เปิดใช้แล้ว! "Journey to the centre of the earth" เว็บที่พาคุณลงดิน ลึกสุดโลกถึง 6,370 กม.

    
          สวัสดีค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com หากใครติดตามบทความวิทย์จี๊ดสุดๆ บ่อยๆ ก็คงจำได้ว่าพี่มิ้นท์เคยแนะนำเว็บไซต์เจ๋งๆ เป็น infographic ที่จะทำให้เรารู้ขนาดของบนโลก ตั้งแต่เซลล์กะจิ๊ดริดไปจนถึงดาวในระบบสุริยจักรวาล วันนี้มีเว็บไซต์ให้ความรู้มาแนะนำอีกแล้วค่ะ แต่เปลี่ยนจากออกนอกโลกลงไปแกนโลกและใต้ท้องมหาสมุทรแทน
 

 

          ใต้พื้นโลกที่เราเหยียบอยู่ มีความลึกกว่า 6,370 กิโลเมตร  ระยะทางมากกว่าไป-กลับกรุงเทพ-ปักกิ่งอีกค่ะ ซึ่งถ้าแบ่งตามองค์ประกอบเคมี จะมีโครงสร้างคร่าวๆ คือ

               - เปลือกโลก (Crust) จะอยู่ชั้นนอกสุด ก็คือส่วนที่เรายืนอยู่นั่นเองมีทั้งดินและน้ำ องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นซิลิกาไดออกไซด์
              - เนื้อโลก (Mantle) ก็คือส่วนที่อยู่ถัดจากเปลือกโลกลงไปถึงระดับความลึก 2,900 กิโลเมตร มีซิลิคอนออกไซด์ แมกนีเซียมออกไซด์ และเหล็กออกไซด์ เป็นองค์ประกอบหลัก ในชั้นเนื้อโลกยังแบ่งได้เป็นอีก 3 ชั้น คือ เนื้อโลกตอนบนสุด (Uppermost sphere), เนื้อโลกตอนบน (Upper mantle) และเนื้อโลกตอนล่าง (Lower mantle)
             - แก่นโลก (Core) คือส่วนที่อยู่ตรงกลางในสุดของโลก มีเหล็กเป็นองค์ประกอบหลัก แบ่งออกเป็นแก่นโลกชั้นนอก (Outer Core) เหล็กในชั้นนี้จะมีสถานะเป็นของเหลว และแก่นโลกชั้นใน (Inner Core) เป็นชั้นที่มีความดันมหาศาลทับจนเหล็กมีสถานะเป็นของแข็ง

           ซึ่งความดันใต้พื้นโลกจะมีมากน้อยขนาดไหน และใต้พื้นโลกตั้งแต่กิโลเมตรแรกลงไปถึงแก่นโลก และผิวน้ำลงไปถึงจุดที่ทะเลลึกที่สุดจะเป็นยังไง ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ลองมาเล่นไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ

        

 

        เว็บไซต์ที่พี่มิ้นท์แนะนำในวันนี้ ขอเรียกว่า "Journey to the centre of the earth" ผลิตขึ้นโดย www.bcc.com (www.bbc.com/future/bespoke/story/20150306-journey-to-the-centre-of-earth/index.html) เป็นโปรแกรมที่ดีไซน์สวยงาม น่าเล่น จำลองชั้นโลกตั้งแต่พื้นโลกและผิวน้ำ และใช้เครื่องเจาะเป็นสัญลักษณ์ในการนำทางลงไปยังแก่นโลกค่ะ

  
 
         ด้านซ้ายจะเป็นฝั่งพื้นโลกลงไปแก่นโลก และด้านขวาจะเป็นฝั่งผิวน้ำลงไปก้นบึ้งมหาสมุทร
 

 
            เมื่อเราค่อยๆ เลื่อนเม้าส์ลงมาด้านล่าง จะมีจุดที่คอยอธิบายว่า ณ ตำแหน่งความลึกนั้นๆ มีอะไรอยู่บ้าง เป็นเกร็ดความรู้สั้นๆ (อ้อ! ไม่มีเวอร์ชั่นภาษาไทยนะคะ^^) ยกตัวอย่าง ที่ความลึกประมาณ 70 เซนติเมตร จะมีรังกระต่ายและโพรงตุ่น และตัวตุ่นยังสามารถขุดเป็นอุโมงค์เป็นทางยาวได้ถึงวันละ 20 เมตรต่อวันอีกด้วย


 
          ส่วนฝั่งทะเลก็คล้ายๆ กันค่ะ จะมีคำอธิบายว่าความลึกต่างๆ มีอะไรบ้าง ขอเสริมเป็นเกร็ดความรู้อีกนิดค่ะ เพราะน้องๆ จะได้เจอคำว่า Nitrogen Narcosis เยอะมากๆ "Nitrogen Narcosis" เรียกเป็นภาษาไทยว่า "ภาวะเมาไนโตรเจน" ค่ะ จะเกิดขึ้นเมื่ออยู่ใต้น้ำ นักดำน้ำจะรู้จักกันค่ะ ยิ่งลึกเท่าไหร่อาการก็จะมากขึ้นด้วย โดยจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า ณ ความลึกเท่านี้ จะมีภาวะเมาไนโตรเท่ากับการดื่มมาร์ตินี่กี่แก้ว ยกตัวอย่าง ลึก 10 เมตร จะเมาไนโตรเจนเท่ากับดื่มมาร์ตินี่ 1 แก้ว เป็นต้น



 
           ในดินกับในน้ำ มีอะไรบ้าง ดูพร้อมๆ กันได้เลย ณ ความลึก 100 เมตร มีสถานีรถไฟที่ลึกที่สุดที่ประเทศยูเครน และในน้ำลึก 108 เมตร มีซากเรือ K-141 KURSK เรือนิวเคลียร์ของรัสเซียที่จมลงเมื่อปี 2000



        เลื่อนลงมาเรื่อยๆ ฝั่งมหาสมุทรจะเจอจุดสิ้นสุดก่อนที่ความลึกประมาณ 11,000 เมตร ซึ่งเขาบอกเลยว่าคนไปดวงจันทร์ยังมีเยอะกว่าคนมาที่จุดนี้อีก จุดนี้เราเรียกกันคุ้นหูว่าชาเลนเจอร์ ดีป (Challenger Deep) นั่นเอง


 
          ส่วนฝั่งใต้พื้นโลก จะมีจุดบอกเป็นระยะว่าตอนนี้ถึงชั้นไหนของใต้พื้นโลกแล้ว จุดนี้เป็นจุดต่อระหว่างเปลือกโลก (crust) และเนื้อโลกตอนบน (upper mantle) มีบอกแรงดันของความลึกระดับนั้นๆ โดยอธิบายให้เห็นภาพชัดมากๆ เพราะใช้จำนวนช้างเป็นตัวเปรียบเทียบว่าเหมือนมีช้างกี่ตัวทับเราอยู่ อื้อหือ! นี่ขนาดยังไปไม่ถึงแก่นโลก ก็เท่ากับมีช้าง 131 ตัวแล้วหรอเนี่ย ถ้าอยากรู้ว่าจุดกึ่งกลางของโลกจะมีแรงดันเท่ากับช้างกี่ตัว ก็ลองไปเล่นกันดูนะคะ
 
ชี้ทางไปเล่น >> คลิก <<

           เห็นมั้ยคะว่าพอมองวิทยาศาสตร์ออกจากตำราแล้วสนุกขึ้นเยอะเลย เพราะโลกของวิทยาศาสตร์นั้นกว้างมากๆ ออกไปนอกโลกก็ได้ ลงไปใต้โลกก็ยังได้ พี่มิ้นท์หวังว่าเป็นอีกเว็บนึงที่ทำให้น้องๆ ได้ความรู้เพิ่มเติมทั้งวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ และหวังว่าจะรักวิทยาศาสตร์กันมากขึ้นนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพประกอบจาก
www.bbc.com/future/bespoke/story/20150306-journey-to-the-centre-of-earth/index.html,
www.lesa.biz/earth/lithosphere/earth-structure/chemical-structure

 
       

 
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด

6 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด