เมื่อย้อนกลับมาดูชื่อเรื่อง "Butterfly Effect" ก็รู้สึกสนใจคำๆ นี้เป็นพิเศษ เพราะนี่ไม่ใช่แค่ชื่อเรื่องธรรมดา แต่มันคือส่วนหนึ่งของทฤษฎีความยุ่งเหยิง (chaos theory) ซึ่งมีความลึกลับซับซ้อน และต้องมีหลายๆ ปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องจนเกิดผลกระทบที่คาดไม่ถึง สำหรับ Butterfly Effect หากเรียกเป็นภาษาไทยก็คือ ทฤษฏีผีเสื้อกระพือปีก โดยมีใจความอยู่ว่า "เรื่องเล็กๆ ก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต" เช่น ผีเสื้อธรรมดาตัวนึงกระพือปีก แม้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศแค่นิดเดียว แต่ภายหลังมันอาจก่อให้เกิดพายุทอร์นาโดได้ คล้ายกับเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว นั่นแหละค่ะ
แต่น่าแปลกที่ที่มาของทฤษฎีนี้ ไม่ได้เกิดจากการไปนั่งเฝ้าพฤติกรรมของผีเสื้อ แต่มีที่มาจากการค้นพบครั้งสำคัญจาก Edward N. Lorenz ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์และนักอุตุนิยมวิทยา เขาได้ออกแบบและจำลองคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการพยากรณ์อากาศ เมื่อปี ค.ศ.1961 เวลาจะคำนวณข้อมูลเพื่อพยากรณ์อากาศ เขาจะต้องกรอกตัวเลขเพื่อคำนวณ เมื่อเขาต้องการดูผลพยากรณ์ซ้ำ จึงต้องคำนวณอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เขาไม่อยากเสียเวลาจากการกรอกตัวเลขซ้ำๆ ทศนิยมหลายๆ หลัก จึงใช้ตัวเลขที่ได้บันทึกไว้ลงในแบบจำลองมาใช้อีกรอบและตัดเศษทศนิยมทิ้งไปให้เป็นตัวเลขสั้นๆ จาก 0.506127 เป็น 0.506 เพื่อให้คำนวณได้เร็วขึ้น แต่พอกลับไปดูผลการจำลองสภาพอากาศ ปรากฏว่าสภาพอากาศที่ออกมาครั้งแรกกับครั้งที่สองแตกต่างกันมากๆๆๆ
ภายหลังเขาจึงคิดได้ว่าข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไปเพียงเล็กน้อยจนดูเหมือนไม่ได้ผิดอะไร ถ้าได้คำนวณเรื่อยๆ ตัวเลขเหล่านั้นก็จะมีค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดความแตกต่างได้อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ เปรียบเสมือนผีเสื้อกระพือปีกอันเบาหวิวเพียงแค่นิดเดียว แต่ในอนาคตอาจทำให้บรรยากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม คำว่า Butterfly Effect นั้นเริ่มมาแพร่หลายจริงๆ ภายหลังที่ลอเรนซ์ได้ไปบรรยายหัวข้อ "Does the Flap of a Butterfly's Wings in Brazil Set Off a Tornardo in Texas?" นอกจากนี้แล้วยังอาจมีที่มาจากการคำนวณจนได้ผลออกมาเป็นกราฟผีเสื้อนั่นเอง
หลายคนคงเริ่มเก็ทแนวคิดทฤษฎีนี้แล้ว บางคนก็อาจจะงงๆ อยู่ว่ามันเกี่ยวข้องปรองดองกันได้ยังไง... ทุกๆ อย่างบนโลกนี้มันเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันหมดค่ะ และก็ส่งผลต่อกัน มีความสัมพันธ์กันเป็นทอดๆ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ เลย ถ้าป่าไม้อุดมสมบูรณ์ น้ำก็จะดี อากาศก็ดี คุณภาพชีวิตของคนก็ดี ตรงกันข้ามถ้าเด็ดดอกไม้แค่ดอกเดียว ถ้าดอกนั้นเกิดเป็นดอกไม้สุดท้ายของโลกใบนี้ แมลงก็ไม่มีอาหาร ก็ต้องตาย แมลงตายไปปุ๊บ สัตว์ที่กินแมลงก็ไม่มีอาหารก็ต้องตายไปอีก ส่งผลต่อกันไปเรื่อยๆ จนทำให้ระบบนิเวศพัง เมื่อนั้นแหละเราถึงจะรู้ว่าเรื่องแค่นิดเดียว ทำให้เกิดเรื่องใหญ่ได้เสมอ
....เมื่อลองกลับมานึกๆ ดูแล้ว สภาพอากาศอันเลวร้ายทั้งหิมะตก อากาศร้อน ปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ลานิลญ่า แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และอีกสารพัดเหตุการณ์ที่ทุกคนกลัวอยู่ทุกวันนี้ ก็ล้วนเกิดจากการสะสมความเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อย โดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัวเลยสักนิดเดียว (ซึ่งอาจจะสะสมมาเป็นพันๆ ปีแล้วก็ได้) เผลอๆ มนุษย์ทั้งนั้นแหละค่ะที่เป็นคนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
Butterfly Effect นี้ช่วยให้คนตื่นตัวเรื่องเล็กๆ ใกล้ตัวมากขึ้น ดังนั้นรู้ตั้งแต่ตอนนี้ก็ยังไม่สาย จะคิดหรือทำอะไรก็รอบคอบกันให้มากๆ นะคะ อย่างน้อยก็ลดความเสี่ยงผลกระทบในอนาคตข้างหน้า
http://en.wikipedia.org/wiki/Butterfly_effect,
www.math.psu.ac.th/html/en/Article/83-The-Butterfly-Effect.html,
www.chess.com/blog/bosco/what-is-the-butterfly-effect,
www.vanderbilt.edu/leadership/2013/12/the-butterfly-effect/
http://s209.photobucket.com/user/PokerStick/media/ButterflyEffect.jpg.html
ยอดถูกใจสูงสุด
เป็นความรู้ในการดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวัง และ รอบคอบ มากๆค่ะ ขอบคุณคร่าา ^^
นึกถึงการินคะ เรารู้จักทฤษฏีนี้ได้ก็เพราะการินคะ แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าใจมาก พอมาลองอ่านก็พอเข้าใจมากขึ้นเยอะเลยย
พอรู้แค่นี้แหละ ฆ่าผีเสื้อให้หมดดดดดดดดดดด
เคยเห็นในการ์ตูนการิน (ถ้าจำไม่ผิด) เหมือนกันค่ะ ตอนนี้ก็ได้รู้แล้วว่า Butterfly Effect คืออะไร ขอบคุณค่ะ
รักหนังเรื่องนี้ที่สุดในสามโลกกกกกกก พล็อตดีมาก เสียดายภาคต่อเข้มข้นไม่เท่าภาคแรก