'ปรอง' สาวไทยผู้อยู่เบื้องหลังเพลงดัง K-POP #SEVENTEEN กับประสบการณ์เรียนวิทยาลัยดนตรีระดับโลก!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2022 หลังจากหนุ่มบอยแบนด์วง SEVENTEEN คัมแบคแบบ HOT ปรอทแตกพร้อมอัลบั้ม 4th Album ‘Face The Sun’ แม้ฝนจะตกหนักก็คงช่วยดับร้อนให้ชาวกะรัต (Carat) ไม่ได้เลยใช่มั้ยล่ะคะ แต่ๆๆ ถ้ายังอยากเพิ่มอุณหภูมิให้ร่างกายและหัวใจอีก แนะนำให้กดปุ่ม play ด้านล่างนี้ระหว่างประกอบการอ่านบทสัมภาษณ์ไปด้วยค่ะ!

เรื่องของเรื่องคือมีหนึ่งในสาวไทยชื่อติดในลิสต์ Producer ของเพลง “HOT” ในอัลบั้ม Face The Sun ที่ทุกคนกำลังฟังตอนนี้ นั่นก็คือ “พี่ปรอง – พลอยปวรวรรณ ไพรสณฑ์" หรือ Ploypaworawan praison  เด็กต่างจังหวัดที่เรียนจบวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ก่อนจะไปทำตามแพสชันที่สถาบันดนตรีระดับโลกอย่าง Berklee College of Music ที่เมืองบอสตัน (Boston) ของรัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) ของสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันพี่ปรองเป็น Top Liner, Singer, Songwriter, Producer ทั้งได้ทำเพลงฝั่งตะวันตกที่เชื่อมกับโลกภาพยนตร์ แต่งเพลงให้ศิลปิน K-POP ที่ก้าวสู่ Billboard No.1 พร้อมกับโฟกัสงานเพลงของตัวเอง แต่กว่าจะถึงจุดนี้ เรื่องราวบนเส้นทางดนตรีของเธอที่อเมริกาของพี่ปรองไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ความสำเร็จแต่ละพาร์ตไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย! วันนี้จะพาไปเปิดโลกการเรียนในเบิร์กลีย์ ธุรกิจดนตรี การแข่งขันในอุตสาหกรรมเพลงสุดเดือด ผ่านประสบการณ์ของพี่คนนี้กันค่ะ~

. . . . .

เตรียมทุกอย่างจากเกือบศูนย์
ทั้งภาษาและทักษะดนตรี

สวัสดีค่ะ ชื่อปรองนะคะ ตอนนี้เรียนทำงานอเมริกามารวมๆ เกือบ 10 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นคือเราชอบดนตรีตั้งแต่เด็ก พยายามลองหลายๆ อย่างเพื่อหาตัวเองว่าชอบอะไรมากที่สุด เช่น ตอน ม.ปลายปรองจบเอกกีตาร์คลาสสิก แล้วช่วง ม.5 เทอม 2 ถึงเริ่มสนใจการทำเพลง ทั้งที่ไม่เคยเทรนด้านนี้จริงจังเลย 

เราเริ่มวางแผนเรียนต่อ พอลองพิมพ์ค้นใน Google ว่า “best music university in the world” แล้วมี Berklee ขึ้นเยอะมากเพราะเป็นสถาบันดังด้านนี้ มีนักเรียนจากทั่วโลกและหลายช่วงอายุมาเรียนด้วยกัน

Photo by Chenwei Yao on Unsplash
Photo by Chenwei Yao on Unsplash

เข้าไปปี 1 เราจะยังเป็นนักศึกษาเบิร์กลีย์ที่เรียนเหมือนกัน ปี 2 ถึงจะได้เลือกเอกนะคะ กระบวนการจะเริ่มตั้งแต่กรอกใบสมัครผ่านระบบออนไลน์ ส่งเอกสารให้ครบ เช่น Transcript, คะแนนภาษาอังกฤษ​ (TOEFL iBT, IELTS, Duolingo English Test, PTE Academic) ถ้าส่งครบมีสิทธิ์สอบ Audition **ตอนนั้นภาษายังไม่แข็งแรงแล้วกังวลจนส่งอีเมลไปถามทุกวันว่าเอกสารครบหรือยัง 555

เราเลือกได้ว่าจะสอบรอบ Summer / Spring / Fall และเช็กสถานที่ออดิชันได้ (เป็นพาร์ตเนอร์ของเบิร์กลีย์) ตอนนั้นปรองไปสอบที่มาเลเซีย มีกรรมการบินตรงมาจาก Berklee เลย

Photo Credit: college.berklee.edcu
Photo Credit: college.berklee.edcu

ปรองใช้เวลาเตรียมตัว 2 ปีเต็มๆ เพราะต้องเตรียมสอบ TOEFL iBT ให้ได้ขั้นต่ำ 72 ข้อสอบนี้ทั้งยากและเป็นเชิง Academic เราทั้งติวทุกวันและอ่านเองบ้าง ในขณะเดียวกันต้องเตรียมพื้นฐานด้านดนตรีจากเกือบศูนย์ (เพิ่งเริ่มฝึกร้องเพลง) ส่วนทฤษฎีมีเรียนที่มหิดลอยู่แล้ว และมีอาจารย์ช่วยสอนและเป็นติวเตอร์ให้ด้วย ข้อแตกต่างคือ Berklee จะเน้น Jazz มากขึ้น

Cr. College.Berklee.edu
Cr. College.Berklee.edu

ในวันออดิชันและสัมภาษณ์
ทักษะ เพลงสำหรับโชว์ และความมั่นใจ

รอบออดิชันจะมีทดสอบ Sight-reading, Improvisation และ Performance (เตรียมตัวร้องไป 1-2 เพลง หรืออยากโชว์เพิ่มเติมก็ได้) เสร็จแล้วจะได้ไปสัมภาษณ์อีกห้อง เจอคำถามประมาณว่าอนาคตอยากทำอะไร? สนใจเอกไหน? ฯลฯ ตอนนั้นปรองเองยังเด็กมากกก เพิ่งจะอายุ 16-17 หาข้อมูลมาสมัครสอบเองหมด เก็งคำถามไม่ถูก แล้วไม่แน่ใจว่าตัวเองต้องการอะไรนอกจากสนใจแค่ Performance การร้องเพลง

**แต่สมมติใครอยากเป็น Sound Engineer หรือใดๆ ก็ตาม สามารถบอกกรรมการได้นะว่าถึงจะมาออดิชันร้องเพลงแต่จริงๆ อยากเป็นนักแต่งเพลง และควรเตรียมโชว์มาเพิ่มเพื่อพิสูจน์ให้กรรมการเห็นว่าเค้าอยากให้ทุนมั้ย ยิ่งรู้ตัวเองและมั่นใจ ยิ่งมีโอกาสมาก เพราะ Berklee มีหลายสาขา (ปรองได้ทุน 50% กรรมการจะพิจารณาตอนออดิชัน)

. . . . . .

ก้าวสู่การเรียนในเบิร์กลีย์
วิทยาลัยดนตรีระดับโลก!

เริ่มมาแบบงงก่อนเลยว่า เฮ้ย! เราสอบผ่านแล้วนี่ ตกหรอ หรืออะไรยังไง ทำไมถึงมีให้เข้าไปสอบที่ห้องอีก ตอนหลังถึงรู้ว่านี่คือการสอบแยกคลาส เรากำลังจะได้เข้าคลาสเทรนนิ่งกับเพื่อนๆ ที่สกิลระดับเดียวกันนะ

  1. การทดสอบแรกคือ Ear Training ปรองได้ระดับ 3 จากทั้งหมด 4 ระดับ เค้าจะมีเวลาจำกัดให้อ่านโน้ต เหมือนเห็นแล้วต้องร้องระดับเสียงตามโน้ตได้ ส่วนอีกแบบคือฟังทำนองและจังหวะที่เค้าเล่นตามโน้ตหรือ Melody (ทำนอง) ฟังแล้วเขียนโน้ตกับจังหวะตามนั้น **ถ้าไม่ได้เทรนมาทาง Jazz หรือเป็นนักเปียโน Jazz ถือว่ายากเหมือนกัน
  2. ต่อจากนั้นจะได้ทดสอบ ทฤษฎีดนตรี ปรองได้ระดับ 2 จากทั้งหมด 5 ระดับ ถ้าไม่มีพื้นฐานเลยเริ่มที่ระดับ 0

ปีแรกเป็นนักศึกษาเบิร์กลีย์ไม่มีเอก
จัดเต็มทฤษฎี เรียนเหมือนกันทุกคน!

ทุกคนจะได้เรียนวิชาเหมือนกันในปี 1 เจอทั้งการออกแบบดนตรี การแต่งเพลง ซอฟต์แวร์ต่างๆ ฯลฯ ยากมากกก หลังจากนั้นถึงจะได้ตัดสินใจเลือกเอก ซึ่งมีกำหนดว่าถ้าจะเข้าเอกนี้  ปีแรกต้องทำเกรดวิชาไหนให้ผ่าน 

อย่างเช่น ปรองเลือก Contemporary Writing and Production กำหนดว่าเกรดวิชา Introduction to Music Technology, Arranging 1 และ Harmony 2 ต้องได้ B ขึ้นไปค่ะ

วิชาตอนปี 1 

(ดูหลักสูตรที่ https://college.berklee.edu/courses)

  • Arranging 1 for Entering Students
  • Arranging 2 for Entering Students
  • Arranging 1 for Continuing Students
  • Arranging 2 for Continuing Students
  • Hip-Hop Writing and Production
  • Groove Writing
  • Sequencing and Production Techniques
  • Advanced Ensemble Writing
  • Vocal Writing
  • Writing in Folkloric Latin Styles
  • Jingle Writing
  • Writing in Salsa Styles

พอเข้าเมเจอร์นี้มา ได้เรียนเทอมเดียวก็จริงแต่เนื้อหาอัดแน่นและครอบคลุมทุกอย่าง เช่น การทำเพลงสำหรับ launch ในสื่อหลายประเภทเลย เช่น หนัง ซีรีส์ โฆษณา ออร์เคสตรา (Orchestra) และอื่นๆ 

ถ้าสนุกสุดคิดว่าเป็นการแต่งเพลงให้วง Orchestra เราจะได้ conducted นักดนตรี 30 คน ได้ยินตอนแรกก็กลัวแหละแต่ฮึบบบ ครั้งหนึ่งในชีวิต เตรียมตัวเยอะมากแล้วสุดท้ายงานก็ออกมาราบรื่น 

เป็นคลาสที่ทำให้เราได้รู้จักการผสมผสานของเครื่องดนตรีต่างๆ แล้วได้เห็นภาพผลงานเพลงที่ตัวเองแต่ง ได้เห็นว่าอย่างวง Pop ก็จะมี Producer อยู่ข้างหลัง เปียโนนี้ควรจะแบบนี้ นักร้องต้องร้องท่อนนี้เบาลงหน่อย อารมณ์เหมือนได้ทดสอบโดยการมาเป็นเหมือนบทบาทบอสในห้องนั้น

หรืออย่างอีกวิชานึงในเอกที่ได้ทำเพลง Pop แล้วให้เพื่อนเข้ามาเล่น แล้วเรารับบทเป็น Producer คิดว่าคลาสนี้ได้ใช้ในชีวิตจริงมากๆ เลยค่ะ เราต้องบรีฟว่าท่อนนี้ต้องการแบบไหน แล้วอาจารย์ก็บอกว่าเราควรกล้าพูดและเป็นผู้นำมากขึ้น ช่วยเทรนจนเปลี่ยนเราจากคนที่ไม่กล้าแสดง มาเป็นคนที่กล้าพูดมากขึ้น อีกอย่างคือการที่ต้องหาเพื่อนมาเล่นเอง ซึ่งเราเข้ามาแบบไม่มีคอนเน็กชันอะไรเลย ต้องใช้เวลาเยอะ ต้องมีทักษะ รู้จักการดีลกับคน และต้องถูกที่ถูกทางถูกเวลา 

ในทุกคลาสเราจะได้รับ feedback จากเพื่อนแบบต่อหน้าต่อตา อย่างเช่นเวลาทำโปรเจ็กต์วิชา Ear training, Song Writing หรือวิชาอะไรก็ตาม ทุกวิชาและทุกคนจะได้พรีเซนต์ต่อหน้าเพื่อนๆ และอาจารย์ ซึ่งเพื่อนทุกคนต้องบอกว่าตัวเองรู้สึกยังไงกับงานนี้ ยิ่งไปกว่านั้นคือมีบางคลาสที่อาจารย์อยากให้คอมเมนต์กันตรงขึ้นกว่านี้อีก เค้าก็จะให้ Screen ที่แสดงผลว่าทุกคนคือ Anonymous (บุคคลนิรนาม) ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร // บางคนคอมเมนต์โหดมาก แต่ๆๆ ชีวิตจริงโหดยิ่งกว่านั้นอีกกก ดีใจที่สร้างภูมิคุ้มกันจากที่นี่มาแล้ว

เพื่อนแต่ละคนก็จะผ่านอะไรมาคล้ายๆ กัน บางทีเวลาทำโปรเจ็กต์ สตูดิโอจะเปิดประมาณตี 3 หรือ 6 โมงเช้า ก็จะได้เจอเพื่อนที่ “ยังไม่นอนหรอออ” “อ๋อยัง” ทุกคนมาในสภาพเพิ่งตื่น เวลาจองห้องก็ต้องจองในระบบ ส่วนใหญ่ห้องจะว่างตอนตี 3 เพราะไม่ค่อยมีใครเลือกเวลานี้ มันดึกไป แต่ช่วงใกล้สอบมิดเทอมจะเต็มตลอด

แนะนำทักษะที่ควรมีก่อนเรียน

นอกจากทักษะเปียโนหรือกีตาร์ ก็คือพื้นฐานการใช้โปรแกรม เพราะสำหรับคนที่สนใจเรื่องการแต่งเพลง ซอฟต์แวร์เป็นเหมือนเพื่อนซี้ที่อยู่ด้วยกันตลอด ยิ่งเวลาต้องนำเสนอคือต้องทำออกมาแบบ professional 

ปกติปรองใช้โปรแกรม Logic Pro, Logic Pro2 ฯลฯ แต่จริงๆ เราสามารถเลือกใช้อะไรก็ได้ ในคอร์สจะมีเรียนบ้าง แต่ก็จำเป็นต้องหาเวลาฝึกเองให้คล่อง

Berklee จัดเตรียมอะไรให้
เราก็พยายามเก็บเกี่ยวให้มากที่สุด

ตอนเรียนเบิร์กลีย์ เราเคยไปหาทั้งติวเตอร์, หาอาจารย์ช่วง Office Hour, จัดคอนเสิร์ตเป็นของตัวเอง, Audition เข้าร่วมอีเวนต์ที่เชิญ Speaker ในวงการ มาแชร์ความรู้ ประสบการณ์ โชว์สกิลต่างๆ 

โรงเรียนยังมีจัดติวเตอร์ให้นักศึกษาจองห้องคุยตัวต่อตัวได้ฟรี อยากถามได้ทั้งสิ่งที่เรียน การบ้าน essay ที่เราไม่เข้าใจก็ได้ และช่วงใกล้สอบเราก็มีไปปรึกษา Career Counselor บอกเลยช่วยได้มาก เค้าช่วยไกด์และปรับ Resume ให้น่าสนใจขึ้น

ปรองว่าการเตรียมพร้อมก่อนจบสำคัญมาก แล้วเรารู้สึกโรงเรียนช่วยเตรียมพร้อมให้อย่างดีจริงๆ เช่น กำหนดว่าทุกคนต้องทำพอร์ตตัวเองไว้พร้อมสมัครงาน (เรามีทำ 3-4 โปรเจ็กต์ หยิบตรงนั้นมาพรีเซนต์ได้) หรือมีเตรียม Private Group ใครสนใจหัวข้อไหนก็สามารถไปเข้าร่วมได้ค่ะ เราจะได้เจอคนที่ทำงานวงการนั้นจริงๆ ถ้าอยากปรึกษาแนวทางหรือขอคำแนะนำอะไร โอกาสก็อยู่ตรงหน้าแล้ว

(ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เราอยากกลับไปคอมเฟิร์มคำพูดอาจารย์ที่บอกว่า “ทุกคนจบไปจะมีงานที่ดีในอนาคต” มันคือเรื่องจริงเลย ตอนเรียนอยู่เราอาจไม่คิดแบบนั้น แต่ท้ายที่สุดทุกคนจะมาอยู่ในวงการเดียวกัน ซึ่งวงการนี้ก็ไม่ได้ใหญ่ด้วย)

ฝึกงานคือโอกาสเปิดโลก
เข้าไปเรียนรู้ธุรกิจวงการเพลง

พอมีความฝันอยากทำเพลง เลยคิดว่าการเข้าใจธุรกิจเบื้องหลังวงการเพลงเป็นเรื่องสำคัญมาก ตอนเรียนก็เคยข้ามไปเรียนวิชาของอีกเอกคือ “Music Business” เช่น สมมติเพลงเราไปอยู่บน Spotfiy จะมีเรื่องการสมัคร กฎการจ่ายเงิน ฯลฯ พอตอนฝึกงานก็ทำ Resume หาบริษัทที่สนใจ อาจจะทาง FB, IG หรือบอร์ดของโรงเรียน ดูว่า Music Publishing Company ที่ไหนโดดเด่นและเปิดรับสมัครเด็กฝึกงานบ้าง 

กระบวนการฝึกงานกับสมัครงานจริงก็ไม่ต่างกัน เนื้องานท้าทายและใช้เวลา 3 เดือน สุดท้ายเราได้ฝึกงานบริษัทเพลงที่ส่งเพลงให้กับค่ายหนัง ได้เรียนรู้และสังเกตว่าปกติทาง Publisher จะรับเพลงแบบไหน ถ้าเป็นนักแต่งเพลงแล้วอยากส่งผลงานให้บริษัทต้องทำยังไงบ้าง ไปจนถึงกระบวนการที่ Music Supervisor ส่งให้ผู้กำกับหนัง (Director) **ที่อเมริกาจะอยากดีลกับบริษัทด้านนี้โดยตรงแทนที่จะเข้าไปคุยกับนักแต่งเพลงโดยตรง

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อย่างหนังไทยเรื่องแม่นาค ทาง Music Supervisor จะเป็นคนจัดหาเพลงให้ตามที่ Director หนังบรีฟ ตกลงกันเรื่องงบให้เรียบร้อย เราก็มีหน้าที่เปิดแคตตาล็อกหาเพลงที่ตรงความต้องการของลูกค้า เป็นขั้นตอนที่สนุกแต่ในขณะเดียวกันจะมีความ Office Work เยอะมากกก มีเรื่องเอกสาร การเจรจาต่อรอง ฯลฯ (ส่วนใหญ่คุยงานทาง Call หรือ E-mail และจะคุยกับคนแต่งเพลงซะเยอะ) 

ส่วนในมุมนักแต่งเพลง ก็ได้เรียนรู้อีกว่าต้องพยายามเข้าหา Publisher ดูว่าเค้าต้องการเพลงไหนมาเพิ่มในแคตตาล็อกของบริษัท

. . . . . .

เล่าสู่กันฟัง!
ชีวิตหางานใน 2 รัฐที่อเมริกา

เราไปฝึกงานและทำงานดนตรีใน Los Angeles (L.A.) เป็นช่วงชีวิตที่ท้าทายมาก ด้วยความที่เป็นเมืองใน California รัฐใหญ่ที่ทุกคนมาทำตามความฝัน ทำให้การแข่งขันและมาตรฐานสูง ผลักดันจนเรารู้สึกว่าต้องเป็น the best ตลอดเวลา คำแนะนำคือถ้าใครรับมือกับ feedback ความกดดัน และการแข่งขันที่สูงมากๆ ได้ก็จะอยู่ได้ บวกกับควรมีพอร์ตฯ ผลงานเพลง หรือเครดิต จะมีโอกาสมากกว่าไปแบบตัวเปล่า

จากประสบการณ์ส่วนตัว เราพบว่าการเป็นชาวต่างชาติ เป็นเอเชีย และเป็นผู้หญิง อาจต้องสู้กับกำแพงที่ดูจะสูงกว่าปกติ ในขณะที่เราบุคลิกค่อนไปทาง introvert ทำให้ต้องปรับตัวหนัก พลิกแพลงยืดหยุ่นจากความเป็นตัวเอง พยายามพิสูจน์ตัวเองตลอดไม่ล้มเลิก เพราะถ้าเราไม่กล้าเริ่มออกไปเจอสังคม ไม่พรีเซนต์ตัวเองหรือโพสต์งานบ่อยๆ โอกาสได้งานน้อยจะน้อยมาก

หลายอย่างค่อนข้าง emotion หนักหน่วง หรืออาจไปเจอที่ที่ให้รู้สึกว่า “เฮ้ยย ทำไมถึงไม่มีใครแคร์เราเลย?” จริงๆ แล้วอาจมีคนเฝ้ามองเราอยู่ว่าจะรับมือกับงานและปัญหาที่เจอได้แค่ไหน ก้าวผ่านไปได้รึเปล่า มี CEO ที่เคยบอกว่าปรองดูเป็นคนไม่ยอมแพ้เลย นี่คือสิ่งที่เรามี และทำให้เค้าทึ่งมากๆ

คนในวงการนี้ต้องพยายามแบ่งให้ได้ว่า “โอเค นี่งานนะ อย่านอยด์!” ระวังไม่ให้ดาวน์เพราะอารมณ์คือส่วนสำคัญที่เราใช้แต่งเพลง ปรองเองจะอ่านหนังสือเยอะและพยายามตามอารมณ์ตัวเองให้ทัน ศึกษาการเข้าสังคม และวิธี calm down เวลาเจอปัญหา การอยู่ในวงการก็เหมือนการเล่นเกมเลย เป็นจิตวิทยาที่ต้องรู้ว่าเราคุยกับใคร ตอนไหนควรพูดยังไงบ้าง

หลังจากทำงานใน L.A. มา 5 ปี ปรองย้ายมาที่ชิคาโก (Chicago) เจอบรรยากาศที่ต่างออกไปและแทบไม่มีชีวิตดนตรี แต่กลับเป็นช่วงเวลาที่งานเยอะที่สุดในชีวิตแล้ว น่าจะเพราะโลกเปลี่ยน โควิดทำให้ธุรกิจพุ่งมาทางออนไลน์หมด นักแต่งเพลงทั่วโลกสามารถทำงานระยะไกลแบบเราได้

ข้อแตกต่างชัดเจนคือตอนอยู่ L.A. คือเราพยายามพาตัวเองเข้าไปหาเครือข่ายเพื่อให้ได้งาน ส่วน Chicago ไม่ได้เจอใครเลย เราจะแอคทีฟทาง Instagram หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ดีลงานทางออนไลน์ทั้งหมด 

ปัจจุบันเป็นนักแต่งเพลง ทำเพลงส่งค่ายหนัง โฟกัสงานศิลปินของตัวเอง รวมถึงตอนย้ายมา Chicago เรามีโอกาสได้เข้าไปเป็นส่วนเล็กๆ ในโปรเจ็กต์ Face The Sun ของวง SEVENTEEN ด้วย ปรองจะเล่าที่มาที่ไปให้ฟังในพาร์ตต่อไปค่ะ ^^

. . . . . .

เข้าสู่อุตสาหกรรม K-POP
ชอบฟังตั้งแต่เด็ก จนได้มาอยู่จุดนี้!

เราชอบฟังเพลงทั้งฝั่งเกาหลีและอเมริกาเลย แต่ถ้าเฉพาะเกาหลีคือฟังมาตั้งแต่ ม.ต้นแล้ว พอตัวเองแต่งเพลงภาษาอังกฤษได้ ก็คิดว่าน่าจะแต่งเพลงให้ศิลปินเกาหลีได้เหมือนกัน ดังนั้นพอมีเป้าหมายใหม่ขึ้นมา ก็พยายามหาคอนเนกชันสุดๆ เลยค่ะ ใช้ไอจีตัวเองทักไปหาคนในวงการหลายคน ทำการบ้านหนัก พยายามทำเพลงเพิ่มเพื่อให้มี catalog เป็นพอร์ตของตัวเองว่าเราเคยทำอะไรมาบ้าง แล้วส่งผลงานเหล่านั้นให้เค้า 

จนในที่สุดค่ายก็เลือกสิ่งที่เราแต่ง!

ช็อกมาก!! เราทำมา 5 เดือนแล้วได้ร่วมงานกับศิลปินใหญ่ hardworking แต่คุ้มค่า จังหวะและทุกอย่างมันใช่หมดเลยค่ะ 

โปรเจ็กต์ #FaceTheSun

ปรองดีใจกับวง SEVENTEEN มากๆ ที่พวกเขาได้ก้าวมาติดชาร์ตระดับบิลบอร์ด และเราก็มีส่วนร่วมในอัลบั้มสุดยิ่งใหญ่ของพวกเค้า

และที่รู้สึกขอบคุณมากๆ คือกลุ่ม “CARAT” (캐럿) กะรัตเป็นชื่อกลุ่มแฟนคลับของวงเซเว่นทีนค่ะ พวกเค้าเข้ามาทักทาย คอยซัพพอร์ตปรอง และบอกว่าเราคือคนไทยที่ทำเพลงในวงที่พวกเค้าชอบ ดีใจมากกเพราะความฝันเล็กๆ คือเราอยากเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของน้องๆ ที่อยากเป็นนักแต่งเพลง รวมถึงทุกคนที่มีความฝันและกำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้ด้วยนะคะ ^^

ความสนุกและท้าทาย
ภายใต้จุดเด่นของเพลงแต่ละชาติ

ส่วนตัวคิดว่าเพลงวงการ K-POP ซับซ้อนมากกว่าถ้าเทียบกับเพลงอเมริกา เพราะศิลปิน K-POP ในวงมีเยอะ โดยเฉพาะ SEVENTEEN (세븐틴) ที่มีมากถึง 13 คน 

จากที่เคยทำเพลงภาษาอังกฤษให้วงในอเมริกา ก็ต้องปรับเปลี่ยนมุมมองว่าถ้าจะมาทำเพลงให้กับวง K-POP ต้องทำยังไงบ้าง ต้องเรียนรู้เทรนด์ เราพยายามเขียนให้น่าสนใจทั้งเพลงและไม่ควรจำยากจนเกินไป จากนั้นก็ส่งให้ Publisher ก่อน และได้ feedback มาปรับเพิ่ม เราได้เรียนรู้จากตรงนั้นเยอะมากๆ ค่ะ

พอเริ่มแต่งเพลงเยอะก็เริ่มชิน เกร็งน้อยลง เนื้อเพลงก็แล้วแต่ว่าเราจะ deep ขนาดไหน ซึ่งถ้าจะทำงานให้ media ควรเป็นคนที่ศึกษาเทรนด์ตลอดและสามารถแต่งเพลงได้หลายแนว เช่น NCT มี hiphop, solo, บัลลาร์ดหนักๆ ถ้า AESPA ก็แนวผู้หญิงแกร่ง ส่วน TWICE ก็จะเป็นแนวที่แตกต่างกัน นี่แค่เจาะ K-POP ก็ยังมีหลายสไตล์เลย

สำหรับเพลงไทย เราเคยทำแค่อัลบั้มเดียว แล้วได้รับเลือกไปเล่นประกอบฉากร้านอาหารไทยในซีรีส์ Orange Is the New Black แต่เท่าที่สังเกตคือเพลงไทยจะอธิบายเยอะกว่า (เน้นเนื้อร้องกับเมโลดี้) สมมติฟังเพลงฝุ่นของ BigAss ก็เหมือนจะเป็นฝุ่นไปจริงๆ ส่วนเพลงภาษาอังกฤษอาจจะชิลกว่า (เน้นกรู๊ฟ เบส) ขึ้นอยู่กับเพลงด้วยค่ะ

ติดตามทุกช่องทางของพี่ปรองที่นี่

. . . . . . 

คลิปสัมภาษณ์พี่ปรองที่อยากชวนไปฟังต่อ!

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด