เมื่อได้ทุน ดร.ป๋วย ไปเรียนโทไฟแนนซ์ที่ ‘LSE’ สถาบันดังใจกลางลอนดอน! (การันตีได้งาน100%)

สวัสดีค่ะชาว Dek-D ถ้าใครอยากเรียนต่ออังกฤษหรืออยากเรียนต่อด้านสังคมศาสตร์ เราเชื่อว่าต้องคุ้นเคยสถาบันชื่อดังระดับโลกอย่าง London School of Economics and Political Science (LSE) นอกจากตึกจะโดดเด่นใจกลางนครลอนดอนแล้ว สาขา Social Sciences & Management ของที่นี่ยังครองอันดับ 2 ของโลก จากการจัดอันดับโดย QS World University Rankings by Subject for 2021 ด้วย! 

เดี๋ยววันนี้จะพาไปรู้จักและอ่านรีวิวเน้นๆ จาก ‘พี่จอย-อารยา ทองธีรภาพ’ นักเรียนทุนธนาคารแห่งประเทศไทย หรือทุน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (Dr. Puey Ungphakorn Centenary Scholarship) เล่าให้ฟังตั้งแต่ขอทุนจนเรียนจบปริญญาโทสาขา MSc Finance ของ LSE แถมเล่าข้อดีของทุนที่ทั้งดูแลดี ฟรีทุกอย่าง และสนับสนุนค่าใช้จ่ายแบบจัดหนักจัดเต็ม เราไปเริ่มพาร์ตแรกกันเลยค่ะ!

เปิดโพรไฟล์เด็กเอกการเงิน
เก็บกิจกรรมแน่นๆ ตั้งแต่ ป.ตรี

“จุดเริ่มต้นคือจอยรู้ตัวว่าชอบ Finance เพราะได้ไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกาค่ะ จากนั้นพอไปสมัครเรียนจนติด BBA Thammasat ก็ได้เจอหลักสูตรที่ world-class มากกทั้งเนื้อหาและอาจารย์ การสอนไม่ต่างจากเมืองนอก เนื้อหาก็เกิน ป.ตรีไปแล้ว ยิ่งบางวิชามีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมาสอน เลยเห็นภาพชัดว่าสิ่งที่เรียนสามารถ adapt ในโลกการทำงานได้แบบไหนบ้าง”

ตัวอย่างกิจกรรมที่เคยทำ

  • เคยไปแข่ง Case Competition ทั้งที่อเมริกา (2 ครั้ง) แคนาดา และฮ่องกง และในประเทศ การแข่งเคสจะเป็นการแข่งขันเขียนแผนธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับบริษัทตามโจทย์ที่กำหนด (เคยคว้ารางวัลที่ 3 จากการแข่งขัน Heavener International Case Competition 2018 และ รางวัลที่ 3 จาก McGill Management International Case Competition ปี 2017)
  • ทุกซัมเมอร์จะมีให้ไปแลกเปลี่ยนได้ ตอนปี 1 เลือกไปที่ University of California Berkeley เหมือนไปเปิดโลกดูวิธีการเรียนไฟแนนซ์ที่เมืองนอก
  • พอปี 3 ได้ไปแลกเปลี่ยนที่ The University of Texas at Austin ที่ดังเรื่อง Account และ Finance ตอนนั้นไปเรียน 1 เทอม 5 วิชา เป็นไฟแนนซ์ไปแล้ว 4 วิชาเลย

ก่อนขอทุนแบงก์ชาติ (ดร.ป๋วย)
LSE ต้องตอบรับเข้าเรียนก่อน

หลังเรียนจบ ป.ตรี จอยวางแผนจะสมัครทุน “ทุน ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์”(Dr. Puey Ungphakorn Centenary Scholarship) ซึ่งน่าจะเป็นทุนที่พิเศษที่สุดของแบงก์ชาติแล้ว เพราะมอบในวาระ 100 ปีแห่งชาตกาล “ดร.ป๋วย” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่เรียนจบ ป.ตรี-เอกจาก LSE

คนที่จะสมัครทุนนี้ได้ต้องได้รับการตอบรับเข้าศึกษาจาก LSE ในสาขาที่แบงก์ชาติกำหนดแล้ว โดยไม่ติดเงื่อนไขด้านภาษา (แปลว่าคะแนนภาษาอังกฤษต้องผ่านเกณฑ์ ถ้าได้ทุนมาคือพร้อมบินเลย) แต่ทุนนี้จะมีช่วงเปิดรับสมัครที่ยาวนานมากก ประมาณ ต.ค. ยิงยาวไปถึง พ.ค. ของอีกปี ดังนั้นจะมีเวลาเตรียมตัวสมัครเรียน LSE เยอะเลยค่ะ

สาขาที่แบงก์ชาติกำหนดของปี 2565 มีดังนี้

  •  ปริญญาโท Econometrics and Mathematical Economics / Economics / Finance / Finance & Economics / Financial Mathematics / Finance & Private Equity / Risk & Finance / Quantitative Methods for Risk Management / Data Science
  •  ปริญญาเอก Economics / Finance / Statistics or Methodology (with a focus on Data Science)

รีวิวสมัครเรียน ป.โทที่ LSE 
(*ต้องติดก่อนถึงสมัครทุน ดร.ป๋วยได้)

จอยเตรียมตัวสมัครเรียนจริงจังมากก เพราะโปรแกรมไฟแนนซ์ของ LSE ดังมากในอังกฤษ แล้วติดอันดับต้นๆ ของโลก การแข่งขันก็เลยสูง ทุกปีจะรับนักศึกษา 100 คนเท่านั้น แนะนำว่าควรสมัครช่วงต้นๆ ซึ่งก็คือธันวาคมถึงมกราคม เพราะมหาวิทยาลัยใน UK จะมีสิ่งที่เรียกว่า “first come, first served” กรรมการจะตัดรอบแล้วนำใบสมัครมาพิจารณาเป็นช่วงๆ ไม่ได้รอหมดเขตแล้วค่อยนำใบสมัครทั้งหมดมาดู คนที่สมัครช่วงหลังๆ อาจเสียโอกาสได้

แนะนำ Timeline เตรียมตัว/สมัครเรียน LSE 
ให้ทันยื่นสมัครทุน ดร.ป๋วย

  • เดือนเมษายน - อ่านหนังสือ
  • เดือนสิงหาคม - สอบให้คะแนนถึงเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยกำหนด
  • เดือนกันยายน - เริ่มเขียนใบสมัคร
  • เดือนธันวาคมถึงมกราคม - สมัครเรียน

เอกสารพื้นฐานที่ต้องยื่น

  • Curriculum Vitae (CV)
  • Statement of Purpose
  • Letter of Recommendation
  • คะแนน GMAT/GRE
  • เกียรตินิยมอันดับ 1 (First-Class Honours)
  • IELTS overall 7.0-7.5

Tips:

  • คะแนน GRE/GMAT มักไม่ใช่ตัวตัดสินเท่ากับ SoP และ Letter of Recommendation ในเรียงความเราควรนำเสนอว่าเราแตกต่างจากคนอื่นยังไงบ้าง? ทำไมฉันถึงตั้งใจสมัครเรียนที่นี่โดยเฉพาะ? แล้วทำไมทางสถาบันถึงต้องเลือกเรา? (หลายคนมักจะลืมข้อหลัง)
     
  • ควรจะศึกษาข้อมูลให้ลงลึกว่าสถาบันนี้มีทรัพยากรอะไรบ้าง (เช่น เครือข่าย, อาจารย์ ฯลฯ)
  • ศึกษาว่าสถาบันนี้ให้คุณค่ากับเรื่องอะไร อย่าง LSE มี Motto ว่า อยากให้ทุกคนเรียนจบที่นี่ แล้วออกไปทำดีเพื่อสังคม  เราจึงควรอธิบายว่าจะนำความรู้ไปพัฒนาสังคมยังไงบ้าง อาจยกตัวอย่างประเด็นสังคมที่กำลังเกิดขึ้นก็ได้
     
  • ควรอธิบายว่า Future Goal ของเราคืออะไร ในที่นี้หมายถึง Career เช่น Investment Banker, Commercial Bank และอื่นๆ เราอาจไปดูว่าส่วนใหญ่ศิษย์เก่าที่นี่เรียนจบแล้วไปทำงานอะไรบ้าง
     
  • ในเรียงความ 2 หน้านี้ เราควรผูกเรื่องราวให้เกี่ยวเนื่องและสอดรับกัน เช่น ในอดีตเราทำกิจกรรมอะไรถึงส่งผลให้เป็นเราในปัจจุบัน แล้วปัจจุบันเรามีเป้าหมาย (goal) อะไร ต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น ซึ่งก็คือการได้มาเรียนที่นี่นั่นเอง แล้วทำไมถึงต้องเรียนที่นี่ล่ะ?

การสมัครเรียนที่พิจารณาจากเอกสารเป็นหลักแบบนี้ กิจกรรมสำคัญมาก อยากฝากถึงน้องๆ ว่าอย่าอยู่แต่ในห้องเรียนอย่างเดียว แต่พยายามหากิจกรรมทำเยอะๆ เพราะประสบการณ์ที่เราหยิบยกมาอธิบายในเรียงความ จะสะท้อนตัวตนและบุคลิกนิสัยของเราให้กรรมการเห็น เค้าสามารถ assume ได้ว่าเราเป็นคนแบบไหนจากสิ่งที่เราเขียนลงไป เช่น การที่เราออกไปแข่งเคส หรือไปสอน ก็บ่งบอกได้ว่าเราเป็นคน hard-working

ผ่านกี่ด่านกว่าจะได้ทุน ดร.ป๋วย?

พอได้จดหมายตอบรับเข้าเรียนจาก LSE แล้ว เราก็ต้องนำไปยื่นประกอบการสมัครทุน ดร.ป๋วยค่ะ ขั้นแรกกรรมการจะพิจารณาเราจากใบสมัครก่อน แล้วประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบสัมภาษณ์ ซึ่งรุ่นที่จอยสมัครมีประมาณ 5 คน 

ในวันสัมภาษณ์จะแบ่งเป็นช่วงเช้า ให้เขียนเรียงความเพื่อวัดทัศนคติและไหวพริบ ตอนนั้นมีให้เขียนเป็นภาษาไทย แนะนำว่าควรจะเขียนให้เป็นตัวของตัวเองที่สุด เขียนสิ่งที่มั่นใจ และเป็นสิ่งที่คิดจริงๆ เพราะช่วงบ่ายจะเป็นการสัมภาษณ์ (นานมากกก) เขาจะถามจากสิ่งที่เราเขียนเรียงความด้วย จากนั้นก็รอผลด้วยความตื่นเต้นสุดๆ ประมาณ 1 สัปดาห์ ตอนแรกคิดว่าจะไม่ได้แล้วค่ะ ดีใจมากกก TT

ศึกษาการสมัครเรียน LSEระเบียบการทุน ดร.ป๋วย (2565)

/////////

ชีวิต Chapter ใหม่ใน LSE
"The Heart of London"

ขอเปิดด้วยเรื่อง location ก่อน เพราะดีงามสุดๆ ตั้งอยู่ใจกลางลอนดอนเลย ถ้าใครอินละครเวทีคือชอบแน่นอน เพราะรายล้อมด้วยโรงละคร ห่างออกไปไม่ไกลก็มี Covent Garden ที่เดินแค่ 10 นาทีถึง แถมยังอยู่ตรงสถานีรถไฟใต้ดิน Holborn บรรยากาศรอบ LSE เลยเต็มไปด้วยชีวิตชีวา คนพลุกพล่าน มีทุกสิ่งอย่าง แต่ข้อเสียคือค่าครองชีพแพงมาก *เซอร์ไพรซ์ตรงทุนนี้ครอบคลุมค่าครองชีพที่ลอนดอนด้วย แต่มีปรับเรตทุกปีนะคะ

ส่วน LSE จะมีฉายาว่าเป็นมหาวิทยาลัยห้องแถว ไม่มีรั้ว มีแต่ตึกข้างใน แต่ละตึกก็จะมีความใหญ่ในตัวของมันเอง ยิ่งระบบห้องสมุดคือเจ๋งมาก (แต่เต็มตลอดจนจอยต้องมาอ่านที่หอ 555) เขาจะมีแบ่งเป็นโซนๆ เช่น Red Zone ห้ามพูดเสียงดัง, Graduate Zone สำหรับนักศึกษาปริญญาโทเท่านั้น, Women Zone, โซนทำงานกลุ่ม ซึ่งจะแบ่งเป็นโซนส่วนตัวกับส่วนกลางที่มีคนอื่นอยู่ด้วย ตัวตึกเรียนจะมีทางเดิน มีเก้าอี้กับจอทีวีให้เราต่อคอมพ์ ซ้อมพรีเซนต์กับเพื่อนๆ ด้วย

สำหรับเด็กทุน ดร.ป๋วย ตอนอยู่ไทยก็มีทีมทุนแบงก์ชาติดูแล แล้วพอไปถึง UK ก็มีทีมสถานทูตไทยในลอนดอนที่ดูแลอีก อย่างเช่นจอยเรียนไปได้สัก 5 เดือนก็เจอโควิด มีเจ้าหน้าที่มาคอย checkup ตลอด และสถานทูตก็เลยดูแลเรื่องการเดินทางให้เราทั้งไปและกลับเลยค่ะ นอกจากนี้คือคอมมูนิตี้นักเรียนไทยเหนียวแน่นมาก รวมกลุ่มกันพูดคุยและทำกิจกรรมกันตลอด ไม่มีเคว้งแน่นอน

หลักสูตร MSc Finance
เรียนอัดแน่น 10 เดือนที่ LSE

ขนาดเราไปด้วยความมั่นใจว่าเรียนไฟแนนซ์มา 4 ปีตอน BBA แลกเปลี่ยนที่อเมริกามา 2 มหาวิทยาลัย ยังจะต้องกลัวอะไรอีก! ...แต่พอเข้ามาเรียนจริงแทบจะร้องไห้ 

MSc Finance เป็นหลักสูตร Full-time ที่ใช้เวลาเรียน 10 เดือน แต่อัดแน่นด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นที่สุดเท่าเคยเจอมาในชีวิตเลยค่ะ ส่วนผู้สอนที่ LSE ส่วนใหญ่จะเป็นระดับศาสตราจารย์ และมาจากการคัดสรรคนที่ดังด้านนั้นใน UK มาสอน อย่างวิชา Corporate Investment สอนโดยศาสตราจารย์จาก University of Cambridge  

Note: MSc (Master of Science) จะเป็นหลักสูตรที่เจาะลึกหัวข้อนั้นๆ อย่างเช่นจอยเรียน MSc Finance ก็คือเจาะลึกด้านการเงิน จะต่างกับ MBA (Master of Business Administration) ที่สอนรอบด้านทั้งบัญชี เศรษฐศาสตร์ ไฟแนนซ์ ฯลฯ 

เจาะลึกความพีค 
& วิชาเรียนแต่ละเทอม

เทอมที่ 1

เรียนวิชาพื้นฐานของ Finance แค่ 2 วิชา วันจันทร์กับพุธเรียน Corporate Finance (การเงินระดับองค์กร/บริษัท) ส่วนวันอังคารกับพฤหัสจะเรียน Asset Markets (ตลาดสินทรัพย์) ถึงจะมีแค่ 2 วิชานี้แต่สั่งการบ้านยากและจัดเต็มมากก ถ้าสั่งจันทร์ก็ต้องส่งพุธ ข้อดีคือทำเป็นกลุ่ม 4 คน *อาจารย์จะเป็นคนทำ Materials การสอนเองทั้งหมด

ชีวิตแต่ละวันช่วงนั้นคือตื่นตั้งแต่ 7 โมง / ทบทวนการบ้านที่จะไปส่ง / ไปถึงมหาวิทยาลัย 8 โมงเพื่อเอาการบ้านที่เตรียมมาไปดิสคัสกับเพื่อนๆ / เรียนเสร็จเที่ยง / ดิสคัสกับเพื่อนอีกกลุ่มเกี่ยวกับการบ้านที่จะต้องส่งวันถัดไป / ตอนดึกทบทวนสิ่งที่เรียนไปวันนี้ แล้วเตรียมอ่านสิ่งที่จะเรียนพรุ่งนี้เพื่อไปดิสคัสในคลาส / อีกวันก็ตื่น 7 โมงแล้วไปทบทวนการบ้านที่เตรียมมากับเพื่อนๆ 

Tips: เราจะได้ทำงานกลุ่มกับเพื่อนกลุ่มเดิมตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้นช่วงปฐมนิเทศ 2 สัปดาห์ก่อนเรียนจริง แนะนำให้สร้างความโดดเด่นให้ตัวเอง อย่างปีเราเขาจะมีเชิญ Consultant ของ McKinsey & Company มาพูดในวันปฐมนิเทศ จอยยกมือตอบหลายรอบจนเค้าชม คนในคลาสเลย assume ว่าเราคงมีของ เลยมาชวนเราเข้ากลุ่มเอง ทำให้ไม่มีปัญหาตอนจับกลุ่มเลย

เทอม 2

เทอมนี้เค้าจะเริ่มให้เราเจาะแล้วว่าจะเป็นสาย Corporate Finance หรือ Asset Markets หนึ่งในวิชาที่ลงเรียนแล้วชอบมากคือ Portfolio Management สอนการลงทุนหุ้นในพอร์ตของเรา โดยเอายก Research Paper มาสอนว่าโมเดลนี้จากในนั้นว่าโมเดลนี้ทำแบบนี้นะ แล้วเราสามารถนำ Datasets มาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีในเปเปอร์นี้ได้ยังไงบ้าง

ในเทอมนี้มักจะเรียนแบบกรณีศึกษา หรือ Case-based ซึ่งก็คือการยกเคสปัญหาของบริษัทมาให้เราอ่าน แล้ววิเคราะห์ว่าเราควรจะแก้ด้วยวิธีไหนเพื่อแก้ไข ซึ่งจอยมีพื้นฐานเรื่องการทำเคสมาจากตอนเรียน BBA เลยรู้สึกสนุก เพียงแต่พอเป็น finance หมดเลยก็จะเต็มไปด้วยการคิดเลข

แต่... LSE ห้ามใช้เครื่องคิดเลขการเงิน!

เป็นข้อแตกต่างใหญ่ๆ จากตอนเรียนที่ไทยเลย ปกติเด็กไฟแนนซ์จะมีเครื่องคิดเลขทางการเงิน (Financial Calculator) อยากคำนวณหาค่าอะไร แค่กดปุ่มเดียวก็จะมีสูตร embed มาพร้อมใช้ง่ายๆ ทำให้ตลอด 4 ปีจอยไม่เคยต้องจำสูตรเลย แต่พอมาถึง LSE ห้ามใช้ เพราะถ้ากดจะไม่รู้ที่มาที่ไปว่าตัวเลขมาจากไหน

เท่ากับว่าสมัยเรียน ป.ตรี จะเป็นสเต็ปที่พร้อมหยิบ(เครื่องคิดเลขมา)ใช้แล้ว แต่ LSE จะพาเราไปเรียนรู้ถึงแก่นตั้งแต่ step ที่ 1 กระทั่งว่าตอนนั้นคนคิดสูตรเค้าทำอะไรอยู่ ซึ่งมีออกสอบด้วย! 

ว่าด้วยคะแนนการมีส่วนร่วมในคลาส

คะแนนไม่ได้มาจากสอบอย่างเดียว จะมีคะแนนการมีส่วนร่วมในคลาส (Class Participation) ด้วย ในทุกคลาสจะมีผู้ช่วยสอน หรือ TA คอยสแกนว่าคำตอบเรา valuable มั้ย (=ประโยชน์หรือทำให้เกิดการต่อยอดได้มั้ย) โดยคะแนนจะเต็ม 3 กำหนดเกณฑ์ไว้ชัดเจน

  • ถ้าเข้าเรียนเฉยๆ ได้ 1 คะแนน
  • ถ้าตอบแบบไม่ valuable ได้ 2 คะแนน
  • ถ้าตอบแบบ valuable ได้ 3 คะแนน

ดังนั้นทุกคนในคลาสจะแอคทีฟ แย่งกันตอบตลอด อย่างจอยก็ตั้งเป้าไว้เลยว่าใน 3 ชั่วโมงต้องหาจังหวะตอบให้ได้ มีได้ 3 บ่อยเหมือนกันเพราะตั้งใจเตรียมที่พูดมาเต็มที่

สอบในคลาส VS สอบออนไลน์
อันไหนโหดกว่ากัน?

จอยได้สอบมิดเทอมในห้อง แล้วมาเจอสอบออนไลน์ตอนไฟนอลเพราะโควิด ทำให้เห็นระดับความยากของข้อสอบที่เพิ่มขึ้นแบบเห็นๆ ถ้าเป็นระบบสอบออนไลน์ของที่อื่นอาจจะมีให้เปิดกล้องทำข้อสอบ แต่ LSE จะอัปโหลดข้อสอบให้ตอนเที่ยง จากนั้นให้เวลาทำ 24 ชั่วโมง ทุกคนจะต้องส่งก่อนเที่ยงวันถัดไป เหมือนข้อสอบ take home  ซึ่งคำถามยากมากกกแม้จะให้เปิดก็ตาม 

ปกติข้อสอบ 3 ชั่วโมง 2 ข้อใหญ่ แล้วจะมีอีก 10 ข้อย่อย ถ้าผิดจะผิดต่อกันเป็นโดมิโน่ แต่การตรวจข้อสอบคือถ้า A คิดเลขผิด แต่ B ใส่สูตรถูก ก็จะได้คะแนนข้อ B (ข้อสอบ Finance ส่วนใหญ่จะมีเลขเดียวเป็นคำตอบ ไม่ใช่คำถามปลายเปิด)

อย่างสมมติถ้าเป็นพื้นฐานตอน ป.ตรี เขาอาจจะถามว่า Company A ต้องการไปสู่ public ควรตั้งราคาหุ้นเท่าไหร่ แต่พอมา LSE จะกำหนดเงื่อนไขซับซ้อนไปอีก เช่น ฉันมีปัญหาด้าน A, B, C, D และต้องคุยกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) แต่ละคน จะต้องพูดยังไงบ้างเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และราคาหุ้นนั้นควรออกมาเป็นเท่าไหร่

นอกจากนี้คือการตรวจข้อสอบจะรัดกุมมาก ไม่ต้องกังวลเรื่อง bias หรือตรวจข้อสอบผิดเลย

  • ข้อสอบจะไม่มีเขียนชื่อนักศึกษา แต่จะมีรหัสที่เราใช้สอบในครั้งนั้น
  • ครูจากมหาวิทยาลัยอื่น 2 คนเป็นผู้ตรวจข้อสอบ โดยจะตรวจแยกกันแล้วนำคะแนนมาเทียบกัน ห้ามผิดต่างกันกี่ % ถ้าเกินก็จะมีคนที่ 3 มาตรวจค่ะ

มีเรื่องเล่าตอนปฐมนิเทศ ทาง LSE เค้ากลัวเด็กจะมีปัญหาสุขภาพจิตเพราะช็อกเรื่องคะแนน เลยจัดการล้าง mindset ก่อนเลยในคะแนนเต็ม 100 ให้ลืมไปก่อนว่าจะต้องได้คะแนนในช่วง 80-100 เพราะ 50 คือดี ส่วน 60 คือ เก่งมาก แต่ถ้า 70 ขึ้นไปคือเหนือมนุษย์
 

ความภูมิใจคือจอยเองเคยได้ท็อปวิชา Corporate Investment and Financial Policy 83 คะแนน เรียกว่าเป็นการเรียนที่สนุกและท้าทายมาก เหมือนได้เปิดโลกตลอดเวลา เพื่อนก็ช่วยกันเรียน เป็นสังคมที่แข่งขันแต่ก็แชร์กันอยู่ดี เพราะเหมือนทุกคนยอมรับว่าฉันจะเรียนจบด้วยตัวคนเดียวไม่ได้แน่ๆ 55555 

จบ LSE การันตีได้งาน 100%
(Career Center สุดยอดมาก!)

โปรแกรมเรียนนี้มีแต่เด็กจบใหม่ประมาณ 80% ของคลาส แต่ละคนจบ ป.ตรีหลากหลายสาขา และมีคนหลายชาติด้วย เยอะสุดคือคนจีน (คนจีนคือเก่งแบบสุดยอด จบจาก ม.ดังๆ แต่ละคนคือเกรดไม่ต่ำกว่า 3.6) 

เด็ก LSE แต่ละคนจะมาพร้อม goal เรื่องงาน เร่งเขียน Cover Letter เต็มที่ บางทีมีแจก CV ให้เพื่อนช่วยคอมเมนต์กัน หรือบางวันเราอาจจะเห็นเพื่อนใส่สูทจัดเต็มมานั่งเรียน เพราะเพิ่งกลับจากสัมภาษณ์งานมา (ได้ยินว่าถึงจะเพิ่งเปิดเรียนไม่นาน แต่ขอแค่เรียนอยู่ LSE บริษัทก็พร้อมเรียกสัมภาษณ์แล้ว ทำให้รู้ว่าที่นี่อิมแพคมากจริงๆ) นอกจากนี้โรงเรียน LSE เองก็การันตีได้งาน 100% ด้วย เค้าจะมีช่วยเตรียมตัวเรื่องการหางานตั้งแต่ปฐมนิเทศ 2 สัปดาห์แรก เริ่มมาถึงก็ “อ่ะวันนี้มาดู CV กัน” ตอนนั้นคืองง เพราะยังไม่ทันเริ่มเรียนอะไรเลย

นอกจากนี้เรื่องคอนเนกชันยังเข้มแข็งมาก มี Career Center ที่แตกแขนงเป็นทีม CV ทีม Interview ฯลฯ เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาเรื่องการหางานแบบทุกขั้นตอน ตั้งแต่พาทำ LinkedIn, ช่วยฝึกซ้อมสัมภาษณ์, จัดงาน Networking เชิญคนในอุตสาหกรรมต่างๆ มาพูดคุยและทำความรู้จักกัน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งเราจะสมัคร ป.เอก ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาช่วยตรวจทาน CV พร้อมให้คำแนะนำ  เค้าจะให้ศิษย์เก่าสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือนี้ได้อีก 5 ปีหลังเรียนจบ ทุกวันนี้จอยยังคุยกับ Career Center อยู่เลย

อัปเดตชีวิตปัจจุบัน 
ยังไม่หยุดเรียนรู้

หลังจากเรียนจบแล้วเงื่อนไขคือต้องกลับมาทำงานที่แบงก์ชาติ 2 เท่าของระยะเวลาเรียน อย่างของจอยเรียน 1 ปี ก็ต้องทำงานอย่างน้อย 2 ปี พอมาทำจริงเราได้ค้นพบว่าเนื้องานที่นี่ทั้งท้าทายและต้องเรียนรู้ตลอดเวลา คนทำงานที่นี่ 50% เรียนจบจากต่างประเทศ เจ้านายเก่งและเปิดกว้าง ถ้ามีไอเดียเราสามารถนำเสนอได้ เค้าจะรับฟังโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องอายุ หรืออย่างจอยเห็นว่าแบงก์ชาติมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเยอะ แบงก์ชาติก็อนุญาตให้เราทำวิจัยได้

ถ้าพูดถึงตลาดงาน ไฟแนนซ์ยังคงเป็นสายงานที่เติบโตไม่หยุดนิ่ง เพราะถ้าเทียบแค่ปัจจุบันกับ 5 ปีก่อนก็แตกต่างกันแล้วทั้งเรื่อง product และความท้าทายที่สูงขึ้น ทำให้เราต้องตามโลกให้ทันและหาจุดแข็งของตัวเองให้เจอ เพื่อสร้างความโดดเด่นให้ตัวเอง เหมือนอย่างแบงก์ชาติเองก็ไม่หยุดนิ่งเหมือนกัน ล่าสุดก็มีออก Central Bank Digital Currency หรือ bitcoin ของตัวเองแล้วด้วย

“ไฟแนนซ์คือสาขาที่เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เราได้เอาทฤษฎีมาประยุกต์ใช้กับโลกความจริง แล้วใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปด้วย ซึ่งภายใต้การบริหารจัดการขององค์กรต่างๆ มีรากฐานก็คือไฟแนนซ์ และสุดท้ายแล้วเศรษฐกิจไทยหรือเศรษฐกิจโลกจะเติบโตไปข้างหน้ายังไง ก็เป็นเรื่องของไฟแนนซ์อีกเหมือนกัน”

อย่าเสียโอกาสที่จะลองสักตั้ง

จอยอยากฝากถึงน้องๆ ว่าทุน ดร.ป๋วย เป็นทุนที่พิเศษมาก และแบงก์ชาติก็คือองค์กรที่ทันสมัยและเปิดกว้าง ดังนั้นเลยอยากให้ลองสมัคร แล้วสู้ให้เต็มที่ อย่าปล่อยให้โอกาสกลายเป็นศูนย์ สมมติถ้าเราเกิดเราพลาดทุนนี้จริงๆ อย่างน้อยยังมีเวลาสมัครทุนอื่นทัน เพราะมีช่วงเปิดรับสมัครที่ยาวนานมากค่ะ

ศึกษาเพิ่มเติมที่ช่องทางหลักของ LSE

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด