เปิดใจแล้วไม่ผิดหวัง! #รีวิวอินเดีย จากรุ่นพี่ทุน ASEAN เรียนฟรี ป.โท Nalanda University

สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D สำหรับใครที่อยากเรียนต่อในประเทศที่มีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ความหลากหลายสูง ระยะทางไม่ไกลจากไทย และใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารในชีวิตประจำวัน "ประเทศอินเดีย" เป็นหนึ่งในประเทศที่ติ๊กถูกทุกข้อค่ะ วันนี้เรามีประสบการณ์เด็กนอกส่งตรงจาก "พี่ตาตั้ม" คนไทยที่ได้ทุนเต็มจำนวนไปเรียนต่อ Nalanda University ที่นี่เรียนกันยังไงบ้าง? บรรยากาศตอบโจทย์เรามั้ย? แล้วสมัครทุนอะไรถึงได้ไปเรียนฟรี?  มาเก็บข้อมูลประกอบการตัดสินใจกันเลยค่ะ~

พี่ตาตั้ม-ธีระพล สุทธินันท์
พี่ตาตั้ม-ธีระพล สุทธินันท์
นักเรียนไทยในอินเดีย (Nalanda University)

ทักทายผู้อ่าน

นมัสเต~ สวัสดีครับ  ผมชื่อ "ตาตั้ม-ธีระพล สุทธินันท์" เรียนจบวิทยาศาสตร์การกีฬา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รหัส 49) และนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง (รหัส 50) ได้ ASEAN SCHOLARSHIP มาศึกษาต่อด้านสิ่งแวดล้อมที่ School of Ecology and Environment Studies (SEES) ซึ่งเป็นคณะแรกของมหาวิทยาลัยนาลันทาครับ 

https://nalandauniv.edu.in/academics
https://nalandauniv.edu.in/academics 

รู้จัก Nalanda University กันก่อน

ที่นี่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 เป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติที่หลายประเทศสนับสนุนที่นี่เพื่อฟื้นฟู Ruins of Nalanda University หรือ Nalanda Mahavihara เมื่อศตวรรษที่ 5-13 แต่ตั้งอยู่ห่างกันประมาณ 25 กิโลเมตรครับ  สำหรับ Nalanda University ที่ผมเรียนจะตั้งอยู่ในเมืองราชคฤห์ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยคือ อมรรตยะ เสน ผู้ชนะรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ 

มหาวิทยาลัยนี้เปิดสอน ป.โท และ ป.เอก หลายสาขาดังนี้ครับ

  • MSc in Ecology and Environment Studies *ผมเรียนสาขานี้
  • MA in Hindu Studies (Sanātana Dharma)
  • MA in World Literature
  • MBA in Sustainable Development and Management (With an Exit Option after 1 Year with Diploma)
  • MA in Historical Studies
  • MA in Buddhist Studies, Philosophy and Comparative Religions

ทำไมถึงเลือกสมัครที่นี่?

ตอนที่สมัครผมตั้งใจว่าจะมาเรียนรู้การใช้ชีวิตในต่างแดนควบคู่กับวิชาการครับ  ในปีเดียวกันและปีก่อนๆ ผมมีได้ทุนไปเรียนต่อหลายที่ เช่น รัสเซีย ไต้หวัน เยอรมนี รวมถึงในไทยด้วย แต่พอมาชั่งน้ำหนักคิดว่ามหาวิทยาลันนาลันทาตอบโจทย์ผมที่สุด ทั้งตรงเป้าหมายที่วางไว้ และทำให้มีเงินเหลือพอช่วยเหลือคุณพ่อและญาติๆ ได้ครับ 

จริงๆ ผมเคยไปเยี่ยมชมบางมหาวิทยาลัยในอินเดียมาบ้าง ผมกับเพื่อนๆ เห็นตรงกันว่าที่นี่สิ่งอำนวยความสะดวกพร้อม น่าอยู่ และคุณภาพการศึกษาดี แม้แต่ท่านประธานาธิบดีและท่านรองฯ​ ก็เคยมาเยือนมหาวิทยาลัย และยังเคยเชิญนักศึกษาของเราไปเยี่ยมที่ทำเนียบด้วย เหตุผลที่ ม.นี้สำคัญ เนื่องจากมีประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกที่ลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนาลันทา ได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ ภูฏาน บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ลาว มอริเชียส พม่า นิวซีแลนด์ โปรตุเกส สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา ไทย และเวียดนาม

หลังจากเข้ามาเรียนแล้ว ผมค้นพบว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิดเลยครับ ทั้งวิชาการที่เข้มข้น การแบ่งปันและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การเอาตัวรอด การทันคน การฝึกไหวพริบ การวางแผนการเดินทาง การเงิน และวัฒนธรรมของที่นี่ทำให้ผมประทับใจมากๆ 

ตัวแทนนักศึกษาจาก Nalanda University เข้าพบผู้บริหารของประเทศอินเดีย ณ ทำเนียบรัฐบาล
ตัวแทนนักศึกษาจาก Nalanda University เข้าพบผู้บริหารของประเทศอินเดีย ณ ทำเนียบรัฐบาล
https://nalandauniv.edu.in/participating-countries/ 
https://nalandauniv.edu.in/participating-countries/ 
(เข้าถึง 22 มีนาคม 2567)

*พาร์ตต่อไปผมจะขอคั่นด้วยขั้นตอนการสมัคร การเตรียมตัวต่างๆ ก่อนไปรีวิวประสบการณ์ที่เจอตอนไปเรียนที่อินเดียนะครับ

เปิดโพรไฟล์ & รีวิวสมัครเรียน
และข้อควรรู้สำหรับการเตรียมตัว

  • ม.ปลาย เรียนจบแผนไทย-สังคม เกรดเฉลี่ยสะสม 3.38 จากโรงเรียนโพธิสารพิทยากร
  • ปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รหัส 49) เกียรตินิยม และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (รหัส 50) เกียรตินิยม
  • อื่นๆ เช่น รางวัลนิสิตดีเด่นแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2554, รางวัลเยาวชนผู้มีความประพฤติดี จากพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย, ประธานฝ่ายวิชาการของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาฯ จุฬา ฯ, ประธานจุฬา ฯ วิชาการของคณะ ฯ, รางวัลบทความวิชาการที่ได้รับรางวัลพระราชทาน (ทุนภูมิพล),      รางวัลบทความวิชาการจาก ปปช, ประสบการณ์การทำงานด้านกฎหมาย รวมทั้งกิจกรรมที่เคยทำ เช่น ค่ายศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ ค่าย Water Hack ของ Hackathon Thailand ค่ายธรรมะของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ฯลฯ

สำหรับผมได้ทุนเต็มจำนวน ASEAN Scholarship ครอบคลุมทุกอย่างตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปกลับครั้งเดียว (รวมค่าตั๋วเครื่องบิน) ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาค่าสมัคร ค่าเล่าเรียน ค่าประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ และที่พักอาศัย นอกจากนี้ยังมอบค่าใช้จ่ายรายเดือนให้โดยเงินดังกล่าวจะถูกหักเป็นค่าอาหาร และอื่นๆ เหลือเท่าไหร่ก็จะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารที่นักศึกษาเปิดบัญชีในอินเดียไว้ (เมื่อมาศึกษาที่มหาวิทยาลัย เขาจะเปิดบัญชีให้กับนักศึกษาทุกคน) ซึ่งเงินส่วนนั้นผมว่าเพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เพราะค่าครองชีพที่นี่ไม่สูงครับ

สำหรับเพื่อนๆ ที่มาเรียนต่อ ที่นี่มีหลายทุนเลยครับ สรุปมาคร่าวๆ มีดังนี้ (เงื่อนไขผู้สมัครแตกต่างกัน)

  • Nalanda University Scholarship for International Students Merit Scholarship
  • ICCR Scholarship provided through ICCR portal for all countries
  • ASEAN Scholarship for students from ASEAN countries
  • BIMSTEC Scholarship for students from BIMSTEC countries
  • Thailand Scholarship for students of Thailand to study Buddhist Studies
  • Study in India Programme, Prof. Sunaina Singh Merit Scholarship for Students from all countries
  • Shri Narsingrao Pimple Scholarship
  • Smt Saraswati Narsingrao Pimple Scholarship
  • Prof. Pyong Rae Lee Scholarship for Buddhist Studies

ขั้นตอนสมัครเรียน (ทำควบคู่กับการสมัครทุน)

  • ขั้นตอนที่ 1: ส่งใบสมัครที่กรอกเรียบร้อยแล้วผ่านทางพอร์ทัลออนไลน์ของมหาวิทยาลัย https://online.nalandauniv.edu.in/
  • ขั้นตอนที่ 2: เข้าร่วมการสัมภาษณ์ออนไลน์กับคณาจารย์ของโปรแกรม/โรงเรียนที่สมัคร
  • ขั้นตอนที่ 3: คณะกรรมการรับเข้าศึกษาของมหาวิทยาลัย Nalanda จะส่งรายชื่อนักศึกษาที่รับเข้าศึกษาในโปรแกรมต่างๆ ให้กับคณะกรรมการทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย
  • ขั้นตอนที่ 4: การพิจารณาวุฒิการศึกษา SOP (Statement of Purpose), Letter of Recommendation และผลการสัมภาษณ์ คณะกรรมการทุนการศึกษาจะเตรียมรายชื่อผู้สมควรที่จะได้รับทุนและมอบทุนการศึกษาอาเซียนให้กับนักเรียนที่ได้รับรางวัล ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน และนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับจดหมายทุนการศึกษาผ่านทางอีเมลครับ

หากเพื่อนๆ สนใจสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนการสมัครหรือทุนการศึกษา สามารถติดต่อได้ที่ NU International Admissions : Foreignstudents@nalandauniv.edu.in 

เมื่อมาถึงอินเดียแล้วต้องทำอะไรบ้าง?

ฝ่ายกิจการนักศึกษาจะมีเอกสารให้นักศึกษาทุกคนไปลงทะเบียน “FRRO” (Foreigners Registration Office-FRO) ภายใน 15 วันที่เดินทางมาถึงอินเดียครับ 

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงทะเบียน ได้แก่ หนังสือจากมหาวิทยาลัย (จดหมาย) พาสปอร์ตและวีซ่า ตัวจริงและสำเนา รูปภาพสีขนาด 2 นิ้ว หลังจากไปรายงานตัวแล้วนักศึกษาทุกคนจะได้รับใบรับรองทางออนไลน์ตามอีเมลที่แจ้งไว้ครับ

แนะนำการเตรียมตัวด้านอื่นๆ

  • ภาคการเรียนที่ 1 จะเริ่มในเดือนสิงหาคม และโดยปกติมหาวิทยาลัยจะไม่รับนักศึกษาในเทอมที่ 2
  • แต่ละหลักสูตรใช้ระยะเวลาเรียน 2 ปี (สำหรับปริญญาโท) และ 4 ปี (สำหรับปริญญาเอก)
  • เพื่อนๆ ควรเตรียมการเดินทางด้วยตนเอง และเมื่อมาถึงมหาวิทยาลัยให้ส่งใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เป็นตัวต้นฉบับไปที่ฝ่ายกิจการนักศึกษาเพื่อเบิกเงินคืน (เช่น Boarding pass)
  • สนามบินที่ใกล้ที่สุดคือสนามบินนานาชาติกายา (GAY) - 70 กม. จากมหาวิทยาลัย (ถ้าเดินทางโดยรถสาธารณะจากมหาวิทยาลัยทั้งหมด 4 ต่อ ประมาณ 4 ชั่วโมง แต่หากจ้าง Taxi จะอยู่ที่ 2,500 รูปี)  และสนามบินปัฏนา Jay Prakash Narayan (PAT) - 100 กม. (ถ้าเดินทางโดยรถสาธารณะจากมหาวิทยาลัยทั้งหมด 3 - 4 ต่อ ประมาณครึ่งวัน แต่หากจ้าง Taxi จะอยู่ที่ 3,000 รูปี
  • ก่อนเดินทางมาศึกษาให้แชร์แผนการเดินทางกับฝ่ายกิจการนักศึกษา: Studentaffairs@nalandauniv.edu.in และสำนักงานนักศึกษาต่างชาติ Foreignstudents@nalandauniv.edu.in
     
  • สำหรับการขอวีซ่า ให้ส่งจดหมายตอบรับ จดหมายทุนการศึกษา (กรณีได้ทุนนะครับ) และค่าธรรมเนียมแรกเข้าที่ชำระ (ถ้ามี) โดยไปติดต่อที่ศูนย์รับยื่นคำร้องขอวีซ่า บริษัท VFS Global ชั้น 8 และชั้น 28 ที่อาคารเทรนดี้ เท่านั้นครับ (เคยหลงไปที่อาคารจามจุรีแล้วเขาบอกว่าถ้าอินเดียให้มาที่อาคารเทรนดี้ครับ) เสียเงินค่าวีซ่าประมาณ 3,000 กว่าบาท ซึ่งค่าธรรมเนียมวีซ่าจะไม่รวมอยู่ในทุนนี้
     
  • เมื่อมาถึงที่มหาวิทยาลัย ให้ยื่นใบสำเร็จการศึกษาระดับมัธยม มหาวิทยาลัย และใบผลการศึกษา (เกรดเฉลี่ย) ใบรับรองต้นฉบับและใบรับรองที่แปลเป็นภาษาอังกฤษมาเพื่อการตรวจสอบในเวลาปฐมนิเทศ นอกจากนี้ให้นำชุดประจำชาติและธงชาติมาด้วยครับ
     
  • ทุกครั้งที่ออกนอกมหาวิทยาลัย นักศึกษาต้องเซ็นชื่อหน้าหอพักและที่ประตูใหญ่ของมหาวิทยาลัย แต่หากเดินทางไปที่ไกลๆ หรือค้างคืน ต้องกรอกแบบฟอร์มขออนุมัติจากคณบดีของตน ฝ่ายกิจการนักศึกษา และผู้ดูแลหอพัก และนักศึกษาต้องกลับมาอยู่ที่หอพักก่อน 10:00PM หากเกินจากเวลานี้จะต้องลงชื่อในสมุดเวลาเข้าหอด้วย
     
  • สิ่งอำนวยความสะดวกของมหาวิทยาลัย มีรถบัสบริการรับ-ส่งในมหาวิทยาลัยไปตามจุดต่างๆ และมีรถบัสบริการพอไปตลาดทุกวันพุธเวลา 6:00PM และเดินทางกลับเวลา 8:00PM ในมหาวิทยาลัยยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมให้เราผ่อนคลายทำสิ่งที่ชอบ เช่น สนามกีฬา ฟิตเนสขนาดใหญ่ สระว่ายน้ำ แบดมินตัน เทนนิส เทเบิลเทนนิส กรีฑาลู่-ลาน สนามฟุตบอล ลานกีฬาคริกเกต
     
  • อากาศผมว่ากำลังดีเลย หน้าหนาวประมาณ 5-20 องศา ส่วนหน้าร้อนประมาณ 25-40 องศา และค่าฝุ่น PM 2.5 ที่เมืองราชคฤห์มีไม่มากครับ

การเรียนที่เปิดโลก สังคมที่อบอุ่น
และองค์ประกอบที่ทำให้ตกหลุมรัก

การเรียนที่นี่เปิดกว้าง ส่งเสริมให้เราคิดและกล้าถ่ายทอดความคิดของตัวเองออกมาครับ จำได้ว่าวันแรกที่มาเรียน อาจารย์สอนโดยยกคำว่า 'Evolution' ขึ้นมา จากนั้นให้นักศึกษาพูดคีย์เวิร์ดออกมาจนครบทุกคำ จากนั้นออกมาเรียบเรียงทั้งหมดแล้วอภิปรายในมุมมองของแต่ละคน แล้วอาจารย์จะเสริมความรู้และสรุป โดยที่ไม่ตัดสินว่าใครผิดหรือถูก

ถึงกิจกรรมมหาวิทยาลัยมีเกือบทุกสัปดาห์ วันหยุดประจำชาติ 3 วัน และวันหยุดของรัฐและวันสำคัญอื่นๆ อีกเยอะ แต่งานกับเปเปอร์ไม่มีแผ่ว และการทำเกรดก็ยากจนลืมไม่ลง อย่างตอนที่คะแนนกลางภาคออก วิชาที่ผมได้น้อยสุดคือคณิต (8 เต็ม 20)  แต่พอรู้ว่าเพื่อนๆ คนอื่นๆ คะแนนอยู่ที่ประมาณนี้หรือน้อยกว่านี้แหละ เขาก็บอกเราว่าคะแนนของเราคือในระดับที่มนุษย์ปกติทำได้ครับ 555 ตอนนั้นผมเลยทำให้ดีที่สุดและพยายามมากขึ้นแบบไม่เครียดจนเกินไปครับ เกรดเฉลี่ยออกมาได้ 7.06 เต็ม 10 (สูงสุดของระบบคือ 10) ซึ่งเพื่อน ๆ บอกว่าเกรดดีมาก ๆ แล้ว

หน้าหลักสูตร Ecology & Environment Admissions 2024
[ซ้าย] บ้านเพื่อนคนแรกที่ไปอาศัยอยู่กับเขา 5 วันครับ (เทศกาล Diwali)
[ซ้าย] บ้านเพื่อนคนแรกที่ไปอาศัยอยู่กับเขา 5 วันครับ (เทศกาล Diwali)
[ขวา] บ้านเพื่อนคนที่สองที่ไปอยู่กับเขา 5 วันเช่นกันครับ (ไปร่วมพิธีโกนผมไฟที่ Deoghar)
บรรยากาศห้องเรียน
บรรยากาศห้องเรียน

รีวิวสังคมการเรียน

ผมประทับใจทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และเพื่อนๆ ครับ ทุกคนคอยช่วยเหลือกันตลอด  และด้วยความที่อาจารย์คอยเน้นย้ำตลอดว่า "ให้เรากล้าแสดงออก และจงออกไปใช้ชีวิตนอกมหาวิทยาลัยให้บ่อยที่สุด" ก็เลยเป็นที่มาของการที่เพื่อนๆ ชวนผมไปเที่ยวบ้านของพวกเขาในวันสำคัญต่างๆ เช่น เทศกาลทิวาลี เทศกาลโกนผมไฟ (Mundan ที่ Deoghar beside the Mayurakshi River) และกิจกรรมทุกวันหยุดในและรอบๆ มหาวิทยาลัย เช่น สังเกตธรรมชาติของนกในมหาวิทยาลัย เดินเขา เก็บขยะ Holi Festival กิจกรรมดนตรีและการแสดงของวัฒนธรรมอินเดีย เป็นต้น

ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน แต่นอกรั้วมหาวิทยาลัยผมเองได้เพื่อนใหม่อีกเยอะ (นิยามว่าเพื่อนในที่นี้มีตั้งแต่อายุ 15 ไปจนถึง 70++) และทุกคนคือชอบคนไทยหมดครับ ให้การต้อนรับอย่างดี เพื่อนหลาย ๆ คนจะรู้จักอาหารไทย เพลง Money ของลิซ่า ธรรมชาติที่สวยงามของประเทศไทย และพัทยาครับ

อุปสรรคด้านภาษา

ทุกคนทั้งคนอินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย เคนยา ไนจีเรีย โมซัมบิก ซิมบับเว ภูฏาน ตุรกี เซอร์เบีย อาร์เจนติน่า เวียดนาม กัมพูชา เนปาล ศรีลังกา กับอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่มหาวิทยาลัย แม้จะมาจากหลายชาติหลากภาษา ทุกคนจะสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แต่สิ่งที่ท้าทายจริงๆ คือผมจะไม่ค่อยชินกับสำเนียงอังกฤษของเพื่อนๆ

ดังนั้นผมเลยปรับตัวโดยการพยายามฟังเพื่อนๆ และไปทำกิจกรรมกับพวกเขาบ่อยๆ บางครั้งถึงจะจับสำเนียงหรือสิ่งที่พวกเขาสื่อสารไม่ทัน แต่การที่เราตั้งใจฟังอย่างจริงใจ และการที่เรามอบความเห็นอกเห็นใจให้ทุกคน ทำให้พวกเขาเข้าใจและพร้อมช่วยเหลือเราด้วยเช่นกัน

หอพัก

หอพักที่นี่ทุกห้องติดแอร์มีฮีทเตอร์ และมีพัดลม 1 ห้องนอน นอนได้สองคนเป็นคนละเตียง มีอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งโต๊ะอ่านหนังสือ เก้าอี้ ตู้เสื้อผ้าขนาดใหญ่ (ล็อคได้) ชั้นวางของ 6 ช่อง น้ำอุ่น น้ำเย็น ตู้กดน้ำดื่ม เครื่องซักผ้า ที่ตากผ้า โดยรวมคือดีมากครับ!

อาหาร

  • เวลาที่โรงอาหารเปิดที่นี่มี 3 มื้อคือ 8:00-9:30AM, 1:00-2:00PM, และ 8:00-9:00 PM และมีมื้อว่างด้วยตอน 5:30-6:30PM
  • ในมหาวิทยาลัยมีร้านค้าต่างๆ และของกินเพียบ
เว็บไซต์มหาวิทยาลัย

.  . . . . . . . .  .

ประสบการณ์ครบรสชาติขนาดไหน
ให้ภาพช่วยเล่าเรื่องดีกว่าครับ!

Dhanyvaad धन्यवाद 
ขอบคุณครับ

 

Dek-D Team ทีมคอลัมนิสต์ Dek-D

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น