เรียนยังไงให้ "เก่งชีวะ" และจำน้อยที่สุด ! (เทียบข้อสอบ PAT2 วิชาสามัญ O-NET)

            น้อง ๆ ชาว Dek-D รู้ไหมว่าเด็กไทยต้องเรียนกันกี่วิชา และต้องอ่านหนังสือเพื่อสอบกันอีกกี่วิชา แล้วพอเราเริ่มจะอ่านหนังสือสอบไม่ทัน วิชาแรกที่เรามักจะเทก็คือ ชีววิทยา ด้วยเหตุว่าเนื้อหามันเยอะมากกกกกก (กอไก่ล้านตัว) ไหนจะศัพท์แสงก็แปลก ๆ อีก ในเมื่อจำไม่ทันก็เลยเลือกไม่จำมันซะเลย ซึ่งน่าเสียดาย เพราะจริง ๆ แล้ววิชานี้ไม่ได้ยากอย่างที่คิด และในเนื้อหาที่แสนเยอะของมันนั้น ก็มีเคล็ดลับในการเรียนชีวะให้จำอย่างเข้าใจ ไม่ใช่ถูกบังคับให้ต้องจำแล้วก็ลืมหมดหลังสอบเสร็จด้วยจ้า ซึ่งพี่เกียรติได้ไปขอเคล็ดลับเก่งชีวะมาจากอาจารย์อุ้ย ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล ผู้เขียนหนังสือชีววิทยาชื่อดังหลายเล่ม ที่พี่เกียรติเชื่อว่าน้อง ๆ สายวิทย์และน้อง ๆ ที่ชอบวิชาชีวะต้องเคยอ่านเคยเห็นหนังสือของ อ.อุ้ย มาบ้างแล้วแน่นอนจ้า 



            ดร.ศุภณัฐ ไพโรหกุล (อ.อุ้ย) จบปริญญาเอกจาก Newcastle University ด้าน Marine Science and Technology ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอาจารย์พิเศษโครงการโอลิมปิกวิชาการ และ English Program หลายโรงเรียน อาทิ สวนกุหลาบวิทยาลัย สตรีวิทยา เตรียมอุดม ดังนั้น หากใครอยากเทพชีวะ หรือไม่รู้จะเริ่มอ่านชีวะอย่างไร ต้องอ่านบทความนี้เลยจ้า

            อ.อุ้ย เริ่มบทสนทนาว่าด้วยการกล่าวว่า ความชอบมาก่อน "ผมชอบวิชาชีวะด้วยเหตุผลสองอย่าง คือ อย่างแรกรูปสวย มันเป็นวิชาเดียวที่มีรูปสวย ๆ วิชาอื่นมันมีแต่สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม และอย่างที่สอง คือ ผมชอบคำศัพท์ เด็ก ๆ อาจรู้สึกว่าศัพท์ชีวะมันเยอะ แต่จริงๆ มันมีระบบของการตั้งคำศัพท์อยู่ ถ้าเราเคยชินและรู้รากคำของมันแล้ว พอเราเจอคำคล้ายเดิม ๆ เราก็จะ อ๋อ มันต้องเกี่ยวกับอะไรสักอย่างกับศัพท์ที่เรารู้แน่นอน และจริง ๆ แล้วชีวะมันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเราที่สุด มันเกี่ยวกับการศึกษามนุษย์ สัตว์ ดังนั้น ชีววิทยามันจึงคือการเข้าใจตัวเอง เข้าใจสิ่งมีชีวิตทั้งหมดนั่นเอง"


"ศัพท์ชีวะมันเยอะ แต่ถ้าเราเข้าใจระบบของมัน มันก็ไม่ยาก
 



> ปัญหาการเรียนวิชาชีววิทยาของเด็กไทย

           ถ้าสวมวิญญาณเด็กที่เรียนชีวะนะ เมื่อเทียบกับฟิสิกส์ เคมีแล้ว จะรู้สึกว่าเนื้อหาชีวะมันเยอะมาก เนื้อหาก็เยอะ คำศัพท์ก็เยอะ ส่วนในฐานะของผู้สอนแล้ว ปัญหา คือ เมื่อเนื้อหามันเยอะ เด็ก ๆ ก็จะจำมันทุกอย่าง เหมือนกินหนังสือเข้าไป แต่มันเป็นแค่การท่องจำไปสอบ ออกจากห้องสอบก็ลืม บางทียังไม่ทันเข้าห้องสอบก็ลืมก่อนด้วยซ้ำ 


> แล้วเราสามารถเรียนชีวะโดยไม่ท่องจำได้ไหม

           มันไม่มีวิชาไหนที่ไม่ต้องท่องจำ แม้แต่วิชาพละก็ยังต้องท่องจำผ่านการเห็นหรือลงเล่น เช่น เราต้องจำว่า ล้ำหน้าเวลาเล่นฟุตบอลเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่ เพียงแต่ว่าชีววิทยามันต้องจำเป็นข้อความ ซึ่งเด็กก็มักจะจำอย่างเดียว โดยไม่มองภาพรวมของเรื่องให้ออก คือ ไม่เข้าใจว่าเรื่องนั้น ๆ มันมีความเป็นมา มีความสัมพันธ์อย่างไร ดังนั้น ผมอยากทุกคนให้มอง ชีวะ เป็นสตอรี่ เป็นเรื่องราว มองให้เห็นว่าหากเรื่องเริ่มตรงจุดนี้ มันจะเกิดผลอย่างไร แล้วมันจะง่ายขึ้น อย่ามองมันเป็นข้อความ แต่ให้ทำความเข้าใจและเรียบเรียงเป็นเรื่องราวของเราเอง 


“อย่าจำเป็นข้อความ ให้จำเป็นสตอรี่” 
 

             หนังสือของผมก็เรียบเรียงให้เป็นสตอรี่ เรียงลำดับบทตามที่มันควรจะเป็น ไม่ได้เรียงลำดับตามหลักสูตร แต่เนื้อหาก็จะครอบคลุมหลักสูตรทั้งหมด โดยเริ่มจากสิ่งที่เล็กที่สุด แล้วค่อยใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เรื่องการแบ่งเซลล์ ต่อไปเรื่องเซลล์ ซึ่งมันเป็นพื้นฐานของพันธุศาสตร์ เป็นความเข้าใจเรื่องกฎเมนเดล และอื่น ๆ ซึ่งมันจะเชื่อมโยงกันไปเรื่อย ๆ

              อย่างหนังสือปู เป็นสรุปเนื้อหาแต่ละเรื่อง จะมีเนื้อหาอ่านง่ายสำหรับ ม.ต้น และใช้สำหรับการเตรียมสอบเข้า ม.4 ได้ด้วย
 
ซ้าย: Essential Biology (หนังสือปู) ขวา: Biology (หนังสือปลาหมึก) 
Image: biooui.com

               หนังสือปลาหมึก เหมาะกับ ม.ปลายที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย (หรือ ม.ต้น ใช้เตรียมสอบชีวะโอลิมปิก) และปูพื้นเนื้อหาในมหาวิทยาลัยด้วย เพราะปัญหาที่ผมพบ คือ เนื้อหามัธยมมันแตกต่างกับเนื้อในมหาวิทยาลัยมาก ๆ เนื้อหามันโดดขึ้นไป เหมือนความรู้มีช่องว่างจนไม่สามารถปะติดปะต่อกันได้ อย่างข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยบางข้อก็เป็นเนื้อหาปี 1 ดังนั้นหนังสือปลาหมึกก็จะเป็นสะพานเชื่อมเนื้อหา ม.ปลายกับปี 1 ทำให้ผู้เรียนเข้าใจที่มาของชีววิทยามากขึ้น ครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่ ม.ปลาย ถึงต้นมหาวิทยาลัย 
 
            ซึ่งแม้หนังสือจะไม่ตรงกับลำดับบทในหลักสูตรเป๊ะ ๆ แต่เด็ก ๆ ที่นำหนังสือไปใช้จะสามารถสร้างสตอรี่ของตัวเอง คือ อ่านเสร็จปุ๊บ ก็เขียนสรุปของตัวเองขึ้นมาได้ จะเป็น Mind map หรือ Flowchart  หรืออะไรก็ได้โดยสรุปให้เป็นภาษาของตัวเอง หรืออย่างในคอร์สของเด็กดี ก็เป็นสตอรี่เรื่องพันธุกรรม และวิวัฒนาการมนุษย์ ที่เป็นเนื้อหาสำคัญที่สุดบทหนึ่งเลยในข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าเราไปดูรีวิวสอบต่าง ๆ ของรุ่นพี่ในกระทู้เด็กดี จะพูดถึงเมนเดล DNA ต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ก็คือพันธุศาสตร์ที่อยู่ในคอร์ส ม.4 นี้ แม้จะเป็นคอร์สพื้นฐาน แต่เด็ก ม.5 และคนที่เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็สามารถเรียนได้ เพราะมันเป็นการปรับพื้นฐานให้แน่นขึ้น เพิ่มความเข้าใจมากขึ้น และต่อยอดได้ สามารถอ่านหนังสือต่อเองได้ง่ายขึ้นด้วย 


“อ่านจบ ปิดหนังสือ อธิบายให้ตัวเองฟัง” 
 

              เทคนิคสมัยเด็กๆ ของผมเวลาอ่านหนังสือ คือ พออ่านจบหัวข้อหนึ่งก็ปิดหนังสือ แล้วลองอธิบายให้ตัวเองฟัง ส่วนใครที่ชอบขีดเขียนก็ให้วาดเลย วาดออกมาเป็นเล็กเชอร์ของตัวเอง ทำสรุปด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนหรือวิชาไหน ๆ เราก็จะตกผลึก เข้าใจเนื้อหาได้เอง และจำได้แม่นยำ



> ความแตกต่างของข้อสอบชีววิทยาเทียบกัน ระหว่าง O-NET  PAT2 และ 9 วิชาสามัญ

          O-NET เนื้อหาชีวะไม่ลึก แต่ให้คิดวิเคราะห์มากขึ้น เนื้อหาง่ายมาก ถ้าเป็น ม.ต้นที่มีพื้นฐานแน่นพอ ก็ยังทำข้อสอบ O-NET พาร์ทชีวะได้ 
          PAT2 เป็นวิชาวิทยาศาสตร์รวมทั้งหมด ส่วนของชีวะถือว่าเป็นข้อสอบที่ท้าทายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ยากกว่า O-NET แต่ไม่ยากเกินความตั้งใจ โดยรวมแล้วเนื้อหาข้อสอบกว้าง เลือกนำอะไรมาออกสอบก็ได้ แต่ส่วนเน้น ๆ ก็พันธุศาสตร์ และเป็นเชิงความเข้าใจในกระบวนการวิทยาศาสตร์ คือ มีโจทย์เป็นการทดลองมาให้ ก็ถามว่าอะไรเป็นตัวแปรต้น ตัวแปรตามต่าง ๆ มากกว่าถามความหมายหรือคำนิยามโดยตรง
          9 วิชาสามัญ มี 80 ข้อในเวลาชั่วโมงครึ่ง ดังนั้นก็เหมือนเป็นข้อสอบ speed test มันมีทั้งข้อที่ยากมาก ๆ และข้อที่ง่าย แต่ว่าทุกข้อคะแนนเท่ากัน ดังนั้นข้อไหนโจทย์ยาว ๆ ดูต้องคิดเยอะ ๆ ให้ข้ามไปก่อน ทำข้อที่สั้น ๆ ก่อน


> หากไม่เก่งหรือเกลียดวิชาชีวะ ควรทำอย่างไร

           มันเป็นเรื่องทัศนคติ ถ้าเราเกลียดวิชาไหนก็พยายามเปลี่ยนให้ขอแค่ไม่เกลียดได้ก็ยังดี แต่ก่อนอื่นต้องหาก่อนว่าเราเกลียดวิชานั้น ๆ เพราะอะไร ถ้าเราเกลียดชีวะเพราะเนื้อหามันเยอะ เราก็สรุปมันออกมา ทำ mind map ไว้ดูแทนที่จะมานั่งท่องมันทั้งหมด ยังไงชีวะก็มีเนื้อหา แต่วิชาชีวะมันไม่ยาก มันไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแบ่งเวลาให้ชีวะบ้าง

           บางบทของชีววิทยามันอาจจะเข้าใจยาก เพราะเป็นสิ่งที่เหมือนมองไม่เห็น แนะนำว่าหากไม่เข้าใจบทไหนให้เปิดยูทูป เราจะเห็นภาพชัดขึ้น ดูคลิปแป๊บเดียวเข้าใจได้เลย ยูทูปถือเป็นสื่อการสอนที่ดีมาก ไม่เข้าใจตรงไหนใช้ภาพเคลื่อนไหวช่วยได้เลย 
 
> “มันเยอะอะ อ่านไม่ทัน ก็เทมันไปเหอะ”  ถ้าอ่านสอบไม่ทัน เด็กจะทิ้งวิชานี้ อ.คิดว่าอย่างไรคะ 

         เสียดายยยยยยยยยยยย (อ.อุ้ยอุทานคำนี้ดังและลากยาวมาก) ชีวะเป็นวิชาที่ปั่นคะแนนง่ายมาก ถ้าเราขยันพอ แม้ในเวลาจำกัดมันก็สามารถพัฒนาคะแนนได้ ในสามเดือนก็ยังพัฒนาคะแนนได้ทัน
 


> สำหรับเด็ก 62 ที่จะสอบกุมภาพันธ์นี้ และยังไม่ได้เริ่มอ่านชีววิทยา ควรเตรียมตัวอย่างไร  

            ก่อนอื่นเราต้องวางแผนก่อน ว่าเราจะใช้คะแนนตรงจุดไหน จะเอาคะแนน GAT/PAT หรือเอาคะแนนวิชาสามัญ อย่างวิชาสามัญ อังกฤษกับเลขนี่สำคัญมาก เราก็ควรทำคะแนนสองวิชานี้ให้ดี หรืออย่างน้อยเราก็ต้องมีวิชาที่ไว้ดึงคะแนนของเรา แล้วก็วางแผนวิชาที่เหลือโดยเลือกดึงคะแนนจากวิชาที่เราชอบ ชอบฟิสิกส์ก็ดึงฟิสิกส์ ดึงคะแนนตามวิชาที่เราถนัด แต่ถ้าเราอยากเข้าคณะแพทย์ คณะคะแนนสูง ๆ ก็ควรตั้งเป้าหมายไว้ว่าอย่างน้อยต้องถึง 60 ทุกวิชา เป็นต้น ให้เราดูค่าน้ำหนักวิชา ว่าคณะที่เราต้องการจะเข้าใช้คะแนนส่วนไหน วิชาไหนที่มีค่าคะแนนสำคัญมากกว่า เราก็ตั้งใจทำให้วิชานั้นได้คะแนนชัวร์ไว้ก่อน 

             แล้วถ้าเราต้องการคะแนนชีวะ แม้จะเพิ่งเริ่มอ่านตอนนี้ เหลือเวลาแค่สามเดือน ก็ยังอ่านทันแน่นอน อย่าทิ้ง! แต่ต้องอ่านหนักหน่อย เพราะอย่าลืมว่ามีเพื่อนที่เตรียมตัวมาก่อนแล้ว โดยให้เริ่มจากบทที่เราชอบก่อน หรือบทที่เราเข้าใจรู้เรื่องก่อนแล้ว เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจ แต่ถ้าโอเคกับวิชาชีวะอยู่แล้ว ก็ให้อ่านเรียงบทไปเลยดีกว่า สำหรับวิชาชีวะ การทำข้อสอบเก่าก็ช่วยทบทวนได้ ทำให้เรารู้ตัวว่า เราอาจจะไม่แม่นเรื่องไหน ก็กลับไปอ่านเพิ่มเติมได้ แต่ข้อสอบจริงออกซ้ำน้อยมาก เพราะเนื้อหาชีวะมันเยอะมาก จะเลือกอะไรมาออกสอบก็ได้ แต่เราสามารถใช้เพื่อทบทวนและจับเวลาแบบทำข้อสอบจริงก็ได้ 

 

          ต้องฝากทุกคนไว้เลยว่า ส่วนใหญ่เด็ก ๆ ชอบวิชาไหน จะอ่านแต่วิชานั้น แต่จริง ๆ วิชาที่เกลียดก็ต้องอ่านด้วยนะ ที่สำคัญ คือ เราต้องตั้งมาตรฐานไว้ทุกวิชา (แม้วิชาที่เราเกลียด) ว่าคะแนนต้องถึงเท่านี้ ๆ (ให้ถึงเกณฑ์คณะที่เราต้องการ) แล้วค่อยไปดึงคะแนนสูง ๆ ในวิชาที่เราชอบ 


          พี่เกียรติฟัง อ.อุ้ย เล่าแล้วก็รู้สึกว่าวิชาชีววิทยามีเนื้อหาน่าสนใจมากมายเลยล่ะ แอบเสียใจที่ไม่ได้เลือกเรียนสายวิทย์ เลยไม่ได้เจอชีวะเข้ม ๆ เจ๋ง ๆ แบบนี้เลย อย่างไรน้อง ๆ ชาว Dek-D จงปลุกไฟชีวะให้ลุกโชน และคว้าคะแนนสอบสูง ๆ มาให้ได้เลยนะคะ ไม่มีอะไรยาก มีแต่ไม่ยอมลงมือทำ ! 
 
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากเว็บไซต์ Dek-D.com ขอสงวนสิทธิ์ในการงด โพสต์ข้อความซื้อ/ขาย/แลกเปลี่ยน/โฆษณา สินค้าทุกชนิดในเว็บบอร์ด เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนผู้ใช้งานท่านอื่น

กำลังโหลด
กำลังโหลด