คุยกับ ‘แนนซีส์’ หนึ่งในนักเรียนไทยที่คว้าทุนรัฐบาลไต้หวัน ป.ตรี ไปเรียนวิศวะอินเตอร์!

          สวัสดีค่ะชาว Dek-D หลังจากที่มีน้องๆ หลังไมค์มาถามหาเรื่องทุนรัฐบาลไต้หวันกันมาเยอะมากก ในที่สุดวันนี้เราก็ได้คว้าตัว 1 ใน 2 ของนักเรียนที่ได้ทุนรัฐบาล ป.ตรี ไต้หวันของปีล่าสุดมาพูดคุยกันแล้วค่ะ >< เล่าก่อนว่าปกติแล้วทุนรัฐบาลไต้หวัน (MOE Taiwan Scholarship) จะให้ทุนระดับ ป.ตรี - โท - เอก รวมในตะกร้าเดียวกัน โดยไม่ได้กำหนดขั้นต่ำว่าจะต้องมีคนได้ทุนระดับไหนกี่คน แล้วที่ผ่านมามีผู้ได้ทุนในระดับ ป.ตรี น้อยมาก ดังนั้นถ้าใครมองหาข้อมูลการเตรียมตัวและรีวิวการเรียนในไต้หวัน บทสัมภาษณ์ของเธอคนนี้มาจัดเต็ม ไม่ผิดหวังแน่นอนค่ะ
 
         *Note TWD = สกุลเงิน "ดอลลาร์ไต้หวันใหม่" (ค่าเงินใกล้เคียงไทย) 
 


แนะนำตัว
 

         “สวัสดีค่ะ หนูชื่อ ‘Nancy' (แนนซีส์) มนัสนันท์ ศรีอมรธรรม อายุ 18 ปี จบ ม.ปลายสายวิทย์-คณิต รร.สาธิตนานาชาติมหาวิทยาลัยมหิดล ค่ะ ตอนนี้กำลังเรียนอยู่ปี 1 สาขาวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) ที่ National Taiwan University of Science and Technology (NTUST) ชื่อหลักสูตรวิศวะอินเตอร์ที่เรียนคือ International Advanced Technology Program ค่ะ ปกติหนูเป็นคนชอบฟิสิกส์กับคณิต ตอนอยู่บ้านจะชอบต่อนู่นต่อนี่ เป็นความชอบส่วนตัวเลย ^^" ...เพิ่มเติมว่าที่นี่จะมีวิศวะเครื่องกล โยธา เคมี และวัสดุศาสตร์ (Material Science) เรียนรวมปีแรกแล้วแยกสายสาขาปีถัดไปค่ะ
 
         “หนูเลือกมาไต้หวันเพราะอยากออกไปเปิดโลก อยากเห็นหลายๆ อย่างที่บ้านเรายังไม่มี ที่นี่ขึ้นชื่อด้านวิศวะ เทคโนโลยีของเขาเจริญมากค่ะ อีกอย่างคืออยากได้ 'ภาษาจีน' เพราะปัจจุบันนี้ภาษาจีนสำคัญไม่แพ้ภาษาอังกฤษเลย และมีผู้ใช้มากถึง 1/3 ของประชากรโลก ธรรมชาติและอากาศที่ไต้หวันก็ดี การเดินทางไปกลับ กรุงเทพฯ - ไต้หวันก็ใช้เวลาไม่มาก อาหารอร่อย ผู้คนเป็นมิตร ส่วนใหญ่พูดอังกฤษได้ ค่าเงินก็พอๆ กับไทย ไม่ต้องคำนวณให้ยุ่งยาก แถมยังเป็นที่ที่ปลอดภัยอันดับท็อปๆ ของเอเชียด้วยค่ะ ส่วนเหตุผลที่เลือกมหา'ลัย NTUST เพราะเป็นแห่งเดียวในไทเปที่มีวิศวะเครื่องกลภาคอินเตอร์ที่สอนเป็นภาษาอังกฤษในระดับปริญญาตรี" 



 

“ทุนให้เปล่า” กับ “มหาลัยระดับท็อปที่สาขาตรงใจ”
 

         “คุณแม่จะสนับสนุนและให้คำปรึกษาเรื่องทุนมาตั้งแต่แรก และให้เราพยายามหาข้อมูลเรื่อยๆ โดยเลือกสาขาที่เราชอบค่ะ แต่คุณแม่จะมีข้อแม้ว่า หนูต้องได้ทุนเต็มจำนวนที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เราด้วย แต่ให้โฟกัสสิ่งหนูอยากเรียนและตอบโจทย์หนูเป็นอันดับแรกก่อน ถ้าเราหาเป้าหมายเจอแล้วทุกอย่างก็จะชัดเจนและจัดสรรมาให้เราเองค่ะ" 

         "แล้วเราก็มาเจอทุน  MOE =  ทุนให้เปล่าสำหรับเรียน ป.ตรี โท และเอกที่ไต้หวัน พอเรียนจบไม่ต้องทำงานใช้ทุน รัฐบาลจะสนับสนุนค่าเทอมทั้งหมด 4 ปี (เทอมละ 40,000 TWD) + เงินเดือน 15,000 (TWD) ส่วนต่างค่าเทอมเราออกเอง แต่จะมีบางแห่งที่ไม่เก็บเราเพิ่ม ซึ่ง NTUST เป็นมหาลัยหนึ่งเดียวใน Top5 ของไต้หวันที่ไม่เก็บเพิ่มค่ะ (ส่วนต่างราวๆ 30,000 TWD ต่อเทอม) และในปีนี้รัฐบาลให้ทุนทั้งระดับตรี + โท + เอกรวมกัน 15 คน รวมในตะกร้าเดียว” 


 
         “ปีนี้เขาเรียกผู้สมัครที่ผ่านรอบแรกไปสัมภาษณ์ 29 คน และคัดเหลือ 15 คน (ผู้ที่ได้ทุน + สำรอง) เจ้าหน้าที่น่ารักมากก ช่วยเหลือทุกคนเป็นอย่างดีเลยค่ะ ตอนรอสัมภาษณ์ เขาบอกให้เราทำใจนิดนึงเพราะรัฐบาลจะพิจารณาให้โทกับเอกมากกว่า เพราะ นศ. โทกับเอกสามารถทำ Research ได้ ที่ผ่านมาเขาไม่ได้ให้ระดับ ป.ตรี มาหลายปีแล้ว ตอนนั้นได้ยินแล้วใจแฟบเลยค่ะ แล้วก็ถึงบางอ้อว่าทำไมก่อนหน้านี้พยายามหาข้อมูลรีวิวทุนรัฐบาลไต้หวันของ ป.ตรี แล้วไม่เจอเลย”
 
         ก่อนจะไปถึงขั้นตอนสัมภาษณ์ เราไปดูเอกสารหลักๆ ที่ต้องเตรียมกันก่อนค่ะ (ศึกษารายละเอียดทุนที่นี่)
 
         - Recommendation Letter ที่อาจารย์เขียนให้ 2 ฉบับ
         - Transcript ฉบับภาษาอังกฤษ/จีน (รร.หนูออกทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว)
         - คะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL, IELTS หรือ TOCFL หนูยื่น IELTS 6.5 (ขั้นต่ำกำหนด 6 ขึ้นไป) และ GPA 3.99 (ขั้นต่ำ 3.0)
         - Statement of Purpose (SOP)
         - Enrollment
         - เอกสารแสดงว่าหลักสูตรที่เรียนสอนเป็นภาษาอังกฤษ 100% (ในกรณีที่เรียนหลักสูตรอินเตอร์)
         - Portfolio ไม่มีไม่เป็นไร แต่พอดีเราทำไว้สำหรับ TCAS61 อยู่แล้ว เลยเตรียมไปสัมภาษณ์ด้วย


Photo Credit: มหิดล
 
         เราเขียนอะไรใน Study Plan บ้าง? เขียนว่าสมัครหลักสูตรไหนมหาลัยอะไรในไต้หวัน เหตุผลที่อยากเรียนที่นี่ เรามีเป้าหมายอะไร ตอนนั้นเขียนไปว่าเราสนใจเรื่องหุ่นยนต์ และเห็นว่าไต้หวันเจริญมาก ถ้าไทยเรามีของเจริญๆ ที่พัฒนาแล้วอย่างในไต้หวันก็จะดีมากๆ เลยค่ะ เพราะเทคโนโลยีทำให้ชีวิตคนสะดวกสบายขึ้น” 
 
         นอกจากนี้เราต้องมีเอกสารที่บอกว่าเราสมัครมหาลัยในไต้หวันอย่างน้อย 2 แห่ง (ไม่จำกัด) แคปหน้าจออีเมลว่าเราสมัครแล้ว + ผลจะออกตอนไหน ตอนนั้นหนูสมัครไปแค่ 2 แห่งเพราะหลักสูตรตรงจุด นั่นคือวิศวะเครื่องกลที่ NTUST ที่หนูเรียนอยู่ปัจจุบัน กับวิศวกรรมอัตโนมัติ (Automation) ที่ I-Shou University (ทาง I-Shou ก็มีเสนอทุนของมหา'ลัยให้หนูด้วยค่ะ)”


 
         หลังจากเธอผ่านเข้ารอบ 29 คนแล้ว ต้องไปสัมภาษณ์ที่สถานทูตไต้หวันที่ชื่อ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย โดยเธอเล่าบรรยากาศการสัมภาษณ์ให้ฟังว่า “ในห้องสัมภาษณ์ โต๊ะจะเป็น U-Shape กรรมการมี 3 ท่าน ทุกท่านพูดอังกฤษได้ดีมาก อย่างแรกก็เหมือนสอบสัมภาษณ์ทุกที่ เขาไม่ได้ถามอะไรยุ่งยากเลย แต่ถามเกี่ยวกับตัวเรา"

         "เขาเริ่มจากให้แนะนำตัว (ไม่จำกัดเวลา แต่แนะนำว่าอย่ากินเวลานานเกินไป) ส่วนรายละเอียดคำถามต่อไปจะขึ้นอยู่กับเรื่องที่เราแนะนำตัว ส่วนใหญ่เป็นการพูดคุย ดูทัศนคติ ความคิด หรือเรื่องที่เราเขียนใน SOP ซึ่งจะต่างกันในแต่ละบุคคล อาจจะถามว่าพอเรียนจบอยากทำอะไร มีอะไรเป็นแรงบันดาลใจให้อยากทำสิ่งนั้น ถ้าได้ทุนเราวางแผนใช้กับอะไร ถ้าติดมหาลัยที่เลือกทั้ง 2 ที่เราจะเลือกที่ไหน เพราะอะไร” 
 
         “เราต้องแสดงให้เขาเห็นความตั้งใจและมั่นใจว่าถ้าเราได้ทุนนี้แล้วจะไม่ทำให้เขาผิดหวัง ถึงเราเป็นเด็ก แต่ก็มีความตั้งใจจริง สามารถอยู่ได้พร้อมกับจบออกมาอย่างมีคุณภาพ แสดงเป้าหมายไปว่าเราอยากเรียนสาขานี้เพราะอะไร road map ของเราในอนาคตเป็นยังไง สิ่งที่หนูสนใจ สิ่งที่ทำยามว่าง สิ่งที่ต้องการเรียนและต้องการทำในอนาคต แล้วเราจะนำความรู้มาพัฒนาประเทศได้ยังไงบ้าง ซึ่งจะสอดคล้องกับเป้าหมายเราอย่างชัดเจน เขาจะเห็นว่าเราไม่ได้มาเล่นๆ" 


Nancy ตอนเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องทุน MOE ที่ไทย


Nancy ตอนเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องทุน MOE ที่ไทย

 

รีวิวฉบับย่อ ชีวิตเด็กวิศวะ 1 เทอม
 

         “หนูอยู่ปี 1 เรียนเรื่องพื้นฐานทั่วไป ได้แก่ แคลคูลัส ฟิสิกส์ แล็บฟิสิกส์ เคมี แล็บเคมี และวิชาบังคับทั่วไป 1 ตัว (นักศึกษาปี 1 ต้องเรียนเทอมละตัว) ที่ผ่านมาหนูเรียนรายวิชาชื่อ 'Gender, Technology and Globalization' เนื้อหาคือการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และบทบาทของผู้หญิงในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นค่ะ”
 
         “เนื้อหาและหัวข้อเรียนในวิชาพื้นฐานจะคล้ายๆ ม.ปลาย แต่ซับซ้อนและลงลึกกว่าเดิมค่ะ ส่วนใหญ่เป็นภาคปฏิบัติ หนูคิดว่าพวกยากๆ คือแล็บ วิชาพวกนี้เราจะใช้ในชีวิตประจำวันและใช้ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ก่อนวันทำแล็บต้องเขียน pre-report หลังทำแล็บเขียน post-report ว่าได้ผลยังไงบ้าง ส่วนที่ยากเหมือนกันคือแคลคูลัสกับฟิสิกส์ เพราะมันละเอียดยิบย่อย”
 
         ตอนเรียนปี 1 เทอม 1 จะมีวิชาเหมือนแนะแนวที่เรียนให้รู้ว่าสาขาที่ต้องเลือกตอนปี 2 มีอะไรบ้าง เรียนอะไร ทำอะไรได้บ้าง แล้วมีพาไปดูแล็บด้วย เพื่อให้เราตัดสินใจได้ พอหนูยิ่งเรียนก็รู้สึกว่าวิศวะเครื่องกลตอบโจทย์เราเหมือนเดิม เขาบอกว่าช่วงปี 3 จะมีวิชาบังคับให้เราเรียนและทำหุ่นยนต์จริงๆ”


 
         “ความพิเศษคือมหา'ลัยของหนูคือ National Taiwan University of Science and Technology (NTUST) กับ National Taiwan University (NTU) อยู่ตรงข้ามกัน ข้ามถนนก็ถึงกันแล้ว และยังมี National Taiwan Normal University (NTNU) ซึ่งพอ 3 มหาลัยรวมกันแล้วจะเรียกว่า 'National Taiwan University Triangle' ทุกเทอมเขาจะมีเปิดให้นักเรียนอีก 2 มหา'ลัยเข้ามาเรียนบางวิชาได้ เช่น หนูสามารถล็อกอินเข้าระบบจากมหาลัยของหนู แล้วเข้าไปเลือกได้ว่าอยากไปลงวิชาอะไรของมหา'ลัยอีก 2 แห่ง จากนั้นคีย์ลงระบบได้เลย ไม่ต้องทำเรื่องให้ยุ่งยาก ถ้าคนยังลงไม่เกินโควตาระบบก็รับหมด แต่ถ้าเกิน ระบบจะสุ่มหรือดูที่คะแนนค่ะ”
 
         “ส่วนเรื่องภาษา ไต้หวันจะใช้ภาษาจีนกลาง และใช้อักษรจีนตัวเต็มนะคะ ที่นี่วิชาภาษาจีนเขาบังคับให้เรียนอย่างน้อย 6 หน่วยกิตภายใน 4 ปี เริ่มเรียนตั้งแต่ตอนไหนก็ได้ หนูไม่เคยเรียนจีนมาก่อน หนูเลยลงจีน 1 ตั้งแต่เทอมแรก (ถ้าเริ่มจีน 1 ไม่ต้องสอบวัดระดับ แต่ถ้าใครมีพื้นฐานมาก่อนก็สอบวัดระดับไปเรียนจีนระดับที่สูงกว่าได้) สำหรับจีน 1 จะเริ่มเรียนพื้นฐานตั้งแต่การแนะนำตัวว่าเราชื่ออะไร มาจากประเทศไหน ประโยคเบสิกในชีวิตประจำวัน เช่น ทักทาย สั่งอาหาร ฯลฯ ทุกอย่างที่เรียนเอามาใช้ในชีวิตประจำวันได้เลยค่ะ ใน 1 สัปดาห์จะมีเรียนจีนวันเดียวเป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง






 

ระบบเกรดที่มีถึง 4.3
 

         “วิธีคิดคะแนนของแต่ละวิชาจะต่างกัน เช่น วิชา Gender, Technology and Globalization คะแนนช่วยหลายอย่างจะมาจากการมีส่วนร่วมในคลาส (Participation) ไฟนอลจะต้องพรีเซนต์ แต่ถ้าเป็นฟิสิกส์ คะแนนจะมาจากการสอบอย่างเดียว ทั้ง Quiz, Mid-term และ Final แคลคูลัสอาจมีการบ้านด้วย ส่วนเคมีมีสอบ + โปรเจกต์ ส่วนสเกลของเกรดจะต่างจากไทย สมมติไทยเป็น 80-100 = A แต่ไต้หวัน 82-86 = A- (เกรด 3.7) / 87-94 = A (4) / 95-100 = A+ (4.3)
 
         “อาจารย์ไม่แจก A+ ให้เราง่ายๆ ค่ะ เราต้องทำให้ดีทั้งคะแนนสอบ การมีส่วนร่วมในคลาส งานหรือการบ้าน (ซึ่งยากมาก) บางวันหลังเลิกเรียนมีทำงาน Part-time ต่อ กลับบ้านดึกหลายวัน ในห้องก็เลยพยายามเรียนให้เข้าใจก่อน หลังจากนั้นก็มาทบทวนสิ่งที่ยังไม่แม่น ถ้าไม่เข้าใจในห้องถามอาจารย์ได้ตามสบาย แล้วเขาจะช่วยอธิบายช้าๆ ให้ฟังอีกรอบค่ะ” 



 

คนไต้หวันส่วนใหญ่พูดอังกฤษได้

คำแนะนำในการปรับตัว = “สังเกต” + “ทำความเข้าใจ”
 

         การปรับตัวในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องยากรึเปล่า? “หนูคิดว่าไม่ยากมากค่ะ เรานำสิ่งที่เรียนในโรงเรียนมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เลย อาจมีติดนิดหน่อยที่ป้ายเขาเป็นภาษาจีน แต่ถ้าอยู่เรื่อยๆ เราจะเริ่มรู้เองค่ะ สำหรับหนูใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนก็ปรับตัวได้ เวลาเรียนจีนเสร็จก็ต้องกลับมาท่องหรือพูดซ้ำๆ ไม่งั้นจะลืม ตอนออกไปข้างนอกพยายามสังเกตคำง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน”
 
         “ปกติแล้วคนไต้หวันเองส่วนใหญ่จะพูดอังกฤษได้อยู่แล้ว  ต่อให้ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวเขาก็สื่อสารได้ เช่น เข้า 7-11 เอาถุงพลาสติกมั้ย เอาใบเสร็จมั้ย ฯลฯ ถือว่าไม่ลำบากเลย  ส่วนในคลาสก็เรียนเป็นภาษาอังกฤษ เวลาคุยกับเพื่อนไม่ค่อยใช้ภาษาจีนอยู่ดี แต่ถ้าในสาขาจะมีเพื่อนที่เขาสื่อสารจีนได้อยู่แล้ว และเรียนระดับ  2-3 ก็อาจถามเขาบ้างค่ะว่าคำในภาษาจีนที่มีความหมายเหมือนกัน ใช้ต่างกันยังไง แล้วเราเองอยู่หอนอก ก็มีไปเจอภาษาตามทางนอกรั้วมหาลัย อาจต้องใช้ภาษากายช่วยบ้าง พยายามจำคำที่คนอื่นเพิ่งพูดออกมา ดังนั้นเคล็ดลับไม่มีอะไรมาก แค่พยายามสังเกต ทำความเข้าใจ และกล้าพูด-กล้าถามค่ะ





 

ค้นหาตัวเองให้เจอ + วางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ
 

         “สุดท้ายนี้ขอฝากกำลังใจให้คนที่อยากชิงทุน อันดับแรกเลยอยากให้รีบค้นหาตัวเองก่อนว่าอยากเรียนอะไร มีเป้าหมายชีวิตยังไงบ้าง แล้วหลังเรียนจบ เราจะเอาสิ่งที่เรียนไปใช้ทำอะไร ถ้าใครวางแผนว่าจะชิงทุน สัก ม.5 ต้องเริ่มหาเป้าหมายได้แล้ว สำหรับหนู หนูรู้ว่าหนูอยากเรียนวิศวะตั้งแต่ ม.2 และเป้าหมายชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เรื่องการขอทุนเป็นเรื่องยาก อาจเริ่มรู้สึกเหนื่อยตั้งแต่ขั้นเตรียมเอกสาร แต่ให้พยายามก่อน อย่าเพิ่งท้อ สักวันความสำเร็จจะมาหาเราค่ะ เราขอเอาใจช่วยทุกคนนะคะ” 



 
         แม้เธอจะใจแฟบตอนที่รู้ว่าแทบไม่มีคนได้ทุนรัฐบาล ป.ตรี ของไต้หวันเลย แต่เธอก็นำเสนอโพรไฟล์และทัศนคติสุดเริ่ดจนคว้าทุนนี้มาครองสำเร็จ สุดยอดมากๆ ค่ะ สำหรับทุน MOE ปี 2019 นี้จะปิดรับสมัคร 31 มี.ค. ศึกษารายละเอียดของทุนได้ที่นี่ พี่ขอให้น้องๆ Dek-D ที่ทุ่มเทเตรียมตัวอย่างดี สามารถคว้าทุนไปครอบครองสำเร็จนะคะ ^^

[ชวนอ่าน Part ต่อไป]
รีวิวเรียน / กิจกรรม / ทำงานบริษัทไต้หวัน
โดยเด็กทุน MOE เรียนต่อป.ตรีวิศวะอินเตอร์ที่ NTUST
พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด