9 วิธีน่าลอง! ค้นหาตัวเองฉบับง่ายๆ รู้ทันทีว่าเราเหมาะกับอะไร


          สวัสดีค่ะ ปฏิเสธไม่ได้เลยนะคะว่าขั้นต่อไปในการเรียนของน้องๆ มัธยม ก็คือ การสอบเข้ามหาวิทยาลัย หลายคนโชคดีที่มีเป้าหมายและรู้ว่าตัวเองอยากเข้าอะไร แต่ก็ยังมีอีกหลายคนค่ะ ที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ ว่าก้าวต่อไปในชีวิต เราหวังที่จะเป็นอะไรกัน ถ้ายิ่งค้นหาตัวเองเจอเร็วเท่าไหร่ เราก็จะสามารถวางเป้าหมายและมีแรงจูงใจในความพยายามที่จะไปถึงให้ได้
 

         ปิดเทอมนี้พี่อีฟเลยขอเอาเทคนิคในการค้นหาตัวเองมาฝาก สำหรับน้องๆ อีกหลายคนที่ยังไม่มีคำตอบให้กับตัวเอง ว่าตัวเราอยากเป็นอะไร เหมาะหรือไม่เหมาะกับคณะไหน สายการเรียนอะไร ทั้งๆ ที่บางคนก็สามารถค้นหาตัวเองเจอได้อย่างรวดเร็ว แต่กับบางคน การค้นหาตัวเองอาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น เริ่มทำตอนนี้ก็ยังไม่สายนะคะ ลองทำตามกันได้เลยค่ะ

         
► 1. ไปเข้าค่าย
          ถือว่าเป็นกิจกรรมยอดนิยมของน้องๆ ในยุคนี้เลยนะคะ เพราะเดี๋ยวนี้มักจะมีค่ายที่เกี่ยวกับคณะ หรืองานเปิดบ้าน (open house) ของคณะหรือมหาวิทยาลัย เพื่อให้น้องๆ ได้มีโอกาสจำลองการใช้ชีวิตเป็นนิสิตนักศึกษาของแต่ละสถาบัน ซึ่งน้องๆ ก็มักจะให้ความสนใจทุกครั้งค่ะ
          รุ่นพี่หลายคนแนะนำว่าการลองไปเข้าค่ายเป็นวิธีที่ดีมากค่ะ น้องๆ จะได้ไปเจอกับวิชาเรียน หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคณะที่เรียน เช่น คณะแพทยศาสตร์ น้องๆ อาจจะได้ดูการผ่าอาจารย์ใหญ่ หรือคณะทันตแพทยฯ น้องๆ อาจจะได้มีโอกาสลองคราฟฟัน เป็นต้นค่ะ ถ้าลองไปเข้าแล้วใช่กว่าเดิม ก็จะได้พุ่งเป้ามาคณะนี้เลย แต่ถ้าลองแล้วไม่ใช่ ก็จะได้เริ่มต้นค้นหาตัวเองใหม่ได้ทันค่ะ ใครไม่รู้จะไปหาค่ายต่างๆ ได้จากไหน ก็เข้าไปค้นหาใน หมวดกิจกรรมของ Dek-D ได้เลย ไม่พลาดกิจกรรมดีๆ แน่นอนค่ะ

         
► 2. พูดคุยกับรุ่นพี่
          อีกหนึ่งเทคนิคที่น้องๆ หลายคน น่าจะเคยทำกันมาบ้างแล้ว นั่นก็คือ การพูดคุยกับรุ่นพี่ในสาขาอาชีพ ในคณะ หรือในแผนการเรียนที่เราสนใจ นอกจากอายุที่ไม่ห่างกันมาก ทำให้สามารถพูดคุยกันได้อย่างสนิทสนมและเข้าใจ รุ่นพี่ยังถือว่าเป็นอีกคนที่เราถือว่าผ่านประสบการณ์มาก่อนเรานั่นเอง
          น้องๆ อาจจะปรึกษาได้ตั้งแต่เรื่องการเรียน การสอบเข้า ไปจนถึงกิจกรรมในชั้นมัธยมปลาย ในมหาวิทยาลัย การเรียน การสอบเข้า การอยู่หอ การใช้ชีวิต ฯลฯ ใครที่นึกไม่ออกว่าเราจะหารุ่นพี่ที่สามารถพูดคุยกันได้จากที่ไหน ก็สามารถเริ่มได้จากรุ่นพี่ข้างบ้าน รุ่นพี่ในโรงเรียน หรือแม้กระทั่ง น้องๆ สามารถมาแลกเปลี่ยนคำถามและความคิดเห็น กับพี่ๆ ในบอร์ด Dek-D ได้เลยค่ะ

 

          ► 3. ทำแบบทดสอบ
          ใครจะไปคิดคะว่าแบบทดสอบที่เราเล่นๆ กันอยู่ จะแฝงการค้นหาตัวเองแบบง่ายๆ ใช่แล้วค่ะ! เพราะทุกคำตอบที่เราตอบมักจะแสดงถึงบุคลิกภาพ ความสนใจ รวมไปถึงนิสัยของเราด้วย ดังนั้น น้องๆ ลองหาแบบทดสอบด้านอาชีพ หรือแบบทดสอบความถนัดมาลองทำดู ไม่แน่ว่าเราอาจจะค้นพบความถนัดของเราก็ได้
          แต่อย่าลืมนะคะว่าแบบทดสอบ เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการตัดสินใจเท่านั้น ไม่ใช่เครื่องมือเพียงเครื่องมือเดียว ดังนั้น ถ้าทำแล้วไม่ตรงกับความสนใจของเรา ก็อาจจะเก็บไว้พิจารณาเป็นทางเลือก แต่อย่าเลือกตัดสินตัวเองจากแบบทดสอบทั้งหมดค่ะ


          ► 4.  อย่าทิ้งความฝัน
          พี่อีฟเชื่อแน่ๆ ว่า น้องๆ ทุกคนต้องมีความฝันวัยเด็ก ที่เวลาไปเที่ยวงานวันเด็ก หรือในช่วงชั้นอนุบาลที่ใครๆ มักจะถามเราว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร พี่อีฟอยากให้น้องๆ ลองนึกดู ว่าช่วงเวลาเหล่านั้น เรามีความฝันอะไรกันบ้าง เพราะจริงๆ แล้วความฝันของเรานั้น อาจจะยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อโตขึ้นก็ได้ค่ะ
          ใครที่ตอนนี้กำลังนึกไม่ออกว่า อยากเรียนอะไร หรือสนใจด้านไหน ลองนึกย้อนกลับไปถึงความฝันในวัยเด็ก ที่เราอาจจะเผลอทิ้งหรือลืมมันไปเพราะคำพูดของคนอื่น อย่าทิ้งความฝันที่เคยมีไปนะคะ ถ้าจะต้องทิ้งก็ขอให้เป็นเพราะเรามีความฝันอื่นที่สนใจมากกว่า หรือเราค้นพบแล้วว่าความฝันในวันนี้กับในวัยเด็กเป็นคนละอย่างกัน ขอให้เราเป็นคนเลือกด้วยตัวเองดีที่สุดค่ะ

 

          ► 5. ถามตัวเองว่าอะไรที่เสียใจ ถ้าไม่ได้ทำ
          เป็นอีกหนึ่งวิธีที่พี่อีฟใช้กับทุกเรื่องเวลาที่ต้องตัดสินใจเลยนะคะ ลองคิดดูว่าสิ่งที่เราต้องการในชีวิตมีอะไรบ้าง แล้วสิ่งเหล่านั้นมีอะไรที่ในชีวิตนี้เราต้องทำให้ได้ หรือถ้าไม่ได้ทำคงเสียใจไปตลอดชีวิตแน่ๆ เพราะมันอาจจะกลายเป็นเป้าหมายสำคัญของเราในอนาคตเลยก็ได้
           คณะไหนที่เราจะเสียใจที่ไม่ได้เข้า อาชีพไหนที่เราจะเสียใจที่ไม่ได้ทำ พี่อีฟมั่นใจว่าอย่างน้อยจะต้องมี 1-2 สิ่งที่แว้บเข้ามาในหัวของน้องๆ แน่นอน ดังนั้น ถ้าเจอสิ่งที่เราจะเสียใจที่ไม่ได้ลงมือทำ ก็รีบลงมือทำมันดีกว่านะคะ


          ► 6. เรียนรู้ที่จะเป็นตัวของตัวเอง
          น้องๆ หลายคนที่พี่อีฟพูดคุยด้วย มีแนวโน้มที่จะเลือกหรือตัดสินใจสิ่งต่างๆ จากกลุ่มเพื่อนค่ะ ซึ่งพี่อีฟขอบอกเลยว่า ถ้าตั้งใจที่จะค้นหาตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญที่เราควรจะมีคือ การเป็นตัวของตัวเอง ต้องชัดเจนในสิ่งที่เราชอบและไม่ชอบ และต้องไม่ปฏิเสธสิ่งที่เป็นตัวเรา เพราะไม่ว่าทำอะไรก็ตาม ถ้าหากได้ทำสิ่งที่ชอบและถนัดก็จะทำให้เราทำสิ่งนั้นได้ดีเสมอ
          ความชอบและความสามารถพิเศษของเราสามารถต่อยอดได้ทั้งการเรียนและการทำงานเลยนะคะ ถ้าเราเป็นตัวของตัวเอง ยืนยันในสิ่งที่ตัวเองรัก ถึงใครจะบอกว่าไร้สาระ แต่ถ้าเอาคำพูด คำวิจารณ์ของคนอื่นมาเป็นแรงผลักดัน พี่อีฟเชื่อว่า น้องๆ จะต้องประสบความสำเร็จกับสิ่งที่ตั้งใจไว้แน่นอนค่ะ

 

          ► 7. หาวิชาที่ชอบและไม่ชอบ
          ใครจะคิดว่าแค่วิชาที่เราชอบหรือไม่ชอบ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นหาตัวเองได้ แต่บอกเลยว่าพี่ๆ หลายคนก็เลือกสายการเรียน หรือเลือกคณะที่ตนเองสนใจจากวิชาเหล่านี้ค่ะ เช่น ถ้าน้องๆ เป็นคู่ปรับกับคณิตศาสตร์มาตลอด เจอกันเมื่อไหร่ไม่เคยรอด แต่ชอบวิชาด้ายสายภาษา วิชาที่เน้นการท่องจำ ก็อาจจะเลือกเรียนสายการเรียนศิลป์ภาษาหรือเลือกคณะทางด้านภาษาค่ะ หรือถ้าน้องๆ คนไหนรักคณิตศาสตร์ แต่เรียนวิทยาศาสตร์ทีไรไม่ไหวทุกที ก็อาจจะเลือกเรียนศิลป์คำนวณ หรือเลือกคณะที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณก็ได้ เป็นต้นค่ะ
           ลองเลือกวิชาที่เราสนใจ ลองลิสต์รายชื่อใส่กระดาษ ลองตัดออกเรื่อยๆ ก็จะมองเห็นภาพมากขึ้นค่ะ ใครที่กำลังมีปัญหากลุ้มใจกับการเลือกสายการเรียน พี่อีฟว่าวิธีนี้เหมาะมากเลยเลยค่ะ ที่จะช่วยให้น้องๆ ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

          
► 8. ลงมือทำ
          สิบปากว่าก็ไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นก็ไม่เท่าลงมือทำ คำพูดนี้ยังเป็นจริงอยู่ทุกยุคทุกสมัยเลยนะคะ เพราะจริงๆ แล้ว บางทีความคิดก็หลอกเราค่ะ เราอาจจะคิดว่าเรียนวิชานี้ได้ แต่พอลองลงมือทำจริงๆ อาจจะทำให้รู้ว่าที่เราคิดมามันผิดหมดเลย ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกอะไร พี่อีฟอยากให้น้องๆ ได้ลองลงมือทำในสิ่งนั้นแล้วค่ะ
          เช่น ลองทำงานพิเศษ ลองทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราสนใจ ลองทำสิ่งที่เราสนใจทุกวัน ดูว่าเราจะเบื่อรึเปล่า ถ้าเราต้องอยู่กับสิ่งนั้นไปตลอดชีวิต ลองไปเวิร์คช้อปหรือทำกิจกรรมอาสาที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราสนใจถ้าน้องๆ ได้ลองลงมือทำแล้วพบว่า มันมีความสุขอย่างที่คิดไว้ ก็แสดงว่าเรากำลังเจอเส้นทางของเราแล้วค่ะ

 

          ► 9. อย่ายึดติด
          สุดท้ายแล้ว พี่อีฟอยากจะบอกน้องๆ ว่า ความชอบของเรามันอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาค่ะ วันนี้ชอบ พรุ่งนี้อาจไม่ชอบ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้าวันนี้ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ วันพรุ่งนี้ก็อาจจะเจอได้ค่ะ หรือบางสิ่งที่วันนี้มันใช่สำหรับเรามากๆ วันหน้าอาจจะไม่ใช่แล้วก็ได้ อยากให้เราลองทำตามที่ตัวเองต้องการ ถึงมันอาจจะไม่ใช่ทางที่สบาย หรือมันอาจจะเป็นคนละอย่างกับที่เคยคิดไว้ ก็ขอให้เราเชื่อมั่นในตัวเอง
          ถ้าเรายังยึดติดกับสิ่งเดิมๆ โดยที่จริงๆ แล้ว ตัวเองไม่ได้ต้องการสิ่งนั้นแล้ว อาจจะทำให้เราทุกข์ใจกว่าเดิมก็ได้ค่ะ ลองหาข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ สำรวจตัวเองให้เต็มที่ก่อนเลือกอะไร สุดท้ายแล้วมันจะใช่สิ่งเดียวกันกับความชอบในตอนแรกหรือไม่ พี่อีฟก็เชื่อว่าน้องๆ จะมีความสุขที่ได้ตัดสินใจเลือกแล้วค่ะ



          เป็นยังไงบ้างคะ กับ 9 วิธีค้นหาตัวเองนี้ พี่อีฟเชื่อว่ายิ่งเราค้นหาตัวเองเจอเร็วเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะสามารถตั้งเป้าหมายความฝันหรือตั้งเป้าหมายในชีวิตได้เร็วมากเท่านั้น ไม่ใช่แค่คณะเป้าหมายที่เราสนใจ แต่จริงๆ แล้ว การมีเป้าหมายมันสำคัญตั้งแต่น้องๆ ต้องเลือกสายการเรียนเลยค่ะ ดังนั้น เวลาปิดเทอมที่มีอยู่ พี่อีฟก็อยากให้น้องๆ ลองค้นหาตัวเองดูค่ะ ไม่แน่ว่าเราอาจจะตั้งเป้าหมายได้ตั้งแต่ปิดเทอมนี้เลยก็ได้ค่ะ :D
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

8 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Lemon Live Member 31 มี.ค. 59 22:05 น. 2-1
ไม่ควรนะ ถ้าอยากเป็นหมอจริงๆ เราแนะนำให้ไปเรียนเพิ่มนิดหน่อย แล้วก็พยายามทบทวน หรือลองหาหนังฝรั่ง การ์ตูน ที่มีซับอิง หรือพากย์อิง เพื่อเป็นการฝึกฟังนะ ถ้าอยากเป็นหมอจริงๆอ่ะ ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคหรอก ขอแค่มีความขยัน เชียร์ลีดเดอร์
0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
มุกอ่ะมุกมุกก 11 พ.ค. 59 18:33 น. 6
ใช้เว็บค้นหาตัวเองมาหลายเว็บแล้วตอบตรงสิ่งที่คิดทุกข้อ แต่ผลลัพธ์เหมือนไม่ใช่ตัวเราเอ่อ..
0
กำลังโหลด
H20 ginger Member 11 พ.ค. 59 22:04 น. 7

เกิดมาเป็นคนที่ชอบดนตรีกับการเขียนนิยายมาก....

แต่พ่อกับแม่อยากให้เราเป็นหมอ โดยบอกว่าอาชีพพวกนี้จะทำให้หนูสบายนะลูก... 

0
กำลังโหลด
hardcarryout Member 20 ธ.ค. 59 21:40 น. 8

ผมฝันอยากเป็นนักเขียนครับ แต่ติดตรงที่ตัวเอง เป็นคนไม่ค่อยมีหัวในเรื่องการินตนาการเท่าไหร่

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด