ความต่าง TCAS64 รอบ 3 เกณฑ์ Admission 1, Admission 2 เลือกเกณฑ์ไหนดีกว่ากัน

สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D ทุกคนค่ะ ตอนนี้น้องๆ ทุกคนคงเข้าใจคำว่า "เกณฑ์ Admission 1 และเกณฑ์ Admission 2" กันมากขึ้นแล้วใช่ไหมคะ ทั้ง 2 เกณฑ์นี้ คือ องค์ประกอบคะแนนที่ใช้คัดเลือกในรอบ 3 Admission น้องๆ สามารถเลือกยื่นได้ตามความต้องการของตนเอง ไม่ว่าจะยื่นเพียงเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง หรือ ทั้ง 2 เกณฑ์ก็ได้

ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการนำ 2 เกณฑ์มาไว้ในรอบเดียวกัน ถ้ามองในแง่ดี น้องๆ ก็จะมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นในการยื่นคณะนั้นๆ จากเดิมที่น้องๆ เคยเลือกคณะ A ได้เพียง 1 อันดับ พอมี 2 เกณฑ์ ก็สามารถเลือกได้ 2 อันดับนั่นเองค่ะ แต่สำหรับใครที่ต้องการเลือกแค่เกณฑ์เดียว ก็อาจจะมีคำถามว่า เลือกเกณฑ์ไหนดีกว่ากัน?

EP.12 เกณฑ์ Admission 1, 2 เลือกเกณฑ์ไหนดี
EP.12 เกณฑ์ Admission 1, 2 เลือกเกณฑ์ไหนดี

ทำความเข้าใจ 
"ลักษณะ" เกณฑ์ Admission 1, Admission 2

เกณฑ์ Admission 1

  • มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกเกณฑ์คัดเลือกเอง  
  • มหาวิทยาลัยใช้เกณฑ์ได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะการตั้งค่าน้ำหนักของคะแนน เกณฑ์ขั้นต่ำ หรือ วิชาที่ใช้ น้องๆ จะเห็นว่ารอบนี้ มีการใช้คะแนนวิชาเฉพาะของมหาวิทยาลัยหลายคณะเลย
  • จำนวนรับที่มากกว่าเกณฑ์ Admission 2 เป็นผลต่อเนื่องจากข้อด้านบน เพราะมหาวิทยาลัยกำหนดเกณฑ์เอง จึงใช้คัดเลือกนักเรียนที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการได้มากกว่า
  • มักจะกำหนดคุณสมบัติที่มากกว่าเกณฑ์ Admission 2 ด้วย เช่น คะแนนขั้นต่ำ, เกรดเฉลี่ยขั้นต่ำ
  • เป็นเกณฑ์ที่สามารถใช้คะแนนวิชาสามัญได้
  • มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ใช้คะแนน GAT/PAT เก่าได้ (สำหรับเด็กซิ่ว) แต่ก็มีบางที่ที่ใช้ไม่ได้
  • แต่ละมหาวิทยาลัยมีคะแนนเต็มไม่เท่ากัน

เกณฑ์ Admission 2

  • มีองค์ประกอบตายตัว แบ่งเป็นกลุ่มเกณฑ์ตาม ทปอ. คณะเดียวกัน ทุกมหาวิทยาลัย จะใช้เกณฑ์เดียวกัน
  • มีคะแนนย้อนหลังให้ดู สามารถใช้โปรแกรมคำนวณคะแนน แล้วเทียบกับคะแนนย้อนหลังได้
  • สามารถใช้คะแนน GAT/PAT เก่าได้ (สำหรับเด็กซิ่ว)
  • เกณฑ์นี้ ไม่มีใช้คะแนนวิชาสามัญเลย
  • ทุกคณะต้องใช้ GPAX และ O-NET เข้ามาคำนวณด้วย
  • คะแนนเต็มฐาน 30,000 เป็นมาตรฐาน

เลือกยื่นเกณฑ์ไหนดี  

เมื่อรู้ถึงความต่างของเกณฑ์ Admission 1 และ 2 แล้ว คำถามถัดไปคือ แล้วเลือกยื่นเกณฑ์ไหนดีล่ะ? เกณฑ์ไหนจะมีโอกาสติดมากกว่ากัน? 

ความจริงน้องๆ สามารถเลือกสมัคร 2 เกณฑ์พร้อมกันได้นะคะ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องเลือกเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง ขอให้น้องๆ พิจารณา 3 ข้อนี้เพื่อเป็นแนวทางการเลือกคณะค่ะ  

1. การเปิดรับของคณะที่ต้องการ

ตรวจสอบดูว่า คณะที่เราต้องการสมัคร เปิดทั้ง 2 เกณฑ์หรือไม่ จำนวนรับ และเกณฑ์คัดเลือกต่างกันมากหรือไม่ (ใครยังไม่ได้เช็กเกณฑ์หรือต้องการเทียบเกณฑ์ตามกลุ่มคณะ คลิก  )

หากคณะที่ต้องการเข้า เปิดแค่เกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง น้องก็สามารถเลือกเกณฑ์นั้นได้ทันที เช่น แพทย์ เปิดรับเฉพาะ กสพท เกณฑ์ Admission 1 เป็นต้น แต่ก็ต้องบอกเผื่อไว้ เพราะบางคนไปดูอีกเกณฑ์แล้วไม่มี ก็คิดว่าคณะนั้นไม่เปิดรับในรอบ Admission เลย ทั้งๆ ที่อาจจะไปเปิดรับในอีกเกณฑ์ก็ได้ ดังนั้น เช็กให้ครบถ้วนทั้ง 2 เกณฑ์ นอกจากนี้ให้ดูที่ "จำนวนรับ" เป็นปัจจัยเพิ่มเติม หากเหลือแค่อันดับเดียว เลือกเกณฑ์ที่มีจำนวนรับมากกว่าก็จะมีโอกาสลุ้นมากกว่าค่ะ

ในส่วนของเกณฑ์คัดเลือก ถ้า 2 เกณฑ์แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เช่น เกณฑ์ ad1 ใช้วิชาสามัญทั้งหมด เกณฑ์ ad 2 ใช้ GAT/PAT แบบนี้สามารถยื่นทั้ง 2 เกณฑ์ ดักไป 2 ทางได้เลย ยกเว้นว่า มีคะแนนบางตัวที่น้อยมากจริงๆ ก็ให้เลือกยื่นเกณฑ์ที่คะแนนดีกว่าก็ได้ค่ะ

2. ผ่านคุณสมบัติต่างๆ  

โดยเฉพาะเกณฑ์ Admission 1 ที่มักจะกำหนดคุณสมบัติไว้มากกว่าเกณฑ์ Admission 2 จำเป็นที่จะต้องเช็กคุณสมบัติตรงนี้ก่อนสมัครด้วยค่ะ บางคนรู้แค่ว่าเรามีคะแนนครบแล้วสมัครเลย แต่ปรากฏว่าเกณฑ์นั้นกำหนดคะแนนขั้นต่ำไว้ด้วย เราก็จะเสียสิทธิ์อันดับนั้นไปฟรีๆ 

อย่างไรก็ตาม ระบบของ ทปอ. ในปัจจุบัน น่าจะมีการกรองคุณสมบัติเบื้องต้นไว้ให้ ถ้าไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำก็จะไม่สามารถสมัครได้  

3. สำรวจตัวเอง เกรดเฉลี่ย คะแนนสอบ เป็นอย่างไร  

อย่างที่น้องๆ รู้ดีว่า เกณฑ์ Admission 2 มีองค์ประกอบถึง 3 อย่าง คือ GPAX + O-NET + GAT/PAT ในขณะที่เกณฑ์ Admission 1 ส่วนใหญ่ใช้คะแนนสอบเพียงอย่างเดียว (ในบางมหาวิทยาลัยมีกำหนดเกรดก็จริง แต่ก็ไม่ค่อยนำมาใช้ในการคำนวณคะแนน ใช้เป็แค่ขั้นต่ำในการสมัครเท่านั้น) น้องๆ จึงต้องรู้ว่าตัวเองได้เปรียบในเกณฑ์ไหนนะคะ

เกณฑ์ Admission 1 บางคณะใช้คะแนนสอบ GAT/PAT 100% จึงเหมาะกับน้องๆ ที่ทำคะแนนสอบได้ค่อนข้างดีถึงดีมาก สมมติว่า คณะนั้นใช้ GAT 80% + PAT 1 20% ถ้าน้องได้ GAT 260 คะแนน เลือกเกณฑ์ Admission 1 ไปได้เลยค่ะ เพราะคะแนนเราจะสูงมากกกกกก เนื่องจาก GAT มีค่าน้ำหนักมากนั่นเอง  

เกณฑ์ Admission 2 จะมีส่วนของ O-NET และ GPAX เข้ามาเกี่ยวข้องถึง 50% ถ้าน้องๆ ได้คะแนน 2 อย่างนี้ดี เกณฑ์ Admission 2 ก็น่าสนใจค่ะ เพราะ GPAX และ O-NET จะช่วยดึงคะแนนของเราขึ้นมา น้องๆ บางคน ได้คะแนนสอบกลางๆ แต่ถ้าได้เกรด 3.8 ก็ได้คะแนนมาแล้วฟรีๆ 5,700 จาก 6,000 คะแนน เป็นต้น  

สรุปได้ว่า ดูว่าเรามีจุดเด่นตรงไหน ถ้าจุดเด่นอยู่ที่คะแนนสอบ Admission 1 ที่ใช้คะแนนสอบล้วนๆ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า ตัดกำลังคู่แข่งด้วยคะแนนสอบไปเลย แต่ถ้าจุดเด่นเราอยู่ที่เกรด หรือ ได้ทุกอย่างกลางๆ ไปหมด ก็ไปอยู่ในเกณฑ์ Admission 2 ได้ค่ะ
 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับน้องๆ ที่ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเลือกเกณฑ์ไหนดี พี่มิ้นท์ขอสรุปไว้สั้นๆ อีกครั้งว่า การพิจารณาว่าจะเลือกสมัครเกณฑ์ใด ต้องดู "ความต้องการของมหาวิทยาลัย" และ "คุณสมบัติของเรา" ถ้ามันตรงกัน ที่เหลือก็จะเป็นการแข่งขันกับเพื่อนๆ ที่มีเป้าหมายเดียวกันค่ะ อย่างไรก็ตาม ปีนี้น้องๆ สามารถเลือกอันดับได้สูงสุดถึง 10 อันดับ หากอันดับยังไม่เต็ม จะสมัครทั้ง  2 เกณฑ์ไปเลยก็ได้เช่นกันค่ะ 

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

lll-MiNt-lll Columnist 6 พ.ค. 64 16:18 น. 1-1

ถ้าหมายถึงก่อนจะสมัครปีนี้ คิดว่าเป็นไปไม่ได้ค่ะ ^^ เคยถาม ทปอ. แล้ว แจ้งว่าเป็นสิทธิ์ของมหาลัยที่จะเผยแพร่หรือไม่เผยแพร่ก็ได้

0
กำลังโหลด
nunqtxZ.: Member 8 พ.ค. 64 13:57 น. 2

มีโอกาสที่ ad2 จะรับเพิ่มมั้ยคะ เพราะว่าเราคะแนนสามัญน้อยมากก็เลยต้องไปยื่น ad2 แทนซึ่งรับน้อยมากเลยค่ะ ;-;

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด