10 ปีพิสูจน์ "อาจารย์แนน" จากนิสิตบกพร่องทางร่างกายสู่อาจารย์ของคณะ ต่อยอดสู่โครงการ 1 Faculty 1 Teacher ม.ศรีนครินทรวิโรฒ

เมื่อไม่นานมานี้ พี่มิ้นท์ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานแถลงข่าว "มศว พลิกโฉม การเรียนรู้ เพื่อสังคม" ภายใต้แนวคิด “L O V E S” ของผู้บริหารคนใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รักษาการแทนอธิการบดี ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเน้นการพัฒนาด้านกายภาพและคุณภาพการศึกษาให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล

หนึ่งในไฮไลท์ที่สะดุดตาภายในงานแถลงข่าวคือ เรื่องราวของอาจารย์แนน ทิพภาวรรณ พลล่องช้าง ซึ่งก่อนหน้านี้อาจารย์แนน ได้เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บ Dek-D ไปเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ในหัวข้อ ""แนน" คนเก่งตัวจริง! คว้าที่ 1 ของสาขา การันตีความบกพร่องไม่ใช่อุปสรรคในการเรียน" ก่อนคว้าเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้วยเกรดเฉลี่ย 3.76 กลับมาครั้งนี้ได้เปลี่ยนสถานะ จาก "นิสิต" ก้าวสู่ตำแหน่งใหม่ "อาจารย์" ของคณะ ซึ่งในปีนี้ได้พัฒนาต่อยอดสู่โครงการ 1 Faculty 1 Teacher ซึ่งเป็นโครงการที่ มศว เปิดโอกาสให้นิสิตที่มีความสามารถในแต่ละคณะได้รับทุนเรียนต่อในระดับสูงและกลับมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย เรื่องราวของเธอเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ และวันนี้เว็บไซต์ Dek-D ได้รับเกียรติพูดคุยกับอาจารย์แนนอีกครั้ง

บทความเมื่อปี 2559 "พี่แนน"  ได้ที่ 1 ของสาขา
บทความเมื่อปี 2559 "พี่แนน"  ได้ที่ 1 ของสาขา

เส้นทางสู่การเป็นอาจารย์

พี่มิ้นท์: สวัสดีค่ะ อยากให้อาจารย์แนน แนะนำตัวให้น้องๆ รู้จักหน่อยค่ะ

อาจารย์แนน: สวัสดีค่ะ ชื่อทิพภาวรรณ พลล่องช้าง หรือเรียกสั้นๆ ว่า "อาจารย์แนน" ก็ได้ค่ะ ตอนนี้เป็นอาจารย์ประจำที่วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว ปัจจุบันมีสอนในรายวิชาโทและวิชาเอกของคณะ เช่น Digital marketing, Digital Business Strategy, Intro to E-business ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิชาในเชิง E-business กับ Digital margeting ค่ะ

 

พี่มิ้นท์: เริ่มต้นเส้นทางการเป็นอาจารย์ได้อย่างไรคะ

อาจารย์แนน: จริงๆ ตอนเรียนปริญญาตรีก็เรียนสาขา Cyber Business management ที่วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารเหมือนกันค่ะ จากนั้นได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยให้เรียนต่อในระดับปริญญาโท ตอนแรกมหาวิทยาลัยสนับสนุนให้ไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ช่วงนั้นเกิดโควิด ค่อนข้างเสียดายเพราะไม่สามารถไปเรียนต่างประเทศได้ เลยตัดสินใจเลือกเรียน MBA สาขาการตลาด ที่คณะบริหารธุรกิจเพื่อสังคมที่ มศว แทนค่ะ  

และเมื่อเรียนจบก็กลับมาใช้ทุนที่ มศว ซึ่งเดี๋ยวนี้มีโครงการใหม่เป็นโครงการ 1 Faculty 1 Teacher ของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนนิสิตในแต่ละคณะให้ไปเรียนต่อและกลับมาเป็นอาจารย์ที่คณะค่ะ

 

พี่มิ้นท์: จากคนเรียนสายธุรกิจ ทำไมถึงเลือกเป็นอาจารย์คะ

อาจารย์แนน: จริงๆ ไม่เคยคิดมาก่อนค่ะว่าตัวเองจะเป็นอาจารย์ แต่ตั้งใจไว้ลึกๆ อยู่แล้วค่ะ ว่าอยากเรียนสูงๆ ไว้เป็นเครื่องมือก่อน และด้วยเงื่อนไขทางร่างกายของเรา อาชีพในอนาคตก็จะจำกัดลงค่ะ มีปรึกษากับอาจารย์และเพื่อนๆ อยู่เหมือนกันค่ะว่าจบไปทำอะไรดี การทำงานในสาย Marketing ก็น่าสนใจ แต่คิดว่าคนพิการคงจะทำได้ไม่ยืดยาวเท่าไหร่ บวกกับโอกาสเรื่องเรียนต่อเข้ามาตอนใกล้จะจบพอดี และเรามีผลการเรียนดี เลยลองเรียนต่อเพื่อมาเป็นอาจารย์ดูค่ะ รวมถึงได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์หลายๆ ท่านที่มองเห็นว่า เราเป็นแรงบันดาลใจให้กับนิสิตได้ ในเรื่องความพยายาม จึงตัดสินใจเป็นอาจารย์ค่ะ

พี่มิ้นท์: พอได้เริ่มสอน อะไรที่เป็นความท้าทายบ้าง

อาจารย์แนน: คิดว่าความท้าทายเป็นเรื่องของตัวเองเลยค่ะ ด้วยอายุเราไม่ได้ห่างจากนิสิตมากนัก ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ทำให้เข้าถึงพวกเขาได้ง่าย มีเรื่องคุยกันได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหาวิธีควบคุมชั้นเรียนให้สมดุลระหว่างความเป็นกันเองกับความจริงจัง อีกเรื่องคือประสบการณ์การสอนยังไม่ช่ำชอง บางทีเราคิดว่านิสิตอาจรู้เรื่องนี้แล้ว แต่จริงๆ อาจจะยังไม่เข้าใจ คงต้องปรับวิธีคิดให้เข้าใจนิสิตมากขึ้นค่ะ

มหาวิทยาลัยที่สนับสนุนทุกความฝัน

พี่มิ้นท์: ในฐานะที่ได้เป็นทั้งนิสิตและอาจารย์ มศว มหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนอะไรบ้างคะ

อาจารย์แนน: มหาวิทยาลัยสนับสนุนดีมากค่ะ โดยเฉพาะสำหรับผู้มีความบกพร่อง มีศูนย์ DSS (Disability Support Services) คอยดูแลเรื่องสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียน การปรับวิธีสอบ หรือการสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น อักษรเบล รถเข็น ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีเพื่อนนิสิตและอาจารย์ที่คอยช่วยเหลือกัน ตอนเป็นอาจารย์ทุกคนก็ให้การต้อนรับดีค่ะ ปรึกษาได้ 

ที่ Cosci อาจารย์ค่อนข้างสมัยใหม่ค่ะ บรรยากาศก็เป็นกันเอง และที่สำคัญให้เกียรติเราในฐานะเพื่อนร่วมงาน แถมทั้งเพื่อนตอนเรียนและอาจารย์ที่มอไม่ได้มีประเด็นเรื่องความพิการของเราเลยด้วย ประทับใจตรงนี้ค่ะ ^^

นอกจากนี้ฝากถึงน้องๆพิการ การสอบเข้าที่นี่ มีโควตาผู้พิการให้เลือกหลายคณะ หรือในสาขาที่อาจไม่ได้รับในโควตา ก็สามารถสมัครแข่งขันในรอบปกติได้เหมือนนักเรียน ม.6 ทั่วไป

พี่มิ้นท์: แพลนอนาคตของอาจารย์แนนเป็นยังไงบ้างคะ

อาจารย์แนน: วางแผนไว้ว่า ไม่เกิน 2 ปีคงต่อปริญญาเอก เตรียมตัวเรื่องการปรับพื้นฐานเรื่องภาษา กับการใช้ชีวิตในต่างแดนค่ะ เพราะคิดว่าคงลำบากหน้าดูกับสังขารและภาษาที่ใช้ไม่เหมือนกับความคุ้นชินของเราค่ะ ส่วนเรื่องการสอนก็อยากพัฒนาลูกเล่นในการสอนให้ดียิ่งขึ้นค่ะ

ฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังเลือกเส้นทางของตัวเอง

พี่มิ้นท์: สุดท้าย อาจารย์แนนมีอะไรฝากอะไรถึงน้องๆ ที่กำลังเลือกเส้นทางของตัวเองบ้างคะ

อาจารย์แนน: หลายคนอาจยังลังเลว่าอยากเรียนอะไรดี ถ้าสิ่งที่เราชอบยังไม่ชัดเจน อยากแนะนำให้ลองเริ่มจากสิ่งที่เราถนัดก่อน ประสบการณ์หาเอาข้างหน้าได้ เพราะมีเพื่อนหลายคนที่ทำงานไม่ตรงสายเช่นกัน แต่มหาวิทยาลัยจะช่วยให้เรามีความรู้พื้นฐานมากพอที่จะใช้ประกอบอาชีพในอนาคตค่ะ ดังนั้น ลองเปิดโอกาสให้ตัวเองดูนะคะ มหาลัยเป็นแค่ส่วนหนึ่งในเส้นทางแห่งการเรียนรู้อันแสนยาวไกลของชีวิตเราค่ะ ดังนั้นไม่ต้องท้อนะคะ เชื่อมันในเส้นทางที่ตัวเองเลือก จะเลือกที่ตัวเองชอบหรือที่ถนัด ก็ขอให้เต็มที่กับมัน แล้วสักวันนึง มันจะเป็นทางแห่งความสำเร็จของเราค่ะ! เป็นกำลังใจให้นะคะ <3

เกี่ยวกับนโยบาย 1 Faculty 1 Teacher
 

 

ผศ.ดร.ประภาภรณ์ โรจน์ศิริรัตน์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ได้พูดถึงโครงการ 1 Faculty  1 Techer ว่า เป็นนโยบายที่ต้องการสนับสนุนนิสิตที่มีความรู้ความสามารถและมีจิตสำนึกในความเป็นครู ให้เรียนต่อในระดับปริญญาโทจนถึงปริญญาเอก และกลับมาเป็นอาจารย์ให้กับมหาวิทยาลัย โดยมีทุนให้กับนิสิตทุกคณะ คณะละ 1 คน นิสิตสามารถเลือกสาขาที่ต้องการเรียนต่อได้เอง เป็นการส่งเสริมให้ศิษย์เก่าเข้ามาเป็นอาจารย์มากขึ้น  เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านวิชาการให้กับมหาวิทยาลัย

ไม่ว่าจะพี่ๆ Dek-D จะได้สัมภาษณ์ "พี่แนน" หรือ "อาจารย์แนน" ก็สัมผัสได้ถึงความตั้งใจจริง แม้จะอยู่ในสถานะที่เปลี่ยนไป แต่ความมุ่งมั่นไม่เคยเปลี่ยนเลย ซึ่งนอกจากความสามารถของอาจารย์แนนแล้ว ก็ต้องชื่นชมถึงโครงการใหม่ของ มศว 1 Faculty 1 Teacher  ที่จะเริ่มต้นขึ้นในปีนี้ เพื่อพัฒนานิสิตของคณะต่อๆ ไป ถือว่าเป็นนโยบายที่ต่อยอดได้ไม่สิ้นสุด

พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น