สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D อีกไม่นานเราก็จะได้เคาท์ดาวน์ต้อนรับปีใหม่กันอีกแล้ว พักนี้เลยเห็นหลายคนเริ่มออกมาบ่นว่า มิชชั่นที่เคยลั่นไว้ตั้งแต่ต้นปีว่าน้ำหนักต้องลด, เกรดต้องขึ้น, จะเก็บเงิน, จะเล่นมือถือน้อยลง ฯลฯ ยังทำไม่ได้เลย...นี่จะปีใหม่อีกแล้วเหรอ!! แต่นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกหรอกนะคะ เพราะเคยมีผลสำรวจกลุ่มตัวอย่างในอเมริกาว่า ปณิธานปีใหม่ของคนกว่า 80% ล้มเหลวหรือถูกลืมไปตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกุมภาพันธ์!
 
         และเพื่อให้น้องๆ ได้เป็นคนกลุ่มน้อยที่ทำสำเร็จ วันนี้พี่จะมาบอกเหตุผลที่เป็นไปได้ว่าทำไมคนถึงทอดทิ้งปณิธานปีใหม่ไว้กลางทาง พร้อมเสนอวิธีที่ช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จให้นำไปปรับใช้ในปี 2018 กันค่ะ^^



 
1. ข้าศึกรอบด้าน
 
         บางทีเราตั้งใจจริงแต่ปัจจัยรอบๆ ไม่เอื้อซะงั้น เช่น อยากลดความอ้วน แต่ครอบครัวมีธรรมเนียมต้องกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตาตอน 1 ทุ่ม อยากตั้งใจเรียน แต่เพื่อนข้างๆ ดันชวนคุยตลอดเวลา หรืออยากเลิกเล่นโซเชียล แต่คุณครูกับเพื่อนๆ ดันอัพการบ้านและสไลด์ที่ใช้สอนไว้ในเฟซบุ๊ก อันนี้เราต้องหนักแน่นไว้ค่ะ ถ้าพูดคุยขอความร่วมมือจากคนรอบข้างได้ก็ลองดูก่อนเนอะ ^^


Photo by William Iven on Unsplash

 
2. เป้าหมายเลื่อนลอยไม่ชัดเจน
 
         บางคนชอบพูดว่า "เราจะผอมลง" "เราต้องเรียนเก่งขึ้น" "เราจะเลิกบุหรี่ให้ได้" "เราจะต้องรวย" ฯลฯ ฟังดูเลื่อนลอยเหมือนขายฝันให้ตัวเองเลยใช่มั้ยคะ ปีหน้าเอาใหม่ สั่งให้ตัวเองรู้ก่อนว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ใส่ความมั่นใจและระบุขอบเขตให้ชัด เช่น
 
         เราจะผอมลง เปลี่ยนเป็น เราต้องลดน้ำหนักให้ได้ 5 กก. ทุกๆ 2 เดือน
         เราจะเรียนเก่งขึ้น เปลี่ยนเป็น ปีนี้เราต้องเรียนให้ได้เกรด 3 ขึ้นไป
         เราจะเลิกบุหรี่ให้ได้ เปลี่ยนเป็น เราต้องเลิกบุหรี่ให้ได้ภายในครึ่งปี
         เราจะต้องรวย เปลี่ยนเป็น เราต้องเก็บเงินให้ได้ทุกเดือน เดือนละ 1,000 บาท



 
3. ประเมินพลังตัวเองสูงไป
 
         หลายคนตั้งเป้าหมายไว้เกินตัว ซึ่งถ้าใจไม่แข็งมากจริงๆ อาจทำให้ท้อและเลิกทำในที่สุด เช่น บอกตัวเองว่าจะลดน้ำหนักให้ได้ 20 กก. ต่อเดือน, ต้องเรียนให้ได้เกรด 4 ทั้งที่ก่อนหน้านี้เพิ่งจะเกรด 1, ต้องเก็บเงินให้ได้เดือนละ 1,000 บาท ทั้งที่รายรับทั้งเดือน 3,000 บาท พร้อมค่าใช้จ่ายอีกเพียบ (อดตายกันพอดี) จริงๆ ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ แต่แนะนำให้ประเมินตัวเองก่อน อาจเริ่มจากง่ายๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มระดับ เราจะได้รู้สึกมีกำลังใจที่ทำสำเร็จในแต่ละขั้น
 
         อีกกรณีคือบางคนตั้งเป้าหมายไว้เยอะมากก ทั้งอยากเรียน Photoshop, เรียนภาษาที่สาม, อยากเรียนขับรถ, อยากจบโท ภายในปีเดียว โอ้ พลังงานหมดกันพอดี ยกยอดไปไว้ปีหน้าบ้างเถอะนะ



 
4. ทำผิดวิธี
 
         คิดไว้สวยงาม แต่ลืมศึกษาวิธีที่ถูกต้อง เช่น อยากลดน้ำหนักแต่ดันอดอาหารจนโยโย่ น้ำหนักพุ่งกว่าปีก่อน หรืออยากเก็บเงิน แต่ไม่แบ่งส่วนการใช้เงินและไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย

         ส่วนอีกกรณีนึงคือบางคนใจไม่ถึงแต่ใช้วิธีหักดิบ ซึ่งอาจเกิดในกรณีคนที่อยากกินผัก, อยากเลิกบุหรี่, อยากเลิกเหล้า, อยากเลิกน้ำอัดลม, อยากเลิกโซเชียล ฯลฯ แนะนำว่าอย่ารีบถ้าไม่สตรองพอ ควรเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไปตามสเต็ป ถ้าฝืนแล้วร่างกายปรับตัวไม่ทันแผนอาจล่ม


Photo by NeONBRAND on Unsplash
 
5. ลืมเฉย!
 
