. . . . . . . . .
ไม่บ่อยนักที่จะมีหนังสักเรื่อง ในช่วงปลายเดือนมีนาคมจนถึงสงกรานต์ที่ผ่านมา น้อง ๆ คงได้กลับไปเจออากงอาม่า พบครอบครัวพร้อมหน้า พร้อมทั้งไปพักผ่อนหย่อนใจและใช้เวลากับครอบครัวกัน แม้เดือนเมษายนจะอากาศร้อนเท่าไร แต่ก็สู้ความอบอุ่นหัวใจจากหนังเรื่อง “หลานม่า” ที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ชมกันถ้วนหน้าและท่วมท้น
วันนี้ พี่กล้วยหอม SparkD จะพาน้อง ๆ มาจับเข่าคุยกับ “พี่พัฒน์-พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์” Film Maker และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” ที่จะมาเฉลยถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่หลาย ๆ คนประทับใจจนต้องออกมารีวิว
พี่กล้วยหอม : ก่อนที่จะมาเป็น “ผู้กำกับ” อยากให้พี่พัฒน์เล่าย้อนกลับไปสมัยมหาวิทยาลัยหน่อย ว่าตอนนั้นพี่พัฒน์เริ่มต้นเข้ามาสู่วงการภาพยนตร์อย่างไรบ้าง
พี่พัฒน์ : ตอนนั้นเราเรียนที่นิเทศจุฬาฯ ภาคอินเตอร์ เราได้มีโอกาสไปทําหนังกับเพื่อนอยู่บ้าง ตอนนั้นเราอยากเป็นตากล้องซึ่งมัน เริ่มจากการไปถือกล้องให้รุ่นพี่ แล้วมันเป็นครั้งแรกที่เราเข้าใจเรื่องการเล่าเรื่อง แล้วตอนกด record มันเลือกมาแล้วว่าเราแสดงอะไรไปให้คนดูดู พอเราถ่าย คนชมว่าสวย สิ่งนี้มันทำให้เรารู้ใจแบบใจฟูนะ ตอนนั้นเราก็แอบคิดว่าหรืออนาคตเราจะมาทางนี้ และสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการเป็นตากล้องมาจนถึงทุกวันนี้คือการเล่าเรื่องผ่านภาพ
แต่พอถ่ายไปได้ถึงจุดหนึ่งเราก็รู้สึกว่าเราไม่เราไม่ได้เก่งขนาดนั้น เพราะการเป็นตากล้องหรือช่างภาพเขาจะมีวิธีการมองภาพอีกแบบหนึ่ง ช่างภาพจริง ๆ เขาเห็นแสง ส่วนเราไม่เห็นแสงตรงนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต่างจากช่างภาพ
ประจวบกับได้มาทํางานกับพี่ย้ง ซึ่งพี่ย้งก็เป็นผู้กํากับ เราก็ตามติดเขา ช่วยเขาคิด ซึ่งเขาเป็นคนสอนเก่งและอยากให้เราได้ดี แกก็จะโหดมากแต่มันทำให้เราได้อะไรเยอะมากจริง ๆ
พี่กล้วยหอม: อยากให้พี่พัฒน์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์หลานม่าหน่อย
พี่พัฒน์: อยากเล่าย้อนไปตอนที่เราสนใจทำหนังช่วงแรก ๆ ในสมัยยังเป็นเฟรชชี่ปี 1 ตอนอยู่มหาวิทยาลัย มีครั้งหนึ่งเราไปพักผ่อนกับที่บ้าน แล้วบังเอิญเดินผ่านเทศกาลหนังญี่ปุ่นของผู้กํากับผู้หญิง ซึ่งผู้กับผู้หญิงจะมีความ niche และไปสายเทศกาลหน่อย ซึ่งในตอนนั้นเราไม่รู้อะไรเลย แต่มีความรู้สึกว่าน่าสนใจจัง
จากนั้นก็เห็นว่ามีหนังที่มีชื่อว่า The Mourning Forest ฉายอยู่ เรื่องนี้กำกับโดย Naomi Kawase เราเดินไปอ่านเรื่องย่อสั้น ๆ ที่เขาแปะไว้ ซึ่งเอาจริง ๆ เราก็แอบอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง
แต่พอหนังฉายซับกลับกลายเป็นภาษาสเปนแทนที่จะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ทำให้คนลุกออกเกือบหมดเลย ประกอบกับหนังมีท่าทีแบบสารคดีและ Art House ที่มีความเรื่อย ๆ เส้นเรื่องบาง ๆ บวกกับคนเล่นก็ยังเป็นคนแก่ ซึ่งหนังเล่าเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ของผู้หญิงคนหนึ่งที่เสียลูกไปเมื่อนานมาแล้ว และได้ไปเจอกับคนแก่ที่บ้านพักคนชรา จนเกิดเรื่องวุ่นวาย และสุดท้ายตอนจบหนังมันเหมือนฉายการปลดปล่อยบางอย่างออกมาโดยกล้องค่อย ๆ เลื้อยอยู่ในป่าแล้วค่อย ๆ ไปบนท้องฟ้าจนหนังตัดดํา
พอมันจบ เรารู้สึกว่ามันจุกในอกมาก มันเป็นความรู้สึกร้องไห้แล้วน้ําตาไหล ทั้ง ๆ ที่ดูไม่รู้เรื่อง เราไม่เข้าใจว่าเกิดจากอะไร แต่มันคงเป็นความรู้สึกที่ เราไม่เคยได้รับความรู้สึกนี้จากการเสพอะไรมาก่อน เราไม่เคยฟังเพลงแบบนี้ ไม่เคยอ่านหนังสือแล้วรู้สึกแบบนี้ ไม่เคยดูหนังเรื่องไหนแล้วให้ความรู้สึกแบบนี้ สิ่งนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า…เราอยากทําหนัง เพราะเราอยากมอบความรู้สึกที่เราอธิบายไม่ได้ และอยากมอบความรู้สึกที่มันกระแทกเข้าไปในใจแบบนี้ให้คนดู
จนมาถึงตอนนั้น ครั้งแรกที่เราได้อ่านบทเรื่องหลานม่าที่พี่เป็ดเขียน มันให้ความรู้สึกแบบตอนนั้นเลย มันทำให้เราได้กลับมาพูดกับตัวเองว่าในชีวิตของเราจะมีสักกี่ครั้งที่เราจะได้ทําหนังแบบนี้ ในประเทศนี้ นี่เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่โปรเจกต์หลานม่าได้เกิดขึ้น
พี่กล้วยหอม : หลังฉายมาได้สักพักแล้ว แล้วพี่พัฒน์แฮปปี้ไหมกับผลงานชิ้นนี้
พี่พัฒน์ : พี่รู้สึกแฮปปี้กับตัวหนังนะ ปกติเราจะไม่ค่อยแฮปปี้กับงานตัวเองเท่าไร แอบกระซิบว่า เราเป็นคนที่ชอบวิจารณ์ตัวเองและประเมินงานของตัวเองด้วยบรรทัดฐานที่สูงมาก ซึ่งการที่เราชอบประเมินงานของตัวเองด้วยมาตรฐานที่สูงขนาดนี้มันมีข้อดีคือเราเข้าใจงานของตัวเองได้เป็นอย่างดี รู้ว่างานไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร แก้ไขอย่างไร ส่งผลให้เราสามารถพัฒนาในงานของเราต่อไปได้ไม่ยาก
แต่พี่รู้สึกว่าข้อเสียของการที่มีมาตรฐานของงานที่สูง คือ มันเหมือนเราไม่รู้จักพอสักที มันทำให้พี่รู้สึกชอบงานตัวเองได้น้อยครั้งมากจริง ๆ
แต่สำหรับเรื่องหลานม่าเป็นงานที่ชอบมาก เราตั้งเส้นของหนังเรื่องนี้สูงจนเรียกได้ว่าเป็นเส้นที่อุดมคติมาก และเรารู้สึกว่า มันไปในจุดที่ภูมิใจและแฮปปี้ กับมันมากจริง ๆ
พี่กล้วยหอม : ผลงานที่ผ่านมาของพี่พัฒน์จะเป็นผลงานที่ค่อนข้างไปโทนวัยรุ่นหน่อย แล้วพอมากำกับเรื่อง “หลานม่า” ซึ่งมีความเป็นหนังครอบครัว พี่พัฒน์มองว่าอะไรเป็นสิ่งที่ต่างกันของผลงานที่เคยกำกับกับผลงานชิ้นนี้บ้าง ?
พี่พัฒน์ : ถ้าออฟฟิศเขาจะขายเรา ก็ต้องพูดถึงงานที่เราเคยกำกับมา อย่าง SOS skate ซึม ซ่าส์ หรือฉลาดเกมส์โกงเดอะซีรีส์ ซึ่งเราว่าภาพยนตร์เรื่องหลานม่ากับผลงานที่เราทำมามันคนละสีสุด ๆ
เราไม่เคยทำหนังประเภท Fiction (หนังที่เป็นจินตนาการมากกว่าความจริง) ทั้ง SOS skate ซึม ซ่าส์ และฉลาดเกมส์โกงทั้ง 2 เรื่องนี้ต่างก็เป็น Fiction แต่ Nature เราจริง ๆ เราแล้ว เราเป็นสายสารคดี เพราะเราเติบโตมาจากการเป็นตากล้องสารคดี ส่งผลให้พอต้องทำหนัง Fiction เราไม่มีสกิลในการเขียนบทได้เก่งพอที่จะเขียนสิ่งที่เป็นตัวเราจริง ๆ ออกมา กลับกลายเป็นว่าเราเลยได้แต่เขียนบทหนังที่เราเคยดู มันจะเป็น อ๋อ…มันเป็นฟีลนี้
อย่าง SOS skate ซึม ซ่าส์ ก็จะเป็นแบบซีรีส์วัยรุ่นฉูดฉาด โรคซึมเศร้าเป็นแบบนี้ มีความฉู่ฉ่า ซู่ซ่า ในส่วนของฉลาดเกมส์โกง มันก็เป็นความรู้สึกหนังนักเรียนที่มีความอาชญากรรม โดยทั้ง 2 เรื่องนี้เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็จะเคยมีประสบการณ์การดูหนังประมาณนี้มาแล้ว
แต่พอจบ 2 เรื่องนั้น แล้วมาทำเรื่องนี้ เราว่า เรื่องนี้เป็นตัวเรามากที่สุด เพราะมันคือเรื่องครอบครัวของเรา ถึงจะไม่เหมือน 100% แต่หลานม่ามีองค์ประกอบมาจากตัวเราเยอะ ทั้งอากู๋ที่เป็นแบบนี้ ทั้งประโยคที่แม่เคยพูดแบบนี้ ทำให้ส่วนประสมต่าง ๆ ไหลออกไปเรื่อย ๆ แล้วค่อย ๆ จัดให้มันอยู่ที่ทางที่ต้องอยู่ จนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา หนังเรื่องนี้จึงกลายเป็นไม่ใช่ทั้งเรื่องของวัยรุ่นอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของหลานกับอาม่า และเป็นเรื่องของทั้งครอบครัว
พี่กล้วยหอม : เห็นพี่พัฒน์พูดถึงเรื่อง “ความเป็นธรรมชาติ” อยากให้พี่พัฒน์เล่าถึงขั้นตอนของการสร้างความธรรมชาติในภาพยนตร์เรื่องหลานม่า
พี่พัฒน์ : หนังที่เป็นธรรมชาติสำหรับเราคือหนังที่ธรรมชาติมากพอจนคนดูเชื่อว่าเป็นธรรมชาติ แต่กระบวนการที่จะได้ความธรรมชาตินั้นต้องถูกคิดและจัดวาง
ยกตัวอย่าง ซีนที่อาม่ามัดน้ําส้มกับเอ็ม ความยาวประมาณ 5 วินาที ซึ่งใน 5 วินาทีนี้ คนก็จะเห็นว่ามีอาม่าที่นั่งแล้วไม่ค่อยเห็นหน้า แต่เห็นเอ็มมีขนาดค่อนข้างเต็มตัว ประกอบกับมีฝนตกปรอย ๆ ทั้งสองคนนั่งมัดเครื่องปรุงโดยมีถุงพลาสติกครอบหัวและแหย่กัน ข้างหลังก็จะมีคนเดินผ่านไปผ่านมา คือคนหลายคนก็จะคิดว่าดูธรรมชาติ น่ารัก แต่จริง ๆ มันถูกคิดไว้หมดเลย
ซึ่งการทําแบบธรรมชาติมีข้อควรระวังคือ เราอาจจะไม่ได้สื่อสารกับผู้ชมในแบบที่เราตั้งใจไว้ ดังนั้น เราจึง ต้องหาบาลานซ์ของสิ่งที่เราต้องการสื่อสารไปในหนังกับความเป็นธรรมชาติตลอดเวลา
พี่กล้วยหอม : สิ่งที่เจอระหว่างเก็บ Material ในการทำหนังคืออะไร
พี่พัฒน์ : เราเดินขึ้นไปหาอาม่าที่ชั้น 3 ทุกวันตลอดระยะเวลาที่สร้างหนังเรื่องนี้ เอาจริง ๆ ก็ว้าวหลายอย่าง แต่ถ้าให้สรุปสั้น ๆ เราว่ามันคือ วิธีคิดของเขาที่โคตรจะต่างกับเราเลย เพราะสิ่งที่เป็นรากฐาน ประสบการณ์ที่เขาเจอ มันส่งผลให้ความคิดของอาม่าต่างกับความคิดของเราโดยสิ้นเชิง
เขาทำให้เรารู้ว่าในทุก ๆ วันที่ชีวิตเต็มไปด้วยมรสุม แต่เวลาเรากลับบ้านมาแล้วมองอาม่า เขายังเป็นอาม่าของเราเหมือนเดิม เขายังเป็นอาม่าคนเดิม สิ่งนี้มันเลยทําให้เรารู้สึกแข็งแกร่งมากขึ้น มันทำให้เรารู้สึกว่าถึงโลกภายนอกจะวุ่นวายขนาดไหน แต่แค่กลับบ้านมาแล้วเห็นเขานั่งดูทีวี เห็นเขากิน ได้ยินเขาบ่น มันยังเหมือนเดิม จนเหมือนเรื่องวุ่นวายที่ดูใหญ่มาก มันกลายเป็นเรื่องเล็ก ๆ เพียงเพราะเรามีเขาอยู่ด้วย และถึงตอนนี้หนังจะฉายแล้ว แต่ทุกวันนี้เราก็ยังไปเจออาม่าทุกวันนะ
พี่กล้วยหอม : พี่พัฒน์ใช้วิธีไหนในการสร้างหนังเรื่องนี้ออกมา และแอบซ่อนอะไรไว้ข้างในรึเปล่า ?
พี่พัฒน์ : หนังที่เป็น Commercial (เน้นฉายให้เข้าถึงคนหมู่มาก) จะมีแนวทางในการทำหนังแบบหนึ่ง คือถ้าทําแบบนี้ เดี๋ยวเกิดอันนี้ขึ้น ต่อมาเปลี่ยนซีนแน่นอน มันมีโครงสร้างของมันทั้งหมด ซึ่งเราทําคล้าย ๆ กับโครงสร้างนั้นนั่นแหละ แต่คล้ายไม่ได้แปลว่าเหมือน
โดยวิธีการหนึ่งที่ใช้คือ การทําให้คนดูไม่เห็นโครงสร้างนั้น พอคนดูมองไม่เห็นโครงสร้าง จะทำให้คนดูรู้สึกว่าหนังมันเรียบง่ายจัง หนังไม่มีเส้นเรื่องอะไร หนังดูไม่มีอะไรเลย แต่ว่าแบบกินใจเนอะ ความจริงคือมันถูกสร้างมาอย่างซับซ้อนมาก เช่น ฉากเอ็มนั่งมัดถุงน้ําส้มสายชูที่ร้านโจ๊ก แล้วเอ็มบอก “เดี๋ยวน้ำส้มมันอึดอัด” หรือจะเป็นฉากนอนคุยกันระหว่างอาม่ากับเอ็มในมุ้งแบบดูธรรมชาติ เราเข้าใจทุก Shape ทุก Curve ทุกวินาทีที่ทําลงไป ทุกเพลง ทุก Score ทุกจังหวะ ทุก Dialogue การ Mix เสียง รวมถึงทุก ๆ อย่างในนี้ มันจะทําให้เกิดความรู้สึกอะไรบ้างกับคนดู ซึ่งความฝันของเราคือ อยากรู้ว่าคนดูจะรีแอคแบบที่เราตั้งใจมั้ย เพราะมันเป็นความสุขสูงสุดของคนที่ทํางานเป็น Film Maker อย่างเรา
พี่กล้วยหอม : พี่พัฒน์อยากให้คนดูได้อะไรกลับไปมากที่สุด
พี่พัฒน์ : แอบกระซิบว่าเพลงเป็นเหมือนอาวุธของคนทําหนัง ที่ใส่ปุ๊บแล้วทำให้คนรู้สึกอย่างที่เราอยากให้รู้สึกได้เลย ซึ่งเราพยายามที่จะลดทอนเพลงให้เยอะที่สุดในเรื่องนี้ ถ้าใครที่ไปดูแล้วจะสังเกตได้ว่าเพลงเรื่องนี้ก็จะค่อนข้างน้อยมาก ต่อให้มีก็เป็นเพลงที่เบามาก เพราะเราพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการเอาเพลงเข้าไปไกด์ความรู้สึกคนดู
เพลงมันก็ทําให้คนดูอินได้ก็จริง แต่มันทําให้เลเวลของความลึกซึ้งของความรู้สึกที่มันเข้าไปในใจคนดูมันตื้นเขิน สมมุติว่าซีนหนึ่งเป็นซีนซึ้ง แล้วเราใส่เพลงซึ้งเข้าไปคนอาจจะร้องไห้แต่คนร้องไห้ปุ๊บก็จบ ซึ่งมันไม่มีอะไรที่ตราตรึงในความรู้สึกเรา
ในหนังเรื่องนี้ จําลองความจริงหลายชั้นเพื่อให้คนเข้ามาได้รับประสบการณ์นี้ออกไป ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องที่เกิดขึ้น 1 2 3 4 แต่ใส่รายละเอียดมากมายในแต่ละชั้นเข้าไปด้วย เราจะไม่บังคับว่าคนดูต้องรู้สึกแบบไหน แต่ให้เขาเลือกที่จะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับส่วนหนึ่งของหนังเรื่องนี้ ดังนั้น สิ่งที่อยากให้คนดูได้รับมากที่สุดคือ เขาได้กลับมามองชีวิตตัวเอง ไม่ว่าจะมองในมุมไหนก็ตาม
พี่กล้วยหอม : แล้วพี่พัฒน์อยากได้อะไรจากหนังเรื่องนี้มากที่สุด
พี่พัฒน์ : อาจจะเป็นความโลภของเรา.. เราอยากให้หนังเรื่องนี้กลายเป็น “ชิ้นส่วนนึงในชีวิตของคนที่ได้ดู”
พี่กล้วยหอม : พี่พัฒน์มีแนวทางการทำงานร่วมกับนักแสดงแต่ละคนยังไงบ้าง
พี่พัฒน์ : การเป็นตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญมากไม่ใช่แค่ในตำแหน่งนักแสดง แต่ทั้งในตำแหน่งอาร์ต ตำแหน่งโปรดิวเซอร์ คนในตำแหน่งต่าง ๆ ที่มาเป็นส่วนหนึ่งกับหนังเพราะเขาเก่งในแบบของเขา ดังนั้น ในฐานะผู้กำกับ เราจะไม่เป็นผู้กํากับที่ปฏิบัติกับนักแสดงแบบ “ฉันสั่งแบบนี้ เธอต้องทำแบบนี้” เพราะสิ่งนี้จะทำให้นักแสดงไม่เป็นตัวเอง
โดยเฉพาะในตำแหน่งนักแสดง ซึ่งเป็นคนที่อยู่หน้ากล้อง การที่เขาเครียดเป็นสิ่งที่จะสามารถแสดงออกมาให้เห็นได้เลย จึงต้องกำกับโดยที่ไม่ให้รู้สึกว่ากำลังถูกกำกับ ซึ่งเราคิดว่าความเชื่อใจเป็นสิ่งที่สําคัญมากจริง ๆ ดังนั้น เรากับนักแสดงจึงจําเป็นจะต้องเชื่อใจกันมาก เพื่อที่จะพยายามทําให้สิ่งนี้มันดีไปด้วยกัน และในวันที่มีความเชื่อให้แก่กันและกัน สิ่งนี้จะทำให้เขากล้าที่จะแสดงออกมาโดยไม่ตั้งคําถามในตัวละคร
มากไปกว่านั้น เราต้องดูออกว่านักแสดงแต่ละคนเขาเป็นคนยังไง เช่น บางคนอาจจะมีความทรงจําเกี่ยวกับคนแบบนี้อยู่ ฉันจะเลือกเอาคนแบบนี้เข้ามาอยู่ในตัวฉัน เขาพูดจาอย่างนี้ เขาทําท่านี้ น้ําเสียงแบบนี้ แล้วก็มีพฤติกรรมประมาณนี้ ซึ่งสามารถเห็นได้ว่านักแสดงแต่ละคนจะเข้าใจตัวละครไม่เหมือนกัน
สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องสังเกตว่าเขาทำอะไร เขาคิดอะไร เขามีท่าทีอย่างไรโดยไม่มีอะไรถูกหรือผิดเลย แล้วเราเพียงต้องสะท้อนสิ่งนั้นที่เขาหยิบมากลับไปเท่านั้นเอง ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีการพูดคุยที่ต่างกันออกไป และถ้ามันไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิดเราจะถามเขาว่า “แล้วถ้าสมมุติว่ามันเป็นแบบนี้ล่ะ” ให้เขาได้คิดกับสิ่งที่เค้ากําลังจะต้องเล่นด้วยตัวเอง และถ้าเขาเห็นด้วย และเขาคิดออกมาได้ การแสดงออกตรงนั้นมันจะกลายเป็นเขาทันที
พี่กล้วยหอม : พี่พัฒน์นิยามว่าผู้กำกับคืออะไร
พี่พัฒน์ : ผู้กำกับคือ คนที่สามารถดึงศักยภาพของคนรอบตัวออกมาได้สูงสุด เรามองว่าเป็นคนที่สามารถรู้ถึงธรรมชาติของคนแต่ละคน รู้ว่าบุคคลนี้เป็นคนยังไง รู้ว่าความเก่งเขาคืออะไร เราจะดึงศักยภาพของพวกเขาออกมาได้ เพื่อให้ได้งานที่ดี และยังทำให้ความสัมพันธ์ของเราดีอีกด้วยมันไม่ใช่แค่การบอก “สู้ ๆ นะ” แต่เป็นคนที่ชี้ให้เขาเห็นว่าศักยภาพของเขาดึงมาได้จากตรงไหน
พี่กล้วยหอม : อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่มีฝันที่จะเป็นผู้กำกับ หรือกำลังตามหาฝันของตัวเองอยู่
พี่พัฒน์ : งานกํากับมันเป็นงานฝีมือ เป็นงานที่เกิดจากการทําแล้วทําอีกจนกลายเป็นสกิล ก่อนหน้านี้เราเห็นคนที่เขาเป็นผู้กํากับเก่ง ๆ เก่งจนเราคิดว่า “ทําไมเขาเก่งแบบนั้น มันคงเป็นพรสวรรค์ของเขาแหละ” แต่ถ้าเรารู้สึกว่า เราไม่มีพรสวรรค์ ก็ใช้วิธีการทําซ้ําไปเรื่อย ๆ และทําแล้วต้องประเมินตัวเอง ยิ่งในยุคนี้คือมีมือถือ ใครออกไปถ่ายก็ได้ ส่วนตัวเราเติบโตจากการใช้กล้องดิจิตอลนี่แหละไปถ่ายเก็บไว้ พอทําเยอะ ๆ แล้วมันจะเจอเอง จะบอกได้ว่าอะไรคือมาตรฐานของเรา และไม่จําเป็นต้องพยายามตามหาสิ่งที่มันต่างจากคนอื่น เพราะว่าจริง ๆ แล้วทุกคนพอทําไปจุดหนึ่งแล้วมันจะต่างด้วยตัวเอง และ เราจะไม่มีทางเหมือนคนอื่นได้เลย เพราะว่าเราเป็นคนละคนกัน
และถ้าใครยังไม่เจอว่าเราอยากจะเป็นอะไร เป็นเราแบบไหน ขอให้เชื่อว่าเราจะไปถึงจุดที่รู้ว่าตัวเองเก่งอะไรจากการที่ค่อย ๆ กะเทาะสิ่งที่ไม่ใช่เราออกไป
พี่กล้วยหอม : สุดท้ายนี้ อยากให้พี่พัฒน์ฝากหนังเรื่อง “หลานม่า”
พี่พัฒน์ : อย่าลืมไปดูหลานม่ากันนะครับ :)
เชื่อว่าน้อง ๆ คงได้รับแรงบันดาลใจจากพี่พัฒน์กันอย่างเต็มเปี่ยมแน่นอน และเห็นได้ว่าการที่จะเป็นผู้กำกับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไม่ว่าน้อง ๆ กำลังพยายามทำอะไรให้สำเร็จก็ขอให้ทำมันต่อไป แล้วความสำเร็จนั้นจะผลิดอกออกผลเองนะ
สุดท้ายนี้ถ้าน้อง ๆ คนไหนยังไม่ดูเรื่องหลานม่า อย่าลืมจับจูงมือคุณพ่อคุณแม่และอาม่า รวมถึงครอบครัวไปดูกันด้วยล่ะ! ส่วนใครที่ดูแล้วมาอ่านบทสัมภาษณ์นี้ของพี่พัฒน์ ก็อย่าลืมแลกเปลี่ยนและแชร์ความประทับกันได้นะ สำหรับวันนี้พี่กล้วยหอม SparkD และพี่พัฒน์ต้องขอตัวก่อน แล้วเจอกันใหม่ EP. หน้า ไว้พบกันใหม่นะ
. . . . . . . . .
เขียน/สัมภาษณ์ พี่กล้วยหอม SparkD
ถ่ายภาพ พี่โอ๊ต พี่นีนี่ SparkD
กราฟิกดีไซน์ พี่จอย SparkD
บรรณาธิการ พี่ฟิวส์ พี่แอลลี่ SparkD
ขอขอบคุณ GDH
1 ความคิดเห็น