'5 วิธีป้องกันเด็กหาย-ผู้ใหญ่หลง' ที่ทุกคนในครอบครัวต้องรู้ไว้ใช้ทั้งนอกและในบ้าน!

     สวัสดีจ้าชาว Dek-D เผลอแป๊บเดียวก็จะถึงวันเด็กแห่งชาติอีกแล้ว นึกย้อนไปเมื่อครั้งที่เรายังเป็นเด็กเล็ก ก็คงพอจำได้ว่ามีหลายคนเฝ้ารอให้วันนี้มาถึง เพราะพ่อแม่จะพาไปเที่ยวดูเครื่องบิน รถถัง นั่งเก้าอี้นายกแล้วถ่ายรูปเก็บไว้ดู ^^
    
     แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปเราก็ย่อมแก่... เอ้ย!! โตขึ้นเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน ที่ต้องกลายเป็นฝ่ายพาน้องๆ หลานๆ พ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ ออกไปเที่ยวนอกบ้านแล้ว และถ้าใครได้เคยได้รับหน้าที่นี้ จะรู้ดีว่าปัญหาการพลัดหลงในเด็กและผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก เพราะยิ่งคลาดกันในสถานที่ที่ไกลบ้านหรือมีคนเยอะเท่าไหร่ การตามหาก็จะยิ่งยุ่งยากขึ้นไปด้วย หรือแม้กระทั่งการปล่อยให้คนกลุ่มนี้อยู่บ้านเพียงลำพัง ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยง ซึ่งมันอาจจะดีกว่าถ้าหากเราได้ป้องกันคนหายไว้ก่อนด้วยวิธีการ 5 ข้อนี้ค่ะ
   
    
 1. ถ้าไม่อยาก "หลง" ก็ต้องไม่ "งง" 
   
ถ้าเป็นเด็กโตที่พอช่วยเหลือตัวเองได้ หรือผู้สูงอายุที่ยังไม่หลงลืม การบอกจุดนัดพบ หรือเมมฯ เบอร์โทร.ไว้ให้ติดต่อได้ในเวลาพลัดหลงกันก็เพียงพอแล้วใช่มั้ยคะ แต่ถ้าเป็นเด็กเล็ก ผู้ป่วยจิตเภท หรือผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่อาจช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ทั้งหมด ก็อาจจะต้องเน้นย้ำติวเข้มกันสักหน่อย...
   
เครดิต : https://pixabay.com
   
สำหรับข้อมูลที่จำเป็นต้องสอนหรือทบทวนให้บุคคลในความดูแลของเราจำได้มากที่สุดก็มีรายละเอียดสำคัญดังนี้ค่ะ 
- อย่าไปกับคนแปลกหน้า วันนี้มากับใคร กลับกับใคร
- มีรหัสลับที่รู้กันแค่สองคน
เช่น ถ้ามีคนอื่นมารับกลับบ้านแทน ให้ขอรหัสลับก่อน ถ้าเขาให้รหัสผิดก็อย่าไปด้วย
- ใครให้ใช้ให้กินอะไรฟรีๆ ก็อย่าไว้ใจรับมา
- บ้านอยู่ที่ไหน เลขบ้าน ที่อยู่ จุดสังเกตใกล้เคียง เช่น ใกล้ห้างสรรพสินค้าอะไร
- ถ้าพลัดหลงกันไป ใครช่วยเหลือเราได้ เช่น ตำรวจ, ร้านประจำที่ไว้ใจได้, จุดประชาสัมพันธ์
- อย่าเข้าไปในที่เปลี่ยว 
- จดจำเบอร์โทรศัพท์สำคัญ เช่น เบอร์โทร.ของคนในครอบครัว, 191 และ1599 สายด่วนศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่สามารถรับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายหรือขอความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง
   
   
 2. จดจำรายละเอียด (ยิบ!!!) 
   
เรียกได้ว่าการจดจำรายละเอียดของรูปพรรณสัณฐานและเสื้อผ้าของเด็กหรือผู้สูงอายุที่เราดูแลมีประโยชน์ถึงสองขั้นเลยล่ะค่ะ ขั้นแรกเริ่มตั้งแต่ทันทีที่พลัดหลงกัน เราจะสามารถสังเกตและตามหาเขาได้เลย ซึ่งมีโอกาสที่จะกันได้ง่ายขึ้น ส่วนขั้นถัดไป คือการนำข้อมูลที่เราจดจำได้ไปบอกต่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้คนในละแวกนั้นช่วยประกาศ ติดตามหาได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นด้วยค่ะ
   
เครดิต : https://pixabay.com
      
ข้อมูลเบื้องต้นที่เราจำเป็นต้องจดจำให้ขึ้นใจ หรือบันทึกไว้ก็มีดังนี้...
- ส่วนสูง น้ำหนัก สีผิว สีผม 
- น้ำเสียง ท่าทาง
- ตำหนิ เช่น รอยแผลเป็น ไฝ ขี้แมลงวัน ปาน
- เสื้อผ้า เครื่องประดับ ที่สวมใส่ในแต่ละวัน
     
        
 3. "แชะ" เพื่อความ "ชัวร์" 
   
แม้จะจำรายละเอียดของบุคคลที่เราดูแลอยู่ หรือพาไปไหนมาไหนได้แล้ว แต่การถ่ายรูปพวกเขาไว้ก่อนออกจากบ้านก็ถือเป็นยันต์กันคนหายอีกชั้นที่ช่วยลดปัญหาคนหาย และเพิ่มโอกาสการติดตามเจอได้มากขึ้นด้วยการนำไปให้ผู้คนได้ดูแล้วถามถึงเบาะแส หรือใช้ภาพนี้ไปติดประกาศ ยิ่งในยุคที่ใครๆ ก็มีอินเทอร์เน็ตในกำมือแบบนี้ แค่โพสต์รูปลงไปบนโซเชียลมีเดียไม่กี่นาที ก็มีคนช่วยแชร์ช่วยตามหาได้แล้วล่ะค่ะ
   
เครดิต : ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา
   
ว่าแต่เพื่อเป็นการป้องกันคนนำรูปแอบอ้างในทางเสียหาย ก็อย่าลืมใส่ลายน้ำ หรือส่งให้องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านปัญหาคนหายโดยตรงอย่างเฟซบุ๊ก "ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา" จัดการโพสต์ให้ตามเทมเพลตที่สะดุดตาและน่าเชื่อถือ เพื่อเรียกความสนใจจากผู้คนที่พบเห็นให้ดูรายละเอียดและช่วยกันตามหาต่อไปค่ะ 
       
    
 4. จำขึ้นใจยังไม่พอ ต้องเตะตา และติดตัวด้วย! 
    
อีกหนึ่งวิธีจัดการกับปัญหาคนพลัดหลงที่ได้ผลและเป็นที่นิยมคือการบันทึกข้อมูลสำคัญไว้บนบัตรพกในกระเป๋าสตางค์ ป้ายคล้องคอ สติกเกอร์ หรือสายรัดข้อมือ(ริสแบนด์)ที่มีคิวอาร์โค้ด ของเด็กๆ หรือคุณปู่คุณย่าที่เราดูแล เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่หรือพลเมืองดีที่พบเจอหากต้องพลัดหลงกันนั่นเองค่ะ
   
เครดิต : https://pixabay.com
   
งานนี้ข้อมูลที่ต้องบันทึกไว้ก็ไม่ซับซ้อน ขอกระชับ ฉับไว และได้เรื่องแบบนี้เลย!
- ชื่อ นามสกุล อายุ ที่อยู่
- ข้อมูลเรื่องสุขภาพ เช่น หมู่โลหิต โรคประจำตัวพร้อมวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากอาการกำเริบ
- เบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญ เช่น ผู้ดูแล โรงพยาบาลที่รักษาโรคประจำตัว   
     
   
 5. ตราบใดที่ไม่ห่าง คนข้างๆ จะไม่หาย... 
    
ตราบใดที่มือยังจับกันไว้ สายตายังคงมองเห็นกันอยู่ ก็จะยังไม่มีใครพลัดหลงหายไปแน่ๆ ซึ่งในกรณีที่เป็นเด็กที่อายุไม่ถึง 6 ปี ที่พร้อมจะวิ่งเข้าหาสิ่งที่เขาสนใจอยู่เสมอก็มีความจำเป็นที่ต้องจูงมือไว้ตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นเด็กโตหรือผู้สูงวัยที่สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ ก็สามารถใช้วิธีหันมามองบ่อยๆ ไม่คลาดสายตาได้ก็พอค่ะ 
   
เครดิต : https://pixabay.com
   
นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ "สายจูงเด็ก" ในโอกาสที่ต้องพากันออกไปเที่ยวข้างนอก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเล็กวิ่งหนีไปไกลจนพลัดหลงกัน ซึ่งก็สามารถป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุที่จะเกิดกับตัวเด็ก หรือความเสียหายของสถานที่ที่เด็กอาจไปหยิบจับหรือทำลายข้าวของโดยไม่ได้ตั้งใจได้อีกด้วยนะคะ ^^
    
    
    จากสถิติคนหายของมูลนิธิกระจกเงาเมื่อปี 2560 พบว่ามีจำนวนคนหายถึง 929 คน โดยอันดับหนึ่งและสองยังคงเป็นช่วงวัยผู้สูงอายุและเด็กรองลงมาตามลำดับ แน่นอนว่าคนเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และต้องพบกับชะตากรรมที่โหดร้าย และวิธีป้องกันก็ต้องเริ่มที่ช่วยกันจัดการปัญหาคนหาย ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ 5 ข้อนี้นั่นเองค่ะ :)
   
   
ขอบคุณข้อมูลจาก :
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น