8 กลยุทธ์การตั้งชื่อ Chapter ให้ว้าวซ่า จนนักอ่านต้องคลิกอ่านทันที

8 กลยุทธ์การตั้งชื่อ Chapter ให้ว้าวซ่า
จนนักอ่านต้องคลิกอ่านทันที

 

สวัสดีค่ะชาวนักเขียนเด็กดีทุกคน รู้มั้ย ส่วนไหนที่พี่ชอบตอนเขียนนิยาย? มันคือตอนที่ตั้งชื่อบท (Chapter) เพื่อหลอกล่อนักอ่านคลิกเข้ามาอ่านนี่แหละ 

ชื่อบทหรือตอนนิยายอาจดูเหมือนไม่สำคัญ แต่ที่จริงก็สำคัญไม่ใช่เล่นนะ โดยเฉพาะการอัปนิยายลงเว็บ เนื่องจากมีนักอ่านบางคนโดนตกจนต้องคลิกอ่านเพราะชื่อตอนน่าสนใจ

ประเด็นของพี่ในวันนี้ไม่ได้บอกน้องๆ ว่าควรใช้ชื่อบทหรือไม่ แต่เป็นการให้แนวคิดเกี่ยวกับการตั้งชื่อบทให้น่าสนใจมากกว่า ซึ่งกลยุทธ์ทั้ง 8 ที่พี่นำมาฝากนี้ใช้แล้วให้ผลดีเกินคาด 

สิ่งหนึ่งที่นักเขียนเหล่านี้มีเหมือนกันคือ พวกเขาหยอกล้อกับนักอ่านให้ลุ้นว่าจะมีอะไรตามมาอีกในบทนั้น พวกเขายิงเบ็ดล่อเหยื่อ (นักอ่าน) ให้ติดกับด้วยชื่อบทแต่ละบทที่ทำให้เราอยากอ่านต่อจะแย่! พร้อมแล้วมาดูกันเลยดีกว่ากับ 8 กลยุทธ์การตั้งชื่อ Chapter ให้ว้าวซ่าจนนักอ่านต้องคลิกอ่านทันที

 

 

01 ใช้ตัวอย่างบทสนทนาในบทนั้นๆ

เป็นเทคนิคที่นักเขียนต่างชาติหลายคนใช้ ตัวพี่เองก็ใช้นะ หยิบบทสนทนาเก๋ๆ มาตั้ง ดึงดูดให้นักอ่านอยากรู้เรื่องราวที่จะเกิดขึ้นในบทนั้นๆ ตัวอย่างที่น่าสนใจมาจากนิยายเรื่อง The Shadow Demons Saga ผลงานของซาร์รา แคนนอน ในซีรีส์ที่เธอเขียน เธอใช้วิธีการตั้งชื่อบทรูปแบบนี้อย่างสม่ำเสมอในเกือบทุกบท

การใช้กลยุทธ์นี้ของนักเขียน

ชื่อบทแต่ละบทเป็นวลีสั้นๆ ที่จะเกิดขึ้นผ่านบทสนทนาในบท มักเป็นประโยคที่สั้น กระชับ ได้ใจความ ในกรณีที่เป็นภาษาอังกฤษจะอยู่ที่ประมาณห้าหรือหกคำ โดยวลีหรือประโยคที่หยิบมาใช้เป็นการบอกใบ้ถึงความขัดแย้งหลักที่จะเกิดขึ้นภายในบท แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดลึก 

ตัวอย่างบทสนทนามักจะคลุมเครือ และบ่งบอกถึงอารมณ์ ความรู้สึกมากกว่าเหตุการณ์ในบท

 

มันเจ๋งตรงที่...

ซีรี่ส์ The Shadow Demons Saga เน้นบทสนทนาเป็นหลัก ความขัดแย้งส่วนใหญ่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและมาจากการสนทนาระหว่างตัวละคร ดังนั้นจึงควรดึงบทสนทนาเพื่อใช้เป็นชื่อบท นอกจากนี้ตัวซีรีส์ยังเล่าเรื่องในมุมมองบุคคลที่หนึ่งเพื่อการสนทนาด้วย ดังนั้นกลยุทธ์นี้จึงใช้ได้แม้ว่าชื่อบทจะมีคำว่า “คุณ” หรือ “ฉัน” ซึ่งอาจดูไม่ปกติหากหนังสือเล่มนี้เล่าในมุมบุคคลที่สาม

 

ตัวอย่างการใช้:

บทแรกของหนังสือชุดแรกของซีรี่ส์นี้อย่าง Beautiful Demons ชื่อว่า “This Is Your Last Chance.”  (นี่คือโอกาสครั้งสุดท้ายของเธอ)
 

ในบทนี้ ฮาร์เปอร์ ตัวละครหลักมุ่งหน้าไปยังบ้านที่อุปถัมภ์เธอหลังที่ 6 ในรอบปี เธอเรียนรู้จากเจ้าหน้าที่คดีของเธอว่า ถ้าเธออยู่ที่บ้านอุปถัมภ์นี้ไม่ได้ เธอจะต้องไปสถานกักกันเด็กและเยาวชน ชื่อบทมาจากบทสนทนาตอนที่พนักงานคดีของฮาร์เปอร์ให้คำขาด


จากช่วงเวลาที่อ่านชื่อบท เรารู้ดีว่ามีบางสิ่งที่เลวร้ายกำลังจะถูกเปิดเผยในบทแรก และบทก็นำเสนอในสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้

 

ตัวอย่างอื่นๆ :

  • Do Not Touch My Things (อย่าจับของของฉัน)
  • Guys Like Drake Only Date Cheerleaders 
    (ผู้ชายก็เหมือนกันหมดแหละ เดตแต่กับแค่เชียร์ลีดเดอร์)
  • Maybe He Wasn’t A Demons Fan (บางทีเขาอาจไม่ใช่แฟนตัวยงของปีศาจ)
  • You’ll Need to Come With Us (เธอจะต้องมากับเรา)

Try: ลองหาประโยคหรือวลีเด็ดๆ อาจจะเป็นคำพูด หรือความคิดของตัวละครมาใช้ นักเขียนสามารถคิดมันขึ้นมาก่อน แล้วเขียนให้สอดคล้องกับชื่อบทภายหลัง หรือเขียนจบแล้ว ค่อยหยิบมันมาใช้ ตามแต่สะดวกเลย

 

The Hundred Thousand Kingdoms via:  https://mixedupinclassics.wordpress.com/
The Hundred Thousand Kingdoms via:  https://mixedupinclassics.wordpress.com/

 

02 จับใจความ ใช้แค่คำเดียวเพื่ออธิบายภาพรวมของบท

มีนิยายหลายเรื่องที่ใช้ชื่อบทแบบคำเดียว บางครั้งเพื่อเน้นถึงความสำคัญของบทนั้นๆ แต่นิยายเรื่อง The Hundred Thousand Kingdoms โดดเด่นในการใช้ชื่อคำเดียว เพราะผู้เขียน N. K. Jemisin ใช้คำเหล่านี้ในเกือบทุกบท

การใช้กลยุทธ์นี้ของนักเขียน

บทส่วนใหญ่ใน The Hundred Thousand Kingdoms ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกในไตรภาคนี้มีชื่อบท 1-2 คำ ทั้งหมดเรียบง่าย ทั่วไปและไม่เฉพาะเจาะจง เช่น “Chaos (ความโกลาหล)” “Love (ความรัก)” “Cousin (ลูกพี่ลูกน้อง)” “Memories (ความทรงจำ)” เป็นต้น 

คำเหล่านี้ไม่ได้บอกเป็นนัยถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่รวมเหตุการณ์ในบทเข้าด้วยกัน ซึ่งชื่อบทเปรียบเหมือนใจความสำคัญของเรื่องราวในบทนั้นๆ

 

มันเจ๋งตรงที่...

The Hundred Thousand Kingdoms เปรียบเหมือนภาพวาดสีน้ำที่พร่ามัวของหนังสือ ทุกอย่างดูคลุมเครือและอ่อนลง แต่ก็ซ่อนความตึงเครียดและความซับซ้อนไว้ใต้พื้นผิว 

ชื่อที่เรียบง่าย หนึ่งหรือสองคำ มีส่วนทำให้เกิดความรู้สึกนี้

ความขัดแย้งในเรื่องส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายในและเกิดแบบอ้อมๆ ซึ่งชื่อบทง่ายๆ เหล่านี้บ่งบอกถึงความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่มากกว่าเหตุการณ์จริงของแต่ละบท หนังสือเล่มนี้มีการเล่าเรื่องอย่างไม่เป็นระเบียบ สลับไปมาในแต่ละไทม์ไลน์ ชื่อบทไม่ได้ช่วยให้เราติดตามลำดับเหตุการณ์ได้ แต่มันช่วยให้นักอ่านไม่ถูกผูกมัดจากเวลาและสถานที่

 

ตัวอย่างการใช้:

บทที่ 9 ของเรื่องนี้ชื่อว่า “Memories” (ความทรงจำ)
 

บทนี้ไม่ใช่บทเดียวที่เยเน่ ตัวละครหลักคิดเกี่ยวกับอดีตของเธอ เนื่องจากมีความขัดแย้งมากมายเกิดขึ้นในเรื่องราวของเธอและในตัวเธอ อย่างไรก็ตามในบทนี้เยเน่คุยกับซีห์ เทพจอมเจ้าเล่ห์ และถามเขาเกี่ยวกับแม่ของเธอ ซึ่งเป็นที่มาของความลึกลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับเธอตลอดทั้งเรื่อง
 

ชื่อบทไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรงกับเหตุการณ์ในบท แต่มีการเชื่อมโยงเฉพาะเรื่อง เพราะในบทนี้ ความทรงจำขอเยเน่ที่เกี่ยวกับแม่ของเธอ ขัดแย้งกับสิ่งที่เธอได้รู้เกี่ยวกับแม่ของเธอจากซีห์

 

ตัวอย่างอื่นๆ:

  • Grandfather (คุณตา)
  • Darkness (ความมืด)
  • Magician (นักมายากล)
  • Sanity (สติ)

Try: อ่านภาพรวมทั้งหมดของบท ดูว่าใจความสำคัญคืออะไร จากนั้นเลือกใช้คำที่เหมาะที่สุด เช่น ตัวละครเลิกรากันในบทนี้ อาจใช้เป็น Heartbreaking, อกหัก, ทะเลาะ เป็นต้น

 

A Song of Ice and Fire via: amazon
A Song of Ice and Fire via: amazon

 

03 ใช้ชื่อตัวละครนำเสนอมุมมองตัวละคร (POV) ในบทนั้นๆ

มีหลายวิธีในการจัดการกับนิยายที่มีการใช้มุมมองตัวละคร (POV) หลายตัว วิธีการโดยทั่วไปคือการใช้มุมมองของตัวละครนั้นๆ มาตั้งชื่อบท ตัวอย่างที่นิยมมากที่สุดของเทคนิคนี้คือ ซีรีส์มหาศึกชิงบัลลังก์ (A Song of Ice and Fire) หรือ Game of Thrones ที่เรารู้จักเป็นอย่างดี เขียนโดยจอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน

การใช้กลยุทธ์นี้ของนักเขียน

ชื่อแต่ละบทล้วนใช้ชื่อตัวละครมาตั้ง เป็นการนำเสนอมุมมองตัวละคร (POV) ที่มีต่อเหตุการณ์ในบทนั้น ด้วยจำนวนตัวละครที่เยอะมากในเรื่อง (ฮา) นี่จึงเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้นักอ่านรู้ว่าใครกำลังพูดอยู่!

 

มันเจ๋งตรงที่...

ในนิยายที่มืดมน เรื่องราวของการหักเหลี่ยมชิงบัลลังก์ แน่นอนว่าการตั้งชื่อบทนั้นย่อมไม่ธรรมดา อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีชื่อเฉพาะสำหรับแต่ละบท 

แต่การใช้ชื่อตัวละครมาเป็นชื่อบทก็ทำให้เรารู้ว่าเป็นเรื่องของใคร 

และเมื่อเปลี่ยนไปอ่านมุมมองของคนถัดไปและกลับมาอ่านของคนเดิม เราก็จะยังสามารถเชื่อมโยงกับอันเดิมของคนเดิมได้

 

ตัวอย่างการใช้:

เมื่อได้อ่านบทชื่อ “Jon (จอน)” เรารู้ว่าเราจะเดินทางไปยังแนวปราการน้ำแข็งเดอะวอลล์ (The Wall) และค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับเหล่าวายร้ายและคนอื่นๆ  รวมถึงไวท์วอล์คเกอร์

Try: อันนี้เหมาะกับนิยายที่มีตัวละครมากมายมหาศาล อาจมีการดำเนินเรื่องที่ตัดสลับไปมาและไม่ได้เกี่ยวเนื่องกันมากเท่าไหร่

 

Aristotle and Dante Discover the Secrets of the Universe via amazon
Aristotle and Dante Discover the Secrets of the Universe via amazon

 

04 สร้างพาร์ทใหญ่ๆ แล้วใส่ชื่อให้มัน

บ่อยครั้งที่หนังสือไม่มีชื่อบท แต่จะแบ่งออกเป็น “พาร์ท” หลายพาร์ทซึ่งจะมีชื่อ ยกตัวอย่างเช่นนิยายเรื่อง Incarceron โดยแคทเธอรีน ฟิซเชอร์ กับเรื่อง Aristotle and Dante Discover the Secrets of the Universe โดย Benjamin Alire Sáenz โดยจะหยิบเรื่องของอริสโตเติลและดันเต้มาเป็นตัวอย่างให้ทุกคน

การใช้กลยุทธ์นี้ของนักเขียน

ในนิยาย Aristotle and Dante Discover the Secrets of the Universe มี 6 พาร์ทที่มีชื่อตลอดทั้งเล่ม แต่ละพาร์ทมีบทสั้นๆ หลายบทที่มีหมายเลขกำกับอยู่ภายใน ชื่อเรื่องของพาร์ทมักจะหยิบมาจาก 2-3 บทแรกของแต่ละพาร์ท ซึ่งทำให้รู้ความหมายของชื่อบททันที โดยแต่ละส่วนครอบคลุมช่วงต่างๆ ของเรื่องราวและนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญซึ่งมีนัยอยู่ในชื่อตอน ที่โดดเด่นมากกว่าใครคือ ชื่อเรื่องล้วนเป็นบทกวีที่เข้ากับโทนของหนังสือ

 

มันเจ๋งตรงที่...

ตัวบทมีความยาวต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่สั้นมาก โดยบางบทมีความยาวเพียง 2-3 ย่อหน้าเท่านั้น มันอาจรู้สึกว่ามากเกินไปที่จะมีชื่อบทหลายร้อยบท

 กลยุทธ์นี้จึงช่วยให้นักเขียนแบ่งเรื่องราวออกเป็นย่อหน้าสั้นๆ จำนวนมากได้ และมีชื่อบทเพื่อแยกแยะส่วนต่างๆ ของเรื่องราว 

หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาตัวละคร ดังนั้นชื่อพาร์ทจึงช่วยให้นักอ่านติดตามสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องได้

 

ตัวอย่างการใช้:

ในพาร์ทแรกของหนังสือชื่อว่า “The Different Rules of Summer (กฎต่างๆ ของฤดูร้อน)” บทที่ 2 ของบทนี้  อริสโตเติลผู้บรรยายบอกผู้อ่านว่า “I loved the different rules of summer. My mother endured them.”  (ฉันชอบกฎต่างๆ ของฤดูร้อน แม่ของฉันอดทนต่อพวกเขา) 

 

ชื่อเรื่องของพาร์ทแรกเป็นการอ้างถึงบรรทัดนี้ เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของแม่ของอริสโตเติล และความปรารถนาของอริสโตเติลที่จะทำลายกฎเหล่านี้ นอกจากนี้ยังเป็นสัญญาณว่าพาร์ทนี้จะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง “กฎ” ของชีวิตอริสโตเติล นั่นคือ ในช่วงฤดูร้อนนี้ เขาได้พบกับดันเต้และได้เป็นเพื่อนแท้คนแรกในชีวิตของเขา

 

ตัวอย่างอื่นๆ:

  1. Sparrows Falling from the Sky (นกกระจกร่วงหล่นจากฟากฟ้า)
  2. The End of Summer (สิ้นสุดฤดูร้อน)
  3. Letters on a Page (จดหมายบนหน้ากระดาษ)
  4. Remember the Rain (จดจำฝนพรำ)

Try: ลองแบ่งนิยายของเราเป็นหลายๆ ส่วน ในแต่ละส่วนมีบทย่อยมากมาย ตั้งชื่อแต่ละพาร์ทไว้ ส่วนบทย่อยใช้เป็นตัวเลขแทน

 

The World Gates  via amazon
The World Gates  via amazon

 

05 ใช้เวลาและสถานที่เป็นชื่อบท

เมื่อใดก็ตามที่นิยายเกี่ยวข้องกับการข้ามเวลาและสถานที่ การมีชื่อหรือคำบรรยายสำหรับแต่ละบทที่ระบุว่าบทนี้จะเกิดขึ้นเมื่อใดและที่ไหนจะเป็นประโยชน์มากๆ โดยปกติแล้วมักจะไม่มีชื่อบทแยก เพราะมันอาจทำให้มีข้อความจำนวนมาก ตัวอย่างที่ดีของกลยุทธ์นี้คือซีรีส์ The World Gates โดยฮอลลี่ ลิเซล

 

การใช้กลยุทธ์นี้ของนักเขียน

แต่ละบทมีตัวเลขและด้านล่างเป็นตัวบ่งชี้ว่าบทนี้จะเกิดขึ้นที่ใด บางครั้งนักเขียนพาเราไปยังที่ใหม่กลางบท ซึ่งในกรณีนี้จะมีหัวเรื่องย่อยใหม่สำหรับระบุตำแหน่งใหม่

 

มันเจ๋งตรงที่...

The World Gates ตามชื่อของมัน เกิดขึ้นในต่างโลก มีมุมมองตัวละคร (POV) หลากหลาย และมีหลายตัวละครที่มีความสามารถในการเดินทางข้ามมิติต่างๆ เรื่องราวน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นบนโลก อีกน้อยกว่าครึ่งเกิดขึ้นในโลกที่เรียกว่าโอเรีย และส่วนที่เหลือเกิดขึ้นในโลกอื่นๆ 

เนื่องจากมีการกระโดดข้ามไปมาระหว่างโลกมากมาย การใช้ส่วนหัวย่อยเพื่อระบุว่าเราอยู่ที่ไหนจึงมีประสิทธิภาพมากกว่าการอธิบายสถานที่ในแต่ละครั้ง

 

ตัวอย่างการใช้:

บทที่ 1 ใน Memory of Fire เล่มแรกของซีรี่ส์ มีส่วนหัวย่อยว่า “Ballahara, Nuue, Oria” ซึ่งหัวข้อย่อยนี้กำหนดก่อนที่เรื่องราวในหนังสือจะเริ่มต้นขึ้นว่า เราอยู่ในโลกที่แตกต่างจากโลกของเรา เราได้พบกับมอลลี่ แมคคอลล์ หนึ่งในตัวละครหลัก คนที่เราได้เรียนรู้ว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ถูกลากมาจากโลกโดยสิ่งมีชีวิตจากโอเรีย ครึ่งทางของบทนี้มีส่วนหัวย่อยใหม่ที่ชื่อว่า  "Cat Creek, North Carolina"
 

ฮอลลี่ ลิเซล เปิดโอกาสให้นักอ่านทำความเข้าใจบทแรกว่า พวกเขาสามารถคาดหวังอะไรได้บ้างจากส่วนที่เหลือของหนังสือ โดยใช้หัวข้อย่อยเหล่านี้เพื่อส่งเราจากโลกหนึ่งและมุมมองตัวละครหนึ่งไปยังอีกโลกหนึ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ

Try: เอาชื่อสถานที่มันตั้งเป็นชื่อบทแทน เช่น 12.00 บีทีเอสสยาม เป็นต้น แปลกใหม่ดีเหมือนกันนะ

 

Daughter of Smoke and Bone via amazon
Daughter of Smoke and Bone via amazon

 

06 ใช้การเยาะเย้ย!

เนื่อง​จาก​ชื่อ​บท​ต้อง​กระตุ้นให้นัก​อ่าน​อยากอ่านบทนั้นๆ ชื่อบทจึง​มัก​จะ​ต้องนำเสนอให้ดู​ลึกลับน่าค้นหา เราเรียกกลยุทธ์นี้ว่า "การเยาะเย้ย" เพราะชื่อเรื่องบังคับให้นักอ่านต้องอ่านต่อไปเพื่อค้นหาว่ามันหมายถึงอะไร ตัวอย่างที่ดีของกลยุทธ์นี้คือซีรี่ส์ Daughter of Smoke and Bone โดยไลนี่ เทย์เลอร์

การใช้กลยุทธ์นี้ของนักเขียน

เช่นเดียวกับเทคนิค 01 ดึงบทสนทนาของตัวละครมาใช้ 

ชื่อบททั้งหมดในซีรีส์นี้นำมาจากสิ่งที่กล่าวไว้ในบทนั้นๆ แม้ว่าจะเป็นเพียงตัวอย่างของการบรรยายแทนที่จะเป็นตัวอย่างบทสนทนาก็ตาม 

แทนที่จะเป็นหัวข้อหรือความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น ชื่อบทเหล่านี้เป็นความลึกลับที่ตรงไปตรงมาในตัวของมันเอง อาจมีคำหรือวลีที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือบอกนักอ่านว่าในที่สุดพวกเขาก็ได้รับสิ่งที่พวกเขาคาดหวัง หรือมันเป็นเพียงสิ่งที่ไม่คาดคิด หยิบมาเล่นได้หมด

 

มันเจ๋งตรงที่...

ซีรี่ส์ Daughter of Smoke and Bone เป็นแนวลึกลับ นักเขียนชอบหักมุมและไม่ค่อยให้ข้อมูลแก่นักอ่านมากเท่าไหร่ เมื่อต้องการคงความลึกลับไว้ การตั้งชื่อบทด้วยกลยุทธ์นี้ทำให้นักอ่านรู้สึกสงสัยและอยากอ่านเนื้อหาในบทเต็มแก่

 

ตัวอย่างการใช้:

การใช้กลยุทธ์นี้อยู่ในบทที่ 3 ของหนังสือ Daughter of Smoke and Bone เล่มแรก บทนี้มีชื่อง่ายๆ ว่า "Cranny" 

 

ในตอนท้ายของบทที่แล้ว คาโร ตัวเอกเรียกแฟนเก่าของเธอว่า “a walking, talking cranny.” เรารู้ว่าชื่อบทอาจอ้างอิงถึงอดีตของเธอ แต่เราไม่รู้ว่าเหตุใดจึงสำคัญมากพอที่จะเป็นชื่อบท มันเป็นเรื่องตลก ลึกลับ และทำหน้าที่เป็นตัวเย้ายวนที่ดีในการดึงดูดผู้อ่านให้มีส่วนร่วมในการค้นหาความจริง

 

ตัวอย่างอื่นๆ:

  • Impossible to Scare (เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้ตกใจ)
  • Poison Kitchen (ครัวพิษ)
  • The Graverobber (โจรปล้นศพ)
  • A Piece of Empty Candy (ลูกอมเปล่า)

Try: หยิบข้อความ วลี หรือสิ่งที่บรรยายในเนื้อเรื่องมาใช้ตั้งเป็นชื่อบท

 

Chaos Walking via amazon
Chaos Walking via amazon

 

07 ใช้การสร้างชื่อโลกมาตั้ง

กลยุทธ์นี้สามารถผสมผสานกับกลยุทธ์ด้านบนได้กรุบกริบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการแนะนำชิ้นส่วนของการสร้างโลกที่นักอ่านไม่เคยได้ยินมาก่อน อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์หลักของชื่อบทที่สร้างโลกคือการทำให้ผู้อ่านเข้าใจ มากกว่าที่จะทำให้พวกเขารู้สึกลึกลับ ตัวอย่างที่เช่นซีรี่ส์ Chaos Walking โดยแพทริค เนสส์

การใช้กลยุทธ์นี้ของนักเขียน

บทส่วนใหญ่จะตั้งชื่อตามแนวคิด สถานที่ บุคคล หรือสิ่งที่จะนำเสนอในบท บทเหล่านี้มักบอกเป็นนัยถึงสิ่งที่ผู้อ่านจะได้รับรู้ มากกว่าที่จะบอกเป็นนัยถึงเหตุการณ์ ความขัดแย้ง หรือความลึกลับ

 

มันเจ๋งตรงที่...

ซีรีส์ Chaos Walking เน้นไปที่การสร้างโลกอย่างหนักหน่วง โลกทำให้เกิดความขัดแย้งและแรงผลักดันของพล็อตตลอดทั้งเรื่อง บางครั้งชื่อบทก็น่าสนใจเพราะมันแนะนำผู้อ่านให้รู้จักกับแง่มุมของโลกที่พวกเขายังไม่เคยเจอ บ่อยครั้งชื่อบทเพียงแค่การปรับทิศทางนักอ่าน และไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นตัวเบ็ดไว้ตกนักอ่านเนื่องจากตัวเรื่องนั้นเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและตึงเครียดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม มันไม่จำเป็นต้องมีชื่อบทเพื่อทำหน้าที่กระตุ้นความตื่นเต้นก็ได้สำหรับเรื่องนี้

 

ตัวอย่างการใช้:

บทที่ 2 ของหนังสือเล่มแรกของซีรี่ส์อย่าง The Knife of Never Letting Go มีชื่อบทว่า “Prentisstown.” ชื่อเรื่องมีความน่าสนใจเพราะนักอ่านได้ยินเกี่ยวกับ Prentisstown มาตลอดบทแรกแต่ยังไม่ได้สัมผัส อย่างไรก็ตามในบทนี้ ส่วนใหญ่เป็นเพียงข้อมูลมากกว่า เรารู้ว่าในบทนี้ เราจะได้รู้จักเมืองที่ทอดด์ ตัวละครหลัก อาศัยอยู่ และสิ่งแปลกๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

Try: อาจจะใช้เป็นชื่อเมืองก็ได้นะ แต่ระวังซ้ำกับกลยุทธ์ 05

 

The House on Mango Street via amazon
The House on Mango Street via amazon

 

08 ใช้ชื่อหัวข้อ

ในบางครั้งชื่อบทอาจระบุเฉพาะหัวข้อที่จะกล่าวถึงในบทนั้น คำอธิบายนี้ทำให้กลยุทธ์นี้ฟังดูน่าเบื่อและเหมือนอ่านตำรา แต่ก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเป็นเช่นนั้นเสมอไป เมื่อนิยายเรื่อง The House on Mango Street โดยแซนดร้า คิสเนรอส ใช้กลยุทธ์นี้และมันเวิร์คมาก

การใช้กลยุทธ์นี้ของนักเขียน

ชื่อของแต่ละบทจะบอกนักอ่านว่าบทนั้นเกี่ยวกับอะไร ง่ายๆ อย่างนั้นเลย ชื่อบทบางบทตรงไปตรงมา เช่น “Hairs (ทรงผม)” ซึ่งบทนี้อธิบายถึงทรงผมที่แตกต่างกันของสมาชิกแต่ละคนในครอบครัวของตัวละครหลัก แต่บางครั้งชื่อบทบางบทอาจคลุมเครือกว่าเล็กน้อย เช่น “And Some More (และอีกมากมาย)” ในบทนี้ เอสเปรันซา ตัวละครหลักพยายามทำความเข้าใจชื่อมากมายที่แตกต่างกันออกไป

 

มันเจ๋งตรงที่...

ในบทนำของฉบับครบรอบ 25 ปีของหนังสือเล่มนี้ แซนดร้า คิสเนรอสกล่าวว่า เธอต้องการให้นักอ่านสามารถอ่านหนังสือบนใดก็ได้โดยไม่สนว่าจะอ่านตามลำดับหรือเปล่า นั่นเป็นเหตุผลที่เธอแบ่งมันออกเป็นบทสั้นๆ หลายบท พร้อมชื่อเรื่องที่บ่งบอกว่านักอ่านกำลังสนใจอะไร

โดยนักอ่านสามารถหยิบหนังสือและพลิกดูจนพบชื่อบทที่ดึงดูดใจ ค่อยอ่านบทนั้นๆ แล้วจึงอ่านบทอื่นๆ ที่ตามมาทีหลัง นอกจากนี้การไม่ระบุหมายเลขบทยังกระตุ้นให้นักอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือตามลำดับที่เฉพาะเจาะจง

 

ตัวอย่างการใช้:

มีบทหนึ่งที่อยู่ครึ่งทางของหนังสือชื่อ "There Was an Old Woman She Had So Many Children She Didn’t Know What to Do. (มีหญิงชราคนหนึ่งที่เธอมีลูกหลายคน เธอไม่รู้ว่าต้องทำอะไร)" 

 

เช่นเดียวกับบทอื่นๆ บทนี้แนะนำเพื่อนบ้านคนหนึ่งของเอสเปรันซา เป็นชื่อบทที่น่าสนใจเพราะนำเสนอความขัดแย้งที่น่าสนใจในเรื่อง แต่ก็เป็นชื่อบทที่ปรับทิศทางได้เพราะบอกนักอ่านถึงสิ่งที่คาดหวังจากการอ่านบทนี้

 

ตัวอย่างอื่นๆ:

  • Boys and Girls (เด็กชายและเด็กหญิง)
  • My Name (ชื่อของฉัน)
  • The Family of Little Feet (ครอบครัวเท้าเล็ก)

Try: เหมาะกับนิยายแนวสโลว์ไลฟ์ อ่านได้เรื่อยๆ เนื้อเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน ฟีลเหมือนตอนเดียวจบ อ่านข้ามก็ไม่มีปัญหา

 

……………

 

หากน้องๆ ต้องการใช้ชื่อบทในนิยายของตัวเอง ลองดูว่าหนังสือของเราตรงกับส่วน “มันเจ๋งตรงที่... ของแต่ละกลยุทธ์ในบทความนี้ แล้วลองตอบคำถามกับตัวเองดูว่า "เหตุใดมันจึงใช้ได้ผลสำหรับนิยายเรื่องนี้" ส่วนตัวพี่ใช้กลยุทธ์ 01 กับ 06 บ่อย ไว้หลอกนักอ่าน แต่กลยุทธ์อื่นๆ ก็น่าสนใจนะ ใครใช้แบบไหนแล้วเป็นยังไง มาเล่าให้พี่ฟังด้วยละ จะรอ ^ ^

 

พี่น้ำผึ้ง :)

 

พี่น้ำผึ้ง
พี่น้ำผึ้ง - Columnist นักเขียนที่ชอบส่งต่อพลังบวกให้ทุกคน

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น