เมื่อคอนฯ จบ แต่ความรู้สึกไม่จบ! ‘PCD’ อาการซึมเศร้าหลังสุขสมจากการชมคอนเสิร์ต

       ไม่รู้ว่าน้องๆ ชาว Dek-D เคยมีอาการเหล่านี้หรือเปล่า? เวลาที่เราได้ไปชมคอนเสิร์ตของศิลปินที่เรารัก ตอนอยู่ในงานก็แสนจะแฮปปี้ ชีวิตฉันไม่เคยมีความสุขขนาดนี้มาก่อน แต่พอคอนฯ จบลง กลับรู้สึกเศร้า เหงาและหดหู่ไปหลายต่อหลายวัน บางทีก็ร้องไห้อย่างไม่มีสาเหตุ ทั้งคิดถึง ทั้งโหยหา และรู้สึกโดดเดี่ยวที่ไม่มีคนเข้าใจความรู้สึกที่เรากำลังเผชิญ ถ้าน้องๆ เคยมีอาการเหล่านี้ อาจจะตกอยู่ในอาการซึมเศร้าหลังจากการชมคอนเสิร์ต หรือที่เรียกว่า PCD ก็เป็นได้ 

 

 
        Post Concert Depression หรือที่เรียกย่อสั้นๆ ว่า "PCD" เป็นอาการหนึ่งของภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นหลังจากการชมคอนเสิร์ตของศิลปินคนโปรด และหลังจากการได้ปลดปล่อยทุกความรู้สึกไปกับเสียงเพลงท่ามกลางบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยความสุข บวกกับอะดรีนาลีนที่พุ่งพรวดเป็นพิเศษระหว่างชมคอนเสิร์ต

        แต่สุดท้ายเมื่อโชว์จบลง ความรู้สึกของเราไม่ได้จบไปกับมัน ฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นมากเกินปกติกระทบกับระบบความคิดเข้าอย่างจัง จนบางทีทำให้เราเองก็รู้สึกตั้งตัวไม่ทันกับความจริงที่เกิดขึ้น นี่เราต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมอีกแล้วเหรอ? เมื่อกี้ฉันโคตรจะมีความสุขเลยไม่ใช่หรือไง? ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วราวกับความฝัน และถ้ามันเป็นความฝัน บางทีก็ไม่อยากตื่นมารับความจริงสักเท่าไหร่ แต่สุดท้ายก็ต้องทนกับความรู้สึกนี้ และพยายามยอมรับความจริงให้ได้ บางคนอาจจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วันก็หาย แต่ถ้าอาการหนักหน่อยก็ใช้เวลาหลายเดือนเหมือนกัน TT


 

7 ระยะของอาการ PCD ที่หลายคน (อาจ) เผชิญ 
 


Cr. Unsplash
 
ระยะ 1: ภาวะเคลิ้มสุข
 
        หลังจากชมคอนเสิร์ตที่เพิ่งจบลงไป อะดรีนาลีนจะพลุ่งพล่านเป็นพิเศษ เศษความรู้สึกที่ยังคงตกตะกอนไม่หยุดหย่อนมันทำให้เรารู้สึกสุขกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคอนเสิร์ต เพ้อฝัน ยิ้มคนเดียว เปิดฟังเพลงของศิลปินคนโปรดวนซ้ำไปซ้ำมา และร้องมันออกมาอยู่เสมอไม่ว่าจะทำอะไร บางคนนั่งเรียนหรือทำงานอยู่ แต่ความจริงแล้วในหัวนั้นไม่ได้โฟกัสอยู่กับงานเลยด้วยซ้ำ (แฮร่)
 
ระยะ 2 :  ภาวะสะท้อนกลับความรู้สึก 
 
        หลังจากชมคอนเสิร์ตหลายคนเลือกที่จะบรรยายความรู้สึกลงในไดอารี่ หรือบางคนเลือกที่จะอัปโหลดรูปภาพและเขียนแคปชั่นลงในโซเชียลเน็ตเวิร์กส่วนตัว บางคนเขียนบรรยายความรู้สึกยาวเป็นหน้ากระดาษว่าตัวเองมีความสุขแค่ไหน และการไปเจอศิลปินคนโปรดในคอนเสิร์ตครั้งนี้มันได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเค้าไปอย่างไรบ้าง อ่านดูแล้วเหมือนจะเวอร์ แต่เชื่อเถอะว่ามันเป็นเรื่องจริง! 
 
ระยะ 3 : ตระหนักความจริง 
 
        ถึงแม้ว่าเพิ่งจะบรรยายลงในแคปชั่นว่าคอนเสิร์ตครั้งนี้มันเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราไปอย่างไรบ้างก็เถอะ แต่สุดท้ายแล้วเราต้องค่อยๆ ยอมรับความจริงอันแสนโหดร้ายว่าทุกอย่างมันจบลงแล้ว และนี่คือจุดเริ่มต้นของความเศร้าที่เราต้องเผชิญ บางคนฉุกคิดได้ว่าตัวเองคงจะไม่มีโอกาสที่จะมีความสุขแบบนี้อีกแล้ว แม้ว่าหลักฐานจะโชว์อยู่ในภาพและข้อความที่เขียนพรรณาไป แต่มันก็เทียบไม่ได้กับความสวยงามของความรู้สึกที่เราได้รับจากคอนเสิร์ตจริงๆ  
 

Cr. Unsplash
 
ระยะ 4 : เผชิญความจริง 
 
         แม้ว่าในวันถัดมาเราต้องตื่นมาพบความจริงว่าเรามีหน้าที่และภาระรออยู่ บางคนต้องกลับไปเรียนหรือไปทำงาน วนลูปเดิมๆ เหมือนคนไร้ชีวิตชีวา และสุดท้ายก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า นี่มันอะไรกันเนี่ย? นี่มันไม่ใช่ชีวิต! เรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อคืนต่างหากล่ะถึงจะเรียกว่าชีวิต (ทำได้แค่หงุดหงิดแต่สุดท้ายก็ต้องปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามลูปของมันเหมือนเดิม)
 
ระยะ 5 : รู้สึกโดดเดี่ยว
 
        เมื่อเราเริ่มรู้ตัวว่าสุดท้ายแล้วเราต้องอยู่กับความจริง แต่อย่างน้อยก็ขอให้ได้แชร์เรื่องราวดีๆ ให้กับคนรอบข้างสักหน่อยเถอะว่าเรามีความสุขจากการคอนเสิร์ตขนาดไหน ผู้คนเหล่านั้นก็พร้อมรับฟังและพยักหน้าเออออห่อหมกไปตามมารยาท เพราะพวกเค้าไม่ได้มีความอินอะไรด้วย นั่นก็คงเป็นเรื่องปกติแหละ แต่เราเองก็แอบรู้สึกผิดหวังขึ้นมาไม่ได้ ทำไมนะ ถึงไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่เราจะสื่อเลยล่ะ สิ่งที่ฉันได้รับจากการดูคอนเสิร์ตมันไม่ได้ปกติเหมือนที่พวกเธอคิดหรอกนะ (เมนชั้นน่ารักมากจริงๆ แก น่ารักแม้กระทั่งข้อเท้า แกไม่เข้าใจหรอออ!)
 
ระยะ 6 : การยอมรับ
 
        ถึงแม้ว่ามันอาจเป็นเรื่องยากที่จะบอกกับตัวเองว่าทุกอย่างมันจบลงไปแล้ว และมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดึงตัวเองออกมาจากความรู้สึกตรงนั้น แม้ว่าอาจจะไม่ลืมแต่อย่างน้อยก็จำมันเอาไว้เพื่อเยียวยาจิตใจตัวเองในยามที่ท้อแท้กับเรื่องราวชวนปวดประสาทในชีวิตประจำวัน อย่างน้อยแค่นึกถึงก็ทำให้เรามีพลังที่จะสู้ต่อ เปลี่ยนเอาความทุกข์สร้างเป็นพลัง เปลี่ยนความผิดหวังเป็นกำลังใจให้ตัวเองใช้ชีวิตต่อได้ แม้มันอาจจะรู้สึกหน่วงๆ ในใจนิดนึงก็เถอะ 
 
ระยะ 7 : ดำเนินชีวิตต่อไป 
 
         ถึงสุดท้ายแล้วเราอาจจะพาตัวเองออกจากความรู้เหล่านั้นได้และไม่รู้สึกเศร้าอีกต่อไป แต่อย่างน้อยลึกๆ หลายคนก็อาจตั้งเป้าหมายในใจเอาไว้ว่า ถ้ามีคอนเสิร์ตคราวหน้า ฉันก็ต้องไม่พลาดอีกแน่ บ้างก็เก็บช่วงเวลาระหว่างรอมาเป็นแรงผลักดัน ตั้งใจทำหน้าที่ตัวเองให้ดี เพื่อรอวันที่ได้เจอกับศิลปินคนโปรดของตัวเอง ถ้าจะบอกว่าเหมือนกับการรอเวลาเพื่อไปเที่ยวพักผ่อน มันก็คงอาจจะคล้ายแบบนั้น แม้ว่าเราอาจจะรู้ว่าปลายทางของวันที่รอคอย อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความเศร้าที่มันกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งก็ตามแต่
 

Cr. Unsplash
 
         อ่านมาถึงตรงนี้แล้วบางคนอาจจะบอกว่าตัวเองยังไม่เคยเกิดความรู้สึกเหล่านี้เลย ขอบอกว่าโชคดีแล้วล่ะครับ เพราะว่าการไปดูคอนเสิร์ตมันก็ควรจะรู้สึกมีความสุขมากกว่าเศร้าอยู่แล้ว เพราะตัวศิลปินเองก็อยากให้เรามีความสุขมากกว่าเห็นเรากลับไปแล้วรู้สึกเศร้ากว่าเดิม แต่มันก็อาจจะเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันกับคนที่รู้สึกอินและคลั่งไคล้มากๆ บางคนจึงมีอาการซึมเศร้า PCD แบบที่ได้กล่าวมา แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราก็ควรรู้จักการรับมือและเรียนรู้ที่จะยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันไม่ผิดหรอกที่เราจะแสดงความรู้สึกตามที่มันอยากรู้สึกออกมา แต่ก็อย่าเศร้าจนลืมความสุขที่เราควรจะเก็บเอามาใส่ใจมากกว่าละกัน :)  

 
Source:
พี่วุฒิ
พี่วุฒิ - Columnist มนุษย์ 4 มิติผู้หลงใหลในเพลงเกาหลี ชาเนสที และหมูกระทะ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด