เตรียมตัวตั้งแต่ ม.5! "พี่นาน่า" จัดเต็ม ยื่นหมอรอบ Port 4 ที่รวด จนติดแพทย์ รามาฯ สำเร็จ

        สวัสดีค่ะ ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แบบนี้ น้องๆ ม.6 ก็จะได้มีเวลาผ่อนคลายสมองกันนะคะ หยุดปีใหม่ พักผ่อนกันให้เต็มที่ เพราะในปีหน้า ยังมีอะไรรอเราอยู่อีกเยอะเลย ชาร์จพลังกันให้พร้อม!!
       แต่ถ้าใครอยู่บ้านไม่ได้ไปได้ไหน ก็อยากให้ติดตามข่าวสารเรื่องการสอบที่เว็บ Dek-D กันต่อ เพราะพี่ๆ ยังมีข่าวมาอัปเดตให้อ่านกันเรื่อยๆ ค่ะ และวันนี้พี่มิ้นท์ยังมีรุ่นพี่ที่น่ารักอีกคน "พี่นาน่า" มาแนะนำเรื่องการสอบเข้าแพทย์ในรอบ Portfolio น้องๆ ม.4-5 เตรียมตัวและนำไปใช้ได้จ้า หือ ม.6 ที่สมัครไปแล้วก็อ่านดูแนวทางเพิ่มเติมได้เช่นกัน


 

     เปลี่ยนระบบ ใช้ BMAT เข้าหมอ ความจริงที่ถามใครก็ไม่มีใครรู้จัก
      พี่นาน่า นันทิชา รัศมีไพฑูรย์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
      ส่วนตัวของพี่นาน่า ถนัดภาษาอังกฤษเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงอยากใช้ความถนัดตรงนี้ เป็นตัวช่วยให้เราได้เปรียบคนอื่นในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย พอได้ลองหาข้อมูล คณะแพทยศาสตร์ก็สามารถใช้ความสามารถด้านนี้ได้ แพทย์ รามาฯ มีการรับทักษะด้านนี้พอดี จึงสนใจ และเริ่มหาข้อมูลเรื่องรับตรงของแพทย์ รามาฯ มาตั้งแต่ประมาณ ม.5 ซึ่งตอนนั้นยังเป็นการรับด้วยข้อเขียนอยู่เลย
      จนถัดมาอีกปี เริ่มมีการพูดถึงข้อสอบ BMAT เป็นเรื่องใหม่มากๆ สำหรับนักเรียนไทย (ส่วนใหญ่มีแต่นักเรียนอินเตอร์ที่รู้จัก) พี่นาน่าเองก็ไม่ได้รู้จัก ข้อมูลก็มีให้อ่านน้อยมากๆ เดินไปถามกวดวิชา กวดวิชาก็ไม่รู้จัก ตอนนั้นไม่รู้จะทำอย่างไร คิดแต่ว่าต้องอ่านเองแล้ว จึงเดินไปร้านหนังสือ โซนหนังสือเตรียมสอบเข้า จำได้ว่าเจอหนังสือ BMAT อยู่แค่เล่มเดียวเท่านั้น ก็ต้องซื้อกลับมาเตรียมตัว และพยายามหาข้อมูลมาเรื่อยๆ

    ถึงจะเป็นหนูทดลอง TCAS แต่ถ้าพร้อมก็ไม่กระทบ
    พี่นาน่า คือ เด็กรุ่น TCAS61 เป็นปีแรกที่ ทปอ. เปลี่ยนระบบจากระบบแอดมิชชั่น กลายมาเป็น TCAS 5 รอบ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ในเรื่องนี้ พี่นาน่ามองว่า การเปลี่ยนระบบ จะไม่กระทบต่อคนที่พร้อมตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ต้องทำตัวเองให้พร้อมตลอดเวลา อย่าผัดวันประกันพรุ่ง สิ่งสำคัญมากๆ คือ ต้องอ่านการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตลอดเวลา เช่น กำหนดการ เปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือก เลื่อนวันสอบ และอีกสารพัดที่เปลี่ยนแปลงได้แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย หากเราพลาดครั้งเดียว เราต้องเสียเปรียบคนอื่นๆ อีกหลายคน  ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ห้ามประมาท หรือ ตกข่าวเด็ดขาด


    รอบ 1 ยื่นคะแนนอย่างเดียว!
     การเข้าคณะแพทย์ พี่นาน่ายื่นคะแนนเพื่อเข้ารอบ 1 ทั้งหมด ไม่ได้ใช้คะแนนสอบของ สทศ. เลย แต่อาจมีบางสนามที่ต้องสอบ BMAT เพิ่มขึ้นมา สรุปข้อมูลสำคัญของแต่ละสนามสอบ
     1. แพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล
        คุณสมบัติคร่าวๆ จะต้องมีเกรดเฉลี่ย 3.50 ขึ้นไป, รวมทั้งมีเกรดเฉลี่ยในกลุ่มสาระวิชาเคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ 3.50 ขึ้นไป, มีคะแนน IELTS 6.5 ขึ้นไป, มีคะแนน BMAT และมี Portfolio
    2. แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
        คุณสมบัติคร่าวๆ จะต้องมีเกรดเฉลี่ย 3.50 ขึ้นไป, มีคะแนน IELTS 7 ขึ้นไป, มีคะแนน BMAT และมี Portfolio
    3. แพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น
        คุณสมบัติคร่าวๆ จะต้องมีเกรดเฉลี่ย 3.50 ขึ้นไป, มีคะแนน IELTS 5 ขึ้นไป, มีคะแนน BMAT และมี Portfolio (แต่ที่นี่จะพิเศษหน่อย เพราะจะคิดคะแนนเฉลี่ย section 1 และ 2 รวมกัน 5 ขึ้นไป)
    4. แพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่
        คุณสมบัติคร่าวๆ จะต้องมีเกรดเฉลี่ย 3.75 ขึ้นไป, มีคะแนน IELTS 6.5 ขึ้นไป, มีคะแนนเกรดเฉลี่ยแยกรายวิชาที่กำหนด (เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์และฟิสิกส์) 3.50 ขึ้นไป และมี Portfolio ด้านภาษาอังกฤษเท่านั้น

    อ่านทุกวัน วันละครึ่งถึง 1 ชั่วโมง
       พี่นาน่าไม่ได้เรียนพิเศษ BMAT จึงเตรียมตัวเริ่มอ่านตั้งแต่ขึ้น ม.6 ทำแบบฝึกหัดก่อน ค่อยสะสมความรู้ไป โดยจะอ่าน BMAT ทุกวัน วันละครึ่งถึง 1 ชั่วโมง ที่เหลือก็อ่าน กสพท ยันนอนหลับเลย ที่ต้องทำแบบนี้เพื่อให้มั่นใจว่า ถ้าสอบไม่ติดรอบ Portfolio ก็ยังตามคนอื่นที่จะสอบเข้า กสพท ได้ทัน ดังนั้น คนที่จะยื่นแพทย์รอบ Portfolio จะต้องขยันเป็นสองเท่าของเพื่อนๆ เพราะเราต้องเตรียมตัว 2 อย่างในเวลาเดียวกัน


    สอบสัมภาษณ์คณะแพทย์ ที่แตกต่างจากคณะอื่นๆ
      พี่ได้ยินมาตั้งแต่ก่อนสอบ BMAT แล้วว่า มีรุ่นพี่เข้าคอร์สอบรมบุคลิกสำหรับการสัมภาษณ์ด้วย แต่พี่นาน่าไม่ได้ไป เพราะมุ่งแต่เรื่องสอบ BMAT จนสอบเสร็จ ก็ไปนั่งหาข้อมูลและตัวอย่างสัมภาษณ์ ถึงรู้ว่าเป็นการสัมภาษณ์แบบ MMI ก็เตรียมตัวโดยการนั่งถามตอบกับเพื่อน แชร์ความคิดกัน และดูคลิปตามช่อง youtube ที่พูดถึงหลักจิตวิทยาต่างๆ รวมทั้งมีเตรียมตอบคำถามไว้ เช่น อยากเป็นหมอเพราะอะไร ข้อดีและข้อเสียของตัวเองอย่างละ 3 ข้อ และเตรียมไปด้วยว่า ทำไมเราถึงคิดว่าเป็นข้อเสีย และจะเปลี่ยนข้อเสียให้เป็นข้อดียังไง
     ในวันสัมภาษณ์ของ รามาฯ แบ่งเป็น 2 วัน วันแรกตอนเช้าทำแบบทดสอบจิตวิทยา คิดอะไรก็ตอบไปแบบนั้น มีเวลาให้ทำน้อยมาก ดังนั้นจะไม่มีเวลาประดิษฐ์คำพูดให้สวยหรูเลย ส่วนช่วงบ่าย จะทำกิจกรรมกลุ่ม แนะนำว่าควรเป็นให้ได้ทั้งผู้นำและผู้ตาม เพื่อให้กรรมการเห็นมุมมองของเราทั้ง 2 แบบ จากนั้นก็เป็นการสัมภาษณ์กับรุ่นพี่
      พอวันที่ 2 เป็นการสัมภาษณ์แบบ MMI มี 25 ฐาน ฐานละ 8 นาที แต่เวลาที่ใช้สัมภาษณ์กับอาจารย์จริงๆ มีแค่ 8 ฐานเท่านั้น ที่เหลือเป็นฐานพัก หลังจากนั้นก็เหลือแค่ประกาศผล

   รุ่นพี่มักบอกว่า ปี 1 ชิว ใช้ชีวิตให้คุ้ม
       เมื่อถามถึงชีวิตนิสิตแพทย์ ปี 1 พี่นาน่าเล่าว่าตอนก่อนเปิดเทอม รุ่นพี่ปีสูงๆ ชอบบอกว่า ปี 1 ชิว เวลาว่างเยอะ ให้ใช้ชีวิตให้คุ้ม พอเข้ามาเรียนแล้ว เราก็รู้สึกไม่ได้ชิวขนาดนั้น แต่ถ้ามองในมุมพี่ปีสูง ที่เขาเรียนยากกว่า เหนื่อยกว่า ปี 1 แต่สำหรับเด็กที่เพิ่งจบมัธยมคนนึงที่ได้เปลี่ยนเลเวลการเรียนมาอยู่ในมหาวิทยาลัย ก็รู้สึกว่าท้าทายพอสมควรเลย
       สำหรับปี 1 เทอม 1 ก็จะคล้ายๆ ม.ปลายเลยนะ เพียงแต่เอา ม.ปลายทั้ง 3 ปี รวบมาให้จบภายใน 1 เทอม วิชาท่องๆ ก็จะหนักนิดนึง แต่ก็ผ่านไปได้ทุกคนค่ะ ส่วนวิชาที่เลื่องชื่อเรื่องความยากก็จะมีวิชาฟิสิกส์ อยากให้น้องๆ มาสัมผัส อิอิ

    ผลออกมาจะไม่เสียดาย ถ้าตั้งใจทำให้ถึงที่สุด
      สำหรับคนที่กำลังเริ่มมีความฝันอยากเป็นแพทย์ หนทางข้างหน้ามันไม่ง่าย มันใช้ความอดทนสูง ขอให้น้องๆ นึกถึงความอยากเป็นอยากแพทย์แบบตอนนี้ ไว้ให้ได้ตลอด มันจะเป็นกำลังใจสำคัญของเรา ถ้าเราอยากเป็นมากๆ จริงๆ พี่เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพจะทำได้นะ
      ส่วนคนที่กำลังอ่านหนังสือสอบแพทย์อยู่ อยากถามว่าเหนื่อยกันอยู่ใช่มั้ยเด็กๆ พี่รู้ พี่เคยผ่านมา แต่บอกเลยว่าความสำเร็จปลายทางมันคุ้มที่เหนื่อยมาทั้งหมด ปิดเทอมยาวก่อนขึ้นมหาวิทยาลัยมันดีมากนะ นึกถึงตรงนั้นไว้ นึกถึงตอนที่สอบติด ถ้าเราตั้งใจแล้วก็ทำมันให้ถึงที่สุด ผลเป็นยังไงก็จะได้ไม่เสียดาย สู้ๆนะทุกคน!

 
       จากบทสัมภาษณ์พี่นาน่า ทำให้ได้รู้ว่า ถ้าเรามีการเตรียมตัวที่ดีพอ ยังไงความฝันของเราก็ต้องสำเร็จค่ะ และที่สำคัญคือการปรับตัว ตามข่าวอยู่เสมอ เป็นตัวช่วยที่ดีที่ทำให้เราเข้าใกล้ความฝันได้เร็วขึ้น เมื่อน้องๆ รู้แบบนี้แล้ว ปีใหม่ 2019 มาฟิตและลุยไปพร้อมๆ กันนะคะ
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด