"รู้งี้ได้ไปเรียนนานแล้ว!" เล่าชีวิตเด็กทุนยุโรปใน ม.ดังที่เอสโตเนียและสวีเดน จบมาได้งานต่อที่บริษัทยา

สวัสดีค่ะชาว Dek-D หลายคนคงได้ยินชื่อเสียงด้านคุณภาพชีวิต การศึกษา และความเท่าเทียมในสังคม “สวีเดน” กันอยู่บ่อยๆ รวมถึงมีเพจสุดฮอตสุดเฟรนด์ลี่อย่าง Embassy of Sweden in Bangkok คอยแชร์เรื่องราวต่างๆ ให้คนที่อยู่อีกซีกโลกรู้สึกใกล้ชิดขึ้น~ :D

และห่างจากสวีเดนไม่ไกลอย่าง “เอสโตเนีย” คนไทยน่าจะยังเห็นผ่านตาไม่บ่อย แต่ไม่แน่นะคะ หลังจากอ่านบทความนี้จบ เอสโตเนียอาจไม่ใช่ประเทศนอกสายตาสำหรับเราอีกต่อไป เพราะดินแดนเล็กๆ นี้มีเศรษฐกิจและเทคโนโลยีก้าวหน้า ค่าครองชีพก็เป็นมิตร และยังน่าสนใจสำหรับคนอยากมาเรียนต่อด้วย!

วันนี้เราจะพาทุกคนออกเดินทางไปยังเอสโตเนียและสวีเดน นำทริปโดย “ครูคลาร่า” ที่ไปเริ่มชีวิตนักศึกษา ป.โท ที่ “เอสโตเนีย” และ “สวีเดน” (เป็น ม.ชั้นนำภายใต้ ERASMUS+ Joint Master’s Program) ปัจจุบันกำลังทำงานที่ท้าทายและตอบโจทย์สุดๆ ณ บริษัทยาแห่งหนึ่งในสวีเดน

และนี่คือพิกัด 2 มหาวิทยาลัยที่ครูคลาร่าไปเรียน
อ้างอิง Map data จาก Google

. . . . . .

ปฐมบทเส้นทางสุดท้าทายกว่าจะได้ทุน
ของอดีตเด็กเภสัชเกรด 2.8

ตอน ป.ตรี เราเรียน ภาควิชาเภสัชอุตสาหการ คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล สายนี้จะเน้นตั้งแต่การวิจัยหายาใหม่ กระบวนการผลิต ตรวจวิเคราะห์ ประกันคุณภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์และการขึ้นทะเบียนยาเป็นหลัก (เลือกเพราะสนใจด้านวิจัยยาค่ะ) ส่วนอีกสายที่ฮิตมากในไทยคือ ภาควิชาบริบาลเภสัชกรรม เน้นใช้ทักษะมาดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยและการวิจัยทางคลินิก อย่างที่เราคุ้นเคยในร้านขายยา, โรงพยาบาลหรือบริษัทยา” 

หลักสูตรเภสัชฯบัณฑิต ม.มหิดล 

ต้องเล่าก่อนว่า 3 ปีแรกเราเผลอเทการเรียนเพราะหลุดโฟกัส เหมือนพอได้เข้าคณะที่อยากเรียนที่สุดเเล้วไปต่อไม่ถูก แบบสบายละ ไม่ต้องพยายามอะไรอีก จนมาจุดเปลี่ยนตอนฝึกงานเป็นอาสาสมัครในห้องยา ที่โรงพยาบาลตราด ตอนนั้นยืนอยู่กลางห้องยา ท่ามกลางยาหลายร้อยตัว แล้วมันมีคำถามเเวบมาในหัวว่า "เรามาเรียนเภสัชเพราะอยากช่วยคน แต่ถ้าไม่มีความรู้เรื่องยาที่ลึกซึ้งพอ เราจะช่วยคนได้ยังไง?” 

ทำให้ตอนกลับมาเรียนต่อปี 4 ความคิดเปลี่ยน ตั้งใจเรียนขึ้นจนจากเกรด 2.8 ปลายๆ เพิ่มขึ้นมาเป็น 3.7 - 4.00 แต่เกรดเฉลี่ยสะสมหรือ GPAX ที่คิดรวมจาก 12 เทอมก็ ไม่ถึงเกียรตินิยมอยู่ดี เลยคิดว่าคงยากถ้าจะสมัครทุนรัฐบาลไทยค่ะ เราเริ่มทำงานพร้อมหาทุนไปเรียนต่อต่างประเทศในเวลาเดียวกัน

พอยิ่งทำงานก็ยิ่งรู้ตัวว่าอยากเรียนต่อสายเภสัชเคมี (Analytical pharmaceutical development) เลยตัดสินใจเรียนสาขาเคมีวิเคราะห์ (Excellence in Analytical Chemistry) เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ ใช้เวลาเรียน 2 ปีและด้วยความเป็นโปรแกรม ERASMUS+ หมายความว่าเราจะได้ไปเรียนยุโรปอย่างน้อย 2 ประเทศ และได้ปริญญาโทอย่างน้อย 2 ใบ ตามจำนวนมหาวิทยาลัยที่เราไป ซึ่งหลักสูตรของเราคือ

  • เรียนปี 1 ที่ University of Tartu (UT) *ม.อันดับ 1 ในเอสโตเนีย
  • เรียนปี 2 มี 3 ตัวเลือกคือมหาวิทยาลัยที่สวีเดน ฟินแลนด์ หรือฝรั่งเศส เราเลือกเป็น Uppsala University (UU) *ม.อันดับ 4 ในสวีเดน ซึ่งโดดเด่นด้านวิจัยทางเภสัชศาสตร์เเละคลินิกมากๆ

เราได้ทุนแรกคือ Tuition-waiver scholarship ฟรีค่าเรียน 100% ของ  University of Tartu (ออกค่ากินอยู่เอง) จากนั้นได้รับ  Erasmus+ ประเภท Mobility เพิ่มอีกตอนปี 2

*อ้างอิงอันดับจาก QS World University Ranking 2023   สามารถค้นหารายประเทศได้โดยพิมพ์ชื่อ “Estonia” หรือ “Sweden” ที่ช่อง Location ด้านขวาสุด

Cr. each.ut.ee
Cr. each.ut.ee

สมัครยังไง? คิดสัดส่วนคะแนนยังไง?
(ขอทุนกับสมัครเรียนคือขั้นตอนเดียวกัน)

  • 40% มาจากเกรดเฉลี่ย ป.ตรี (เราจบมาด้วยเกรด 3 นิดๆ ไม่ได้เกียรตินิยม)
  • 40% มาจาก Motivation Letter ตอบคำถาม 5 ข้อที่เกี่ยวข้องกับสาขา
  • 20% สอบวิชาเคมีทางออนไลน์ *วัดทั้งเชิงทฤษฎีและปฏิบัติในด้าน Analytical Chemistry ด้วยความที่ทำงานมา 4 ปี เลยไม่ได้คลุกคลีกับทฤษฎีลึกๆ แต่คุ้นเคยกับภาคปฏิบัติ จึงทำให้ผ่านไปได้ด้วยดี
  • กำหนดคะแนน IELTS overall 6.5 แต่ละ Band  ไม่ต่ำกว่า 5.5

เริ่มแรกคือเราต้องส่งใบสมัครเรียน -> ถ้าเกรดกับ Motivation Letter ผ่านก็จะได้เข้ารอบสอบเคมีออนไลน์ -> กรรมการจะคำนวณคะแนนรวมทั้งหมดว่าผ่าน/ไม่ผ่านเกณฑ์รับเข้าเรียน ซึ่งตรงนี้ถ้าใครไม่ได้ส่งผลสอบ IELTS แต่แรก เค้าจะรอผลสอบจากเราจนถึงวันที่กำหนด

เราสมัครเรียนไป 2 ครั้ง ครั้งแรกติดที่ภาษาอังกฤษไม่ผ่านทั้งที่เข้าไปถึงรอบสอบเคมีเเล้ว หลังจากซึมไปสักพัก ตั้งหลักพัฒนาภาษาเป็นปีแล้วกลับมาสมัครใหม่ครั้งที่ 2 พร้อมทำงานด้านวิจัยยาไปด้วย รวมๆ คือสอบ IELTS 4 รอบ ผ่านเกณฑ์เป๊ะและยื่นทัน Deadline พอดี 

เป้าหมายนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าเราไม่มองเห็นภาพรวมว่าต้องทำอะไรบ้าง แล้วย่อยจนเป็น action plan ที่เราทำได้จริง คือ ท่องศัพท์วันละ 5 คำ ฝึกภาษาวันละ 10 นาทีเป็นอย่างน้อย หาเวลาย่อยๆในกิจวัตรประจำวันเเละเอาการฝึกภาษาเเทรกเข้าไป  (เวลาแบบนี้ต้องยอมรับว่าใช้พลังกายและพลังใจเยอะมาก เพราะทำงานด้วยเตรียมตัวด้วย การที่เราลงมือทำอะไรเพื่อตัวเองสักตั้ง เราต้องไม่ลืมประคองใจตัวเองเช่นกัน เราขอบคุณเเละชื่นชมตัวเองทุกครั้งที่เราทำภารกิจเล็กๆ สำเร็จ)


นอกจากคะแนน IELTS เรายังอัปเดต Motivation Letter จากรอบแรกด้วย **คำแนะนำสำหรับน้องๆ คือ
 

  • ระวังเรื่องจำนวนคำ ตอนเราสมัครโปรแกรมกำหนดความยาวไม่ให้เกิน 5,000 ตัวอักษรรวมเว้นวรรค (เช็กเงื่อนไขของทุนหรือโปรเเกรมที่เราสมัครให้รอบคอบนะคะ)
  • นำเสนอว่าเราคือใครในปัจจุบัน มีทักษะหรือ background อะไรที่เชื่อมโยงกับโปรเเกรมนี้, คนที่เราอยากเป็นในอนาคตเขามีความสามารถแบบไหน การจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องทำยังไงบ้าง แล้วโปรแกรมนี้มีส่วนช่วยเติมเต็มยังไง
  • ควรเขียนแต่ละประเด็นให้ชัดเจนและจับต้องได้ เช่น โปรแกรมนี้มีวิชา….ที่จะช่วยให้เราเก่งขึ้น **เล่าแค่นี้ยังไม่พอ ต้องขยายความว่าเก่งขึ้นยังไง
  • เขียนเรื่องจริงและใส่ความจริงใจ เช่น หากเป้าหมายของเราคือการพัฒนาตัวเองเพื่อไปสู่ความสำเร็จทางวิชาชีพหรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเอง จงเชื่อมั่นเเละลงมือเขียนได้เลย ไม่ต้องกังวลว่าเป้าหมายเล็กไปรึเปล่า เพราะว่าในสังคม Global เมื่อเราคือหนึ่งคนที่สำเร็จเเละทำสิ่งที่ดี มันจะถูกส่งออกไปสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้นต่อไปเอง
ศึกษาเกณฑ์การรับสมัคร

. . . . . .

ก้าวแรกสู่ดินแดนเอสโตเนีย
ประเทศอะไรเนี่ย ดีกว่าที่คิดอีก!

เราไม่รู้จักประเทศนี้มาก่อน ไม่เคยรู้เลยว่าอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ บ้านเมืองเขาเป็นยังไงเพราะข้อมูลยังน้อย ที่แน่ๆ ความรู้สึกแรกตอนมาถึงเอสโตเนียคือหนาวมาก! ขนาดหน้าร้อนยังต่ำกว่า 25 องศา ไม่ชินทั้งอาหาร การมีรูมเมต การทำวีซ่าก็ซับซ้อนตรงที่ต้องไปทำที่ต่างประเทศ (ทำที่ไทยยังไม่ได้ เนื่องจากประเทศไทยไม่มีสถานทูตเอสโตเนีย) แถมภาษาอังกฤษยังไม่แข็งแรง คะแนน IELTS ผ่านก็จริง​ แต่การสอบกับการใช้ชีวิตจริงไม่เหมือนกัน 

**ส่วนใหญ่เด็กไทยที่ไปเรียนต่างประเทศก็เป็นแบบนี้กันทั้งนั้น​ ต้องใช้เวลาปรับภาษาสักพักนึง​ ช่วงเเรกๆ ที่มาถึงแอบไปร้องไห้ตามห้องสมุด หรือโบสถ์บ่อยมาก

แต่พอผ่านไป 2 เดือน หลังจากปรับตัวได้ก็คือคลั่งรักหนักมากกกจนถึงกับเปิดเพจเลยค่ะ 555 เราอยากให้ทุกคนรู้จักประเทศนี้มากขึ้น ว่ามันน่าสนใจจริง และอาจจะเพิ่มโอกาสให้ใครอีกหลายๆ คนด้วย

Tartu, Estonia
Tartu, Estonia
Jacques Bopp Unsplash.com

ขอเล่าก่อนว่าเอสโตเนียไม่ใช่ประเทศใหญ่ มีพื้นที่ 45,339 ตร.กม. (เทียบกับไทยคือ 513,115 ตร.กม.) แต่เราว่าจุดเด่นของเอสโตเนียคือ ระบบ e-government ที่จัดการดีมาก ดีจนติดอันดับโลก ความปลอดภัยสูง และยังมีการผลักดัน Startup ถ้าไอเดียเจ๋งจริงจะมีระบบและคนพร้อมซัพพอร์ตแน่นอน 

ตัวอย่าง Startup ระดับโลกที่เกิดที่เอสโตเนีย คือ Wise, Bolt และ Skype หากใครมีโอกาสไปเรียน อย่าลืมร่วมงาน Startup ของที่เอสโตเนียนะคะ เเล้วคุณจะได้เห็นพลังงานเเละบรรยากาศของคนรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกว่า บริษัทฉันอาจจะเป็น Unicorn ตัวถัดไป

แล้วที่เราคิดไม่ถึงมาก่อนคือเทคโนโลยีที่นี่ทันสมัยมากๆ เวลาติดต่อราชการจะสะดวกและคล่องตัวเพราะใช้ระบบ Digital เชื่อมทุกอย่างด้วย Smart ID จำไม่ได้เเล้วว่าใช้กระดาษครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ที่เอสโตเนีย หรือใกล้ตัวมาอีก คือตอนโควิดที่เรียนออนไลน์ เราเลยได้รู้ว่ามหาวิทยาลัยใช้ platform หนึ่งที่เสถียรและดีสุดยอดชื่อว่า “BigBlueButton” 

แลนมาร์กเมือง Tartu 
แลนมาร์กเมือง Tartu 
(รูปปั้น The kissing student ล้อมรอบด้วยน้ำตก)

. . . . . .

Part I : ชีวิตนักศึกษา ป.โท 2 ปี
ใน ม.อันดับต้นๆ ของประเทศ

อย่างที่เล่าว่าหลักสูตร ป.โท Excellence in Analytical Chemistry จะได้เรียนปี 1 ที่ University of Tartu (UT) ประเทศเอสโตเนีย ช่วงนี้จะเน้นทฤษฎีเป็นหลัก พอปี 2 มี 3 ตัวเลือก เราเลือกที่ Uppsala University (UU) ประเทศสวีเดน ช่วงปีหลังเราจะได้เน้นวิจัยเป็นหลัก มี coursework แค่ไม่กี่ตัว

ปี 1 - Estonia 

ถึงแม้สาขาเคมีที่เอสโตเนียอาจยังไม่ดังในหมู่นักเรียนต่างชาติเมื่อเทียบกับสาขาไอที แต่โปรแกรม Excellence in Analytic Chemistry ที่ UT เป็น Host มีชื่อเสียงมากๆ ติดระดับ Top  และได้งบประมาณจากสหภาพยุโรปมาต่อเนื่องหลายปี (การจะได้งบประมาณแปลว่าต้องมีผลงานเชิงประจักษ์) ศิษย์เก่าเกือบ 100% ได้งานไม่เกิน 1-2 เดือนหลังเรียนจบ ส่วนนึงอาจเพราะเป็นสาขาขาดแคลน

สัปดาห์ที่มาถึงเอสโตเนีย

สัปดาห์สุดท้ายที่เอสโตเนียก่อนไปเรียนที่สวีเดน

ตึกเรียนที่เอสโตเนีย ตึก Chemicum ไฟประดับยังดูเคมีเลย
ตึกเรียนที่เอสโตเนีย ตึก Chemicum ไฟประดับยังดูเคมีเลย
เมือง Tartu ได้รับเลือกให้เป็น European Capital of Culture ในปี 2024
เมือง Tartu ได้รับเลือกให้เป็น European Capital of Culture ในปี 2024

UT อาจไม่ใช่ ม.ใหญ่ ถ้าเทียบกับที่อื่นๆ ในยุโรป แต่ส่วนตัวคิดว่าบรรยากาศเหมาะกับการมาเรียนมากกก ค่าครองชีพก็ไม่สูง ส่วนตัวเรานิยามว่าเป็น “มหาวิทยาลัยมาตรฐานยุโรปแต่ค่าครองชีพแบบใจกลางกรุงเทพฯ” และการจัดการในมหาลัยยังดีจน perfect ในความคิดเรา 

เช่น อาจารย์ส่วนใหญ่จะมี passion ที่ส่งออกมาระหว่างที่เราเรียนด้วย นักศึกษาเข้าไปเช็กข้อมูลได้ตั้งแต่แรกว่าจะได้เรียนอะไร ต้องอ่านอะไรมาก่อนเรียนบ้าง ทำให้วางเเผนตลอดทั้งภาคเรียนได้ดีขึ้น ฯลฯ แล้วสมมติลองเรียน 1-2 คาบแล้วไม่ไหวหรือรู้สึกยังไม่ใช่ เราสามารถถอนวิชานั้นได้

ปีแรกที่เอสโตเนียจะเป็นวิชาพื้นฐานทั้งหมด เช่น General Analytical Chemistry เรียนการคำนวณ, เครื่องมือ, การประมวลผล, มาตรฐานการทำแล็บ ฯลฯ วิชาเกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม (Socio-economical) มีฝึกงานและวิชาเลือกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทักษะและเครื่องมือทางด้านเคมี เช่น LC-MS Method Validation, Introduction to Forensic Analysis และอื่นๆ 

โครงสร้างวิชาเรียน

เรียนแบบไหน?

ส่วนใหญ่เป็นเลกเชอร์ ทำแล็บประมาณ 40% และจะมี Seminar ที่ทุกคนจะนำเสนอเรื่องที่ตัวเองเลือกมา จากนั้นจะมี Discussion ร่วมกัน ในคลาสก็จะมีเพื่อนหัวกะทิทางด้านเคมีจากหลายสาขาและมาจากหลายประเทศ ทำให้ในหัวข้อเดียวกันสามารถ Discussion ได้หลายมุม ซึ่งทุกอย่างจะเชื่อมโยงและสนับสนุนกัน (เราเจอบรรยากาศ Discussion ที่สนุกและทุกคนให้เกียรติกันมากๆ หลายๆครั้งมันว้าวมาก ขนาดนี้เลยเหรอ บางทีก็ถึงขั้น ‘เฮ้ยย! ถ้ารู้อย่างนี้ก่อน ตอนนั้นคงทำงานเสร็จได้ไวไปนานเเล้ว’)

ส่วนแล็บจะได้เข้าตามวิชาที่ลงเรียน ตอนแรกเรากลัวภาษาไม่แข็งแรง แต่ข้อดีคือภาควิชามีจัด session ให้ถกประเด็นกับ supervisor เกี่ยวกับสูตร เครื่องมือ ปฏิกิริยา ฯลฯ ป็นคีย์สำคัญๆ ที่ช่วยเตรียมตัวให้พร้อมกับสิ่งที่จะทำ ไม่เงอะงะตอนทำแล็บจริง พอถึงเวลาก็มี supervisor อยู่ด้วยตลอด

หน้าตึกเรียนวันสุดท้ายที่เอสโตเนีย
หน้าตึกเรียนวันสุดท้ายที่เอสโตเนีย

รีวิวตัวอย่างวิชาเด็ดๆ

  • Metrology in Chemistry (มาตรวิทยาทางเคมี) วิชานี้ค่อนข้างโดดเด่นค่ะ เพราะการเรียนสายนี้ต้องบอกปริมาณสารและค่าความไม่เเน่นอนจากการวัดได้อย่างแม่นยำ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ในการวิเคราะห์ยาพาราเซตามอล 1 เม็ด มีตัวยาสำคัญ 500 mg. ค่าที่วัดได้เป็นเท่าไหร่ ค่าความไม่เเน่นอนจากการวัดเป็นเท่าไหร่ และลิมิตเท่าไหร่ที่ถือว่ายอมรับได้ ฯลฯ ทั้งยังต้องตรวจสอบวิธีวิเคราะห์เพื่อให้ได้ผลที่น่าเชื่อถือ รวมถึงระบบคุณภาพที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานวิธีวิเคราะห์
     
  • Measurement Data Processing (MDP) – ยากมาก แบบมากกกกๆ จนอยู่ในความทรงจำ วิชานี้จะให้คำนวณค่าความไม่แน่นอนจากการวัด เรียนรู้พื้นฐานในการระบุ range สัดส่วนที่เหมาะสม (ถ้าเทียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับเรื่องคุณภาพน้ำ ต้องบอกได้ว่าคลอรีนควรมีปริมาณเท่าไหร่ถึงจะไม่เป็นอันตราย และค่านั้นสามารถเบี่ยงเบนได้เท่าไหร่ถึงยังถือว่าน่าเชื่อถือตามหลักการทางสถิติ)

    ก่อนเริ่มเรียนเราทำ pre-test ได้ 1.5 เต็ม 10 สายเคมีวิเคราะห์ อาจจะใช้สถิติมากที่สุดแล้วในบรรดาภาควิชาเคมีทั้งหมด เราต้องขอให้เพื่อนสอนการบ้านทุกสัปดาห์ แล้วเพื่อนก็ยินดีช่วยสอนเต็มที่ ตอนสอบเราเองก็พยายามมากจนคะแนนรวม 89.7 อีกนิดได้ A แต่ไม่เสียใจเลย มันเป็นความภูมิใจที่มาได้ไกลขนาดนี้ เพราะเราทำเต็มที่มากแล้วจริงๆ
     
  • Proteomics LC-MS – เป็นวิชาเลือกที่ให้บทเรียนราคาแพง วิชานี้จะเรียนการวิเคราะห์หาโปรตีนด้วยเทคนิค Liquid Chromatography - Mass Spectrometry (LC-MS) การวัดผลมีแค่ผ่าน/ไม่ผ่าน ซึ่งอาจารย์บอกว่าถ้า Discussion ในห้องเรียนได้น่าสนใจก็จะให้ผ่านเลย // ปรากฏว่าเรา Discussion ไป 2 ชั่วโมง ลึกมากกกจนรู้สึกไม่ไหวแล้ววว คุยกับเพื่อนว่าจะถอน แล้วก็ถอนแบบไม่รอผล 

    มารู้ทีหลังว่าตัวเองอยู่ในรายชื่อคนผ่าน ถึงกับ stun ไป 1 ยกค่ะ อยากส่งต่อบทเรียนนี้ถึงน้องๆ ว่า หากเราไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ตัดสิน ให้ทำเต็มที่ในบทบาทของเรา แล้วปล่อยหน้าที่การประเมินหรือการตัดสินให้เป็นของอาจารย์/กรรมการที่จะเป็นคนพิจารณาเถอะ อย่าตัดสินตัวเองก่อนที่มันจะเสร็จสมบูรณ์เลย บางคนก้าวต่อไปไม่ได้เพราะตัดสินตัวเองไปแล้ว
xกติเด็กโปรเเกรมเราจะได้รับใบปริญญาของเอสโตเนียทางไปรษณีย์ แต่ตอนปริญญาอนุมัติเราไปเอสโตเนียพอดี ก็เลยเข้าไปรับเองที่สำนักงาน
xกติเด็กโปรเเกรมเราจะได้รับใบปริญญาของเอสโตเนียทางไปรษณีย์ แต่ตอนปริญญาอนุมัติเราไปเอสโตเนียพอดี ก็เลยเข้าไปรับเองที่สำนักงาน

ปี 2 - Sweden (อันดับ 4 ของประเทศ)

ตอนปี 2 เราเลือกมาเรียนที่ Uppsala University เพราะสนใจด้านวิจัยและอยากทำงานในบริษัทยา (UU เด่นด้านนี้) 

สัปดาห์เเรกที่มาถึงสวีเดน
สัปดาห์เเรกที่มาถึงสวีเดน
ภาพในความฝันของเราเป็นจริงแล้ว!
Cr. www.uu.se/en
Cr. www.uu.se/en
ตอนปี 2 เราเลือกมาเรียนที่ Uppsala University เพราะสนใจด้านวิจัยและอยากทำงานในบริษัทยา (UU เด่นด้านนี้)
ตอนปี 2 เราเลือกมาเรียนที่ Uppsala University เพราะสนใจด้านวิจัยและอยากทำงานในบริษัทยา (UU เด่นด้านนี้) 

 ที่นี่เป็น ม.ใหญ่ที่มีนักศึกษาหลากหลายสัญชาติมากกก และมีบรรยากาศของการแข่งขันบ้าง แต่มีคลาสนึงเด็กถาม Prof. ว่า “กังวลเรื่องเรียนหนักและยาก ทำยังไงถึงผลออกมาดี?” คำตอบจาก Prof. คือนอกจากมาเรียนในคลาส ฉันอยากให้ทุกคนสนุกกับการเรียนรู้ การพัฒนาตัวเอง และการใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กันด้วย

ลยเป็นที่มาของการออกแบบหลักสูตรของวิชานั้น ให้เรียนเลกเชอร์ 1 สัปดาห์ (การบ้านไม่เยอะ) สลับกับการทำแล็บ 1 สัปดาห์ (มีทำรายงานและอ่านหนังสือเยอะ) เพื่อเป็นการถัวเฉลี่ยให้เรามีเวลาใช้ชีวิต สำหรับวิชาเรียนจะมีความเฉพาะทางและลงลึกมากกว่าปีแรก การสอบค่อนข้างซีเรียสกว่า (สอบวิชาละ 5 ชั่วโมง) และเซอร์ไพรซ์ตรงที่เราสามารถเอาอาหารเข้าไปกินรองท้องตอนสอบได้ด้วย!

ตอนเรียนที่อุปซอลา 
ตอนเรียนที่อุปซอลา 
จะเรียนหลักๆที่ตึก Biomedicinsk centrum (BMC)

เทอม 1 เรียน 2 วิชา (รวม 30 หน่วยกิต)

  • Applied chemical analysis of complex samples
  • Advanced Mass Spectrometry
หลังสอบเสร็จครั้งแรกที่อุปซอลา 
หลังสอบเสร็จครั้งแรกที่อุปซอลา 
5 ชั่วโมงผ่านไปไวและเยินมาก!

Winter school ความพิเศษของหลักสูตร

Winter school ของโปรเเกรมเราเป็นโอกาสที่จะได้เรียนจากวิทยากรที่มีประสบการณ์จากภาคอุตสาหกรรม และเป็นการได้พบปะกันของนักศึกษาปี 1 และ ปี 2 เพื่อเเลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเเต่ละสายการเรียนจากทั้ง 3 ประเทศ นักศึกษาปี 1 จะได้มีโอกาสถามเชิงลึกก่อนการตัดสินใจเลือกสายการเรียนปี 2 เป็นโค้งสุดท้าย 

ปกติแต่ละประเทศในหลักสูตรจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ เราก็จะได้มีโอกาสไปเยี่ยมประเทศนั้นๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดทางทุนเป็นผู้ดูเเลให้ค่ะ

เทอม 2 ทำธีสิสล้วนๆ

Master’s thesis ได้ใช้ความรู้ทั้งหมดที่เรียนมากับการทำงานวิจัยของตัวเอง โดยมีความหลายหลากของตัวอย่าง เช่น บางคนทำงานวิจัยในตัวอย่างที่เป็นเลือด, ปัสสาวะ, เห็ดนางฟ้า, น้ำ ฯลฯ แต่ทุกคนที่เรียนสายนี้จะได้ใช้เทคนิคการวิเคราะห์ คือ LC-MS ทุกคน

**หลักสูตรเปิดโอกาสให้นักศึกษาติดต่อกับมหาวิทยาลัย บริษัทยา เเละหน่วยงานวิจัยอื่นๆ เพื่อทำ Thesis ได้ ซึ่งส่วนมากนักศึกษาไม่ต้องคิดหัวข้อ Thesis  เพราะแต่ละภาคส่วนที่เราติดต่อไปจะมีหัวข้อที่ต้องการทำงานวิจัยอยู่เเล้ว นักศึกษาจะเข้าไปมีส่วนร่วมและส่วนใหญ่จะบริหารจัดการงานวิจัยได้ด้วยตัวเอง ภายใต้คำเเนะนำเเละการดูแลของที่อาจารย์ที่ปรึกษา 

อย่างเช่นหัวข้อของอาจารย์ที่ปรึกษาเราคือ เทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับการหาค่าการเปลี่ยนแปลงของสารบางชนิดที่เรียกว่า เมตาบอไลต์ (metabolites) ซึ่งเกิดขึ้นจากกระบวนการเผาผลาญ ที่พบในร่างกายของผู้ป่วยโรค Myalgic Encephalomyelitis (ME) โดยเราจะหาว่าระดับ metabolites  600 กว่าชนิดในการวิเคราะห์ 1 ครั้ง (ปกติการวิเคราะห์ 1 ครั้งจะตรวจสารได้ไม่กี่ชนิด) จากตัวอย่าง Plasma กับ Cerebrospinal fluid (CSF) มีปริมาณต่างกันหรือไม่ทางสถิติ เมื่อเทียบกันในผู้ป่วยโรค ME คนเดียวกัน (ผู้ป่วยแต่ละคนให้ตัวอย่างที่เป็น plasma กับ CSF)

เป้าหมายของ Thesis คือการหาต้นเหตุของโรค เพื่อให้รู้ว่าเราจะต้องตรวจหาอะไรและด้วยวิธีไหน ถึงจะบ่งชี้ได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรค ME (แค่เจาะเลือดเพียงพอมั้ย หรือต้องเจาะน้ำจากไขสันหลัง ซึ่งเป็นวิธีที่เสี่ยงและซับซ้อนกว่า) ที่น่าสนใจคือ เราจะได้ Discussion กับ supervisor ทีมวิจัย และได้ประสานงานเเละเรียนรู้กับบริษัท outsource ที่ออสเตรียด้วยตัวเองค่ะ

สำหรับคนที่การศึกษาเพิ่มเติมและบริจาคเพื่อโครงการระดับโลกนี้ เข้าไปที่ https://www.omf.ngo/ (แอบกระซิบว่า Uppsala university เป็น 1 ใน 6 Research Centers ด้วยค่ะ~)

ป.โท 2 ใบจากสวีเดนและเอสโตเนีย
ป.โท 2 ใบจากสวีเดนและเอสโตเนีย
ฉลองจบการศึกษาหน้าตึก Main building
ฉลองจบการศึกษาหน้าตึก Main building 
Graduation ceremony 
Graduation ceremony 
หน้าตึก Main building, Uppsala university
‘เรียนและทำงานวิจัยป.โท สังกัด Department of Chemistry-Analytical chemistry’
‘เรียนและทำงานวิจัยป.โท สังกัด Department of Chemistry-Analytical chemistry’

แอบพาออกจากเรื่องเรียนนิดดด ที่ Uppsala จะมีระบบ Student nation แบ่งเป็นบ้านๆ ให้นักศึกษามารวมกลุ่มและทำกิจกรรมด้วยกัน (เหมือนในหนัง Harry Potter) ตอนนั้นเราได้อยู่บ้านชื่อ SÖDERMANLAND-NERIKES NATION ประวัติศาสตร์เก่าแก่มากๆ ก่อตั้งเมื่อปี 1595 

Cr. (ซ้าย)
Cr. (ซ้าย) http://snerikes.se/utlysning-dj-ansvarig 
(ขวา) http://snerikes.se/resestipendium-ksos-arsfest 

ตัวอย่างบรรยากาศงานเลี้ยง Gasque & Bal 
(ภาพจากเว็บ: http://snerikes.se/mat-fest/gasque)
ใครมาเรียนที่นี่แนะนำว่าห้ามพลาด!

ทัวร์บ้าน SÖDERMANLANDS-NERIKES

บทเรียนเรื่อง People Relationship
หลังอยู่ต่างประเทศมาพักใหญ่ๆ

“ครูคราล่าใช้ชีวิตอยู่ทั้งเอสโตเนียและสวีเดนมาเกือบ 3 ปี ได้เห็น ได้เรียนรู้ และได้เข้าใจความสัมพันธ์ของคนในหลากหลายรูปแบบ และตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ ส่วนใหญ่ใช้เวลากับคนต่างชาติที่มาจากหลากหลายวัฒนธรรม  จนเพื่อนคนนึงถึงกับพูดว่า ‘ครูคลาร่ามีความสามารถในการเข้ากับคนหลายกลุ่ม’”

– ครูคลาร่า

จริงอยู่ที่บางครั้งบางสังคมไม่ได้อนุญาตให้เรามีมุมอ่อนแอ แต่ที่สวีเดนและเอสโตเนีย เราอยู่มาได้ถึงทุกวันนี้เพราะกล้าขอความช่วยเหลือและมีเพื่อนกับอาจารย์ที่ดี  ปีแรกเราร้องไห้บ่อยมาก แต่ความโชคดีคือหลังจากมีเพื่อน ก็จะมีคนอยู่ข้างๆ ตอนร้องไห้ตลอด เพื่อนมักจะปลอบว่าไม่เป็นไร เราก็เป็นมนุษย์คนนึงเหมือนกัน 

สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากเพื่อนและคนที่นี่คือทัศนคติการมองปัญหา ช่วงแรกๆ เราจะพูดว่า “I make a mistake. I make it again” ในที่สุดวันนึงเราเปลี่ยนเป็นเล่าให้เพื่อนฟังว่า “I have a new lesson!”  เพื่อนบอกดีใจมากที่ทัศนคติเราเปลี่ยนไป เพราะหลายๆ อย่างไม่ใช่ความผิดพลาดในชีวิต มันเป็นบทเรียนให้เราเติบโต เสียใจก็ร้องไห้ ดีขึ้นเเล้วไปต่อ  ถ้าเกิดปัญหาควรตั้งสติ หาข้อมูลว่าหน่วยงานไหนช่วยเราได้ กล้าที่จะบอกและขอความช่วยเหลือ 

เราจะเข้าหาเพื่อนสวีเดนและชาติอื่นๆ โดย based on ธรรมชาติของตัวเอง เช่น ถนัดคุยกับเพื่อนกลุ่มเล็กๆ หรือเปิดบทสนทนากับเพื่อนร่วมคลาสที่เจอบนรถบัส ฯลฯ และไม่ลืมที่จะเคารพพื้นที่ส่วนตัวของทุกคนด้วย (**คนสวีเดนจะมีความเป็นปักเจกสูง) เราเลยถือคติว่าเรามีพื้นที่สบายใจในแต่ละความสัมพันธ์ และเราจะไม่ล่วงเกินพื้นที่ส่วนตัวของเขา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือผู้ร่วมงาน 

อีกเทคนิคของการหาเพื่อนใหม่และการกระชับมิตรคือ หัดทำอาหาร มีช่วงที่เราเริ่มทำซูชิเป็นแล้วคิดสูตรใหม่ได้ ก็จะถามเพื่อนๆ ว่าใครอยากชิมบ้าง เดี๋ยวแพ็กส่งให้~ เพื่อนต่างชาติลองแล้วบอกว่า “เฮ้ย นี่เป็นซูชิคำแรกในชีวิตฉันเลย!” ฟังเเล้วก็เอ็นดูเพื่อน ไปอีกกกก

. . . . . .

Part II : วีซ่าและภาษา
สิ่งที่ควรรู้ก่อนหางาน 2 ประเทศนี้!

1) Estonia

ข่าวดีคือปัจจุบันคนที่ถือวีซ่านักเรียนเอสโตเนีย สามารถอยู่ต่อได้ 9 เดือนอย่างถูกกฎหมาย

ช่วง 1 เดือนก่อนใบอนุญาตอยู่อาศัยประเภทนักศึกษาหมดอายุ ต้องไปทำเรื่องขอ “Visa Sticker” (ยื่นหลักฐาน Smartcard เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิ์ และจ่ายเงิน 30 Euros) เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยจะได้สิทธิ์เดินทางในยุโรปและพำนักในประเทศเอสโตเนียต่ออย่างถูกกฎหมายอีก 9 เดือน ในช่วงเวลานี้เราสามารถหางานในประเทศเอสโตเนียหรือในยุโรปได้ (หากไม่มี Visa sticker อยู่ในเอสโตเนียได้ แต่ออกไปนอกเอสโตเนียในกลุ่มเชงเก้นและกลับมาไม่ได้) 

  • กรณีได้งานประเทศอื่น ก็ให้ไปทำวีซ่าประเทศนั้นๆ
  • กรณีได้งานที่เอสโตเนีย เราสามารถสมัครวีซ่าตั้งถิ่นฐานที่เอสโตเนียได้ ซึ่งวีซ่าจะมีอายุ 5 ปี และไม่ใช่วีซ่าที่สปอนเซอร์โดยบริษัทที่เราได้งาน (แปลว่าในระยะเวลา 5 ปีนี้เราเปลี่ยนนายจ้างได้โดยไม่กระทบวีซ่า สมมติออกจากงานก็ไม่ต้องบินออกจากประเทศ อยากจะเรียนต่ออีกเรื่อยๆ ก็ได้)
  • ถ้าวีซ่าตั้งถิ่นฐานหมดอายุเมื่อครบ 5 ปี แล้วต้องการขอวีซ่าพำนักถาวร จะต้องสอบภาษาเอสโตเนียด้วย
  • ภาษาเอสโตเนียยากติดอันดับต้นๆ ของโลก (มี 14 tenses) ส่วนใหญ่นักศึกษาต่างชาติจะได้งานที่ใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน เพราะทำงานที่บริษัทอินเตอร์ ภาษาเอสโตเนียจะสำคัญเมื่อต้องการเข้าสังคมคนเอสโตเนีย หรือการขอวีซ่าพำนักถาวร
วิวจาก Old town (เมือง Tallinn)
วิวจาก Old town (เมือง Tallinn)

2) Sweden

“ชื่อเสียงเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดี ทำให้สวีเดนเป็นประเทศเนื้อหอมในแถบสแกนดิเนเวีย มีคนอยากทำงานเยอะ แต่ในความเป็นจริงการหางานคือเรื่องท้าทายมากโดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ไม่ได้ถือวีซ่าอยู่อาศัยหรือวีซ่าถาวร”

นอกจากความรู้และคุณสมบัติต้องตอบโจทย์นายจ้าง ยังมีวีซ่าทำงานเป็นด่านแรก เช่น ถ้าเกิดมีผู้สมัคร 3 คนที่คุณสมบัติโดยรวมเท่ากันหรือเหลื่อมกันนิดหน่อย คนที่มีโอกาสได้งานสูงสุดกลุ่มแรกคือคนสวีเดน หรือ คนที่ถือวีซ่าตั้งถิ่นฐาน 

รองลงมาคือกลุ่ม EU Citizenship หรือ คนในประเทศสหภาพยุโรป และปิดท้ายด้วยกลุ่มที่ท้าทายสุดคือ  Non-EU Citizenship หรือ คนนอกกลุ่มสหภาพยุโรป เนื่องจากบริษัทจะต้องติดต่อประสานงานกับ ตม. และเสียภาษีให้กับรัฐบาลในอัตราที่สูงกว่าถ้าเทียบกับคนสองกลุ่มแรก

  • สำหรับสวีเดน วีซ่าหางานหลังเรียนจบ = วีซ่าอยู่อาศัยรูปแบบนึง นักเรียนต่างชาติ สามารถสมัครได้ก่อนวีซ่านักเรียนหมดอายุได้หลังจากเรียนจบ และหากได้วีซ่าชนิดนี้จะมีสิทธิ์อยู่สวีเดนเพื่อหางานหรือเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองเป็นระยะเวลา 1 ปี (ข้อมูล ณ ปัจจุบัน) หากได้งานที่บริษัทสปอนเซอร์ Work permit ให้ บริษัทหลายๆเเห่งจะช่วยดำเนินการช่วงเปลี่ยนจากวีซ่าหางานหลังเรียนจบเป็น Work permit หากใครได้งานก่อนเรียนจบก็สามารถเปลี่ยนจากวีซ่านักเรียนเป็น Work permit ได้เลย
    https://www.migrationsverket.se/English/Private-individuals/Studying-and-researching-in-Sweden/Looking-for-work-after-studies.html
     
  • เมื่อได้ Work permit ช่วง 2 ปีเเรกหากเปลี่ยนสายงาน หรือเปลี่ยนนายจ้าง ต้องออกจากสวีเดนก่อน จากนั้นที่ทำงานใหม่จะดำเนินการเรื่องวีซ่าใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง พอได้อนุมัติแล้วเราถึงจะบินมาเริ่มงานและพำนักในสวีเดนได้
    https://www.migrationsverket.se/English/Private-individuals/Working-in-Sweden/Employed/If-you-are-in-Sweden/Extending-a-permit.html 
     
  • ถ้าจ่ายภาษีครบ 48 เดือน รวมกับยังมีงานประจำสัญญายาวกว่า 18 เดือน และคุณสมบัติอื่นๆ จะมีสิทธิ์ยื่นขอ Permanent Resident Permit หรือวีซ่าพำนักอาศัยถาวร 
    https://www.migrationsverket.se/English/Other-operators/Employers/Employing-people-from-non-EU-countries-/After-the-decision-has-been-made.html 
     
  • กระบวนการขอวีซ่าของคนเรียนจบในสวีเดน จะต่างกับคนที่เรียนจบจากประเทศอื่นๆ กรณีเราเอกสารสำคัญคือใบปริญญาตัวจริง เงินขั้นต่ำตามที่ตม.กำหนด เพื่อรับรองว่าเราสามารถดูแลตัวเองได้ในช่วงหางาน
     
  • ภาษาสวีดิชมีประโยชน์มากในแง่การหางาน การปรับตัว และการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ทำให้ได้เรียนรู้กลุ่มคน ประเทศ โดยเฉพาะการอยู่ในเมืองเล็ก (จำเป็นแค่ไหนขึ้นอยู่กับบริษัทและสายงานด้วย) แต่ข้อดีคือสวีเดนมีระบบการสอนภาษาให้ชาวต่างชาติที่ดีและฟรี แล้วยังมีครูคนไทยที่สอนภาษาสวีเดนด้วย ถ้าใครมาอยู่สวีเดน อย่าลืมไปติดต่อสำนักงานเขตที่ตัวเองอยู่นะคะ **อันนี้ตัวอย่างเมืองสตอกโฮล์ม (Stockholm)
    https://vuxenutbildning.stockholm/en/swedish-for-immigrants/swedish-for-immigrants/
     
  • ธรรมชาติของการจ้างงานที่สวีเดนคือไม่ได้มีแค่สัญญางานประจำ (Permanent Contract) และทำงาน 100% (ประมาณ 160 ชม.ต่อเดือน) เท่านั้น ยังมีการจ้างงานรูปแบบอื่นๆ ซึ่งตราบใดแต่ละคนจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะทำงานประจำหรือไม่ก็ได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานใกล้เคียงกัน

. . . . . .

Part III รีวิวประสบการณ์ส่วนตัว
กว่าจะได้งานที่สวีเดน

เตรียมอะไรบ้าง?

เราจะเล่าในมุมของคนที่ถือพาสปอร์ตไทยมาเรียนหลักสูตรเอสโตเนีย+สวีเดนนะคะ กรณีเราคือถ้าจะอยู่สวีเดนต่อได้จะต้องถือ “วีซ่าทำงาน หรือ Work permit” (อย่างที่เล่าในหัวข้อก่อน) และการที่บริษัทจะจ้างเรา เขาต้องผ่านการคิดมาแล้วว่าการจ้างเราคุ้มค่ากับการดำเนินการและต้องจ่ายภาษีสำหรับ Non-EU Citizenship

ด้วยความที่อุตสาหกรรมเภสัชภัณฑ์ (Pharmaceutical industry) ดังมากในสวีเดน และสายเคมีวิเคราะห์คือหนึ่งในสาขาขาดแคลน แถมยังมีบริษัทอินเตอร์เยอะด้วย พอเราจบด้านนี้โดยตรงเลยมีโอกาสได้งาน โดยที่ยังไม่ต้องรอให้ได้ภาษาสวีดิชก่อน

ส่วนสายงานเภสัชกรรมคลินิก หากใครมีใบประกอบวิชาชีพจากไทยอยู่แล้วจะต้องมาเรียนปรับพื้นฐาน 1 ปีเพื่อให้เหมาะกับการทำงานเภสัชฯ ในประเทศของเขา (เรียนเลกเชอร์ 6 เดือน + ฝึกงาน 6 เดือน) และต้องได้ภาษาสวีเดน จึงจะมีสิทธิ์สอบใบประกอบวิชาชีพที่ออกโดย National Board of Health and Welfare (Socialstyrelsen)

Nobel Prize Museum เมือง Stockholm
Nobel Prize Museum เมือง Stockholm

หางานจากไหน?

ช่องทางที่ทำให้เราได้งานคือ LinkedIn หรืออาจจะหาจาก Indeed ก็ได้ นอกจากอัปเดต Profile บนเว็บหางาน เรายังตั้งใจเขียน Cover Letter และทำใบสมัครให้เหมาะกับตำแหน่งและตัวตนของบริษัทที่สมัคร สิ่งสำคัญคือการเตรียมตัวอย่างรอบคอบ

ถ้าเป็นบริษัทที่เราทำตอนนี้ ส่วนตัวเจอด่านสัมภาษณ์ 3 รอบ -> ทำแบบทดสอบวัดทักษะด้านต่างๆ (Skill test) -> ทำแบบทดสอบวัดบุคลิกภาพ (Personality Test)

  • รอบแรก เรายังไม่เจอเรื่องทางเทคนิค เพราะบริษัทจะสกรีนนิสัยใจคอ บุคลิกภาพ ทัศนคติ ฯลฯ ต่อมาจะเป็นการวัดทักษะต่างๆ เช่นการใช้เหตุผล ภาษา การคำนวณ การมองภาพในมิติต่างๆ (เช่น โครงสร้างของรูปที่ส่องกระจกกัน เราแยกออกได้มั้ยว่านี่คือสิ่งเดียวกัน หรือเป็นโครงสร้างที่สะท้อนกระจกกันอยู่) และต้องการเห็นธรรมชาติของเราในสถานการณ์ปกติ, เราในที่ทำงาน และเราภายใต้ความกดดัน 

    คีย์หลักของการทดสอบคือดูว่าเราทำได้ไวและแม่นยำแค่ไหนภายใต้ความกดดัน (เราเองไม่ไวแต่ได้เรื่องความแม่นยำ เพราะพื้นฐานการเป็นเภสัชกรคือต้องตรวจงานทุกอย่าง 3 ครั้งขึ้นไป) สำคัญคือเราต้องเป็นตัวของตัวเองและตอบตามความจริง บริษัทจะชั่งน้ำหนักว่าทักษะไหนของเราอยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของประชากรบ้าง หรือต้องพัฒนายังไงต่อ
     
  • รอบสอง นำเสนองาน 20 นาที คุยกับ Potential Co-Worker ประมาณ 1-1.30 ชั่วโมง แล้วคุยกับว่าที่ผู้จัดการของเราเพื่อ discuss ผลจากแบบทดสอบที่เราทำมา และวิเคราะห์จุดอ่อน-จุดแข็งของเรา จากนั้นบริษัทอาจจะไปสอบถามข้อมูลจากบุคคลอ้างอิงของเราทั้งหมดทั้งมวล **ตลาดงานสวีเดนให้ความสำคัญกับบุคคลอ้างอิงที่สามารถอธิบายความเป็นเราเเละการทำงานของเราได้ เวลาสมัครงานอาจเจอคำถามว่า ใครคือบุคคลอ้างอิง (Reference) ของเรา
     
  • รอบสาม สัมภาษณ์ออนไลน์ 1 ชั่วโมง

Finally I got a job!!

ตอนอยู่ไทยเราเคยอยู่ขั้นตอนการวิจัยพัฒนาตำรับยาและการขึ้นทะเบียนยา คือ พัฒนายาเม็ด ยาครีม ยาน้ำ ยาฉีด ฯลฯ จากตัวยาสำคัญที่นำเข้าจากต่างประเทศจนขึ้นทะเบียนขายได้ ซึ่งมี Drug Master File เป็นหนึ่งในเอกสารที่สำคัญจากผู้ผลิตต่างประเทศ แต่ที่สวีเดนเรามีโอกาสได้มาทำงานในบริษัทต้นสายที่ผลิตตัวยาสำคัญ ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของทีมที่มีส่วนวิเคราะห์ข้อมูลของยาที่จะถูกประมวลเเละปรากฏใน  Drug Master File นั่นเอง

หัวหน้างานเราให้ฟีลเหมือน Supervisor ช่วยไกด์และให้คำแนะนำเวลามีปัญหา เพื่อนๆ ในทีมก็มาจากหลาย background ซึ่งเราเป็นเภสัชกรคนเดียวในทีม แล้วยังเคยทำงานในเชิงระบบที่กว้าง (ที่นี่ลึกกว่าและมีเครื่องมือที่หลากหลายในด้านเคมีวิเคราะห์) เลยต้องใช้เวลาเรียนรู้และปรับตัวสักพักค่ะ ส่วนเรื่องภาษาก็มีบ้างที่ลำดับประโยคสลับกันเวลา Discuss หัวข้อยากมากๆ แต่ไม่ได้กระทบคุณภาพงาน และไม่ใช่สิ่งที่ลดคุณค่าในตัวเราด้วย

ที่นี่ไม่มีใครคุณภาพชีวิตพังเพราะงาน

เราตั้งหน้าตั้งตาทำงานจนเพื่อนบอกว่าให้ calm down บ้างก็ได้ เพราะสังคมสวีเดนให้ความสำคัญกับชีวิต (Life) -> ความสัมพันธ์ (Relationship) -> งาน (Work) นอกเวลางานไม่จำเป็นต้องรับโทรศัพท์หรือเช็กอีเมล เขาไม่ได้มองว่างานคือทุกอย่าง แต่มองเป็นสิ่งที่ช่วยซัพพอร์ตให้ชีวิตเดินต่อไปได้ และเราก็ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองกับใคร แต่ให้เต็มที่ที่สุดในหน้าที่และความรับผิดชอบของเรา

. . . . . .

Part III : ตัวอย่างสวัสดิการเจ๋งๆ 
ทำไมผู้คนถึงยินดีจ่ายภาษี?

สำหรับสวีเดน คนจบ ป.โท หรือป.เอกก็ไม่ได้แปลว่าเหนือกว่าคนอื่น แต่บ่งบอกได้ว่ารักการวิจัย ทุกอาชีพมีศักดิ์ศรีและเป็นฟันเฟืองให้ประเทศเดินต่อไปได้ ไม่ว่าจะทำงานสายไหนก็ได้สวัสดิการพื้นฐานใกล้เคียงกันตราบใดที่จ่ายภาษี ภาษีจะต่างกันตามโซนที่พักอาศัย อาจจะอยู่ที่ประมาณ 32-35% และสูงตามรายได้

*1 Swedish krona (SEK) = 3.61 บาท (อัปเดต 31 ก.ค. 65)

Photo by Catalina Johnson on Unsplash
Photo by Catalina Johnson on Unsplash 

ตัวอย่างสวัสดิการ

  • ที่สวีเดนไม่มีใครป่วยเป็นโรคร้ายแล้วถึงกับล้มละลาย เพราะทุกคนมีเพดานสูงสุด (maximum) ที่ต้องจ่าย สมมติตัวเลขเช่นกำหนดเพดาน 10,000 บาท/ปี ถ้าต้องหาหมอหรือซื้อยาตามใบสั่งเเพทย์แล้วมีค่าใช้จ่ายเกินนั้น หลังจากจ่ายครบ 10,000 บาท ไม่ต้องจ่ายอีกในปีนั้น ปีหน้าค่อยเริ่มจ่ายอีกรอบ
     
  • พ่อหรือแม่สามารถลาเลี้ยงลูกได้ 480 วันต่อเด็ก 1 คน ระหว่างที่ลาจะได้รับรายได้ที่ขึ้นกับเงินเดือนล่าสุดเป็นเวลา 390 วัน ตัวเลขและระยะเวลาที่ถูกต้องจะขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย ยกตัวอย่างเช่น  หากปีนี้คนที่ทำงานและฐานรายได้คล้ายๆ กับเราใช้สิทธิ์นี้ คนนั้นจะได้เงินสนับสนุนประมาณ 80 % ของรายได้ล่าสุด เป็นเวลาประมาณ 195 วัน ในส่วนวันที่ลาเลี้ยงลูก หากขอใช้สิทธิ์ทั้งพ่อเเละแม่เเบบเท่ากัน วันที่เหลืออีกฝ่ายก็จะได้สิทธิ์รับเงินบนพื้นฐานเงินเดือนของเขาเมื่อลาเลี้ยงลูกเช่นกัน (จะใช้สิทธิ์ได้พ่อและ/หรือเเม่ที่ลาเลี้ยงลูกต้องทำงานเเล้ว 240 วันทำงานก่อนวันที่ลูกเกิด)
     
  • นายจ้างจะมีสวัสดิการ Friskvårdsbidrag ให้ลูกจ้างเบิกค่าใช้จ่ายในกิจกรรมเพื่อสุขภาพและการออกกำลังกายได้คนละสูงสุด 5,000 SEK (ตัวเลขปี 2022 และขึ้นกับแต่ละนายจ้าง) ให้คนทำงานไปผ่อนคลายความเครียดด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น นวดสปา เข้ายิม ออกกำลังกาย และสามารถลาพักร้อนได้ 25 วันต่อปี ยิ่งอายุมากยิ่งได้วันมากขึ้น บางบริษัทจะเพิ่มจำนวนชั่วโมงการลาให้อีกนอกจากวันพักร้อน

    เราสนใจเกี่ยวกับ Alternative Therapy หนึ่งในเป้าหมายของเราคือเปิด “สปาอารมณ์” (@Klaraholistics) เพื่อช่วยเหลือคนไทยในสวีเดน, ไทย เเละที่อื่นๆที่กำลังเผชิญความเครียดด้วยศาสตร์ทางเลือก ติดต่อมาได้นะคะ ^^
     
  • นอกจากนี้ สวีเดนยังมีระบบซัพพอร์ตชาวต่างชาติที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ เพื่อให้สามารถตั้งถิ่นฐานได้อย่างเหมาะสม เช่น คอร์สเรียนรู้สังคมสวีเดน (Samhällsorientering) เพื่อช่วยให้เราเข้าใจสังคมใหม่สวีเดนอย่างถูกต้องมากขึ้น คอร์สเรียนภาษาสวีเดนสำหรับชาวต่างชาติ (Svenska för invandrare, sfi) เพื่อให้เครื่องมือในการเข้าสังคมและการทำงานใหม่

    คอร์สที่ยกตัวอย่างสามารถเรียนได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย // แอบกระซิบว่าทั้ง 2 คอร์สมีสอนเป็นภาษาไทยในบางเมือง และเราก็ได้ความรู้จากคอร์สสังคมสวีเดนมาเเชร์ด้วย ใครเพิ่งมาอยู่สวีเดน ลองติดต่อสำนักงานเขตที่อยู่ดูนะคะ มีประโยชน์กับการใช้ชีวิตมากๆ เชียร์สุดๆ!

แนะนำลิงก์ข้อมูลค่าครองชีพที่สวีเดน

 https://studying-in-sweden.com/cost-of-living 

แนะนำลิงก์ข้อมูลอัตราภาษีในสวีเดน

https://sweden.se/life/society/taxes-in-sweden 
 

ความสุขอย่างหนึ่งที่สวีเดนคือมีร้านอาหารไทย เอาไว้ย้อมใจเวลาคิดถึงบ้าน ย่านร้านไทย และโชคดีที่เจอพี่ๆ คนไทย เอ็นดูให้ทานข้าวฟรีตอนเป็นนักศึกษาด้วย~
ความสุขอย่างหนึ่งที่สวีเดนคือมีร้านอาหารไทย เอาไว้ย้อมใจเวลาคิดถึงบ้าน ย่านร้านไทย และโชคดีที่เจอพี่ๆ คนไทย เอ็นดูให้ทานข้าวฟรีตอนเป็นนักศึกษาด้วย~

. . . . . .

ปิดท้ายด้วย 10 Fun Facts
#รีวิวสวีเดน (+ประสบการณ์ส่วนตัว)

  1. บัตรประชาชนของคนสวีเดนจะไม่มี Mr./Ms./Miss นำหน้า เรารู้สึกเองเลยว่า ว้าวสุดๆ เขาให้ความสำคัญกับคนๆนั้นที่เป็นเขาคนนั้น เเละก้าวข้ามเรื่องเพศไปแล้ว
     
  2. อยากเข้าสังคมสวีเดนต้องเข้าร่วม “Fika” ผวนมาจากคำว่า Kaffi เป็นคำสแลงที่หมายถึง “กาแฟ” คนสวีเดนรัก “ประเพณีการกินกาแฟและขนม” มากๆ แค่พูดว่า ถึงเวลา Fika เเล้วนะ บรรยากาศก็สดใสขึ้นมาทันที  // ประเพณีนี้ถูกนำมาใช้ในองค์กรการทำงาน เพราะนอกจากจะได้เบรกจากงาน ก็จะมาได้มีโอกาสนั่งคุย นั่งแชร์ประสบการณ์ ถือเป็นการผ่อนคลายสมองและกระชับมิตรไปในตัว ฉะนั้น ใครอยากเข้าสังคม หรือรู้จักคนสวีเดน ลองไป Fika ดูนะคะ 
     
  3. คนสวีเดนเห็นทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่อวดตัวเองว่าเหนือกว่าใคร ไม่อะไรเลย เพราะเขาใช้ชีวิตตามปรัชญาที่เรียกว่า Lagom ใจความสำคัญคือ “not too much, not too little”

4. คนสวีเดนเป็นสายซัพพอร์ตอย่างแท้จริง 

เราเป็น Asian Style ที่ถามตัวเองตลอดว่า ทำดีแล้วหรือยัง แต่สิ่งที่เจอตลอดการอยู่ที่สวีเดนคือมีแต่คนบอกว่า “ทำดีแล้ว” ไม่มีใครตำหนิเลย

“เธอเป็นชาวต่างชาติ นำเสนองานวิทยาศาสตร์ด้วยภาษาที่ 2 หรือ 3 ทำได้ขนาดนี้มันเจ๋งมากๆ นะ” // อาจารย์ชาวอังกฤษที่ Uppsala  บอกหลังจากเราไม่มั่นใจเรื่องภาษาในการนำเสนองานในคลาส

“เธอแค่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษที่นี่ เดี๋ยวจะดีขึ้นแน่นอน” // เพื่อนในกลุ่มที่เก่งภาษาอังกฤษมากๆ พูดขึ้นมาหลังจากเราขอโทษที่ภาษาไม่แข็งแรง ทำให้ตามบทสนทนาไม่ทัน

“ใจเย็นๆ เธอทำดีแล้วนะ ไม่ต้องเครียด” // อาจารย์ที่ปรึกษาบอกกับเราตอนทำ Thesis เสมอ

“ทุกอย่างโอเคใช่มั้ย” // เพื่อนมักจะถามคำนี้บ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ที่เรากำลังปรับตัวกับงาน ทุกวันนี้ก็ยังถามกันเสมอในทีมว่ามีอะไรให้ช่วย ต้องบอกนะ

“หมออยากรู้ว่าอีก 5 ปีเราจะทำอะไรอยู่ที่ไหน ถ้ามีลูกจะเป็นยังไงน้าา ชีวิตเรามันมีสีสันจังเลยนะ” // ตอนนั้นเรานอยด์กับชีวิตแล้วมีจังหวะได้ไปปรึกษาแพทย์ด้านผู้หญิงๆ เนื่องจากอายุเริ่มเข้าเกณฑ์ ตอนไปด้วย negative energy + bad mood พอหมอพูดคำนี้ทำให้เรารู้สึกเหมือนปลดล็อก! She made my day สุดๆ น้ำตาแทบไหล

“Gamla stan” ที่เมืองเก่าสต็อกโฮล์ม
“Gamla stan” ที่เมืองเก่าสต็อกโฮล์ม
จุดที่คนมาแล้วต้องถ่ายรูป

5. การชวนไปเดินสวนสาธารณะหรือกินข้าวก็ถือเป็นการเดตแล้ว!

ถึงใครจะตั้งใจมาเพื่อเรียนหรือทำงาน แต่ควรเตรียมรับมือกับความสัมพันธ์อีกหลายรูปแบบ เช่น การกระทำแบบไหนคือเลเวลไหน ดีกว่าเข้าใจผิดเพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรม ต้องรู้ใจตัวเองว่าพร้อมจะก้าวเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์นั้นมั้ย เพราะอย่าลืมความสัมพันธ์อาจกระทบชีวิตโดยรวมและเป้าหมายของเราด้วย ถ้าเจอคนไม่ดีก็ควรเดินออกมา เราต้องยืนให้ได้ด้วยตัวเอง

ปกติคนที่นี่จะตกลงสถานะกันชัดแต่แรกโดยไม่ปล่อยให้เดา และอาจใช้เวลาเดตกันนาน 1-2 เดือนก่อนจะเริ่มคุยถึง step ต่อไป (ระยะเวลาแล้วแต่ปัจจัย) ช่วงเดตหลายคนอาจแปลกใจที่เค้าไม่ถาม background เราเลย ไม่ใช่ไม่สน แต่คนที่นี่เคารพพื้นที่ส่วนตัวมากๆ และสนใจที่เราเป็นเราก่อนสิ่งเเรก

(จากประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยและเพื่อนๆนักศึกษามาเล่าให้ฟัง) ถ้าเป็นช่วงเดตอาจคุยหลายคน แต่สถานะแฟนมีคนเดียว ไม่ค่อยเจอการคบซ้อน ถ้าเลิกคือเลิกไม่มี process ยื้อ และไม่ผิดถ้าจะมูฟออนเร็วแล้วไปเดตกับคนใหม่ภายใน 1 สัปดาห์ 

คนสวีเดนชอบเดินป่า ปีนเขา เพราะธรรมชาติสวยมากกกก
คนสวีเดนชอบเดินป่า ปีนเขา เพราะธรรมชาติสวยมากกกก
(เมือง Karlskoga)
เดินป่า (เมือง Nyköping)
เดินป่า (เมือง Nyköping)

ทิ้งท้ายถึงผู้อ่านบทความนี้

เราเปิดเพจ Klarachannel อยากให้คนรู้จักเอสโตเนียมากขึ้น เพราะเป็นโอกาสดีๆที่หลายคนอาจไม่รู้จักมาก่อน

และเราอยากบันทึกเป็นหลักฐานว่านี่คือผลของความพยายาม เราเป็นเด็กต่างจังหวัดคนนึงที่คงไม่มีใครเชื่อว่าสักวันนึงจะมาเรียนที่ University of Tartu และ Uppsala university  หรือแม้แต่เรียนเภสัชศาสตร์ที่ ม.มหิดล แต่เราพัฒนาตัวเองทีละ step สมัครทุนทุกปี สอบ IELTS 4 ครั้ง มีปัจจัยเยอะแยะที่จะดึงให้เราหยุด แต่เราไม่หยุดเพราะยังไม่เจอเหตุผลที่คุ้มค่ากับการหยุด ตอนนั้นคิดแต่ว่าจะตอบตัวเองยังไง คิดไม่ออกก็เลยทำไปให้สำเร็จ ลองผิดลองถูก ใช้เวลาเเละค่าใช้จ่ายไปก็เยอะ แต่หลังจากนั้นชีวิตก็ดีขึ้นเรื่อยๆ อีกเหตุผลของเพจคือ อยากเเชร์หลายๆ เรื่องที่ตัวเองรู้สึกว่า “รู้งี้ได้ทุนเรียนฟรีไปนานเเล้ว”

เป้าหมายที่ดูยากก็มีโอกาสเป็นไปได้ มันไม่ง่ายแต่การเตรียมตัวอย่างรอบคอบ จะทำให้เราไปไกลจากจุดเริ่มต้นแน่นอน เราเองพิสูจน์มาเเล้วว่า ความพยายามมันมีความหมายเสมอ ขอเป็นกำลังใจและขอชื่นชมทุกคนที่ลงมือทำนะคะ ^^

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น