ชวนดู 3 รายการแฟชั่น-เดินแบบสุดปังระดับโลก

        The Face Thailand ซีซั่นใหม่กลับมาแล้ว แม้ซีซั่นนี้จะเริ่มอิ่มตัวและมีความลำไยในระดับหนึ่ง แต่ก็ถือว่ายังเป็นรายการเรียลลิตี้โชว์ที่เป็นที่กล่าวขวัญที่สุดในไทยอยู่
        พี่น้อง ถือโอกาสเขียนแนะนำรายการเรียลลิตี้ในวงการแฟชั่นที่ขึ้นชื่อปังๆ ระดับโลกทั้ง 3 รายการมาเผื่อเป็นตัวเลือกสำหรับคนที่ชอบแนวนี้นะคะ
 

The Face

กันตนา
 
        รายการนี้คงไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะคุณเต้จากเครือกันตนาได้ซื้อลิขสิทธิ์มาทำเป็นของบ้านเราเอง คัดเลือกคนไทย พูดไทย กรรมการก็นางแบบระดับแนวหน้าของไทย ไทยทำ ไทยดู เพราะงั้นโทนของรายการก็จะปรับตามรสนิยมคนไทยอย่างแท้จริง
เครือข่าย: อเมริกา (2 ซีซั่น) อังกฤษ (1 ซีซั่น) ออสเตรเลีย (1 ซีซั่น) เวียดนาม (2 ซีซั่น) ไทย (3 ซีซั่น The Face Men และ The Face All Star) ในจำนวนนี้มีเพียงประเทศไทยกับเวียดนามที่ยังทำรายการต่อ นอกนั้นไม่มีข่าวซีซั่นใหม่
รูปแบบการแข่งขัน: เป็นการคัดหา The Face หรือผู้ที่จะเป็น "หน้าตา" ให้กับแบรนด์ชั้นนำ จึงไม่ใช่แค่หานางแบบ แต่ต้องการคนที่มีทักษะการเดินแบบ ถ่ายภาพนิ่ง ถ่ายโฆษณาเคลื่อนไหว หรือเล่นละครได้ด้วย
        แต่ละแคมเปญของ The Face จึงผสมๆ กันไประหว่างการถ่ายภาพนิ่ง การถ่ายภาพเคลื่อนไหว หรือการแสดงโฆษณากึ่งละครหรือ MV
        วิธีการคัดเลือกผู้ชนะ ใน 3 ทีม จะมีผู้ชนะเพียง 1 ทีม ทีมแพ้ทั้ง 2 ทีมต้องส่งลูกทีม 1 คนเข้า "ห้องดำ" เพื่อให้เมนเทอร์ของทีมที่ชนะคัดออก และในรอบไฟนอลวอล์กที่เหลือผู้เข้าแข่งขันเพียง 3 คน จะมีกรรมการพิเศษมาให้คะแนนเพื่อหาผู้ชนะอีกที
 
Shine Intl.
 
        The Face ต่างจากรายการอื่นตรงที่มีความหลากหลายกว่า อย่างที่บอกว่าผู้เข้าแข่งขันจะไม่ใช่แค่มาถ่ายแบบ เดินแบบอย่างเดียว แต่ต้องแสดงทักษะด้านอื่นด้วย
        นอกจากนี้ The Face ยังมี "เมนเทอร์" หรือคนที่ทำหน้าที่ดูแล ให้คำแนะนำลูกทีมตลอดการแข่งขัน
        แน่นอนว่าพอเป็นรายการเรียลลิตี้ มีการเก็บตัวผู้เข้าแข่งขัน จับให้มาอยู่รวมกัน แข่งขันกัน ทำให้เกิดดราม่าตามมา The Face ทั้งของไทยและต่างประเทศก็มีเช่นกัน ซึ่งก็จะมีทั้งดราม่าระหว่างผู้เข้าแข่งขันกันเอง หรือเมนเทอร์กันเอง
        แต่ The Face Thailand นั้นรู้สึกว่าซีซั่นหลังๆ จะเอาใจผู้ชมที่ชอบดราม่ามากไปหน่อย แทนที่รายการจะโฟกัสพัฒนาการของผู้เข้าแข่งขัน กลายเป็นไปโฟกัสที่ความดราม่าของเมนเทอร์แต่ละคนแทน และวิธีการคัดผู้เข้าแข่งขันออกในแต่ละสัปดาห์ บางครั้งก็ไม่ยุติธรรม ไม่ได้วัดที่ความสามารถหรือพัฒนาการแต่วัดดวงแทน
 
แนะนำ: ผู้ที่ชอบความหลากหลาย ขายดราม่าหนักๆ
 

Asia's Next Top Model

Fox Network Groups
 
        ตัวรายการหลักอย่าง America's Next Top Model เป็นเรียลลิตี้โชว์ที่มีมาก่อน The Face ถึง 10 ปี และยังทำต่อเนื่องยาวนานจนเข้าสู่ซีซั่นที่ 23 แล้ว สำหรับฝั่งไทยจะเป็นการประกวดร่วมในประเทศโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้ชื่อว่า Asia's Next Top Model ดังนั้นรายการก็จะยังคงความอินเตอร์ มีคนหลากหลายเชื้อชาติ พูดอังกฤษกันทั้งรายการ
        แต่ช่อง 3SD ก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์มาพากย์ไทยทับให้เรียบร้อย ตอนนี้กำลังฉายอยู่เลย ไปตามดูกันได้
เครือข่าย: อเมริกา (23 ซีซั่น) ออสเตรเลีย (10 ซีซั่น) เอเชีย (5 ซีซั่น) เกาหลี (5 ซีซั่น) ทุกอันยังทำต่อ
รูปแบบการแข่งขัน: รายการ Top Model เป็นเรียลลิตี้ที่หา "นางแบบ" แท้ๆ นั่นคือต้องมีความสามารถในการเดินแบบ ถ่ายภาพเพื่อโฆษณาแฟชั่นต่างๆ ได้ เรียกว่าเป็น "ใบเบิกทาง" สำหรับคนที่อยากเป็นนางแบบระดับอินเตอร์ฯ อย่างแท้จริง จึงไม่แปลกที่การแข่งขันจะดุเดือด และมีมาอย่างต่อเนื่อง เพราะสาวๆ ทั่วโลกยังให้ความสนใจกันอย่างสม่ำเสมอ
        การแข่งขันใน Top Model จะคล้ายๆ กับ The Face นั่นคือมีแบบทดสอบเล็กๆ ก่อนแข่งจริง ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องจัดการกันเอง เช่น ถ่ายเซลฟี่ให้ดูสมกับเป็นนางแบบเซเลบที่สุด ฯลฯ หลังจากนั้นจึงเป็นการแข่งขันจริงที่ต้องร่วมงานกับแบรนด์ดังหรือช่างภาพมืออาชีพ
        การคัดเลือกผู้ชนะจะวัดกันที่คะแนนกรรมการล้วนๆ ประกอบด้วยกรรมการหลักของรายการที่จะอยู่ในทุกแคมเปญ สำหรับซีซั่นล่าสุดของ Asia's Next Top Model คือคุณซินดี้ บิชอป นางแบบชื่อดังของไทย และช่างภาพชื่อดังที่ทำหน้าที่เป็นไดเรกเตอร์ในแคมเปญส่วนใหญ่ ยู ซาย นอกจากนี้ก็จะมีกรรมการเสริมเป็นเจ้าของแบรนด์บ้าง แขกรับเชิญพิเศษประจำแคมเปญนั้นบ้าง อย่างในซีซั่น 5 คุณแม่ลูกเกด ก็ได้มาเป็นแขกพิเศษในแคมเปญหนึ่งด้วย
        เมื่อได้คะแนนจากแคมเปญหลักของกรรมการทุกคนแล้ว ก็จะมารวมกันคะแนนที่ทำได้ในการแข่งขันย่อยก่อนหน้า เพื่อหาผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด คนที่ได้คะแนนน้อยสุดก็ต้องโบกมือบ๊ายบายออกไปจากบ้านเอเอฟ
 
Star World
 
        สิ่งที่ The Face มี แต่ Top Model ไม่มีก็คือ "เมนเทอร์" นี่แหละค่ะ ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเอง อาจจะมีกรรมการพิเศษมาคอยให้คำแนะนำบ้าง แต่หลักๆ แล้วทุกคนจะได้ประสบการณ์ตรงจากการทำแคมเปญเลย
        และเนื่องจากเป็นรายการที่เน้นหานางแบบป้อนเข้าวงการโดยเฉพาะ ก็เลยจะเน้นแคมเปญถ่ายภาพเสียมาก ทำให้อาจไม่หลากหลายเท่า The Face ที่เน้นหาสมาชิกทีมอเวนเจอร์มากกว่า
        แน่นอนว่าความดราม่าก็มี อย่างซีซั่นล่าสุดของ Asia's Next Top Model มีทั้งผู้เข้าแข่งขันทะเลาะกันเอง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ลุกลามไปจนถึงขั้นแฉคนที่ละเมิดกฎให้กรรมการฟัง แต่ฝีปากอย่างเดียวเอาชนะไม่ได้นะคะ สุดท้ายแล้วทุกคนก็ต้องฟาดฟันกันด้วยความสามารถอยู่ดี
 
แนะนำ: คนที่สนใจวงการนางแบบ อยากเข้าใจการทำงานในวงการนี้
 

Project Runway

Arena
 
        ขึ้นชื่อว่า "รันเวย์" แน่นอนว่าต้องเกี่ยวข้องกับนางแบบ แต่จริงๆ แล้วรายการนี้เป็นการค้นหาสุดยอด "แฟชั่นดีไซเนอร์" ต่างหาก
        Project Runway อาจจะเข้าถึงยากนิดหนึ่ง เพราะเป็นการแข่งขันกันระหว่างนักออกแบบเสื้อผ้าให้วงการแฟชั่น แต่ก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่สนใจวงการนี้ แล้วเบื่อๆ การเดินแบบ ถ่ายภาพ มาดูเบื้องหลังบ้างดีกว่า
เครือข่าย: เยอะมาก มีไทยอยู่หนึ่งในนี้ด้วย และมีกำหนดเปิดตัว 2016 แต่ดูจากข่าวคราวเงียบหายไปสองสามปีแบบนี้ น่าจะไม่ทำแล้ว ในบรรดา Project Runway ทั้งหมด มีของเกาหลีที่ซีซั่นเยอะสุด
รูปแบบการแข่งขัน: ในแต่ละรอบจะเป็นแคมเปญใหญ่อย่างเดียว โดยจะมีโจทย์มาให้ เช่น ออกแบบชุดที่ได้ทั้งไปว่ายน้ำและกลับมานั่งบาร์แบบเก๋ๆ ออกแบบชุดแต่งงาน ออกแบบชุดโดยใช้วัสดุจากชุดเก่าที่เคยเย็บ ฯลฯ
        ความยากของการแข่งขันจะอยู่ที่มีเวลาในการออกแบบ เวลาในการเลือกซื้อวัสดุที่จำเป็นต่อการตัดเย็บจำกัดและเงินจำกัด (ใช่แล้วค่ะ ไม่ใช่แค่ออกแบบ แต่ต้องเย็บเองด้วย!)
        เมื่อได้วัสดุมาแล้วจะมีเวลาประมาณ 1-3 วัน (แล้วแต่แคมเปญ) ในการตัดเย็บให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อให้นางแบบใส่เดินบนแคทวอล์ก ระหว่างการตัดเย็บ จะมีเมนเทอร์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการมาคอยให้คำแนะนำทีละคน
        กรรมการจะเป็นผู้ชมการเดินแบบและให้คะแนนชุดของดีไซเนอร์แต่ละคน คนที่ได้คะแนนน้อยที่สุดก็ตกรอบไป
 
Arena
 
        พี่น้องได้ดู Project Runway ของออสเตรเลียซีซั่นแรก ชอบความดราม่าน้อยของรายการ คือมีเหตุทะเลาะกันบ้าง แต่ไม่ใหญ่โตจนเป็นประเด็น แค่กระทบกระทั่งกันเล็กน้อย เลิกแคมเปญก็กอดกันได้ปกติ
        สิ่งที่น่าสนใจในรายการนี้คือเราจะได้เห็นเบื้องหลังการทำงานของดีไซเนอร์แต่ละคน ตั้งแต่อุปสรรคในการออกแบบ บางทีออกแบบเสร็จแล้ว ซื้อผ้าซื้ออะไรมา พอเมนเทอร์มาดูปุ๊บ บอกแบบนี้ไม่โอแน่ แต่จะเปลี่ยนก็ไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีวัสดุอย่างอื่น
        บางทีหาวัสดุไม่ทันเวลาก็มี ซื้อมาแล้วพบว่าสีเพี้ยนก็มี หรือแม้แต่ทำกาวเลอะชุดแก้ไม่ทันแล้วก็มี
        ไม่ต้องพูดถึงว่าจะเย็บชุดเสร็จทันมั้ยนะ
        เคยมีผู้เข้าแข่งขันคนหนึ่ง ตัดเย็บชุดให้นักร้องชื่อดังของออสเตรเลียใส่ขึ้นเวที แต่เนื่องจากเขาไม่รู้จักนักร้องคนนี้ ก็เลยออกแบบชุดออกมาไม่ถูกใจนักร้อง พอนักร้องเห็นชุดที่ขึ้นหุ่นอยู่ก็ทำหน้าแหยงทันที เขาจึงตัดสินใจในเสี้ยววินาทีสุดท้ายเปลี่ยนแบบกะทันหัน แล้วเย็บชุดใหม่หมดเลยทีเดียว
        อีกสิ่งที่ได้จากรายการนี้ พี่น้องเชื่อว่าหลายคนเคยสงสัยเหมือนกัน พวกเสื้อผ้าที่นางแบบใส่เดินกันบนแคทวอล์ก ทำไมบางตัวถึงดูเหมือนหลุดมาจากอีกมิติ เสื้อผ้าแบบนี้คนทั่วไปไม่น่าซื้อมาใส่
        ในไฟนอลแคมเปญที่พี่น้องดู นักออกแบบ 3 คนสุดท้ายจะต้องออกแบบเสื้อผ้าทั้งเซ็ตสำหรับใส่เดินบนแคทวอล์ก ซึ่งมีนักออกแบบคนหนึ่งเลือกแบบเสื้อผ้าที่ "ขายได้" ไม่หวือหวามาก แต่ยังมีความเป็นแฟชั่นอยู่นิดๆ ส่วนนักออกแบบอีกคนเลือกออกแบบเสื้อผ้าที่แฟชั่นจ๋า แต่แน่นอนว่า "ขายไม่ได้"
        เราเลยได้รู้ว่าในวงการแฟชั่นมันก็มีทั้งเสื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อให้คนใส่ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ และก็มีเสื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อแสดงความคิดสร้างสรรค์และทำลายขีดจำกัดของเครื่องแต่งกายนั้นๆ ด้วย เสื้อผ้าแบบหลังก็จะมีคุณค่าในแง่ของ "งานศิลปะ" แทนค่ะ
 
แนะนำ: คนที่สนใจแฟชั่น การตัดเย็บเสื้อผ้า

        ทั้ง 3 รายการนี้ต่างก็มีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป แต่ความสนุกและน่าติดตามมีไม่แพ้กัน ใครชอบแนวไหน หรือสนใจทั้งหมดก็ไปหามาดูแล้วมาเม้าท์มอยกันได้นะ ^^
พี่น้อง
พี่น้อง - Columnist คอลัมนิสต์

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด