สวัสดีค่ะ ในช่วงวิกฤติ COVID-19 มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายวิชาชีพที่ได้ร่วมมือกันทำประโยชน์เพื่อสังคม อย่างองค์กรวิชาชีพสถาปัตย์ก็ได้ร่ามกันสร้างและออกแบบ รพ.สนาม เพื่อให้สามารถจัดการพื้นที่ในการดูแลผู้ป่วย COVID ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เรียกได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ ที่สนใจจะเรียน “คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์” ได้อย่างมากเลยล่ะค่ะ ตลอดมาสถาปัตย์ก็เป็นคณะในดวงใจใครหลายคน วันนี้พี่เมก้าเลยรวบรวมแผนเตรียมสอบมาฝาก                        ถ้าพร้อมแล้วก็ตามไปดูกันเลย!    

เตรียมตัวสอบ TCAS65 "คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์"
เตรียมตัวสอบ TCAS65 "คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์" 

เตรียมความพร้อม TCAS65 สู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  

คณะนี้เรียนอะไร

สถาปัตยกรรมศาสตร์เป็นศาสตร์ด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อประโยชน์ใช้สอยด้านต่างๆ ส่วนใหญ่เน้นศึกษาความรู้แบบสหวิทยาการ โดยประยุกต์ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปวัฒนธรรม และวิทยาการจัดการต่างๆ ร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าต่อมนุษย์และเป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อม  ด้วยความที่สถาปัตย์เน้นบูรณาการความรู้จึงมีสาขาให้เลือกเรียนหลากหลาย แต่ละสาขาก็มีจุดเด่นแตกต่างกันไป เช่น ‘สาขาสถาปัตยกรรม’ ศึกษาทฤษฎี การออกแบบวางผังอาคาร และการก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม ‘สาขาสถาปัตยกรรมภายใน’ ศึกษาทฤษฎี การออกแบบ และการจัดงานสถาปัตยกรรมภายในอาคาร ‘ภูมิสถาปัตยกรรม’ ศึกษาทฤษฎี การออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมจากสภาพแวดล้อมท้องถิ่นผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ‘สถาปัตยกรรมผังเมือง’ ศึกษาทฤษฎี การออกแบบ และวางแผนจัดการพัฒนาเชิงพื้นที่และเชิงคุณค่าของชุมชนเมือง    

สาขาวิชาสถาปัตยกรรมหลักโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือวุฒิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต สถ.บ. (5 ปี) และวุฒิวิทยาศาสตรบัณฑิต วท.บ. (4 ปี) ส่วนสาขาวิชาอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้ร่มคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ระยะเวลาเรียนและวุฒิการศึกษาจะขึ้นอยู่กับคณะ/มหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนด เช่น สถาปัตยกรรมผังเมือง สถ.บ. จุฬาฯ เรียน 5 ปี ส่วนการผังเมือง ผ.บ. ม.ธรรมศาสตร์ เรียน 4 ปี เป็นต้น  

การเรียนโดยทั่วไป ปี 1 จะเรียนประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ปูพื้นฐานวาดเส้น การออกแบบ และเขียนแบบเบื้องต้น ปี 2 เน้นออกแบบสร้างสรรค์และศึกษาแนวคิดที่เกี่ยวกับวิชาชีพสถาปัตยกรรม เช่น ศึกษาโครงสร้างและวัสดุเพื่อการก่อสร้าง ศึกษาการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบ ศึกษาการนำเสนอแนวคิดทางสถาปัตยกรรม ฯลฯ ปี 3 ฝึกปฏิบัติการออกแบบทางสถาปัตยกรรม สำรวจ วิเคราะห์ และวางผังพื้นที่ตั้งโครงการ ปี 4-5 ฝึกปฏิบัติงานก่อสร้างจริง ตั้งแต่การวางขั้นตอน การตรวจสอบโครงสร้างและวัสดุ การควบคุมงาน และการแก้ปัญหาในการก่อสร้างโดยอิงกับหลักกฎหมายและวิชาชีพ                                   หลายมหาวิทยาลัยก่อนเรียนจบ น้องๆ ยังต้องประมวลความรู้และสร้างสรรค์ผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะตัวด้วยค่ะ      

คณะนี้เหมาะกับใคร

1. บางมหาวิทยาลัยกำหนดแผนการเรียน 'วิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์' แต่อีกหลายแห่งไม่ได้กำหนดค่ะ จบแผนวิทย์หรือแผนศิลป์ก็สามารถสมัครเข้าเรียนได้ ฝากไว้แค่เช็กระเบียบการอย่างรอบคอบทุกครั้งนะคะ  

2. ชอบเสพงานศิลป์ มีไอเดียสร้างสรรค์ มีพื้นฐานด้านศิลปะและการออกแบบมาบ้าง  

3. ถนัดงานละเอียด คล่องแคล่ว แต่รอบคอบแบบหาตัวจับยาก    

4. มีความอดทนสูง คณะนี้ขึ้นชื่อเรื่องการทำงานภายใต้ความกดดัน งานหนัก งานเร่ง โต้รุ่งบ่อย ดังนั้น ต้องค่อนข้างกายถึก ใจแกร่ง และควบคุมวุฒิภาวะทางอารมณ์ได้ดีค่ะ    

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มีสาขาอะไรบ้าง

  • สถาปัตยกรรม (สถ.บ.)
  • สถาปัตยกรรมหลัก (สถ.บ.)
  • สถาปัตยกรรม 4 ปี (วท.บ.)
  • สถาปัตยกรรมไทย (สถ.บ.)
  • สถาปัตยกรรมภายใน (สถ.บ./สน.บ.)
  • สถาปัตยกรรมผังเมือง (สถ.บ.)
  • สถาปัตยกรรมเขตร้อน (สถ.บ.)
  • ศิลปอุตสาหกรรม (สถ.บ.)
  • เทคโนโลยีสถาปัตยกรรม (สถ.บ.)
  • ภูมิสถาปัตยกรรม (ภ.สถ.บ.)
  • เทคโนโลยีภูมิทัศน์ (ทล.บ.)
  • การผังเมือง (ผ.บ.)
  • การวางแผนชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อม (ผ.บ.)
  • การออกแบบพัฒนาชุมชนเมือง (อบ.ม.บ.)
  • การออกแบบ (อบ.บ.)
  • การออกแบบภายใน (ศ.บ./ศป.บ.)
  • การออกแบบอุตสาหกรรม (ออ.บ.)
  • การออกแบบสถาปัตยกรรม (วท.บ.)
  • การออกแบบเชิงบูรณาการสถาปัตยกรรมแนวใหม่ (วท.บ.)
  • การจัดการงานก่อสร้าง (วท.บ.)
  • การจัดการออกแบบธุรกิจและเทคโนโลยี (วท.บ.)
  • นวัตกรรมอาคาร (วท.บ.)
  • นวัตกรรมการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (วท.บ.)
  • นวัตกรรมการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงบูรณาการ (วท.บ.)

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์  

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ม.เกษตรศาสตร์
  • ม.ธรรมศาสตร์
  • ม.ศิลปากร
  • ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • ม.ขอนแก่น
  • ม.มหาสารคาม
  • ม.อุบลราชธานี
  • ม.เชียงใหม่
  • ม.นเรศวร
  • ม.แม่โจ้
  • ม.พะเยา
  • ม.สงขลานครินทร์
  • ม.วลัยลักษณ์
  • กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ เช่น มรภ.พระนคร มรภ.สวนสุนันทา มรภ.ภูเก็ต เป็นต้น
  • กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล เช่น มทร.ธัญบุรี มทร.พระนคร มทร.ตะวันออก มทร.ล้านนา มทร.ศรีวิชัย มทร.อีสาน เป็นต้น
  • กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน เช่น ม.กรุงเทพ ม.รังสิต ม.ศรีปทุม ม.อัสสัมชัญ ม.เกษมบัณฑิต ม.วงษ์ชวลิตกุล เป็นต้น

ตัวอย่างค่าธรรมเนียมการศึกษา

  • ม.เกษตรศาสตร์ 14,670 บาท / ภาคการศึกษา
  • ส.ลาดกระบัง 16,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • ม.ขอนแก่น 18,000 บาท  / ภาคการศึกษา
  • ม.นเรศวร 20,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • ม.ศิลปากร 22,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • จุฬาฯ 25,500 บาท / ภาคการศึกษา
  • ม.เชียงใหม่ 29,000 บาท / ภาคการศึกษา
  • ม.สงขลานครินทร์ 30,000 บาท / ภาคการศึกษา

ตัวอย่างโครงการที่เปิดรับแต่ละรอบ (อ้างอิงข้อมูลจาก TCAS64)

รอบมหาวิทยาลัย/โครงการเกณฑ์คัดเลือกคะแนนต่ำสุดปี 64
รอบ 1 
Portfolio
ม.มหาสารคาม (สถาปัตยกรรม)
โครงการสานฝันฉันอยากเรียนออกแบบสถาปัตย์และก่อสร้าง
GPAX ไม่ต่ำกว่า 2.00 + Portfolio ไม่เกิน 10 หน้า          (ผลงานด้านศิลปะ การออกแบบ การเข้าร่วมกิจกรรมฝึกทักษะออกแบบสร้างสรรค์ ใบประกาศนียบัตรด้านการออกแบบ) + สอบสัมภาษณ์-
จุฬาฯ (สถาปัตยกรรม) 
โครงการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาใน                                       คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.50 + GPA คณิต ฟิสิกส์ ศิลปะ แต่ละวิชาไม่ต่ำกว่า 3.50 + CU-TEP ไม่ต่ำกว่า 60 + Portfolio ไม่เกิน 10 หน้า (ประวัติการอบรม การเข้าร่วมกิจกรรม รางวัล และภาพผลงานด้านศิลปะ                การออกแบบ หรือสถาปัตยกรรม) + สอบสัมภาษณ์-
ส.ลาดกระบัง (สถาปัตยกรรมหลัก) 
โครงการคัดเลือกจากแฟ้มรวบรวมผลงาน                          คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.00 20% + Portfolio 60%           (ความเรียงตามหัวข้อที่กำหนด ผลงานการออกแบบสร้างสรรค์ศิลปะ ผลงานศิลปะแสดงตัวตน ผลงานทัศนศิลป์) + ความสามารถพิเศษอื่นๆ 20% (ภาษา กิจกรรมพิเศษระดับชาติขึ้นไป) + สอบสัมภาษณ์ -
ม.เกษตรศาสตร์ (สถาปัตยกรรม) 
โครงการช้างเผือก 
GPAX ไม่ต่ำกว่า 2.75 20% + Portfolio ไม่เกิน 10 หน้า 20% (ผลงานด้านการออกแบบ และ/หรือผลงานที่ได้รับรางวัลระดับโรงเรียนขึ้นไป) + สอบสัมภาษณ์ 10% + แสดงทักษะและความถนัด 50%-
    
รอบ 2 
Quota
ม.เชียงใหม่ (สถาปัตยกรรม) 
โครงการผู้มีแววเป็นสถาปนิก
GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.00 + PAT4 + วิชาสามัญ (ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ 1 ฟิสิกส์) + Portfolio ไม่เกิน 10 หน้า (ผลงานแสดงตัวตน  ผลงานความสามารถทางศิลปะ ผลงานความสามารถการออกแบบ ความสามารถพิเศษอื่นๆ) + VDO Clip + สอบสัมภาษณ์ -
ม.พะเยา (สถาปัตยกรรม)  
โครงการรับตรงรร.ในเขตพื้นที่บริการ
GPAX 20% + GAT 30% + PAT4 50% -
ม.ศิลปากร (สถาปัตยกรรม)  
โครงการโควตา 28 จังหวัด
GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.00 + Portfolio ผลงานไม่เกิน 10 หน้า (ผลงานด้านออกแบบ การเขียนลายเส้นสามมิติ และการเขียนทัศนียภาพ) + สอบสัมภาษณ์ -
ม.ขอนแก่น (สถาปัตยกรรม) 
โควตาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สอบสมรรถนะหลัก ม.ขอนแก่น 70% (ไทย อังกฤษ คณิต วิทย์ ดิจิทัล) + สอบสมรรถนะเฉพาะด้าน 30% (ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์)  -
    
รอบ 3 Admissionจุฬาฯ (สถาปัตยกรรม)GPAX ไม่ต่ำกว่า 3.00 + PAT4 40% + วิชาสามัญ 60% (ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์1 ฟิสิกส์)  50.6167
ส.ลาดกระบัง (สถาปัตยกรรมหลัก)GPAX ไม่ต่ำกว่า 2.50 + GAT 30% + PAT4 70% + สอบสัมภาษณ์ 7146.3000
ม.ศิลปากร (สถาปัตยกรรม)GAT 15% + PAT4 50% + วิชาสามัญ 35% (ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ 1 ฟิสิกส์)30.8200
ม.ธรรมศาสตร์ (สถาปัตยกรรม) 
 โครงการพิเศษ  
GPAX ไม่ต่ำกว่า 2.75 + GAT 35% + PAT4 35% + วิชาสามัญ 30% (ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ 1 ฟิสิกส์)25.5000

อาชีพหลังจบการศึกษา

น้องๆ ที่ต้องการเป็นสถาปนิก ในบางงานต้องมีใบประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม (ก.ส.) ที่รับรองโดยสภาสถาปนิก เพื่อใช้เป็นเอกสารรับรองการออกแบบและเซ็นรับรองแบบของสถาปนิก ปัจจุบันมี 4 สาขาที่ต้องสอบใบประกอบฯ คือสถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ สถาปัตยกรรมผังเมือง และภูมิสถาปัตยกรรม สามารถตรวจสอบหลักสูตรและสถาบันการศึกษาที่สภาสถาปนิกรับรองได้ที่เว็บไซต์สภาสถาปนิก 

สาขาสถาปัตยกรรมหลัก ประกอบอาชีพเป็นสถาปนิก นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ผู้รับเหมาก่อสร้างอิสระ ที่ปรึกษาโครงการและบริษัทบริหารงานโครงการก่อสร้าง บุคลากรทางการศึกษาและหน่วยงานราชการด้านสถาปัตยกรรมและงานโยธา ผู้ประกอบการด้านออกแบบต่างๆ  

สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ประกอบอาชีพเป็นสถาปนิกสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑณศิลป์ ผู้บริหารโครงการออกแบบและก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมภายใน ผู้ก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมภายใน นักออกแบบในสาขาอาชีพอื่นๆ

สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง ประกอบอาชีพเป็นนักผังเมือง นักวิเคราะห์โครงการและวางแผน นักวิชาการและที่ปรึกษาด้านผังเมือง นักวิจัย และอาจารย์ประจำสถาบันอุดมศึกษา  

สาขาภูมิสถาปัตยกรรม ประกอบอาชีพเป็นภูมิสถาปนิกในหน่วยงานข้าราชการ หน่วยงานในกำกับของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ควบคุมงานก่อสร้างทางภูมิสถาปัตยกรรม ที่ปรึกษาด้านงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาสภาพแวดล้อมหน่วยงานเอกชนหรือองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร  

ฝากน้องๆ ที่อยากเรียน “สถาปัตยกรรมศาสตร์” นะคะ การเตรียมสอบที่เน้นมากๆ คือ GAT PAT4 และวิชาสามัญ 3 ตัวหลักคือภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ต้องเก็บให้แม่นเลย เพราะตอนเข้าไปเรียน น้องๆ จะได้เจอการคำนวณอย่างน้อยก็ในวิชาโครงสร้างค่ะ ตั้งใจและอดทนนะคะ คว้าฝันได้แน่นอน!  

ขอขอบคุณรูปภาพจาก Banner vector created by macrovector www.freepik.com
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด