เบิกเนตรเสพอาร์ตขึ้นไปอีกขั้นกับ 'Synth Scape' อีเวนต์ที่สังเคราะห์ครบเครื่องทั้งเรื่องเพลงและการมองเห็น!

     สวัสดีจ้าชาว Dek-D เรียกได้ว่าระยะหลังที่กรอบของค่านิยมเชิดชูเพียงอาชีพสายวิทย์จ๋าว่าเป็นงานเงินเดือนสูงในสังคมไทยจนพ่อแม่ต้องเคี่ยวเข็ญให้ลูกไปเรียนกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เราก็ได้เห็นเด็กรุ่นใหม่เลือกเรียนในคณะด้านอาร์ตมากขึ้น อีกทั้งยังเกิดแฟชั่น 'เสพศิลป์' หรือความสนใจศึกษาศิลปะแล้วนำไปประยุกต์ใช้กับความสนใจของตนเองได้อย่างอิสระโดยไม่มีกำแพงของเด็กวิทย์หรือเด็กศิลป์อีกต่อไป ซึ่งทำได้ดีเชียวล่ะค่ะ! เพราะในวันนี้พี่ส้มมีตัวอย่างงานเจ๋งๆ ที่มีชื่อว่า 'Synth Scape ประสาทสัมผัสสังเคราะห์' อีเวนต์ดีๆ มาแนะนำให้รู้จักกันด้วยจ้า..
   
              
ก่อนจะที่เราจะไปพูดคุยล้วงลึกสู่หัวใจผู้อยู่เบื้องหลังงานนี้ พี่ส้มขอชี้แจงให้ทุกคนได้เข้าใจคร่าวๆ ก่อนนะคะว่านี่คืองานแสดงศิลปะที่รวมเอาทั้งดนตรี พร้อม Visual art หรือภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลง และศิลปะการจัดวาง (Installation art) ที่มีการติดตั้งในงานอย่างครบครันเพื่อให้ผู้เข้าชมทุกคนได้สัมผัสศิลปะกันได้ครบครันทุกมิติค่ะ ถ้าใครฟังแล้วรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าอีเวนต์สไตล์นี้เคยมีมาก่อนที่ไหน? ขอเฉลยเลยว่านี่คือภาคต่อของ 'Sightwaves' ฝีมือกลุ่มคนดนตรีเด็กดุริยางคศาสตร์ ม.ศิลปากร Talingchan Vibes x Rhythm of  Architecture เด็กสถาปัตย์ ม.กรุงเทพ นั่นเอง
   
เจมส์ - ณัฐพล อินทร์หนู, จ้าว - ภูรินท์ ชวรัตนวงศ์, เอื้อง ชมพูนุช ทวีสุขเสถียร, ปิ่น - ปณิตา ศิริวงศ์วานงาม,
วี - ปวีร์ กอบกิจสกุล, ดานิส - พิชญะ พิมลธรรมวัฒน์, ฟอร์ด - กษิดิษ ตนาภิชาติ และเจมส์ อารยะ รุ่งอภิญญา
   
แต่แน่นอนว่าการกลับมาอีกครั้งต้องไม่ธรรมดา เนื่องจากอีเวนต์ครั้งที่ผ่านมาของพวกเขาประสบความสำเร็จแบบถล่มทลายจนได้ทั้งแฟนเพลงและคนรักงานศิลปะมาเป็นเพื่อนใหม่อีกเพียบ ทีมงานของน้องๆ จึงขยายใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพราะบังเอิญว่าตอนที่จัดงาน Sightwave 'จ้าว - ภูรินทร์ ชวรัตนวงศ์' หนึ่งในเด็กออกแบบนิเทศศิลป์จากจุฬาลงกรณ์แก๊ง Murasaki ได้มาดูแล้วเกิดถูกใจอีเวนต์สไตล์นี้ เลยได้พูดคุยกับ 'เจมส์ - ณัฐพล อินทร์หนู' หัวเรือใหญ่แห่ง Talingchan Vibes ว่าเราน่าจะมีโปรเจกต์ต่อไปด้วยกัน พอการดีลไม่ติดขัดอะไร เขาเลยชวน 'ปาล์ม - วศิน เจ๊กจันทึก' และ 'เพลง พิศวัสต์ - โพธิ์จันทร์' จาก Rhythm of  Architecture เจ้าเก่ามาคิดเบรนสตอร์มเคาะโปรเจกต์ใหม่ขึ้นทันที!!!
   
เครดิต : Murasaki Studio
'เจมส์ อารยะ - รุ่งอภิญญา' และ 'ฟอร์ด - กษิดิษ ตนาภิชาติ' ชาว Talingchan Vibes ที่มาร่วมโต๊ะพูดคุยกันในครั้งนี้ ได้เปิดการสนทนาถึงงานที่พวกเขาสุดภูมิใจ 'Synth Scape ประสาทสัมผัสสังเคราะห์' ว่า "งานนี้เราได้หยิบเอาเทคนิคการสังเคราะห์ศิลปะในด้านต่างๆ มารวมเข้าไว้ด้วยกัน คืองานศิลปะทุกชิ้นที่จะได้ฟังหรือดูนั้นไม่ใช่สิ่งที่สัมผัสครั้งแรกแล้วจะเข้าใจได้ทันที เสน่ห์ของมันเลยอยู่ที่ความน่าฉงน พิศวง อย่างแนวดนตรีที่เราเลือกมาเล่นโชว์ก็จะมาในธีมที่แต่ละเพลงจะใช้เทคนิคของ Synthesizer เครื่องสังเคราะห์เสียงอิเล็กทรอนิกส์เข้าไป ที่ฟังแล้วก็ไม่ชัดเจนทันทีว่านี่คือเสียงของเครื่องดนตรีชิ้นไหน ใช้เทคนิคอะไร แต่มันละมุน กลมกลืนไปด้วยกันครับ"
   
   
     
"ด้านคอนเสิร์ตของเรารอบนี้ เราก็คัดเอาแต่วงที่มีผลงานเพลงด้านอิเล็กทรอนิกส์เข้ามา นำโดยวง Soft Pine, Varis และ Camel Gel แถมยังมีวงสปอนเซอร์ใจดีจากพี่ๆ ค่าย Tomato Love Records มาเล่นเปิดให้ด้วย และยังมีโชคชั้นดีอีกชั้น ที่เจ้าของ De commune ได้เอื้อเฟื้อสถานที่ให้เราได้จัดแสดงงานศิลปะสไตล์นี้อีกครั้ง ก็ต้องขอบคุณมากๆ จากใจจริงจริงผ่านคอลัมน์นี้ไว้ด้วยครับ ซึ่งพวกผมคิดว่าถ้าใครชอบเพลงนอกกระแส หรืออยากลองศึกษาการใช้เอฟเฟกต์ทางดนตรีนี่คุ้มมากเลยที่ได้มาดู เพราะนี่คืองานที่เกิดขึ้นจากคนที่มีใจรักและตั้งใจอยากช่วยกันผลักดันกันจริงๆ ดังนั้นทุกอย่างที่เราทำคือเต็มที่เต็มกำลังเท่าที่จะทำได้เลย"
   
เครดิต : Talingchan Vibes
   
ส่วนงานทางประสาทสัมผัสในการมองเห็นครั้งนี้ เมื่อได้จำนวนคนเพิ่มขึ้นแล้วพวกเขาก็มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจนค่ะ โดยเรื่องภาพเคลื่อนไหวประกอบเพลงที่ฉายบทเวทีหรือ Visual art ให้เป็นหน้าที่หลักของ Murasaki ที่ยังมี 'วี ปวีร์ - กอบกิจสกุล' 'ดานิส - พิชญะ พิมลธรรมวัฒน์' 'ปิ่น - ปณิตา ศิริวงศ์วานงาม' และ 'เอื้อง - ชมพูนุช' ที่ตาม 'จ้าว' มาร่วมกันรับโจทย์เพลงที่ชาว Talingchan Vibes ไปคิดงานต่อร่วมฝ่าย Installation art กับ 'ปาล์ม' และ 'เพลง' จาก Rhythm of  Architecture ว่าจะทำให้แสงที่สีที่ออกมามีความกลมกลืนหรือขัดแย้งกันยังไงไปตามอารมณ์เพลงและงานศิลปะการจัดวางไว้แบบต่างฝ่ายต่างระเบิดไอเดียใส่กันเต็มที่ ซึ่งก็จบลงที่แผนงานสุดลงตัวค่ะ   
   
เครดิต : Murasaki Studio
   
"เรื่องภาพเคลื่อนไหวทางหน้าจอ เราได้เอาเพลงของเพื่อนมานั่งฟังด้วยกันแล้วก็จูนกันง่ายๆ ด้วยการนั่งคุยกันว่าภาพในหัวของเราที่เกิดขึ้นเมื่อฟังเพลงนี้ เพลงนั้น มันเป็นยังไง เป็นสีไหน ตรงไหนเป็นเส้นเป็นแสงแบบไหน จากนั้นหยิบเอาจุดที่คิดตรงกันมาเป็นเมนหลัก แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งจุดที่น่าสนใจจากไอเดียแตกต่างออกไปจากเพื่อนบางคนนะ เช่น วินาทีนี้มีควรจะมีเอฟเฟกต์วิดีโอแบบนี้แซมเข้าไปคงตื่นเต้นดี แล้วเรารู้สึกว่า เฮ้ย! ดีอะ มันใช่! ก็ใส่เข้าไป"
    
เครดิต : Talingchan Vibes
   
"พอได้จากวิดีโอแล้วเราได้ทำให้การเสพงานในครั้งนี้มันซับซ้อนขึ้นไปอีก ด้วยการหาวัสดุรอบตัวมากั้นเป็นฉากโปร่งแสงตกแต่งเวทีเพื่อให้คนมาดูดนตรีได้เห็นภาพที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไปจากตัวคนจริงๆ กับฉากหลังที่เป็นวิดีโอของเรา (Distortion) ซึ่งรอบนี้เป็นบับเบิลกันกระแทก เราอยากให้เขาได้จินตนาการต่อว่าภาพที่เห็นกับเสียงที่ฟังนั้นมันคืออะไรกันแน่ ถ้าพูดให้เห็นภาพที่เหมือนเอ็มวี Sci-Fi อะไรเทือกนั้น แต่เห็นตรงหน้าเลยจริงๆ ประกอบกับศิลปะการจัดวางที่จะทำให้กลมกลืน เสริมให้ภาพที่เห็นนั้นมีมิติทะลุขึ้นมาตรงหน้า แบบหลุดเข้าไปในหนังสามมิติ แบบไม่ต้องสวมแว่นตา 3D อะไรเลย พวกเราคิดว่ามันเป็นอะไรที่ตื่นเต้นและท้าทายมากเลยนะ" Murasaki และ Rhythm of  Architecture ต่างแย่ง.. เอ้ย!! ช่วยกันเล่าด้วยความภูมิใจนำเสนอ
    
เครดิต : Talingchan Vibes
    
แหม่... เห็นทีว่าน้องๆ แต่ละทีมจะมีแพสชั่นที่แรงกล้าในการจัดงาน Synth Scape ขึ้นมาจริงๆ นะเนี่ย ช่วยกันพรีเซนต์เนื้องานกันได้ลึกจริงๆ ว่าแต่ชักอยากรู้แล้วล่ะว่าเด็กติสต์มาทำงานด้วยกันแบบนี้น่ะมีตีกันบ้างมั้ย?
   
น้องๆ ช่วยกันเล่าว่า "พอได้ทำอะไรที่ชอบด้วยกัน ปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางไอเดียจะไม่ขัดแย้งกันนะ เพราะเราคุยกันด้วยเหตุผล ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เราได้เรียนมา หรือเป็นประสบการณ์ที่เจอมาคล้ายกัน อาจมีไม่ไปทางเดียวกันบ้างแต่พอได้จูนกันแล้วก็จบ จะติดปัญหาเรื่องระยะทางเวลาและระยะทางมากกว่าเพราะเราเรียนกันคนละที่ พักกันอยู่คนละมุมของกรุงเทพฯ เลย จะนัดเจอกันมาคุยงานหรือทำงานด้วยกันนี่ยากมาก ซึ่งมันเป็นนาทีทองที่เราอยากได้เพราะเวลาอยู่ด้วยกันต่อหน้า คิดอะไรทำอะไรมันลงมือเลย ไปได้ไวมาก"   
               
"แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาเหล่านี้มันแก้ไขได้ยาก เราเลยต้องสร้างกฎขึ้นมาคือกาทำแพลนเนอร์ว่างานไหนต้องเริ่มและเสร็จตอนไหน และห้ามใครคลาดสายตาจากไลน์กลุ่มเป็นอันขาด 5555 ถึงพวกเราจะเป็นเด็กอาร์ตจ๋าแต่ก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลักในการสื่อสาร ส่งงานให้กัน หรือแม้แต่ประชุมกันเลย ไม่อย่างงั้นครันงานกันไม่ได้แน่นอน ^^"
   
เครดิต : Murasaki Studio
            
เมื่อได้ฟังคำตอบเมื่อสักครู่นี้ พี่ส้มก็รู้สึกได้ถึงความน่ารัก น่าเอ็นดู ที่พวกเขาพยายามช่วยกันทำงานแม้จะอยู่ไกลกัน จนใจอดถามออกไปไม่ได้ว่าพวกเขาประทับใจอะไรในตัวเพื่อนๆ บ้าง?
   
น้องๆ ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "เราประทับใจในเพื่อนที่ทุกคนมีแรงบันดาลใจเป็นตัวตั้งต้นในการทำงาน คืองานของเรามันก็มีผลประโยชน์กลับมาบ้างอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มากมายพอจะแบ่งให้ใครได้ค่าจ้างที่แพงจนเป็นอาชีพเสริมได้ ทุกคนก็เข้าใจในจุดนี้และมีข้อตกลงกันว่าถ้าได้เงินอะไรเข้ามาก็จะเก็บเข้าไว้กองกลางเพื่อสร้างงานต่อไปใหญ่เป็นโปรเจกต์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เอาไว้หล่อเลี้ยงความฝันของเราไปนี่แหละ"
   
"เพราะฉะนั้นเราจะไม่มาคิดเล็กคิดน้อยเรื่องเงิน เพื่อนทุกคนคือพร้อมลุย งานดึก งานหนัก ขับรถไปไกลก็ถึงไหนถึงกัน มันเป็นความรู้สึกประทับใจและเหมือนเราได้ตอบคำถามในใจให้กันว่า ที่เราเลือกมาทำอะไรที่ชอบแต่มันไม่ได้ผลตอบแทนเป็นเงินจริงจังแบบนี้ มันถูกต้องแล้วใช่มั้ย? คำตอบที่ได้คือมันถูกต้อง มันทำให้เราโตขึ้นจริงๆ เพราะเราได้เรียนรู้จากความผิดพลาดไปด้วยกัน และตอนนี้ในแวดวงนักศึกษาเราก็มั่นใจนะว่าคนที่จัดงานแสดงศิลปะแบบนี้ก็มีเรานี่แหละที่เป็นหนึ่งในอันดับต้นๆ ที่กำลังนำอยู่ (ขอคุยหน่อยยยย)"         
   
เครดิต : Murasaki Studio
    
     เอาเป็นว่าได้สัมผัสทั้งแรงบันดาลใจที่แรงกล้า พร้อมสปอยล์ถึงความน่าสนใจของอีเวนต์งานศิลปะฝีมือคนรุ่นใหม่ที่เติบโตไปอีกก้าวกันพอหอมปากหอมคอกันแล้วนะคะ ที่เหลือก็คงต้องเป็นการใช้หูและตาของเราไปโลดแล่นกับประสาทสัมผัสสังเคราะห์กันถึงที่ในงาน Synth Scape' แล้วล่ะว่าจะโดนใจแค่ไหน... วันที่ 11 ตุลาคมนี้ ถ้าใครมีเวลาว่างยามเย็นย่ำ ก็เชิญไปชิลล์กันได้กับเสียงเพลงที่ควรค่าแก่การฟังและภาพที่ควรค่าแก่การเห็นได้ที่ De Commune เวลา 20.00 น. เป็นต้นไปได้เลยจ้า!!!
พี่ส้ม
พี่ส้ม - Columnist คนทำคอนเทนต์ออนไลน์ ที่เชื่อว่าใครก็เป็นเด็กดีได้ในสไตล์ของตัวเอง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด