สวัสดีค่ะน้องๆ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา TCAS COACH พาน้องๆ  ไปเจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ กับคณะการแพทย์แผนไทย, แพทย์แผนไทยประยุกต์, การแพทย์แผนจีน ไปบ้างแล้ว วันนี้พี่แนนนี่จะพาน้องๆ ไปเจาะลึกกับการเรียนแพทย์เฉพาะทางกันต่อ ไม่ว่าจะเป็น กุมารแพทย์ จิตแพทย์ วิสัญญีแพทย์ ศัลยแพทย์ สูตินรีแพทย์ หรือเฉพาะทางด้านอื่นๆ จะต้องเรียนอะไรจบมาถึงจะเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ตามไปดูกัน

เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ "แพทย์เฉพาะทาง"
เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ "แพทย์เฉพาะทาง"

เจาะลึกคณะที่ใช่ สู่อาชีพที่ชอบ
"แพทย์เฉพาะทาง"

แนะนำอาชีพ

แพทย์ เป็นอาชีพที่ทำการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจของมนุษย์ ทั้งตรวจวินิจฉัย รักษา  เยียวยา บำบัด ฟื้นฟู และป้องกันอาการเจ็บป่วย หรือโรคต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งในการแพทย์แผนปัจจุบัน นอกจากจะมีแพทย์ที่ตรวจและรักษาโรคทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีแพทย์ที่เชี่ยวชาญ และชำนาญเฉพาะด้านด้วย เช่น

อายุรแพทย์ 

แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ หรืออายุรกรรม เป็นแพทย์ที่ดูแลการวินิจฉัยโรค ค้นหาว่าเป็นอะไร และใช้ยา ในการรักษา และป้องกันโรค หรืออาการต่างๆ  ซึ่งนับเป็นแพทย์ที่คนไข้ทั่วไป จะได้พบเจอบ่อยๆ

จักษุแพทย์

แพทย์เฉพาะทางด้านจักษุวิทยา เป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญดวงตา ตรวจ และรักษาโรคหรือความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาทั้งหมด รวมถึงตรวจสายตา ผ่าตัด และสั่งประกอบแว่นตา

จิตแพทย์

แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์ เป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาคนที่มีอาการผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือทางด้านจิตเวช ทั้งรวบรวมข้อมูล ประเมินอาการ วินิจฉัย ให้คำปรึกษา แนะนำ และรักษาอาการทางจิต

กุมารแพทย์

แพทย์เฉพาะทางด้านกุมารเวชศาสตร์ เป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรค และความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในทารก เด็ก และวัยรุ่น รวมถึงติดตาม ให้คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงดู และพัฒนาการของเด็กๆ  ด้วย

แพทย์นิติเวช

แพทย์เฉพาะทางด้านนิติเวชศาสตร์ เป็นแพทย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับงานด้านกระบวนการยุติธรรม ใช้ความรู้ด้านการแพทย์ มาค้นหา ตรวจสอบ วินิจฉัย หรือชันสูตรศพ หาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง กรณีที่เสียชีวิตผิดธรรมชาติ รวมไปถึงตรวจผู้ป่วยเกี่ยวกับคดีอาชญากรรม เพื่อนำข้อมูลเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ ของคดี 

วิสัญญีแพทย์

แพทย์เฉพาะทางด้านวิสัญญีวิทยา เป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการดมยา ทั้งยาสลบ และยาชา เพื่อระงับความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด หรือการทำหัตถการต่างๆ และการดูแลรักษาต่างๆ ในห้องผ่าตัด รวมถึงยังช่วยเหลือศัลยแพทย์ระหว่างการผ่าตัดด้วย 

ศัลยแพทย์

แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ เป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัด และการใช้เครื่องมือหัตถการในห้องผ่าตัด ซึ่งศัลยแพทย์ แบ่งความเชี่ยวชาญออกเป็นหลายสาขา เช่น ศัลยกรรมทั่วไป  ศัลยกรรมตกแต่ง ศัลยกรรมทรวงอก ศัลยกรรมระบบประสาท เป็นต้น

สูตินรีแพทย์

แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา เป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรค และความผิดปกติของสตรี และการตั้งครรภ์ การคลอดบุตรต่างๆ รวมไปถึงภาวะการมีบุตรยาก ฮอร์โมนผิดปกติ  วัยทอง ประจำเดือนผิดปกติ

ตจแพทย์

แพทย์เฉพาะทางด้านตจวิทยา เป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับผิวหนัง  ทั้งโรคผิวหนัง และปัญหาด้านความงามเกี่ยวกับผิวหนังด้วย เช่น การเลเซอร์ การบำบัดด้วยแสง การดูไขมัน การปลูกผม การกำจัดขน

คุณสมบัติของคนที่จะทำอาชีพนี้

- พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพราะการเป็นแพทย์จะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดชีวิต อาจจะเจอโรคใหม่ๆ ไวรัสตัวใหม่ หรือมีเคสใหม่ๆ  ให้ทำการรักษาในอนาคตก็ได้

- มีคุณธรรมจริยธรรม มีสติ ไม่ประมาท และละเอียดรอบคอบ

- ต้องใจเย็น เข้าใจปัญหา และความเจ็บปวดของผู้อื่น

- ต้องสื่อสารได้ถูกต้องชัดเจน 

- ไม่มีโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต่อการเรียน และตามที่หลักสูตรกำหนดไว้

- ทุกแผนการเรียน ไม่ว่าจะจบม.ปลายจากแผนการเรียนไหน แผนวิทย์-คณิต ศิลป์-คำนวณ ศิลป์-ภาษา หรือเป็นนักเรียนเทียบเท่าม.6 ก็สามารถยื่นสมัครผ่าน กสพท ได้หมด ไม่มีกำหนด GPAX ขั้นต่ำ

ต้องจบคณะ/สาขา อะไร

ใครที่ต้องการเรียนแพทย์เฉพาะทาง จะต้องเรียนจบหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (พ.บ.)  6 ปีก่อน จึงจะสามารถไปเรียนต่อเฉพาะทางได้ โดยหลังจากเรียนจบ 6 ปี และใช้ทุนเป็นอินเทิร์น (Intern) เรียบร้อยแล้ว ถึงจะไปเรียนแพทย์ประจำบ้าน หรือ Resident ได้ ส่วนถ้าใครอยากเชี่ยวชาญมากขึ้นไปอีก ก็ต้องไปเรียนเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอด หรือ Fellow เพิ่มเติม

มหาวิทยาลัยที่เปิดสอน

รายชื่อมหาวิทยาลัยดังต่อไปนี้ เป็นโรงเรียนแพทย์ภายในประเทศ ที่ทางแพทยสภารับรองหลักสูตรเรียบร้อยแล้ว

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • หลักสูตรปกติ
    • หลักสูตรนานาชาติ
    • คณะแพทยศาสตร์-กรมแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
    • หลักสูตรปกติ
    • หลักสูตรภาษาอังกฤษ
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
    • หลักสูตรปกติ
    • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ-มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  • มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช (คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล)
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  • มหาวิทยาลัยบูรพา
  • มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
  • มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์
  • มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • มหาวิทยาลัยพะเยา
  • มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (หลักสูตรนานาชาติ)
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (หลักสูตร 7 ปี)
  • มหาวิทยาลัยรังสิต
  • มหาวิทยาลัยสยาม
  • มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี
  • มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น

หมายเหตุ : มีข่าวคราวว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะเปิดสอนในคณะนี้ เร็วๆ นี้

ค่าเทอมของหลักสูตรนี้

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 34,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • มหาวิทยาลัยมหิดล 30,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • มหาวิทยาลยขอนแก่น 18,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 50,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 20,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 28,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 28,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • มหาวิทยาลัยนเรศวร 20,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 35,000 บ. / ภาคการศึกษา
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 40,000 บ. / ภาคการศึกษา

วิชาที่น่าจะเกี่ยวข้อง

หลักๆ แล้ว  ถ้าเป็นการรับสมัครผ่าน กสพท จะใช้คะแนน TGAT 1 หรือวิชาเฉพาะแพทย์ กสพท เดิม ร่วมกับคะแนนวิชาสามัญ 7 วิชา  (ภาษาไทย, สังคมศึกษา, ภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์ประยุกต์ 1, ฟิสิกส์, เคมี และชีววิทยา หรือ A-Level 7 วิชา นั่นเอง ส่วนถ้าเป็นการรับสมัครในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เดิมทีในบางมหาวิทยาลัยอาจจะมีการใช้คะแนน GAT, PAT1, PAT 2 หรือวิชาเฉพาะของมหาวิทยาลัยร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ใครที่สนใจยื่นสมัครในคณะแพทยศาสตร์นี้ สามารถติดตามการแถลงข่าวจาก กสพท66 ได้ ในวันที่ 2 สิงหาคม 2565 นี้ เว็บไซต์เด็กดีของเราจะมี LIVE ให้ได้ชมกันแน่นอนค่ะ

พี่แนนนี่
พี่แนนนี่ - Columnist เด็กเอกไทย คลั่งไคล้มิกกี้(เม้าส์) หลงใหลอิตาลี คอยเฝ้าลงพื้นที่ ตามข่าว TCAS

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น