ว่าด้วยตอนจบแบบ Sad Ending เมื่อวรรณกรรมที่จบแบบมีความสุขไม่ตอบโจทย์ชีวิตจริง

ว่าด้วยตอนจบแบบ Sad Ending
เมื่อวรรณกรรมที่จบแบบมีความสุขไม่ตอบโจทย์ชีวิตจริง


สวัสดีน้องๆ ชาวเด็กดีทุกคนค่ะ ก่อนอื่นพี่แนนนี่เพนอยากถามทุกคนก่อนเลยว่า "เราอ่านนิยายที่จบแบบเศร้าๆ กันได้ไหม?" แน่นอนว่าต้องมีคำตอบว่าได้กับไม่ได้ และถ้าเลือกได้เราก็เลือกจะอ่านนิยายที่จบแบบมีความสุขมากกว่าใช่ไหมล่ะ แต่หากน้องๆ สังเกตให้ดีจะเห็นว่าวรรณกรรมเดี๋ยวนี้ ไม่ได้จบลงด้วยความสุขเสมอไปเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว เพราะนักเขียนหลายๆ คนเริ่มมองเห็นความจริงที่ว่าเราไม่ควรปิดกั้นความจริงและไม่ควรให้ความหวังกับคนอ่านมากจนเกินไป ซึ่งเท่าที่พี่ได้อ่านๆ มาก็ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่า "วรรณกรรมที่จบแบบมีความสุข บางทีมันก็ไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเราจริงๆ" เพราะความสุขไม่ใช่ตอนจบที่คนอ่านทุกคนจะได้รับมาง่ายๆ ความผิดหวังต่างหากคือสิ่งเราทุกคนเจอจนชาชิน ดังนั้น เรามาค้นหาคำตอบไปพร้อมๆ กันกับวรรณกรรมชื่อดังเหล่านี้กันเลยค่ะ ว่าตอนจบแบบไหนที่ตอบโจทย์ชีวิตเราได้ดีกว่ากัน! 
 

เมื่อการจบแบบ Happy Ending คือ ความสุขที่ไม่สมบูรณ์  

ต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่าพี่ไม่ใช่คนที่ต่อต้านหนังสือที่จบแบบแฮปปี้ เอนดิ้งนะคะ พี่ก็เคยเป็นเด็กมาก่อนและชอบอ่านหนังสือที่จบลงด้วยความสุขเหมือนกัน แต่พอโตขึ้น เมื่อพี่ได้อ่านหนังสือหลายๆ เล่มจากนักเขียนหลายๆ คน มุมมองความคิดที่พี่เคยมีต่อเรื่องที่มีความสุขก็เริ่มเปลี่ยนไป พี่เริ่มข้าใจว่าแท้จริงแล้ว การจบแบบแฮปปี้ เอนดิ้ง หรือจบแบบสุขนาฏกรรม คือ การให้ความหวังที่เกินจริงมากไปหน่อย เพราะชีวิตจริงๆ ไม่มีเจ้าชายขี่ม้าขาวมาช่วยเราได้ตลอดเวลา เราต้องแก้ปัญหาและผ่านมันไปด้วยตัวของเราเอง, เราไม่ได้ตกหลุมรักใครง่ายๆ และลงเอยด้วยการแต่งงานในตอนจบ เพราะความจริงคือเรายังมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบอีกมาก, และท้ายที่สุด ความฝันอันสวยงามของเราก็ไม่ได้สำเร็จและอยู่กับความฝันแบบมีความสุขเสมอไป..

เมื่อย้อนไปตอนยังเป็นเด็ก น่าแปลกที่เราชอบหนังสือที่เต็มไปด้วยเรื่องไม่ดีตั้งต้น มีทั้งเรื่องราวที่เต็มไปด้วยการกลั่นแกล้งและความสูญเสีย เรายินดีที่จะให้ตัวละครเอกลำบากและเจอกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าอย่างไม่มีข้อกังขา เพราะเราทุกคนต่างเชื่อว่าในท้ายที่สุด ด้วยกฎของเทพนิยายปรัมปราที่เราเคยอ่านมา ตัวละครที่กำลังยากลำบากจะต้องได้ดี และมีชีวิตที่มีความสุขในตอนท้ายแน่นอน นี่คือเหตุผลที่เราในตอนโตก็ยังชอบตอนจบแบบแฮปปี้ เอนดิ้ง ส่วนหนึ่งเพราะเราทุกคนต่างก็คาดหวังว่าชีวิตของเราจะเป็นเหมือนในหนังสือเล่มที่เคยอ่าน ชีวิตเราจะต้องจบแบบแฮปปี้ เอนดิ้งในวันใดวันหนึ่ง.. ดูเป็นความหวังที่สวยงามดีนะว่าไหมคะ?

แต่ความจริงก็คือความจริง พี่อยากให้ทุกคนลองถามดูตัวเองดูดีๆ ว่า หนังสือที่เราอ่านควรป้องกันเราจากโลกอันวุ่นวายที่มีแต่ปัญหา หรือควรเตรียมพวกเราให้พร้อมเผชิญหน้ากับปัญหากันแน่? เราว่าแบบไหนจะตอบโจทย์ชีวิตเราได้ดีกว่าคะ

Sad Ending ตอนจบที่คนอ่านทั้งรักทั้งเกลียด 

หนังสือหลายเล่มที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มักมีเรื่องราวที่ท้ายทายและจบแบบไม่สมหวังในที่สุด สงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมตอนจบแบบ Sad Ending ถึงทำให้หนังสือเหล่านี้โด่งดังจนเป็นที่รู้จัก ลองสังเกตดีๆ เราจะเห็นว่าเรามักเชียร์ให้คนดีเอาชนะคนร้าย เราปรบมือให้กับความรักที่ฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ เรารู้สึกมีความหวัง มีกำลังใจที่จะก้าวต่อไป และเชื่อว่าจะมีความสุขรอเราอยู่ในวันข้างหน้า นี่คือความสุขแบบแฮปปี้ เอนดิ้งที่เราคาดหวัง จนบางครั้งเราก็ลืมไปว่าแสงสว่างที่เราเห็นนั้น มันมักจะสว่างจ้าให้เราเห็นท่ามกลางความมืดอยู่เสมอ นี่จึงเป็นโลกในหนังสือที่คนอ่านส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่าย มันเป็นโลกที่ผสมความจริงและความหวังเข้าด้วยกัน และจบลงด้วยความจริงที่ซื่อตรงจนคนอ่านทั้งรักทั้งเกลียด เพราะหนึ่ง มันสะท้อนโลกความจริงที่คนอ่านหลายๆ คนพยายามหลีกเลี่ยงได้ดีเกินไป และสอง มันทำให้คนอ่านเห็นความมืดชัดเจนกว่าแสงสว่าง พูดง่ายๆ ก็คือ ตอนจบแบบไม่สมหวัง มันทำลายความหวังของคนอ่านนั่นเอง 

วรรณกรรมที่จบแบบ Sad Ending หรือจบแบบโศกนาฎกรรม (Tragic ending) เป็นการจบเรื่องด้วยความตาย ความผิดหวัง ความสูญเสีย หรือความล้มเหลวในชีวิต ซึ่งตรงกันข้ามกับแฮปปี้ เอนดิ้งที่จบด้วยความสำเร็จ หรือความสุขของตัวละครเป็นหลัก โดยวรรณกรรมที่พี่นำมายกตัวอย่างให้น้องๆ ได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นในวันนี้ เป็นวรรณกรรมที่หลายๆ คนน่าจะรู้จักและคุ้นชื่อกันอยู่บ้าง จะมีเรื่องอะไรบ้างนั้น มาตามลุ้นกันเลยดีกว่าค่ะ รับรองว่าแต่ละเรื่องจบได้เศร้า และสะเทือนใจมากๆ แน่นอน (ขอเตือนว่ามีสปอยล์นนะคะ) 

เด็กชายในชุดนอนลายทาง (The Boy in the Striped Pajamas) 