        บางทีความรับผิดชอบในแต่ละวันก็เยอะจนเผลอลืม Goal ของเรา เช่น จ่ายเงินซื้อของแพงไปแล้วนึกขึ้นได้ว่าจะเก็บเงิน หรือเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าจะเรียนภาษาเกาหลีให้ทันก่อนซีรี่ส์เกาหลีออนแอร์ (รู้อีกทีก็ต้องมานั่งรอซับไทยเหมือนเดิม) เป็นต้น วิธีแก้สุดเบสิกคือให้เขียนเป้าหมายลง Post-it แล้วแปะไว้ที่ที่ตัวเองเห็นชัดเจน หรือไม่ก็ชวนเพื่อนสนิททำมิชชั่นเดียวกัน แล้วผลัดกันเตือนสติ



 
6. เริ่มช้าเกินไป/ทำไม่ต่อเนื่อง = ไฟหมด
 
         วันแรกทำ วันที่สองขี้เกียจ วันที่สามงานยุ่ง วันที่สี่เพลีย วันที่ห้ากลับมาทำใหม่ ขืนเป็นแบบนี้รับรองล่มเพราะไฟมันมอดไปตั้งแต่วันที่สองแล้ว พี่ขอแนะนำวิธีนึงที่มีคนพูดถึงบ่อยมาก คือการใช้ "กฎ 21 วัน" ของ Dr.Maxwell Malt เขาบอกว่า ถ้าจะทำอะไรให้สำเร็จ ให้พยายามแบ่งเวลาในทุกๆ วันมาทำสิ่งนั้นต่อเนื่องจนครบ 21 วัน (หรือสัก 20-25 วันนั่นแหละ) ซึ่งมีโอกาสสูงที่เราจะติดนิสัย วันต่อไปจะทำโดยอัตโนมัติ ส่วนตัวพี่เองเคยทำแล้วได้ผลนะ ถ้าใครอยากลองซิทอัพ, เขียนไดอารี่, ท่องศัพท์ หรือกิจกรรมอื่นๆ ลองใช้วิธีนี้ดูก็ไม่เสียหายจ้า ^^
 

Photo by Kinga Cichewicz on Unsplash

 
7. ขาดแรงจูงใจ
 
         เราต้องมีใจจะทำสิ่งนั้นจริงๆ ต้องรู้ว่าชีวิตเราจะดีขึ้นแค่ไหนถ้าทำสำเร็จ เช่น ถ้าออกกำลังกาย สิวจะหาย หรือถ้าเราสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เราจะไปเที่ยวต่างประเทศได้ชิลล์ๆ เป็นต้น

        อีกวิธีนึงที่อยากแนะนำคือ การตั้งรางวัล (แต่ห้ามโกงนะ) เช่น ถ้าเดือนนี้เราเก็บเงินได้ 1,000 บาท จะอนุญาตให้ตัวเองใช้เงินนั้นซื้อนิยายมาอ่านได้ 1 เล่มในราคาไม่เกิน 200 บาท เป็นต้น (แต่ไม่ใช่ว่าลดความอ้วนได้ 1 กก. แต่ให้รางวัลด้วยการกินพิซซ่า 1 ถาดนะคะ แบบนี้ไม่เอาาาา)



8. ไม่ติดตามผลจนหายไปในอากาศ

        บางคนมั่นใจว่าตัวเองต้องจำได้แน่นอน แต่ลืมคิดไปว่าวันนึงเราต้องจดจำเรื่องอะไรอีกเยอะมากก ดังนั้นแนะนำว่าให้บันทึกความคืบหน้าไว้เป็นระยะ เช่น ตารางการออกกำลังกาย, บัญชีรายรับ-รายจ่าย, ตัวเลขน้ำหนักที่ลดในแต่ละเดือน, เขียนไดอารี่ถึงหนังสือที่อ่านในวันนี้ หรือวิธีการใดก็ได้ที่เหมาะสมกับกิจกรรมของน้องๆ ค่ะ รับรองว่าถ้าย้อนกลับมาดูจะมีกำลังใจขึ้น และรู้ด้วยว่ามิชชั่นเราสำเร็จมั้ย


Photo by Estée Janssens on Unsplash

       


      ต้นเหตุของความเฟลมีเยอะขนาดนี้
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมอัตราสำเร็จถึงน้อยขนาดนั้น ไหนๆ ปี 2018 ก็มาจ่อตรงหน้าแล้ว หาต้นตอให้เจอแล้วเริ่มใหม่กันเถอะ พี่เอาใจช่วย~ อย่าให้เป็นแค่ฝันเหมือนปีที่ผ่านๆ มานะคะ ><
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น