สวัสดีค่ะ ตอนนี้น้องๆ หลายคนก็เริ่มคำนวณคะแนน Admission และสอบถามพี่ๆ ทีมงานถึงแนวโน้มคะแนนในปีนี้ ว่าจะเฟ้อ หรือฝืดขนาดไหน คณะไหนจะคะแนนเพิ่ม สาขาวิชาไหนจะคะแนนลด  ซึ่งสัปดาห์นี้ พี่ลาเต้ พร้อมแขกรับเชิญอย่าง พี่ปอล บอสสายการศึกษา เว็บ Dek-D และพี่มิ้นท์ บรรณาธิการข่าวแอดมิชชั่น เว็บ Dek-D ก็ได้มา LIVE วิเคราะห์คะแนนกันแบบละเอียดๆ ในรายการ #DekDTCASWeekly  สำหรับใครที่พลาดรายการสด ไม่ต้องกังวลไป วันนี้พี่แนนนี่จะมาสรุปให้ฟัง ว่าจะเป็นอย่างไรกันบ้าง

ขึ้น ลง หรือ คงที่ วิเคราะห์คะแนนรายคณะ แนวโน้ม Admission 65
ขึ้น ลง หรือ คงที่ วิเคราะห์คะแนนรายคณะ แนวโน้ม Admission 65

#dek65 อ่านเลย! แนวโน้มคะแนน #Admission65 แต่ละคณะจะเฟ้อ จะฝืดแค่ไหน 

ข่าวสำคัญจากทปอ.

ทปอ. มีการปรับปฏิทินดำเนินการ TCAS65 รอบ 2 Quota และรอบ 3 Admission เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางทปอ. ได้มีการประกาศอนุโลมการฝนเลขที่ชุดข้อสอบต่างๆ ด้วย และปรับเฉลยวิชา PAT3, วิชาสามัญ ภาษาไทย, สังคมศึกษา และภาษาอังกฤษ ส่งผลให้การคัดเลือกต่างๆ ที่ต้องใช้คะแนนเหล่านี้ล่าช้าออกไป แต่ละมหาวิทยาลัยจึงต้องปรับกำหนดการ

ส่วนในเรื่องของปรับเฉลย จะทำให้ส่งผลต่อคะแนนสอบของน้องๆ ทุกคนที่เข้าสอบในวิชานั้นๆ โดยจะสามารถแบ่งน้องๆ ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ คะแนนลด คะแนนเพิ่ม และคะแนนเท่าเดิม  ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อตรวจคำตอบ หรือปรับคะแนนเรียบร้อยแล้ว จะส่งผลต่อสถิติคะแนน ช่วงคะแนน ทำให้คะแนนค่าเฉลี่ยต่างๆ ต้องปรับเปลีี่ยนไปด้วย

มหาวิทยาลัยปรับเกณฑ์ขั้นต่ำ

มหาวิทยาลัยบูรพา ประกาศปรับเกณฑ์ขั้นต่ำ TCAS รอบ 3 ส่วนมหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกาศปรับเกณฑ์ขั้นต่ำ TCAS รอบ 2  ไปก่อนแล้ว และคาดว่า น่าจะมีการปรับเกณฑ์ขั้นต่ำในรอบ 3 ด้วยเช่นกัน

T-Score คืออะไร

T-Score คือ คะแนนตัวแทนที่แปลงมาจากคะแนนสอบเดิม เพื่อแก้ปัญหาคะแนนสอบที่เฟ้อและฝืดแต่ละปีที่ไม่เท่ากัน 

ตัวอย่าง

จากภาพเส้นสีแดง คือ คะแนน 0 - 300  ซึ่งจะเห็นได้ว่า  คนส่วนใหญ่ หรือค่าเฉลี่ย (วงกลมสีฟ้า) และคะแนนสูงสุด (​วงกลมสีส้ม) ของปี 63 จะสูงกว่าปี 64 ทั้งหมดเลย และถ้านำคะแนนที่แตกต่างกันแบบนี้ ไปคำนวณ ไปเทียบกับคะแนนเก่า ก็จะทำให้เทียบยาก ดังนั้น T-Score จึงเป็นการวางเส้นคะแนนใหม่ (เส้นสีดำ) ปรับคะแนนค่าเฉลี่ยของทั้ง 2 ปี ให้มาอยู่ตรงกลางเท่ากัน (เส้นสีเขียว) แล้วใครที่ได้คะแนนมากกว่าตรงกลาง ก็จะได้คะแนน T-Score มากขึ้น ยิ่งห่าง ก็จะยิ่งได้คะแนนมากขึ้น ถึงระดับนึงก็อาจจะได้เต็ม 100 ไปเลย โดยการปรับคะแนน ก็จะมีการสูตรการคำนวณตามที่กำหนดไว้

วิเคราะห์คะแนน Admission

ปัจจัยที่คะแนน #Admission แต่ละคณะจะเพิ่มขึ้น หรือลดลง

  • คะแนนวิชาต่างๆ และช่วงคะแนน : ปีนี้ขึ้น/ลง จะสะท้อนว่าในปีนี้เด็กทั้งประเทศได้คะแนนเท่าไหร่ เป็นปัจจัยสำคัญในการคำนวณคะแนน เช่น ถ้าคะแนนสอบทั้งประเทศได้น้อย คำนวณคะแนนออกมา ยังไงก็น้อยลง
  • จำนวนที่นั่ง : การเปลี่ยนแปลงที่นั่ง ไม่ว่าขึ้น/ลง ก็จะทำให้คะแนนขึ้น/ลงตามไปด้วย ทั้งจำนวนที่นั่งต่อรอบ และแผนการรับทั้งปี
  • การเปลี่ยนเกณฑ์ :  ทำให้อ้างอิงคะแนนกับปีก่อนๆ ไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนเกณฑ์ง่ายลง คะแนนจะเพิ่ม เกณฑ์ยากขึ้น คะแนนจะลดลง
  •  การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเกณฑ์ขั้นต่ำ : มีผลต่อจำนวนผู้สมัคร คือถ้าปรับเกณฑ์ขั้นต่ำลดลง จะทำให้มีผู้ที่สมัครได้มากขึ้น คู่แข่งเยอะขึ้น
  • จำนวนคนสมัคร : เป็นปัจจัยภายนอก เราจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า คนจะมาสมัครคณะเดียวกันเท่าไหร่ คู่แข่งมีเยอะไหม รวมไปถึงยังส่งผลให้คะแนนเหวี่ยงได้ด้วย

ภาพรวมประเด็นเกี่ยวกับคะแนนสอบที่น่าสนใจ

  • จำนวนคนสมัครปีนี้ ลดลงเยอะมาก
  • ค่าเฉลี่ย (mean) บางวิชาเพิ่ม/ลดเยอะมาก
  • ช่วงคะแนน 270 - 300 คะแนน บางวิชาปีนี้ไม่มีคนได้ บางวิชาปีนี้มี

ภาพรวมเกณฑ์คะแนน Admission ปี 65

เกณฑ์คะแนนปี 65จะเทียบกับคะแนนกับปีที่แล้วได้ไหม?
เกณฑ์เดิม เหมือนปีก่อน5%เทียบได้ชัวร์ๆ แต่ต้องระวังเรื่องที่นั่ง-ภาพรวมปีนี้
เกณฑ์วิชาเดิม แต่เปลี่ยน%40%พอคาดการณ์ได้บ้าง
เกณฑ์ใหม่ วิชาเดิม+วิชาใหม่40%ต้องเทียบเคียงหลายอย่าง เช่น เทียบจากคณะ หรือมหาวิทยาลัยที่ใกล้เคียง
เกณฑ์ใหม่หมด 100%15%

ภาพรวมคะแนน Admission ปี 65

เมื่อคะแนนสอบปีนี้ลดลง จะทำให้ทุกคนเลือกคณะอย่างระมัดระวังมากขึ้น ส่งผลให้คะแนนกลุ่มมหาวิทยาลัยยอดนิยม และกลุ่ม กสพท ลดลง แต่ก็จะมีบางกลุ่มคณะที่ไม่ลดลง 

สมมติว่า มีอยู่ 10 คณะ  คะแนนต่ำสุดแต่ละคณะไล่ไปตั้งแต่ 70 จนถึง 45 โดยถ้าในสภาวะปกติ เลือกได้สูงสุด 4 อันดับ ผู้สมัครที่ได้ 65  คะแนน จะมีการเลือกอันดับที่คะแนนต่ำสุด 70, 65, 60, 58 ตามลำดับ แต่พออยู่ในสภาวะคะแนนฝืด ทำให้คะแนนสอบผู้สมัครลดลง เลือก 58 คะแนน ก็จะมีการเลือกอันดับที่คะแนนต่ำ "ลดลง" จะยอมเลือกแบบลดลงมาหน่อย คือเริ่มที่ คะแนนต่ำสุด 62, 58, 55, 60 

ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นในลักษณะนี้ กลุ่มคณะยอดนิยม คะแนนก็จะลดลง และทำให้คะแนนไปกองกันอยู่ที่กลุ่มมหาวิทยาลัยรอง/คณะรอง (กลุ่มคะแนนต่ำสุด 58, 55, 50) คะแนนก็จะเพิ่มขึ้น ส่วนลำดับที่ 2  (กลุ่มคะแนนต่ำสุด 60, 60) กลุ่มคะแนนก้ำๆ กึ่ง ที่คนไม่กล้าเลือก คะแนนก็จะลงค่อนข้างมาก

แนวโน้มคะแนนแต่ละกลุ่มคณะ 

*****การวิเคราะห์คะแนนนี้ วิเคราะห์ก่อนมีการประกาศตรวจเฉลยและปรับคะแนนใหม่เมื่อวันที่ 26 เม.ย.65

การคาดการณ์แนวโน้มปีนี้ก็มีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายปนๆ กันไป ข่าวดีคือ ภาพรวมปีนี้คะแนนคณะต่างๆ มีแนวโน้มลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนข่าวร้ายคือ หลายคณะก็คาดการณ์ยากหรือคาดเดาไม่ได้ เพราะมีการเปลี่ยนเกณฑ์บางส่วนหรือเปลี่ยนเกณฑ์ 100% เลย ทำให้ไม่มีคะแนนต่ำสุดมาอ้างอิง

ยังไงก็ตาม ในบทความนี้ สรุปมาเพื่อเป็นแนวทางให้น้องๆ ในการจัดอันดับและสร้างความมั่นใจให้กับน้องๆ มากขึ้นค่ะ เพราะทุกคนต่างมองว่าคะแนนตัวเองต่ำจนไม่รู้ว่าจะเลือกอะไรได้บ้าง แต่ความจริงแล้ว ภาพรวมคะแนนปีนี้ลง  อยากให้น้องๆ กล้าเลือกมากขึ้นด้วย 

สำหรับการวิเคราะห์แนวโน้มคะแนนในปีนี้ จะพูดถึงเป็นรายวิชา แต่จะไม่ได้ประเมินว่าแต่ละคณะจะลงกี่คะแนนหรือกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะค่าน้ำหนักและสัดส่วนแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นต่างกันค่ะ

กลุ่มคณะที่ใช้ GAT

  • ภาพรวมคะแนนลดลง โดยสังเกตว่าจำนวนคนที่ได้ช่วงคะแนน 240 ขึ้นไป หายไปจากปี 64 กว่า 5% เมื่อคนได้คะแนนสูงมีน้อยลง และจำนวนคนสมัคร GAT ปีนี้ก็น้อยลง จึงมีแนวโน้มว่าคณะท็อปๆ หรือ มหาวิทยาลัยท็อปๆ ที่ใช้ GAT จะมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน
  • แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยรองลงมา คะแนนจะลง แต่อาจจะลงได้ไม่มาก เพราะช่วงคะแนนระหว่าง 90-180 มีคนได้เยอะขึ้นจากปีก่อน  รวมทั้งอาจมีคนที่ไม่กล้าเลือกคณะท็อปก็ลงมาเลือกคณะรองหรือมหาวิทยาลัยกลางๆ มากขึ้น จึงทำให้กลุ่ม GAT คณะรอง/ม.รอง แนวโน้มคะแนนลงน้อยกว่า ม.ท็อป คณะท็อป เหตุจากคนมากระจุกเลือกมหาวิทยาลัยที่เซฟมากขึ้น
  • คาดว่ากลุ่มคะแนน GAT จะลดลงประมาณ 20%*

กลุ่มคณะที่ใช้ PAT 1

  • ภาพรวมคะแนนลดลงประมาณหนึ่ง
  • ถ้าดูช่วงคะแนนคนที่ได้ 150+ คะแนน จะเห็นว่ามีจำนวนพอๆ กับปีที่แล้ว แม้ว่าจำนวนคนสอบจะลดลงไปไปกว่า 3 หมื่นคน ดังนั้นมหาวิทยาลัยดังๆ คะแนนจะลดลงได้ไม่เยอะ เพราะคนที่ 180+ คะแนน ยังมีจำนวนเยอะอยู่
  • พวกกลุ่มที่ใช้คะแนน PAT 1 สายบัญชี สายบริหารฯ คะแนนอาจจะลงไม่เยอะมาก เพราะเป็นกลุ่มที่คนชอบเลขตั้งใจสอบวิชานี้อยู่แล้ว และอาจเป็นกลุ่มที่ได้คะแนนดี
  • คณะที่ใช้เลข แต่ไม่ได้ใช้เลขในการเรียน เช่น คณะสายศิลป์ต่างๆ ที่ให้ใช้ PAT1 เป็นหนึ่งในเกณฑ์คัดเลือก อาจจะลงพอสมควร เพราะปีนี้ คะแนนของคนกลุ่มใหญ่ถึง 86% จะอยู่ที่ช่วงคะแนน 0-90 คะแนน ซึ่งต่างจากปีก่อนที่มีอยู่ 80% และคาดการณ์ว่าน้องๆ ที่จะยื่นด้วยวิชา PAT1 ในคณะกลุ่มนี้ จะมีคะแนนตั้งแต่ 50-120 ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าแนวโน้มคะแนนคณะกลุ่มนี้น่าจะลงมากกว่ากลุ่มคณะสายเลข ใน ม.ท็อปๆ
  • คาดว่ากลุ่มคะแนน PAT1 จะลดลงประมาณ 3%*

กลุ่มคณะที่ใช้ PAT 2

  • ภาพรวมคะแนนขึ้น
  • แม้ว่าจำนวนคนสอบจะน้อยลงเกือบ 2 หมื่นคน แต่ถ้าดูช่วงคะแนนคนที่ได้ 150+ คะแนน จะได้เห็นว่ามีจำนวนคนเยอะกว่าปีที่แล้วทุกช่วงคะแนนเลย เช่น ช่วง 150-180 คะแนน ปี 64 มีจำนวน 3,074 คน แต่ปี 65 มี 3,389 คน หรือ ช่วงคะแนน 240-270 ปี 64 มี 44 คน ปี 65 มี 126 คน นั่นแปลว่าปีนี้มีีคนที่ได้คะแนนสูงเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว
  • ส่งผลให้ตั้งแต่มหาวิทยาลัยกลางๆ มหาวิทยาลัยยอดนิยม กลุ่มสายวิทย์สุขภาพ (เภสัชฯ, สัตวแพทย์, เทคนิคการแพทย์) คะแนนขึ้นยกกระดาน
  • แต่อย่างไรก็ตาม คณะต่างๆ ไม่ได้ใช้ PAT2 เพียงอย่างเดียว อย่าลืมนำไปหักลบกับสัดส่วนวิชาอื่นๆ ด้วย
  • คาดว่ากลุ่มคะแนน PAT2 จะขึ้นประมาณ 3-4%*

กลุ่มคณะที่ใช้ PAT 3

  • ภาพรวมคะแนนลดลงเยอะ
  • เป็นอีกกลุ่มคณะที่น่าจับตามองว่าปีนี้คะแนนจะลงเยอะ ดูในกลุ่มช่วงคะแนน 270 - 300 คะแนน ปีนี้ไม่มีคนทำคะแนนได้เลย และคนที่ได้ช่วงคะแนน 210 - 300  มีไม่ถึง 100 คน และปีนี้ฐานช่วงคะแนนที่คนไปเกาะกลุ่มมากที่สุดคือ 60-90 และ 30-60 ตามลำดับ แต่ปี 64 ฐานช่วงคะแนนที่คนเกาะกลุ่มมากที่สุดคือ 60-90 และ 90-120 ตามลำดับ แปลว่าภาพรวมคะแนน PAT3 ของทั้งประเทศมีจำนวนน้อยลง
  • พวกกลุ่มที่ใช้คะแนน PAT3 ที่ใช้เยอะๆ คะแนนลงทุกมหาวิทยาลัย

กลุ่มคณะที่ใช้ PAT 4

  • ภาพรวมคะแนนขึ้น
  • คนที่เข้าสอบน้อยลง แต่ถ้าดูช่วงคะแนนคนที่ได้ 120+ คะแนน จะเห็นว่าพอๆ กับปีที่แล้ว
  • กลุ่มสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยยอดนิยม คะแนนขึ้นนิดหน่อย หรือไม่ต่างจากเดิม เพราะกลุ่มคนได้คะแนนสูงนั้นยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยรองๆ ลงมาจะคะแนนขึ้นเยอะ เพราะช่วงคะแนนของคนกลุ่มใหญ่ขยับสูงขึ้น
  • คาดว่ากลุ่มคะแนน PAT4 จะขึ้นประมาณ 4-5%*

กลุ่มคณะที่ใช้ PAT 5

  • ภาพรวมคะแนนลดลง
  • ค่าเฉลี่ย (mean)​ ลดลงเกือบ 10 คะแนน ในส่วนของช่วงคะแนนตั้งแต่ 150 คะแนนขึ้นไป ลดลงจากปีที่แล้วไป 7%  บวกกับมีผู้สมัครวิชา PAT5 ลดลงไป 2 หมื่นคน ทำให้ภาพรวมปีนี้คู่แข่งที่ใช้ PAT5 นั้นหายไปเยอะ จะเป็นปัจจัยที่ทำให้คะแนนลงด้วย
  • ถ้าใช้สัดส่วน PAT5 เยอะ คะแนนลดลงทุกมหาวิทยาลัย

กลุ่มคณะที่ใช้ PAT 6

  • ภาพรวมคะแนนลดลงเยอะมาก เป็นอันดับ 2 ลองจาก GAT จำนวนคนที่ได้ 150-240 คะแนน รวมกันแล้วยังน้อยกว่าคนที่ได้ช่วงคะแนน 180-210 ของปีที่แล้ว! และฐานของค่าเฉลี่ยย้ายจากช่วง 120-150 ไปเป็น 90-120 คะแนน
  • ถ้าใช้ PAT6 เยอะ คะแนนลดลงทุกมหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยยอดนิยม จะลงเยอะมาก)
  • คาดว่ากลุ่มคะแนน GAT จะลดลงประมาณ 20%*

กลุ่มคณะที่ใช้ PAT 7

  • ภาพรวมคะแนนขึ้นทุกภาษา ยกเว้น PAT6 บาลี
  • ค่าเฉลี่ย (mean)​ เพิ่มขึ้นเกือบทุกภาษา และจำนวนคนที่ได้ช่วงคะแนนสูงๆ มีปริมาณใกล้เคียงเดิม และมากกว่าเดิมในบางภาษา  เช่น PAT7.3 ปี 65 มีคนที่ได้ช่วงคะแนน 150+ อยู่ประมาณ 29% ส่วนปี 64 มีเพียง 16.5% ทั้งๆ ที่ในปี 64 มีจำนวนผู้สมัครมากกว่า
  • กลุ่มคณะที่ใช้ PAT ภาษาเยอะ น่าจะมีแนวโน้มขึ้นและคนที่มี PAT7 อยู่ในมือ อาจจะหันมาใช้ PAT7 มากกว่า PAT1 ทำให้มีการแข่งขันในรูปแบบของ PAT ภาษาต่างประเทศมากกว่าเดิม **อย่างไรก็ตามวิชานี้มักจะไปใช้ผสมกับ GAT ก็อย่าลืมนำ GAT มาถ่วงน้ำหนักดูด้วยนะคะ

กลุ่มคณะที่ใช้วิชาสามัญ

  • ภาษาไทย มีแนวโน้มทำให้คณะนั้นๆ มีคะแนนลง เพราะจำนวนคนที่ได้ช่วงคะแนนตั้งแต่ 60 คะแนนขึ้นไป ลดลงไปเยอะมาก ทำให้คณะ/ม.ท็อป คะแนนลดลง  แต่ ม.กลางๆ ลงไป คะแนนลงได้นิดหน่อยหรืออาจไม่ลงเลย
  • สังคมศึกษา ปีนี้น่าจะทรงตัวในทางขึ้นเล็กน้อย ในมหาวิทยาลัยท็อปๆ  แต่มหาวิทยาลัยกลางๆ ลงไป ไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่
  • ภาษาอังกฤษ แนวโน้มลงอย่างชัดเจน ในกลุ่มสาขาที่ใช้ ภาษาอังกฤษในสัดส่วนที่สูง หรือ ม.ท็อปๆ เพราะจำนวนคนสมัครสอบเยอะขึ้น แต่จำนวนคนได้ 60+  ในปี 64 มีถึง 12,856 คน แต่ปี 65 มีเพียง 6,616 และไม่มีใครทำคะแนนในช่วง 90-100 คะแนนได้เลย ดังนั้นสาขาที่ใช้น้ำหนักภาษาอังกฤษเยอะ คะแนนจะลงเยอะ  ส่วนมหาวิทยาลัยรองๆ อาจจะไม่ค่อยลง เพราะอาจเกิดการกระจุกตัวเลือกคณะใน ม.รอง มากขึ้น
  • คณิตศาสตร์ 1 มีแนวโน้มที่จะทำให้คะแนนขึ้นได้เล็กน้อย เพราะจำนวนคนสมัครไม่ได้ต่างจากปีที่แล้วมาก และจำนวนผู้ที่ได้ช่วงคะแนน 50+  อยู่ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่ 0-20 มีน้อยลงกว่าปีที่แล้วหลายพันคน นั่นแปลว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศมีคะแนนเกาะกลุ่มกันมากขึ้น ดังนั้น ในกลุ่มมหาวิทยาลัยกลางๆ คะแนนอาจจะขึ้นได้เล็กน้อย
  • ฟิสิกส์ มีแนวโน้มทำให้คะแนนขึ้นได้เล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วง 30-70 คะแนน มีจำนวนคนได้คะแนนในช่วงนี้มากขึ้นจากปีก่อน ทั้งๆ ที่มีจำนวนคนสอบทั้งประเทศลดลง  ดังนั้น กลุ่มมหาวิทยาลัยกลางๆ รองๆ มีแนวโน้มที่คะแนนจะขึ้น
  • เคมี มีแนวโน้มคะแนนลดลง เพราะตั้งแต่ช่วงคะแนน 20-100 คะแนนนั้น มีเปอร์เซ็นต์ลดลงจากปีที่แล้ว ตรงกันข้าม จำนวนคนได้ 0-20 คะแนนนั้นมีเพิ่มขึ้นมาก จากปีที่แล้ว ประมาณ 55% มาปีนี้เป็น เกือบ 68%
  • ชีววิทยา  เป็นอีกวิชาที่น่าจะมาเป็นตัวฉุดให้คะแนนลง  โดยดึงลงในทุกกลุ่มมหาวิทยาลัย เพราะมีจำนวนคนที่ได้ 50+ คะแนน 15,680 คนหรือ 19.81% ในปีที่แล้ว เหลือเพียง 8,916 คน หรือ  12% ในปีนี้  และช่วงคะแนน 10-30 คะแนนกลับมีจำนวนคนที่ได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
  • คณิตศาสตร์ 2 และ วิทยาศาสตร์ทั่วไป 2 วิชานี้อาจคาดการณ์ยาก เพราะถึงแม้ค่า Mean ของคนทั้งประเทศมีคะแนนลดลงเยอะ แต่เมื่อดูจำนวนผู้สมัครนั้นปี 65 มีเยอะกว่าปี 64 มาก ดังนั้นก็เป็นไปได้ที่ปีนี้จะมีคนใช้คะแนนคณิต 2 และวิทยาศาสตร์ทั่วไปมากกว่าปีก่อน (ปี 64 ม.6 กำหนดให้ใช้ O-NET แทน 2 วิชานี้) ดังนั้นแม้ว่าค่าเฉลี่ยคะแนนจะลดลง แต่จำนวนผู้ที่ได้คะแนนในแต่ละช่วงมีจำนวนมากขึ้น หากมีคนที่เลือกยื่นคณะที่ใช้คะแนนคณิต 2 และวิทย์ทั่วไปมากกว่าปีก่อน ก็อาจทำให้แนวโน้มคะแนนเพิ่มขึ้นได้

กลุ่ม กสพท

สำหรับกลุ่มมหาวิทยาลัยที่คะแนนต่ำสุดตั้งแต่ 65 คะแนนขึ้นไป มหาวิทยาลัยยอดนิยมน่าจะลดลงเฉลี่ย 1.5% - 2.5% ส่วนมหาวิทยาลัยที่รองๆ ลง อาจจะลดลงมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามจะไม่ได้ลงทุกคณะ ทุกมหาวิทยาลัย อย่างคณะที่คะแนนรองลง กลุ่มที่ชอบเลือกปิดท้ายกัน เช่น เภสัชฯ ต้องระวังคะแนนจะสวนขึ้นไปได้

หมายเหตุ : ค่าทฤษฎีที่เป็นไปได้ คิดจากคะแนนสอบอย่างเดียว และใช้เกณฑ์รับสมัครเดิม ไม่รวมปัจจัยอื่นๆ เช่น จำนวนที่นั่ง จำนวนเด็กซิ่วที่คะแนนได้เปรียบ

สุดท้ายนี้ขอย้ำน้องๆ ว่า ในหนึ่งคณะอาจมีสัดส่วนค่าน้ำหนักจากหลายองค์ประกอบ ดังนั้นจะต้องเอาข้อมูลจากทุกวิชาที่ใช้มาชั่งน้ำหนักรวมกันอีกครั้งนะคะ :D

สำหรับใครที่อยากตามไปฟังรายการ #dekdTCASWeekly แบบเต็มๆ สามารถคลิกที่นี่ได้เลย

พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด