"ส้ม" คนจริง! อยากเป็นนักธรณีตั้งแต่เด็ก วางแผนการเรียนเองตั้งแต่ ม.3 จนตอนนี้ติดรับตรง จุฬาฯ


 
   
        สวัสดีน้องๆ ชาว Dek-D.com ค่ะ บอกเลยว่า Student Idol วันนี้เหมาะกับทั้งน้องๆ ม.ต้น ม.ปลาย เด็กประถมจะเข้ามาอ่านด้วยก็ได้ไม่ว่ากัน รับประกันว่าอ่านแล้วได้แรงบันดาลใจในการทำความฝันให้สำเร็จ เพราะ "น้องส้ม" คนนี้วางแผนอนาคตตั้งแต่ ม.3 ! แล้วค่อยๆ ลงมือเลือกแผนการเรียน ค่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้จนสอบติด จุฬาฯ ในสาขาที่ต้องการได้สำเร็จ อยากรู้จักมากขึ้นกว่าเดิมแล้วใช่มั้ยคะ ไปทำความรู้จักกันเลยจ้า



Profile
ชื่อเล่น : ส้ม
แผนการเรียน : วิทย์ - คณิต
งานอดิเรก : เล่นกีฬา ดูหนัง อ่านหนังสือ
ที่เที่ยวที่ชอบไป : สยาม ตลาดรถไฟรัชดา อ่าวมะนาว
สไตล์การเรียน : เรียนบ้างเล่นบ้าง กะเอาให้พอดี ๆ จะได้ไม่เครียดไป แล้วก็เชื่อมโยงเนื้อหาที่เรียนเข้าด้วยกันจะได้เข้าใจได้อย่างดีและไม่ลืมง่าย
IG : som_so_1820


   พี่มิ้นท์ : สวัสดีค่ะน้องส้ม แนะนำตัวให้เพื่อนๆ น้องๆ ชาว Dek-D.com รู้จักหน่อยค่ะ
   น้องส้ม : สวัสดีค่ะ ชื่อ นางสาว ศุภากร ศุภผลถาวร ชื่อเล่นชื่อส้ม กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ห้องเรียน วิศว์ - วิทย์ ดรุณสิกขาลัย (โครงการ วมว.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ตอนนี้เกรด 5 เทอมถ้านับตามวิชาหลักสูตร สพฐ. (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิต ฯลฯ) อยู่ที่ 3.90 ส่วนถ้าเป็นเกรดวิชาบูรณาการตามหลักสูตรโรงเรียนจะอยู่ที่ 3.92 ปกติอยู่โรงเรียนเป็นคนเฮฮา ติดเพื่อน ค่อนข้างแอคทีฟกับการทำงานที่ชอบ แล้วก็ชอบเล่นกีฬาค่ะ


 

   พี่มิ้นท์ : ขอถามถึงโรงเรียนกันก่อนเลย ปีที่ผ่านมาโรงเรียนนี้เป็นที่พูดถึงมากเลย ที่นี่ต่างจากสายวิทย์ของโรงเรียนอื่นมากแค่ไหนคะ
   น้องส้ม :
ที่โรงเรียนก็จะสอนเป็นแบบ Story-based learning ค่ะ คือเอาประวัติศาสตร์กับสังคมเป็นแกนกลางแล้วเชื่อมโยงเนื้อหาในทุกวิชาเข้ามาตามแต่ละยุคสมัย อย่างวิชา “The Navigator” จะถูกเชื่อมโยงด้วยเนื้อหาต่างๆ เช่น การดูดาว ตรีโกณมิติ เส้นทางสายไหม กระแสน้ำ กระแสลม การระบุตำแหน่ง เป็นต้น ซึ่งการเรียนแบบนี้จะทำให้เราเชื่อมโยงและวิเคราะห์เนื้อหาที่ได้รับมาอย่างเป็นระบบมากกว่าการนั่งเรียนแยกเป็นวิชาๆ ไปค่ะ ส้มเองเคยเขียนกระทู้เกี่ยวกับโรงเรียนไว้หลายกระทู้เลยค่ะ น้องๆ ที่สนใจสามารถตามอ่านได้จากบทความด้านล่างนี้

   โรงเรียนน่าอยู่ : โรงเรียนดรุณสิกขาลัย
   10 เรื่องเด็ดรอบรั้วโรงเรียนดรุณสิกขาลัย 
   ไขข้อสงสัยแบบจัดเต็ม! ดรุณสิกขาลัยฯ (DSIL) และ ดรุณสิกขาลัย วมว. (ESC)

   พี่มิ้นท์ : กดดันไหมคะ กับหลักสูตรที่เข้มข้นกว่าที่อื่น
   น้องส้ม : กดดันมากค่ะ เพราะโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทางกระทรวงฯ ก็มีข้อบังคับว่าต้องรักษาเกรดให้มากกว่า 3.00 ต่อปี ไม่อย่างนั้นจะหลุดทุนและต้องจ่ายเงินเรียนเอง ตอนเข้ามาตอนแรกก็เครียดมากด้วยหลายเหตุผลคือเรากลัวหลุดทุน และเราก็เรียนตามคนอื่นไม่ค่อยทันในบางวิชาเนื่องจากตอนเข้ามาไม่ได้เรียนพิเศษเลย แล้วเรียนคณิตไม่รู้เรื่อง เกรดคณิตตอนนั้นก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่ค่ะ
        นอกจากนี้โรงเรียนก็ตัดเกรดอิงกลุ่ม (+แอบอิงเกณฑ์เล็กน้อยจากที่เคยได้ยินมา) ทำให้ตอนสอบปลายภาคต้องฟิตมากๆ ช่วง ม.5 ก็เครียดหนักเลยค่ะเพราะงานเยอะแล้ววิชาเรียนก็ยากด้วย โรงเรียนเราเรียนแคลคูลัสตอน ม.5 เทอม 1 แถมเรียนถึงเทคนิคการอินทิเกรต 3 แบบ ที่โรงเรียนทั่วไปอาจจะไม่ได้เรียนกัน แต่ก็รอดมาได้เพราะเพื่อนช่วยกันติวตอนสอบค่ะ



   พี่มิ้นท์ : ตอน ม. 3 มีวิธีตัดสินใจเลือกแผนการเรียนยังไงคะ เผื่อเป็นไอเดียให้กับน้องๆ
   น้องส้ม : ส้มสนใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์และธรณีวิทยามาตลอดตั้งแต่เด็ก จริงๆ ตอนนั้นคือมั่นใจมากว่ายังไงก็สายวิทย์แน่นอน ทางบ้านก็สนับสนุนด้วยค่ะ ซึ่งในอาชีพที่ส้มอยากเป็นก็พอรู้มาว่าต้องเรียนสายวิทย์นะ แล้วไปต่อด้านธรณีวิทยาอีกที ก็เลยพยายามมาสายนี้ แล้วการเรียนสายวิทย์เหมือนเพิ่มโอกาสให้เราตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยเผื่อว่าเราเปลี่ยนใจอยากไปเรียนสายศิลป์บ้างก็ยังพอเลือกได้
       แอบสารภาพว่าตอนนั้นก็แอบมีหวั่นไหวบ้างนะว่าจะไปเรียนสายศิลป์ดีมั้ย ภาษาอังกฤษเราก็ไม่ได้แย่นะ กลัวว่าจะเรียนวิทย์คณิตไม่ไหว โดนรุ่นพี่ขู่มาเยอะ สุดท้ายก็ตัดสินใจว่าสายวิทย์แล้วกัน ลองดู ถ้าจะให้แนะนำก็คือดูที่เราชอบและดูที่เราเรียนไหวค่ะ แนะนำให้ลองทำกิจกรรมเยอะ ๆ ค้นหาตัวเองดูว่าชอบอะไรแล้วทำอะไรได้ดี น่าจะเป็นตัวเอาไว้ชั่งน้ำหนักในการเลือกเรียนได้ดีค่ะ

   พี่มิ้นท์ : วิชาไหนที่เรียนแล้วใช่ตัวเรามากที่สุด และมีเทคนิคเรียนวิชานั้นอย่างไรบ้าง
   น้องส้ม : ถ้าเป็นวิชาตาม สพฐ. ก็คงจะเป็นกลุ่มวิทย์กายภาพค่ะ ก็อย่างที่บอกค่ะว่าส่วนตัวส้มชอบธรณีวิทยากับดาราศาสตร์อยู่แล้ว ส่วนวิชาตามหลักสูตรโรงเรียนก็ชอบ Phuwiangosaurus sirindhornae กับ The Marriage of Figaro ค่ะ ไม่ได้เกี่ยวกับธรณีวิทยาหรือดาราศาสตร์มากเท่าไหร่ แต่ชอบตัววิชาที่ถึงแม้จะไม่ได้เชื่อมโยงขนาดวิชาอื่นแต่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก
      เทคนิคในการเรียนก็เน้นการอ่านและใช้สื่อการเรียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะสื่อเหล่านี้จะช่วยให้เราเห็นภาพมากกว่าการอ่านแต่ตัวหนังสือ อย่างเรื่องดาราศาสตร์ก็ใช้โปรแกรม Stellarium โหลดฟรี เป็นท้องฟ้าแบบ real time และมีข้อมูลดาวที่ครอบคลุมมากค่ะ หรือถ้าไม่สะดวกก็ลองดูวิดีโอการสอนใน Youtube ที่ตอนนี้มีเยอะมากและดีมาก แถมได้ฝึกภาษาอังกฤษไปด้วย แนะนำแชนแนล TedEd, Veritasium, Thoughty2, CrashCourse ซึ่งมีเนื้อหาครบเกือบจะทุกเรื่อง สามารถใช้ได้กับทุกวิชาค่ะ

 

   พี่มิ้นท์ : โอ้โห ฟังดูแล้ว น้องส้มหาความรู้นอกห้องเรียนเยอะมากๆ
   น้องส้ม : ใช่ค่ะ ถึงโรงเรียนจะสอนเข้มข้นแค่ไหน แต่ส้มก็ยังรู้สึกว่าในสิ่งที่เราสนใจ ยังมีช่องทางในการเก็บเกี่ยวความรู้อีกเยอะค่ะ นอกจากพวกสื่อการเรียนการสอนที่ส้มบอกไปข้อที่แล้ว ส้มจะพยายามทำกิจกรรมนอกห้องเรียน การไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนก็ทำให้ได้ความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้ทำมาก่อน อย่างการไปฟัง TEDxKMUTT เมื่อปลายปีที่แล้ว งานจัดเพื่อให้เกิดการแชร์ไอเดียผ่านทาง Speakers และยังมีกิจกรรมอื่นในงานอีก (ลองดูย้อนหลังได้ที่ https://goo.gl/n4wyVt)
 

       รวมทั้งการไปเข้าร่วมค่ายและจัดค่ายต่างๆ เช่น เข้าร่วมค่าย YLSC #21 (ชมรมการศึกษา วิทยาศาสตร์ จุฬาฯ), รามาปณิธาน #20, จัดค่ายวิชาการให้นักเรียนโรงเรียนมัธยมพระราชทานนายาว, จัดค่ายอาสาพัฒนาโรงเรียนชนบท เป็นต้น เราเองได้เห็นมุมมองผ่านทั้งน้องที่ร่วมค่ายและสตาฟที่จัดค่าย ทำให้ได้ประสบการณ์ในการจัดการงาน การทำงานเป็นทีม และการใส่ใจผู้อื่นค่ะ นอกจากกิจกรรมที่ค่อนข้างวิชาการแล้ว เราก็ยังไปร่วมกิจกรรมอื่นอีกค่ะ เช่น งานวิ่ง Mini Marathon, อาสาเล่นดนตรีให้ผู้ป่วยฟัง ฯลฯ
      ล่าสุดได้รับการติดต่อให้ไปเป็นวิทยากรในช่วง NICFD Talk ของการประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ระดับชาติ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ "คุณภาพเด็กปฐมวัย คุณภาพประเทศ" ที่จัดโดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ร่วมกับ สสส. ด้วยค่ะ
 

 


   พี่มิ้นท์ : และวิชาไหนที่รู้สึกยากที่สุด และมีเทคนิคในการเรียนยังไงให้ผ่านมาได้
   น้องส้ม : แคลคูลัสเลยค่ะ เป็นแคลเพียวๆ อยู่ในวิชา Math of Change (คณิตศาสตร์กับการเปลี่ยนแปลง) จะลำบากหน่อยช่วงแรกกับช่วงท้าย เพราะตอนเปิดเรื่องลิมิตมาก็งงมากว่าเฮ้ย! มันคืออะไร! ไม่เข้าใจเลย ตอนดิฟจะสบายหน่อยไม่ยากมาก แต่พอขึ้นอินทิเกรตก็แทบลมจับ ตามที่สอนพิเศษไม่มีสอนด้วยต้องฝึกเอง สุดท้ายก็ผ่านมาได้ค่ะ เทคนิคคือทำโจทย์เยอะๆ พอทำไปซักพักจะเข้าใจว่า อ๋อ ดิฟอย่างงี้มันต้องใช้สูตรแบบไหน อินทิเกรตติดแบบนี้ต้องวาดสามเหลี่ยม อะไรแบบนี้ มันจะเป็นอัตโนมัติไปเลยค่ะ

   พี่มิ้นท์ : เห็นว่าตอนนี้สอบติดธรณีวิทยา จุฬาฯ แล้ว ทำไมเราถึงอยากเป็นนักธรณีวิทยา แล้วตลอดเวลาที่ผ่านมา ไม่มีคิดเปลี่ยนใจบ้างหรอ
   น้องส้ม : ถามว่าเปลี่ยนใจมั้ย มีบ้างค่ะ จะลังเลมากๆ ช่วง ม.ต้น เหมือนเป็นช่วงค้นหาตัวเองแล้วเราได้ไปแคนาดาก็ได้เห็นอาชีพอื่นๆ ในมุมที่ไม่เคยเห็นที่ไทย ถ้าให้ไล่ตั้งแต่เด็กก็อยากเป็นนักดาราศาสตร์ พอประถมปลายอยากเป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติ แล้วก็อยากเป็นครู มัธยมต้นก็อยากเป็นสัตวแพทย์ วิศวกร สุดท้ายก็จบที่นักธรณีวิทยา ยึดความฝันนี้มาตั้งแต่ประมาณ ม.3 ค่ะ ที่อยากเรียนเพราะว่าการต้องไปทำงานหรือวิจัยคือต้องไปเดินป่า ปีนเขา หรือถ้าเรียนเกี่ยวกับปิโตรฯ ก็ต้องไปทำงานตามแท่นขุดเจาะ คิดว่าน่าสนุกดี
      ต้องขอขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ด้วยค่ะ เพราะตอนเด็กๆ เขาจะชอบพาไปเข้าค่ายเกี่ยวกับโลกและดาราศาสตร์อยู่บ่อยๆ เราก็เป็นคนลุยๆ แอคทีฟอยู่แล้วเลยน่าจะมีความสุขกับงานที่ทำมากๆ บวกกับพอขึ้น ม.ปลาย ได้เรียนเกี่ยวกับธรณีวิทยาในเนื้อหาที่ลึกขึ้น และได้มีโอกาสไปเดินป่าตามหาอุกกาบาตไทรโยคที่จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้ยิ่งชอบขึ้นไปอีก รู้สึกว่าโลกเรามีอะไรน่าค้นหาอีกเยอะแยะเลย


 

   พี่มิ้นท์ : อยากให้เล่าหน่อยว่า เราเตรียมตัว วางแผน เกี่ยวกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง
   น้องส้ม : ต้องบอกก่อนว่าส้มติดรับตรงพิเศษของจุฬาฯ โครงการนี้ไม่ได้ใช้คะแนนสอบนะคะ เพราะเป็นโครงการพิเศษ ใช้แค่เกรดกับผลงานโปรเจคตอนไป วมว. Forum ตอนสมัครไปก็ค่อนข้างกลัวไม่ติดเหมือนกันค่ะเพราะรับแค่ 4 คน ช่วงนั้นเลยต้องหาแผนสำรองด้วยการทำคะแนน 9 วิชาสามัญกับ GAT ให้ดี จะได้ใช้รอบรับตรง (รับตรงปกติ วิทยาฯ จุฬาฯ ใช้ GAT, 9 วิชาสามัญ วิชา เคมี, ฟิสิกส์, ชีววิทยา, คณิต อย่างละ 20% และมีขั้นต่ำวิชาละ 40%) คือถ้าไม่ติดครั้งแรก เราก็ต้องสอบให้ติดให้ได้
     ส่วนเรื่องการเตรียมตัวก็ลงคอร์สแอดมิชชั่นในวิชาที่คิดว่าเราทำได้ไม่ค่อยดีหรือต้องการทบทวนพวกสูตร เช่น คณิต ฟิสิกส์ เคมี ลงไว้ตั้งแต่ประมาณ ม. 5 เทอม 2 ค่ะ แล้วอ่านทวนชีววิทยาเท่าที่ไหว ซึ่งค่อนข้างชิลกับวิชานี้เพราะโรงเรียนสอนหมดและเคยเรียนพิเศษเกือบครบทุกเรื่องแล้ว เหลือแค่เรื่องระบบประสาทที่ไม่ถนัดต้องทบทวนเยอะค่ะ ส่วนวิชาอื่นไม่ค่อยซีเรียสมากเพราะไม่ได้ใช้ ผลออกมา 9 วิชาฯ ไม่ได้ดีเลิศเลอเท่าไหร่ แต่ GAT PAT ค่อนข้างน่าพอใจค่ะ


   พี่มิ้นท์ : วันนี้ขอบคุณน้องส้มมากๆ ฟังแล้วได้อะไรเยอะเลย มีอะไรที่อยากฝากอะไรถึงน้องๆ ชาว Dek-D.com อีกไหมคะ
   น้องส้ม : อยากฝากน้องๆ ว่า การเรียนไม่ได้มีแค่ท่องจำหรือเรียนในห้องเรียนเท่านั้น อยากให้ทุกคนลองไปทำกิจกรรมนอกห้องเรียนที่แปลกใหม่ แล้วจะพบว่าเราชอบอะไรหรือทำอะไรได้ดีจริงๆ นอกจากนี้ยังทำให้เรามีความสามารถที่หลากหลายด้วยค่ะ รีบค้นหาตัวเองให้เจอตั้งแต่เนิ่นๆ นะคะ จะได้มีความสุขกับสิ่งที่ตัดสินใจเรียนและเลือกไป ไม่ต้องมาเสียใจตอนหลังค่ะ
         นอกจากนี้อยากเป็นกำลังใจให้เพื่อน ๆ ม.6 ด้วย สู้ต่อไปกับการเข้ามหาวิทยาลัยนะคะ ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ถ้าเราพยายามแน่นอน ส่วนน้องรุ่นต่อๆ ไปก็อยากให้ขยันทบทวนและทำโจทย์เยอะๆ แล้วก็ให้อัพเดตข่าวสารการเข้ามหาวิทยาลัยบ่อยๆ จะได้เตรียมตัวพร้อมสำหรับการลงสนามสอบทุกสนามเลยค่ะ สู้ๆ นะคะทุกคน 

     จะว่าไปแล้วการสอบติดมหาวิทยาลัยก็เป็นแค่ก้าวแรกในการปูทางเพื่ออาชีพในฝัน แต่ก็ต้องยอมรับและชื่นชมว่า "น้องส้ม" สุดยอดจริงๆ ที่วางแผนการเรียนมาได้ดีมากก และอีกครึ่งทางที่เหลือ ถ้ายังรักษาความคิดเจ๋งๆ แบบนี้ได้ อนาคตว่าที่นักธรณีวิทยารออยู่ตรงหน้าแน่นอน น้องๆ อย่าลืมนำเทคนิคของพี่ส้มไปปรับใช้กันนะคะ รู้ความฝันของตัวเองก่อน ได้เปรียบกว่าแน่นอน ฮึบๆ
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

Neodeix 13 มี.ค. 60 21:40 น. 2

ยินดีกับน้องด้วย และขอต้อนรับสู่ภาควิชานะครับ :) พี่ขอชื่นชมในความพยายามและความตั้งใจของน้องเลย ขอให้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ดี ๆ จากภาควิชาไปได้เยอะ ๆ นะครับ :) //จากพี่ปี 2

0
กำลังโหลด

3 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
Neodeix 13 มี.ค. 60 21:40 น. 2

ยินดีกับน้องด้วย และขอต้อนรับสู่ภาควิชานะครับ :) พี่ขอชื่นชมในความพยายามและความตั้งใจของน้องเลย ขอให้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ดี ๆ จากภาควิชาไปได้เยอะ ๆ นะครับ :) //จากพี่ปี 2

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด