่ไม่ช่วยให้ผลการประกวด-แข่งขัน เปลี่ยนแปลงไปได้ พี่ส้มต้องขอยกกรณีการประกวดนางงามประจำชาติหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีให้หลัง ที่ผู้ชนะจากเวทีนี้เป็นลูกครึ่งผิวสองสีที่ผิดแผกไปจากผู้คนในชาตินั้นซึ่งมีผิวขาวเหลือง งานนี้แน่นอนว่าเธอโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจนต้องออกมาขอโทษประชาชน ทั้งๆ ที่ดูแล้วก็ไม่ใช่ความผิดที่เธอเกิดมาเป็นแบบนี้...
    
สำหรับประเด็นนี้อาจมองได้สองมุมค่ะ ถ้าพิจารณาถึงความเป็นนางงามประจำชาตินั้น ก็อาจมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าผู้ครองตำแหน่งจะต้องมีลักษณะของชาตินั้นๆ อยู่ในตัว เพราะฉะนั้นกรรมการก็ควรคัดเลือกผู้ที่มีลักษณะดังกล่าวให้ได้รับตำแหน่งไป แต่อีกแง่มุมหนึ่งก็คือความเท่าเทียม ที่เราไม่ควรนำเรื่องสีผิวมาแบ่งแยกคนออกจากกัน ถ้าหากบุคคลผู้นั้นมีความสามารถและคุณธรรมจริยธรรมเพียงพอก็ควรค่าแก่การยอมรับนับถือ ซึ่งนี่ก็ได้กลายเป็นบทเรียนให้การประกวดเวทีอื่นๆ ที่ต้องกำหนดจุดประสงค์ในการเฟ้นหาสาวงามไว้ให้แน่ชัด พร้อมระบุคุณสมบัติที่ชัดเจนไว้ล่วงหน้า และอาจเป็นคำถามสำหรับประเทศที่มีแนวคิดชาตินิยมว่า คุณมีความพร้อมแค่ไหนที่จะยอมรับผู้คนที่แตกต่างจากคุณ? โดยคำตอบที่ได้จะสามารถเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมประกวด-แข่งขันต่างๆ ได้อย่างลงตัวค่ะ
    
          
              
     สำหรับเรื่องราวเหล่านี้ ก็เป็นกรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นจริงและมักเป็นปัญหากันอยู่บ่อยครั้ง พี่ส้มหวังว่าน้องๆ จะนำข้อคิดจากเรื่องราวเหล่านี้ไปเป็นบทเรียน ในการวางตัวเป็นผู้เข้าประกวด-แข่งขันที่ดี และเป็นกองเชียร์ที่น่ารัก เพื่อให้การประกวด-แข่งขันเป็นไปอย่างโปร่งใส ยุติธรรม นำมาซึ่งความยินดีและภาคภูมิใจแบบไม่ต้องดราม่าให้เพลียกันอีกแล้วนะจ๊ะ
      
             
                   
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น