ทำความรู้จักกับ “ยู คอนยอง” ล่ามเกาหลีสายฮากับมุมมองที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้

 

 
 Spoil
  • งานล่ามศิลปินงานแรกของพี่ยูคือ เป็นล่ามให้กับวง Super Junior ในปี 2006
  •  เคล็ดลับในการเป็นล่ามของพี่ยู คือต้องมีสวิตช์ปิด-เปิดอารมณ์ ไม่ให้ด้านลบกลับมาทำร้ายเรา
  •  ก่อนขึ้นเวที พี่ยูใช้เวลาในการเป็นแฟนคลับของศิลปินให้มากที่สุด จนโดนศิลปินตกเข้าด้อมแทบทุกครั้ง
    ___________
    __________________________

     
                  ไหนใครเป็นติ่งบ้างคะ ขอเสียงหน่อย! พี่แครอลขอยกมือคนแรกเลยจ้า แล้วอาชีพในฝันของน้องๆ ล่ะคะมีอะไรกันบ้าง มีใครอยากเป็นล่ามของศิลปินเกาหลีเหมือนพี่แครอลบ้างหรือเปล่าเอ่ย วันนี้พี่แครอลมีล่ามเกาหลีที่พี่แครอลยืนยัน นั่งยัน นอนยันเลยว่า น้องๆ หลายๆ คนต้องเคยเห็นหน้าเห็นตากันมาบ้างแล้ว นั่นก็คือ   พี่ยู คอนยอง หรือ ล่ามพี่ยู   ล่ามอารมณ์ดี ที่เอ็นเตอร์เทนเก่ง และสร้างเสียงหัวเราะเก่งสุดๆ นั่นเอง จะเอ็กซ์คลูซีฟขนาดไหนไปดูกันเลยยย
 

ภาพจาก  IG   @gyyoo85 
 
เส้นทางการเป็นล่ามของ “ยู คอนยอง”
                  พี่มาเมืองไทยตั้งแต่อยู่ประถม เพราะคุณพ่อคุณแม่ท่านชอบเมืองไทยมากแต่พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ เลยส่งลูกๆ เรียนภาษาไทยเผื่อว่าจะช่วยเป็นล่ามให้ในอนาคต งานแรกสมัยพี่อยู่ประถมคือช่วงงานเอเชียนเกมส์ ปี 1998 ตอนนั้นไปเป็นล่ามให้กับนักเทควันโดทีมชาติเกาหลี แล้วก็เป็นล่ามให้นักมวยสากลสมัครเล่นทีมชาติเกาหลีตอนมาแข่งคิงส์คัพในเมืองไทย สมัยนั้นล่ามเกาหลียังมีน้อย
 
                  ช่วง ม.4 พี่เริ่มรับงานแปลบทเรียนพระคัมภีร์ของคริสเตียน ก่อนหน้านั้นอีกพี่ก็เป็นล่ามให้กับสถานทูต ช่วงขึ้นมหาวิทยาลัยพี่ถึงได้เริ่มแปลพวกคอนเทนต์ในเกมออนไลน์ของ GMM GRAMMY    เช่น บทพูดต่างๆ ชื่อไอเท็ม ชื่อตัวละคร แต่พี่ทำได้อยู่ประมาณ 2 ปีเกมก็ปิดตัวลง    เขาเลยย้ายพี่ไปฝั่ง GMM Inter ซึ่งนำเข้าคอนเสิร์ตต่างประเทศในสมัยนั้น    พอช่วงปี 2005 - 2006 ตอน SUPER JUNOIR มาไทยครั้งแรก พี่เลยได้โอกาสไปเป็นล่ามให้ นั่นเป็นครั้งแรกที่พี่ได้เป็นล่ามให้ไอดอลเลย


ภาพจาก  IG   @gyyoo85
 
ซิกเนเจอร์ของ “ยู คอนยอง” ที่ผู้จัดปลื้มจนต้องเรียกซ้ำ
                  พี่เคยทำงานเป็น DJ และพิธีกรมาก่อน เลยเข้าใจว่าเราต้องมองในมุมของแฟนคลับด้วยว่าเขาอยากรู้เรื่องอะไร จากนั้นเราก็จะพยายามถามเพื่อให้ศิลปินพูดเรื่องนั้นออกมา พี่คิดว่าที่บรรดาผู้จัดเอ็นดูพี่ น่าจะเพราะความเอ็นเตอร์เทนนี่แหละ ด้วยประสบการณ์ที่พี่ผ่านเวทีมาเยอะ และสามารถแก้ไขสถานการณ์บนเวทีได้ บางอย่างที่ศิลปินเขาส่งซิกมาว่าไม่สะดวกจะพูด พี่ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ให้เขารู้สึกสบายใจได้ ทำให้ครั้งต่อมาเขาก็จะรีเควสต์เราอีก รวมถึงตัวทีมงานด้วย
 
                  จริงๆ การทำงานบนเวที มันมีโอกาสเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นเสมอ แต่หน้าที่ของเราคือ ทำยังไงให้ผู้ชมไม่รู้ว่ากำลังเกิดเหตุการณ์แบบนั้นอยู่ สิ่งนี้แหละทำให้ทั้งตัวทีมงานและศิลปินเขารู้สึกว่านอกจากเรื่องภาษาแล้ว ไหวพริบหรือประสบการณ์ของพี่สามารถทำให้เขาไว้ใจได้ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้หลายๆ ผู้จัด หลายๆ ต้นสังกัด หรือแม้แต่ตัวศิลปินเองเขาเลือกพี่ไปเป็นล่าม
 

ภาพจาก  IG   @gyyoo85
 
เคยเจอคอมเมนต์ด้านลบจนท้อแต่ที่ยังทำอยู่เพราะเป็นงานที่รัก
                  จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวันพี่ทำงานเป็นผู้จัดการอยู่ที่บริษัทหนึ่งครับ ส่วนงานล่ามคืองานอดิเรกที่ทำเพราะความรัก แต่ในบางครั้งเจอคอมเมนต์ลบๆ ก็ทำให้ท้อได้เหมือนกัน จากงานที่ทำเพราะใจรัก ทำเพราะสนุก แต่มาคิดดูอีกที มันสนุกจริงๆ หรือเปล่า มันกลายเป็นความทุกข์แล้วเราควรจะทำต่อดีไหม ก็มีช่วงที่พี่คิดแบบนี้เหมือนกันนะ แต่หลังๆ มาก็ไม่ค่อยคิดเท่าไหร่แล้ว
 
                  พี่พยายามคิดบวกมากขึ้น พยายามมองปัญหาในแง่ของเหตุผลมากขึ้น ไม่มองปัญหาในแง่ของความรู้สึก แต่มองให้เป็นเรื่องของงานมากกว่า พี่พยายามมองว่าเขาไม่ได้ต่อว่าเพราะเขาเกลียดเรา เพราะฉะนั้นเราต้องรู้จักแยกแยะ เขาไม่ได้คอมเมนต์ว่าพี่อ้วน พี่ตาตี่ แต่เขาคอมเมนต์เรื่องผลงาน เพราะฉะนั้นเราต้องมองในแง่บวก
 

ภาพจาก    Twitter    @gyyoo85
 
แต่เมื่อเราพลาดบนเวทีสิ่งที่ควรทำคือนำมาเป็นบทเรียน
                  เมื่อเกิดความผิดพลาด เราก็ต้องมองว่าสิ่งที่เราทำอะไรก็ตามบนเวที เราทำด้วยสัญชาตญาณ เพราะฉะนั้น เราสามารถใช้ความผิดพลาดมาเป็นบทเรียนให้งานต่อไปได้ ว่าเราจะต้องไม่ทำพลาดอีก หรือต้องมีสมาธิให้มากขึ้น แต่อะไรที่พลาดไปแล้วเราไม่สามารถแก้ไขได้    อีกอย่างคือการเป็นล่ามบนเวทีนั้นเป็นการแปลที่เรามีเวลาคิดและประมวลผลน้อยมาก ดังนั้นถ้าสมมุติเราย้อนเวลากลับไปอยู่ในสถานการณ์นั้นอีก เราก็คงจะทำแบบเดิมอีก ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือนำคอมเมนต์ต่างๆ มาปรับปรุงในครั้งต่อไป
 
เก็บประสบการณ์ให้เยอะความผิดพลาดจะน้อย
                  อย่างที่พี่บอกว่าอยู่บนเวทีเราต้องอาศัยสัญชาตญาณ ไม่มีเวลานั่งคิดอะไรมากมาย แต่ถ้าเกิดสัญชาตญาณในเวลานั้นติดขัด แสดงว่าเรายังมีประสบการณ์ไม่พอ แม้จะเตรียมตัวมาดีแค่ไหนแต่บางอย่างมันต้องอาศัยประสบการณ์    พี่เชื่อว่าคนที่เรียนภาษา เวลาศิลปินพูดอะไรออกมา เราก็รู้แหละว่าเขาอยากสื่อสารอะไร แต่ถ้าเราประสบการณ์น้อยก็จะไม่รู้ว่าควรใช้คำศัพท์ไหน หรือต้องพลิกแพลงยังไง ซึ่งคำว่าพลิกแพลงในที่นี้ พี่หมายถึงเวลาที่เขาพูดบางคำขึ้นมา แล้วเราสามารถใช้คำศัพท์อื่นที่อาจจะแตกต่างไป แต่ความหมายเดียวกันได้    เช่น ศิลปินบอกว่า เขายังไม่ได้กินอะไรเลย เป็นภาษาไทยคือ เขาหิว ความหมายเดียวกัน แบบนี้ถ้าเรานึกไม่ออก ก็ต้องแก้ไขสถานการณ์ให้ได้
 

ภาพจาก    Twitter    @gyyoo85
 
ไปเป็นล่ามให้ศิลปินคนไหนก็โดนตกเข้าด้อมตลอด
                  ก่อนขึ้นเวทีทำงานจริง พี่จะพยายามใช้เวลาให้มากที่สุดในการศึกษาเกี่ยวกับศิลปินคนนั้น แล้วก็เสพผลงานของเขา ฟังเพลงของเขา พยายามตามดูซีรีส์เขา แต่ถ้าเกิดเราไม่มีเวลาก็จะดูไฮไลท์ หรือไปสิงในทวิตเตอร์แฟนคลับศิลปินคนนั้นแทน เพื่อดูว่าเขาคุยอะไรกัน มีประเด็นร้อนๆ อะไรในช่วงนี้บ้าง    เรียกว่าแทบจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ในการเป็นแฟนคลับของเขาเลย จนหลายครั้งที่พี่กลายเป็นแฟนคลับของศิลปินคนนั้นขึ้นมาจริงๆ แต่อาจจะบอกเป็นรายบุคคลไม่ได้ จริงๆ ก็แทบจะทุกคนเลย 555
 
เทคนิคการเป็นล่ามอาชีพ คือการมีสวิตช์ปิด-เปิด
                            การเป็นล่าม ภาษาคือสิ่งที่สำคัญ แต่ที่สำคัญมากกว่าคือการเข้าใจวัฒนธรรมของภาษา พี่เป็นคนหนึ่งที่เป็นทั้งล่ามให้ไอดอลและล่ามให้วงการธุรกิจ สิ่งสำคัญคือเราต้องกล้าที่จะผิดและกล้าที่จะถาม อย่าลืมว่าการเป็นล่ามคือการถ่ายทอดคำพูดให้ถูกต้องและครบถ้วนที่สุด บางอย่างที่เราไม่เข้าใจอย่าปล่อยผ่าน
 
                แล้วอีกอย่างก็คือเราต้องมีคือสวิตช์ปิด-เปิด ที่จะคอยควบคุมความรู้สึกของเราเอง อย่างเวลาที่พี่ทำงานล่ามธุรกิจแล้วเขาทะเลาะกัน เราเป็นเพียงบุคคลที่ 3 เท่านั้น ตอนแปลอาจจะต้องอิน แต่พอแปลจบแล้วต้องปิดสวิตช์ อย่าเก็บเอามาคิด ไม่งั้นจะแย่เองเพราะเสียสุขภาพจิต หรืออย่างเวลาที่เราเป็นล่ามให้ศิลปินก็ต้องฝึกเยอะๆ และอย่าลืมว่าการเป็นล่ามให้ศิลปิน คำพูดต่างๆ เป็นคำพูดของศิลปิน หน้าที่ของเราคือต้องทำให้สมบูรณ์ที่สุด
 

ภาพจาก    Twitter    @gyyoo85
 
อย่าให้เป็นอายุเป็นตัวกำหนดเมื่อไรเราจะเริ่มเดินตามความฝัน
                  พี่อยากจะฝากถึงน้องๆ ที่ยังมีเวลาตัดสินใจเลือกอนาคตของตัวเอง โดยเฉพาะน้องๆ ชาว Dek-D ที่เป็นวัยรุ่น วัยเรียน อย่าคิดว่าอายุของเรามันเป็นตัวกำหนด อย่าคิดว่าเรายังเด็กเกินไปที่จะทำในสิ่งที่เราอยากทำ เราสามารถทำควบคู่กันได้ทั้งการศึกษาหาความรู้และการทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เพราะการที่เรามีความสามารถ 2 อย่างยิ่งทำให้เรามีมูลค่าทวีคูณ พี่มีนิทานที่ชอบมากๆ เรื่องหนึ่งมาฝากน้องๆ ด้วยครับ เรื่องมีอยู่ว่า ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีนกที่ขนสวยมากๆ จนทุกคนอยากจะจับไปเป็นของตัวเอง ติดที่นกตัวนี้อยู่บนต้นไม้สูงจนไม่มีใครจับได้ แต่แล้ววันหนึ่งมีคนขายถั่วเดินทางมายังหมู่บ้านแห่งนี้ เขานั่งที่ใต้ต้นไม้แล้วพูดกับนกว่า   “ฉันจะให้ถั่วแก 1 เม็ด แลกกับขนของแก 1 เส้น” นกก็ตกลง และแลกเปลี่ยนกันอย่างนี้เรื่อยๆ จนนกขนหมดตัว ทำให้บินไม่ได้และตกลงมา สุดท้ายมันจึงโดนคนขายถั่วจับไป
 
                  นิทานเรื่องนี้เปรียบเราเป็นนก ส่วนขนก็คือช่วงอายุหนุ่มสาวของเราที่เอาไปแลกกับถั่ว เมื่อเรากินถั่วแล้วก็จะอยากกินอีก ดังนั้นต้องระวังว่าเรากำลังเอาขนสวยๆ ไปแลกกับถั่วอยู่หรือเปล่า เมื่อถึงวันที่เราแก่ตัวลงจนไม่มีขน ก็จะบินไปสู่ความฝันของเราไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่าลืมใช้เวลาของตัวเองให้มีค่าที่สุด ให้เอาประสบการณ์มาเป็นปีก เมื่อเราขนหมดตัวแล้ว เราก็จะยังบินได้อยู่
 


ภาพจาก    Twitter    @gyyoo85
 
                  เป็นยังไงกันบ้างคะ สัมภาษณ์ล่ามพี่ยูที่พี่แครอลนำมาฝากกัน สำหรับใครที่มีความฝันอยากเป็นล่ามแบบพี่ยูอย่าลืมเอาคำแนะนำของพี่ยูไปใช้กันนะคะ ถ้าน้องๆ อยากติดตามล่ามพี่ยูแล้วละก็ สามารถไปติดตามได้ที่   อินสตาแกรม   @gyyoo85   หรือ ทวิตเตอร์    @gyyoo85    อย่าลืมนะคะ อายุไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเมื่อไรเราควรจะทำตามความฝัน ถ้าน้องๆ รู้ตัวว่ามีความฝันเริ่มได้แล้วนะคะ ก่อนที่ขนจะหมดตัวเหมือนนิทานที่พี่ยูเล่า แล้วถ้าน้องๆ อยากให้พี่แครอลไปสัมภาษณ์ใครอีกอย่าลืมมาคอมเมนต์บอกพี่แครอลได้น้า :)






 
พี่แครอล

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น