ได้ทุนแลกเปลี่ยน IAESTE ไปฝึกงานถึง ‘โอมาน’ เปิดโลกดินแดนอาหรับที่สวยและรวยมาก!

สวัสดีค่ะชาว Dek-D เมื่อนึกถึงดินแดนทวีปตะวันออกกลาง คิดว่าประเทศแรกๆ ที่คนนึกถึงน่าจะเป็น “ดูไบ” (Dubai) หรือไม่ก็ “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” (UAE) ใช่มั้ยคะ แต่วันนี้คอลัมน์ประสบการณ์เด็กนอกจะพาไปทัวร์ ประเทศโอมาน (Oman) ผ่านประสบการณ์ของนักศึกษาฝึกงาน IAESTE กันนน~ บอกเลยว่าเป็นทุนน่าสนใจ ประเทศน่าค้นหา และเจ้าของเรื่องบอกเลยว่าการเลือกไปที่นี่เป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิด และตั้งใจจะกลับไปเที่ยวอีกแน่นอน

ถ้าพร้อมแล้ว ตามมาสัมผัสเสน่ห์ของประเทศนี้ไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ :D

Sultan Qaboos Grand Mosque
Sultan Qaboos Grand Mosque
Photo by AlKhatab Al-Saqri on Unsplash

. . . . . .

แชร์ประวัติคร่าวๆ
เด็กต่างจังหวัด / ภาษาอังกฤษ / วิศวฯเคมี

สวัสดีค่าทุกคน เราชื่อ ‘เจนนี่’ เรียนจบมัธยมจาก จ.อุทัยธานี ก่อนจะมาต่อ ป.ตรี คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมีวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ

IG: @jennywani
IG: @jennywani

จริงๆ แล้วเมื่อก่อนไม่ได้มีความฝันเรื่องอาชีพแบบชัดๆ รู้แค่อยากทำงานที่เลี้ยงชีพได้ และเชื่อว่าภาษาอังกฤษจะช่วยพาเราไปถึงจุดนั้นได้ค่ะ เราก็เลยตั้งต้นฝึกภาษาเองจากเพลงกับ YouTube และหากิจกรรมเข้าร่วมตลอด เช่น ตอน ม.6 สมัครทุน สอวน. ไปร่วมงานวิชาการระดับนานาชาติที่อินโดนีเซีย ซึ่งการใช้ภาษาจริงๆ ทำให้สกิลภาษาก้าวกระโดดขึ้นมา

เรายังเคยเข้าร่วมโครงการ JSTP (Junior Science Talent Project) ของ สวทช. ด้วย โครงการนี้เราจะได้คิดโปรเจ็กต์วิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับพลังงานแบตเตอรี่, น้ำมัน ฯลฯ จุดประกายให้เราเรียนต่อสาขาที่เกี่ยวกับด้านนี้ และผลพลอยได้คือได้เจอเพื่อนที่ใช้ภาษาอังกฤษคล่องสุดๆ จนเรามีเป้าหมายอยากนำเสนองานวิทย์ฯ เป็นภาษาอังกฤษให้ได้

PAAL BEACH, Indonesia
PAAL BEACH, Indonesia
Photo Credit: @jennywani
Science Centre Singapore 
Science Centre Singapore 
Photo Credit: @jennywani

ตอน ป.ตรี เราเรียนสาขาวิศวกรรมเคมี ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ประยุกต์ได้กว้างมากในหลายอุตสาหกรรม เช่น จบไปอาจทำงานเป็นวิศวกรกระบวนการผลิต (Processing Engineer), นักเคมีในห้องทดลอง, หน่วยตรวจสอบคุณภาพ (Quality Control), วิศวกรฝ่ายขาย (Sales Engineer) ฯลฯ โดยสถานที่ทำงานมีทั้งโรงกลั่นน้ำมัน โรงแยกแก๊สธรรมชาติ รวมถึงบริษัทที่ต้องประยุกต์ความรู้ด้านเคมี เช่น ยา สีทาบ้าน รถยนต์ ฯลฯ

(สิ่งที่เรียนตอนนี้จะเกี่ยวกับปิโตรเลียมหรือน้ำมัน แต่ด้วยความที่เราชอบพูดคุยสื่อสาร ชอบพูดภาษาอังกฤษ และชอบการเดินทางด้วย เราเลยสนใจงาน Sales Engineer ที่เป็นตัวกลางคอยสื่อสารระหว่าง Process Engineer กับ Business Person )

. . . . . .

อยากฝึกงานสายเทคนิคแล้วได้ใช้ภาษา
เริ่มหาจากที่ไหนบ้าง?

ในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ทุกสาขาจะมีให้ฝึกงานตอนปี 3 คนก็จะเริ่มหางานกันช่วงปี 2 ปลายๆ ค่ะ หลังจากเจอการเรียนที่เข้มข้นแล้วรู้ตัวว่าชอบภาษาอังกฤษ ก็เลยอยากหาที่ฝึกงานที่จะได้ใช้ความสามารถเต็มที่

แต่โอกาสฝึกงานต่างประเทศไม่ได้หาง่ายๆ เราเลยตั้งต้นจากการหาบริษัทข้ามชาติในไทยก่อน จนมาเจอโครงการชื่อ ไอเอสเต้ (The International Association for the Exchange of Student for Technical Experience; IAESTE) เราเป็นเด็กทุนนี้รุ่น 2022 ตอนนี้กลับจากการฝึกงาน 2 เดือนในสาขาวิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering) ที่ประเทศโอมานเรียบร้อยค่ะ

. . . . . .

รีวิวขอทุน IAESTE

เราได้ทุน IAESTE ปี 2565 ไปฝึกงาน 2 เดือนในสาขาวิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering) ที่ประเทศโอมาน ได้เงินเดือนหลักหมื่นและที่พักฟรี

เล่าก่อนว่า IAESTE เป็นโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาฝึกงานสายเทคนิค เช่น สถาปัตย์ฯ, บัญชี ฯลฯ ส่วนใหญ่จะเป็นสายวิศวกรรมศาสตร์ คัดเลือกโดยพิจารณาจากภาษาเป็นหลัก และวิชาการรองลงมา **อันนี้ตอบโจทย์เรามากๆ

ข้อสอบของโครงการจะมีทั้งแบบตัวเลือก (multiple choices), essay, speaking และจะวัดทั้งด้านวิชาการ (Academic) และที่วัดสกิลการสื่อสารแบบไม่มีวิชาการมาเกี่ยวข้อง ถ้าใครไม่ได้คลุกคลีหรือห่างหายจากภาษาอังกฤษมานานควรเตรียมตัวอย่างต่ำ 2 เดือน เน้นฝึกเขียน essay เยอะๆ เพราะจะได้เจอโจทย์ 2 หัวข้อใหญ่ (มีเวลาเขียนน้อย) กับข้อสอบช้อยส์อีก 110 ข้อ  ซึ่งถ้าเทียบความยากเรารู้สึกใกล้เคียง CU-TEP แต่ง่ายกว่า

มาต่อที่รอบสัมภาษณ์ จะแบ่งเป็น 2 ส่วนนะคะ

  • สัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ เพื่อดูว่าเราสื่อสารได้มั้ย
  • สัมภาษณ์ภาษาไทย วิชาการ 100% คุยกับอาจารย์ประจำสาขาวิชานั้นๆ

เสร็จจากขั้นตอนนี้ยังไม่ได้แปลว่าได้ทุน เพราะ IAESTE คือโครงการแลกเปลี่ยน ดังนั้นสัดส่วนนักเรียนไทยและนักเรียนต่างชาติจะต้องเป็น 1:1 เราจะคาดเดาไม่ได้เลยว่าปีนี้จะมีโควตาทุนเท่าไหร่

รอบต่อไปคือการเลือกประเทศฝึกงานค่ะ ตอนนั้นในรุ่นมีวิศวะทั้งหมด 6 คนรวมเราด้วย ตรงนี้จะไม่มีคนรู้ล่วงหน้าว่ามีตัวเลือกอะไรบ้าง จนได้เข้าห้องไปฟังข้อมูลประเทศ, Work Offer และรายละเอียดงานพร้อมกัน แล้วต้องเลือกใน 1 ชั่วโมงนั้น (คนที่คะแนนสูงสุดได้เลือกก่อน) อีกเรื่องที่ต้องระวังคือช่วงฝึกงานต้องลงล็อกกับตารางของเราด้วย สมมติตรงกับช่วงเปิดเทอมของเราก็ต้องสละสิทธิ์

ปีที่เราสมัครมี Work Offer ให้เลือก 5 ประเทศคือ เยอรมนี (1), โปแลนด์ (1), เช็ก (1), โอมาน (1) และเซอร์เบีย (2) เราเลือกประเทศที่คิดว่าชีวิตนี้คงไม่ได้อยู่ๆ คิดจะไปเที่ยวแน่นอน นั่นก็คือ “โอมาน” เป็นประเทศในทวีปตะวันออกกลาง (Middle East) ที่ขอบอกเลยว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิด~

หลังจากได้รับเลือก เราต้องส่งเอกสารไปที่ IAESTE ของประเทศโอมาน และรอการพิจารณาอนุมัติเป็นขั้นตอนท้ายสุด

. . . . . .
ชีวิตฝึกงานที่โอมาน 
มัน(ส์)ดีมั้ยนะ?

ถ้าพูดถึง First impression ก้าวแรกในประเทศโอมาน เราสัมผัสได้ถึงความร้อน(สุดๆ)ตั้งแต่ออกจากสนามบินเลยค่ะ! ตัวเลขอุณหภูมิที่สูงสุดของปีคือเกือบแตะ 50 องศาเซลเซียส ในขณะที่อากาศในห้องแล็บหนาวแบบคนละขั้ว ทำเอาช่วงแรกเราป่วยเข้าโรงพยาบาล กว่าจะลงตัวก็เข้าเดือนที่ 2 (อยู่ที่นั่นต้องดื่มน้ำมากกว่าตอนอยู่ไทยเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ)

ตอนนั้นเราทำเรื่องขอฝึกงานตั้งแต่ 1 มิ.ย.65 และได้ไปฝึกงานที่ศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีที่ Sultan Qaboos University ได้รับเงินเดือน 150 Omani Rial (อัปเดตค่าเงินล่าสุดคือ 1 Omani rial = 99.37 บาท) มีที่พักนักศึกษาให้ 

Sultan Qaboos University จะกำหนดให้ทุกคนและทุกสาขาต้องเรียนภาษาอังกฤษในปีแรก เช่น เด็กวิศวะได้เรียนแบบ Eng ล้วนตลอดทั้งปี ภาพรวมนักเรียนที่จบจากที่นี่ก็จะสื่อสารภาษาอังกฤษได้คล่อง Professor เป็นคนยุโรปค่อนข้างเยอะ

[ บรรยากาศ Sultan Qaboos University ]

Sultan Qaboos University
Sultan Qaboos University
Sultan Qaboos University
Sultan Qaboos University
Sultan Qaboos University
Sultan Qaboos University
Sultan Qaboos University
Sultan Qaboos University
Sultan Qaboos University
Sultan Qaboos University

. . . . . .

เล่าประสบการณ์ฝึกงาน
เข้าไปถึงได้ทำอะไรบ้าง?

Sultan Qaboos University จะมีนักศึกษา ป.เอก ที่กำลังทำวิจัย แล้วให้เราไปคอยซัพพอร์ตและเรียนรู้จากงานวิจัยนั้น ซึ่งคนที่สอนงานเราก็คือพี่ ป.เอกนั่นเองค่ะ *ตอนนั้นเราไปมีส่วนร่วมกับวิจัยเรื่องการสังเคราะห์ซิงค์ออกไซด์ (zinc oxide, ZnO) ในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย 

เราคิดว่าการฝึกงานไม่ต่างกับการซ้อมทำงานจริงเลย งานจะคล้ายๆ แล็บที่เรียน แต่มีบางส่วนที่ยากขึ้นมาอีกขั้นหรืออาจไม่ได้ตรงเป๊ะ อาจารย์เค้าจะมี textbook ให้เราไปอ่านแล้วสรุป จากนั้นมา discuss ตรวจสอบความเข้าใจกับอาจารย์ มีบ้างที่เราต้องขอให้อาจารย์ช่วยสอนอีกรอบ (เราเจออาจารย์ที่ใจดีมาก สอนจนเราเข้าใจจริงๆ)

ข้อดี​ เราจะได้ฝึกภาษาไปในตัว รวมถึงปรับตัวกับวัฒนธรรมอาหรับ ได้คลุกคลีและปรึกษากับนักศึกษา ป.โท-เอก มีคอนเนกชันจากการฝึกงานเมืองนอก แล้วถ้าเป็นสายวิศวะยังได้ประวัติไปประกอบ CV เป็นข้อได้เปรียบมากขึ้นด้วยค่ะ

Sultan Qaboos University
Sultan Qaboos University
แล็บ Nanotechnology
แล็บ Nanotechnology

ก่อนไปก็มีกังวลเพราะเป็นคนไทยหนึ่งเดียวในประเทศที่ไม่คุ้นเคย แต่พอไปถึง เราได้เจอเพื่อนที่สนิทกันมากกก ทั้งหมดจะมีนักเรียนจากประเทศอื่น 18 คนจาก 7 ประเทศ คืออินเดีย, ปาเลสไตน์, เซอร์เบีย, โปแลนด์, อิหร่าน, ตุรกี, สวิตเซอร์แลนด์ และคนไทย (เราเอง) ทุกคนตกลงกันจริงจังว่าหลังจากแยกย้ายกลับประเทศแล้ว จะต้องนัดรวมตัวกันกลับมาเที่ยวโอมานกันอีกแน่นอน~

. . . . . .

#รีวิวโอมาน จากประสบการณ์ส่วนตัว
(บรรยากาศ, สังคม, วัฒนธรรม ฯลฯ)

  • ประเทศโอมานมีพรมแดนติดกับดูไบ “ดูไบ” มีความเป็นเมืองสูง ในขณะที่ “โอมาน” เหมาะกับคนสายลุยและชอบธรรมชาติ ข้อดีคือเราสามารถเดินทางเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศนี้ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า
  • วิวที่โอมานจะเป็นทะเลทราย บ่อน้ำธรรมชาติ และภูเขาสีน้ำตาล ส่วนใหญ่เราจะได้เที่ยวแนว road trip ไปทะเลแทบทุกสัปดาห์เลยค่ะ~ (ถ้ามาโอมานแนะนำว่าห้ามพลาด “Sultan Qaboos Grand Mosque”  เป็นแลนมาร์กของที่นี่ค่ะ)
Sultan Qaboos Mosque, Maskat, Oman
Sultan Qaboos Mosque, Maskat, Oman
Photo by Niklas Weiss on Unsplash
Sultan Qaboos Mosque, Maskat, Oman
Sultan Qaboos Mosque, Maskat, Oman
Sultan Qaboos Mosque
Sultan Qaboos Mosque
Photo by Julian Steenbergen on Unsplash
  • เวลาได้ยิน “อาหรับ” คนมักจะนึกถึงสงคราม แต่อย่างประเทศกาตาร์, โอมาน หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จัดเป็นกลุ่มประเทศอาหรับหัวทันสมัยที่ใช้ชีวิตได้แบบปลอดภัย
     
  • เช่นเดียวกัน คนมักจะนึกถึงประเทศอาหรับพร้อมกับ “แนวคิดชายเป็นใหญ่” จากประสบการณ์ที่เราเจอไม่ใช่ลักษณะการกดขี่ ในทางกลับกันเค้าปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นเจ้าหญิงมากกว่า เช่น ไม่ให้ผู้หญิงทำงานหนัก
  • ค่าครองชีพถือว่าใกล้เคียงกับไทย แต่รายได้ของประชากรสูงกว่าหลายเท่า แต่ค่าใช้จ่ายส่วนที่โหดมาก (ทั้งโซนอาหรับ) ก็คือค่าอินเทอร์เน็ต อย่างสมมติเทียบกับไทยเน็ต Unlimited น่าจะตกเดือนละ 500-600 บาท ที่นี่ปาไป 5,000 บาท
     
  • ถนนไม่กว้างแต่ไม่ค่อยเจอปัญหารถติด ประชากรส่วนใหญ่จะมีรถเป็นของตัวเอง คนขับ Mercedes-Benz กันเยอะเพราะภาษีรถยนต์ไม่สูงเท่าบ้านเรา นอกจากนี้คือน้ำมันก็ตกลิตรละแค่ 19 บาทเอง **ถ้ามาโอมานแนะนำให้เช่ารถค่ะ
     
  • ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองมาเที่ยวโอมานสักครั้งในชีวิต ค่าตั๋วเครื่องบินไม่แพง (ประมาณ 15,000-20,000 บาท) และค่าวีซ่าตกไม่ถึง 1,000 บาท
     
  • **แต่ถ้าอยู่ระยะยาวอาจจะต้องศึกษาเรื่องความเป็นวัฒนธรรมมุสลิม คนที่นี่จะสำรวมมากทั้งคำพูด กิริยามารยาท และการแต่งกาย สังเกตได้ว่าคนในแล็บเยอะแต่เงียบกริบ ไม่มีคุยเล่นกันเลย หรืออย่างถ้าไปเที่ยวโอมานกับแฟน ก็ต้องระวังไม่เผลอแสดงความรักต่อกันในที่สาธารณะแบบขัดกับขนบธรรมเนียมของประเทศเค้า
Oman
Oman
Photo by Anfal Shamsudeen on Unsplash

ช่องทางติดตามพี่เจนนี่

 

 

พี่กุ๊กไก่
พี่กุ๊กไก่ - Columnist มนุษย์เบ้าหน้าจีน หวีดนักร้องไทย คลั่งไคล้ซีรี่ส์เกาหลี คลุกคลีกับอาหารญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น