เรื่องแรกคือวรรณกรรมของจอห์น บอยน์ เรื่องเด็กชายในชุดนอนลายทาง หรือ The Boy in the Striped Pajamas ซึ่งพี่เคยเขียนบทความเรื่องนี้เอาไว้แล้ว (สามารถเข้าไปอ่านได้ค่ะ "เด็กชายในชุดนอนลายทาง : มิตรภาพเกิดขึ้นได้ทุกที่แม้ในสงคราม!") จอห์น บอยน์เขียนถึงเด็กชายสองคนท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่สอง และเล่นประเด็นความแตกต่างของเชื้อชาติ ศาสนา การเลี้ยงดู และชนชั้นกับเด็กที่ยังไร้เดียงสาอยู่ เราทุกคนต่างรู้ประวัติศาสตร์ว่านาซีและชาวยิวไม่สามารถหันมาจับมือกันได้อีก พวกเขาเป็นศัตรูกันอย่างเหนียวแน่นด้วยความแค้น และความชิงชัง แต่จอห์น บอยน์ต้องการสื่อให้คนทั่วโลกได้เห็นว่าท่ามกลางสงครามที่ผู้คนต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันนั้น ยังมีความเป็นมนุษย์ และความเป็นเพื่อนมนุษย์หลงเหลืออยู่ในเด็กบริสุทธิ์ และสิ่งที่สร้างความน่าสะเทือนใจให้กับคนอ่านก็คือความตายอันไร้เดียงสาของเด็กชายทั้งสองคนที่พากันจูงมือเข้าไปในห้องรมควันอย่างไม่รู้ชะตากรรม ซึ่งสะท้อนให้คนอ่านได้เห็นว่าจริงๆ แล้วเราทุกคนสามารถเป็นเพื่อนกันได้แม้จะแตกต่างกัน รวมถึงเราทุกคนควรคำนึงถึงคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้ง และไม่ควรตัดสินคนที่แตกต่างด้วยความอคติ 

เพื่อนยาก (Of Mice and Men)

หลายๆ คนน่าจะเคยอ่านเรื่องเพื่อนยาก หรือ Of Mice and Men ของจอห์น สไตน์เบ็ค กันมาบ้างแล้ว สไตน์เบ็คใช้ความแตกต่างด้านความแข็งแรงและสติปัญญามาเป็นจุดเด่น เขาสร้างให้คนหนึ่งตัวเล็กแรงน้อยแต่ฉลาด กับอีกคนตัวใหญ่แต่สติปัญญาไม่สมบูรณ์ ประเด็นหลักที่สไตน์เบ็คต้องการนำเสนอคือการตามล่าความฝันสไตล์อเมริกันดรีม เขาต้องการให้คนอ่านเห็นว่าการตามล่าความฝันเล็กๆ ในดินแดนที่มีคนมุ่งหวังจำนวนมาก ความอดทนของเราอาจจะไม่เพียงพอ และการยึดมั่นถือมั่นกับความฝันมากเกินไปก็มีแต่บั่นทอนแรงกายและแรงใจ จนม้ายที่สุด เราก็อาจสูญเสียเวลาชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์ 

ในวรรณกรรมเรื่องนี้สไตน์เบ็คเขียนให้คนตัวเล็กกับคนตัวใหญ่เป็นเพื่อนยากกัน พวกเขามีความฝันเล็กๆ ที่สวยงามและหวังว่าจะเป็นจริงได้ในสักวัน แต่แล้ววันหนึ่งความฝันนั้นก็ต้องพังลงไป เพราะความผิดพลาดบางอย่าง คนตัวเล็กจำเป็นต้องฆ่าคนตัวใหญ่เพื่อให้อีกฝ่ายตายอย่างสงบที่สุด แทนการตายอย่างทรมาน แต่ในอีกมุมหนึ่ง สไตน์เบ็คกำลังแสดงให้เห็นว่าการฆ่าเพื่อนร่วมความฝัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าคนตัวเล็กไม่ต้องการจมปลักกับความฝันนี้อีกแล้ว และต้องการก้าวต่อไปเพื่อเริ่มต้นใหม่ โดยการตัดสิ่งที่เหนี่ยวรั้งเขาไว้ออกไป เพราะคนตัวใหญ่มักขอให้คนตัวเล็กเล่าความฝันของพวกเขาให้ฟังเสมอ ซึ่งวรรณกรรมเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงการตามล่าความฝันที่ไม่สำเร็จ และต้องพบกับจุดจบที่น่าเศร้าด้วยความตายนั่นเอง 

ม็อกกิ้งเจย์ (Mockingjay) 

ม็อกกิ้งเจย์เป็นเล่มจบของนิยายไตรภาค The Hunger Games ที่เขียนโดยซูซาน คอลลินส์ เราทุกคนรู้จักแคทนิส เอเวอร์ดีน ตัวแทนของหมู่บ้านที่อาสาเข้าเล่นเกมล่าชีวิตแทนน้องสาว  จากนั้นเธอก็กลายเป็นผู้รอดชีวิตและเป็นตัวแทนผู้นำกบฎคนสำคัญที่ทำให้ผู้คนยอมสละชีวิตเพื่อล้มล้างรัฐบาล แต่ท้ายที่สุดน้องสาวของเธอก็ถูกเกมการเมืองทำให้เสียชีวิตในตอนท้ายเรื่อง สิ่งที่คอลลินส์สะท้อนออกมาจากหนังสือเล่มนี้คือความเจ็บปวดของการสูญเสียคนในครอบครัวและคนรอบตัวจากสงครามอันโหดร้าย วรรณกรรมเรื่องนี้เป็นทั้งแรงผลักดันและภาพสะท้อนของความสูญเสียให้กับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ได้ดีมากๆ เราอาจจะมองว่าแคทนิส เป็นหญิงสาวที่เก่งกล้า แต่แท้จริงแล้วเธอมีความกลัวอยู่ทุกเวลา เธอกลัวที่จะสูญเสียความเป็นตัวเอง กลัวคนรอบข้างจะหายไป และกลัวว่าความรักที่เธอได้รับจะเป็นเพียงเรื่องหลอกลวง ทุกอย่างล้วนสอนให้เราเห็นความจริงว่าเราทุกคนจำเป็นต้องเป็นคนในแบบที่เราไม่อยากเป็น เพื่อรักษาบางสิ่งบางอย่างเอาไว้ และในตอนจบของเรื่องแม้ทุกอย่างจะจบลงด้วยดี แต่กลับเป็นจุดจบที่อันน่าเศร้าที่ต่อให้พยายามรักษาสิ่งสำคัญไว้แค่ไหน ก็ไม่สามารถทำได้จนถึงตอนจบ.. 

  

เป็นยังไงกันบ้างคะ กับตอนจบแบบ Sad Ending ที่สะท้อนความจริงได้จริงมากๆ พี่เชื่อว่าเสน่ห์อย่างหนึ่งของการจบแบบไม่สมหวัง ก็คือการทำให้เราได้เห็นความจริงและพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเองค่ะ บางเรื่องเรารู้สึกใจสลายที่ตัวละครเอกต้องมาตายจากไปอย่างไม่เป็นธรรม แต่นี่คือเรื่องราวของโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ ที่ทำให้เรามีความหวังได้เหมือนกันว่าเราจะไม่ใช้ชีวิตเป็นคนในแบบที่เราไม่ชอบ และเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ในที่สุด พี่เชื่อว่านี่คือพลังของความเศร้าที่ทำให้เราเห็นทางเดินในชีวิตได้ชัดเจนมากขึ้นเช่นเดียวกับพลังของความสุขค่ะ ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าวรรณกรรมจะจบแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับเราอีกเหมือนกันว่าจะยอมให้วรรณกรรมเรื่องนั้นส่งผลต่อชีวิตเราหรือปล่อยผ่านไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

พี่แนนนี่เพน
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.autocrit.com/blog/sad-ending-might-good-book/

พี่แนนนี่เพน
พี่แนนนี่เพน - Columnist สาวเหนือที่มีความสุขกับการเขียนนิยาย และเชื่อว่านิยายให้อะไรดีๆ กับสังคมเสมอ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด