ร้อนๆ แบบนี้ต้องระวัง! โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก ภัยร้ายที่มาในช่วงหน้าร้อน

อากาศยิ่งร้อน ร่างกายก็ยิ่งร้อนตาม

ช่วงนี้อากาศร้อนมากจนถึงร้อนจัด บางที่มีอุณหภูมิทะลุถึง 44 องศา ยิ่งอากาศร้อนแบบนี้ก็มาพร้อมกับโรคทางผิวหนัง อาหารเป็นพิษ และโรคอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย และอีกโรคที่เป็นกันบ่อยๆ ที่ต้องพูดถึงคือโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก 

กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดฮีทสโตรก คือกลุ่มเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน และคนที่อยู่กลางแจ้งเป็นเวลานานก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นฮีทสโตรกได้

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

และสำหรับน้องๆ ชาว Dek-D ที่ใกล้จะเปิดเทอมกันแล้ว ก็ควรรู้เอาไว้เกี่ยวกับโรคฮีทสโตรก และการเตรียมตัวรับมือ เพราะถ้าหากอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน หรือแม้แต่ทำกิจกรรมอยู่ในอาคารหรือในที่ร่ม แต่หากอากาศร้อนหรืออบอ้าว ก็มีโอกาสที่จะเกิดฮีทสโตรกได้ และเมื่อเกิดอาการหนักขึ้นมาแบบไม่รู้ตัวก็อาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้ไม่ต่างจากที่เกิดในผู้ใหญ่

โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heat Stroke)

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com

เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากจนทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับคนที่อยู่กลางแดดเป็นเวลานาน และมีอุณหภูมิร่างกายมากกว่า 40 องศาเซลเซียล อากาศยิ่งร้อน ร่างกายก็ยิ่งร้อนตาม

ซึ่งโดยปกติแล้วร่างกายคนเรา ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จะมีอุณหภูมิร่างกายเฉลี่ยอยู่ที่ 36.1 - 37 องศาเซลเซียส ต่อให้เราไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย แค่นอนนิ่งๆ เฉยๆ ร่างกายก็ยังมีความร้อนหรือมีอุณหภูมิในร่างกายที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญพลังงานอยู่แล้ว

สัญญาณที่บ่งบอกว่าเป็น ฮีทสโตรก

  • อ่อนเพลีย ไม่มีเหงื่อออก แม้อากาศจะร้อน ร่างกายมีความร้อนเพิ่มขึ้น หน้าแดง ผิวแห้ง
  • ช่วงแรก จะรู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และหายใจเร็ว
  • เมื่อมีอาการมากขึ้น จะมีอาการกล้ามเนื้อเป็นตะคริว เริ่มมึนงง หัวใจเต้นเร็ว ความรู้สึกตัวลดน้อยลง อาจหมดสติหรือมีภาวะชักได้

วิธีการรักษาเบื้องต้น 

การปฐมพยาบาลเบื้องต้น อย่างแรกคือ ต้องดูว่าคนป่วยรู้สึกตัวผิดปกติไปหรือเปล่า โดยให้คลำชีพจรดูว่าการหายใจผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีการหายใจที่ผิดปกติ ต้องรีบทำ CPR และโทร 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

แต่ถ้าหากยังมีสติ สามารถทำตามขั้นตอนนี้ได้เลย

  1. ควรรีบพาเข้าที่ร่มทันที หรือที่ๆ มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  2. จัดท่าให้นอนราบ และยกเท้าสูงกว่าศีรษะเล็กน้อยเพื่อให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น
  3. ถ้ามีการอาเจียนเกิดขึ้น ควรจับให้นอนตะแคงก่อน เมื่อหยุดอาเจียนแล้วจึงให้นอนหงาย
  4. ปลดเสื้อผ้าให้คลายออก เพื่อช่วยระบายความร้อน
  5. หากยังมีสติ ให้จิบน้ำเรื่อยๆ และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัว และประคบตามซอกตัว เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย

การดูแลและป้องกันในช่วงหน้าร้อน 

ภาพจาก Freepik.com
ภาพจาก Freepik.com
  • ควรสวมเสื้อผ้าสีอ่อน โปร่งสบาย ไม่หนา สามารถระบายความร้อนได้ดีหรือสวมหมวกป้องกันแดด และควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าสีเข้ม เนื่องจากดูดซับความร้อนได้ดี
  • ควรทาครีมกันแดดทุกครั้งก่อนออกจากบ้านหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง
  • ดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอ
  • พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรอยู่ในที่ๆ อากาศถ่ายเท

ที่สำคัญที่อยากจะเน้นย้ำเลย คืออย่าทำให้ร่างกายขาดน้ำ พยายามดื่มน้ำให้เยอะๆ และการเป็นโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก ก็สามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ดังนั้นอย่าลืมดูแลสุขภาพให้ดีในช่วงหน้าร้อนกันด้วยนะคะ

ข้อมูลจากhttps://www.rama.mahidol.ac.thhttps://www.bangkokinternationalhospital.comภาพจากhttps://www.freepik.com
พี่ปลิว

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น