7 สิ่งท่องจำให้ขึ้นใจ! ถ้าจะจด short note ให้ได้ผล


          สวัสดีค่ะ ช่วงปิดเทอมทั้งที นอกจากจะเป็นเวลาพักผ่อนของน้องๆ ทุกคน ก็ยังถือเป็นช่วงเวลาที่ดีของน้องๆ ที่อยากจะเริ่มเตรียมตัวในการสอบเข้า หรือเตรียมตัวสำหรับเปิดเรียนนะคะ ใครที่เรียนพิเศษเยอะๆ หรืออ่านหนังสือหนักๆ พี่อีฟเชื่อว่าน่าจะต้องมี short note ที่เขียนสรุปสั้นๆ ไว้ติดตัวอยู่ตลอดเวลาแน่นอนเลย
 

          เชื่อว่าน้องๆ หลายคนน่าจะเคยเจอปัญหาว่าจด short note ไปเท่าไหร่ ก็ยังจำไม่ได้สักที หรือจดไปมากเท่าไหร่ ก็ไม่ช่วยให้เรียนเก่งขึ้นหรือเข้าใจมากขึ้นสักที วันนี้พี่อีฟก็เลยขอพาน้องๆ ไปรู้ถึง 7 เทคนิคเคล็ดลับเล็กๆ ที่บอกเลยว่าควรท่องจำให้ขึ้นใจเลยค่ะ ถ้าอยากจด short note แล้วอ่านเป๊ะปัง ได้ผลทันที ! ไปดูกันเลยค่ะว่าจะมีวิธีไหนบ้าง

     1.วางแผน short note แบบภาพรวม
          ก่อนที่จะเลือกสมุดขึ้นมาเพื่อจะจด short note ในวิชาไหน น้องๆ ควรมีการวางแผนก่อนว่า สมุดเล่มนี้เราตั้งใจจะจดคำศัพท์ หรือจะจดเลคเชอร์ หรือจะจด short note อย่าลืมว่าจุดประสงค์แตกต่างกัน การใช้งานก็แตกต่างกันด้วยค่ะ
          การวางแผนแบบเป็นภาพรวมนี้ จะช่วยให้น้องๆ สามารถออกแบบการจดได้ตามใจชอบ รู้ว่าจะต้องใช้สัดส่วนต่อเรื่องที่จดมากแค่ไหน หรือจะออกแบบว่าให้ short note ของเรามีลวดลายยังไง ถือว่าสร้างแรงกระตุ้นในการจดและการหยิบมาเขียนมาอ่านได้เป็นอย่างดีค่ะ


     2.อ่านให้จบเป็นบท
          น้องๆ หลายคนเวลาจะจด short note มักจะจดตามสิ่งที่อ่านไปเลย เช่น อ่านจบ 1 หน้า ก็พักมาจด short note สำหรับ 1 หน้านั้น ทำให้บางทีก็แอบเสียเวลาเหมือนกันค่ะ ที่ต้องอ่านๆ จดๆ แต่วิธีที่พี่อีฟขอแนะนำเลยก็คือ ให้น้องๆ อ่านให้จบเป็นบท หรืออ่านให้จบเป็นเรื่องๆ ก่อนหยิบสมุดมาจด short note ค่ะ
          ข้อดีของการจดแบบอ่านให้จบเรียบร้อย ก่อนจด short note จะช่วยทำให้น้องๆ มองเห็นภาพรวมของเรื่องที่อ่าน รู้ว่าเรื่องนี้กำลังบอกอะไร ต้องการให้ความรู้ และการสื่อสารแบบไหนกับผู้อ่าน ทำให้เราสามารถสรุปมาเขียนใน short note ให้เข้าใจได้ง่ายกว่าเขียนจากการอ่านทีละหน้าค่ะ
 

     3.เขียนคำถามที่ได้เพิ่มเติมจากการอ่าน
          ทุกครั้งที่เราอ่านหนังสือ พี่อีฟเชื่อว่าหนังสือบางเล่มก็ไม่ได้อธิบายทุกอย่างที่เราอยากรู้ได้หรอกค่ะ ใครที่มีคำถามในใจ อยากรู้ว่าข้อนี้ตอบอะไร หรือถ้าเป็นอย่างอื่นจะตอบแบบนี้ไหม รีบจดลงไปใน short note เราเพิ่มเติมได้เลยค่ะ 
          การเขียนคำถามที่เราได้เพิ่มเติมจากการอ่าน นอกจากจะทำให้เรามีความรู้เพิ่มเติมแล้ว การหาคำตอบของสิ่งที่เราสงสัย ยังช่วยให้เราได้เข้าใจในเนื้อหาเดิมที่มีมากขึ้น และสามารถเชื่อมโยงไปถึงความรู้อื่นในชีวิตประจำวัน นอกเหนือจากเรื่องที่เรียนได้ด้วยค่ะ

     4.ทำเครื่องหมายใน short note
          บางคนคิดว่าการจด short note ก็คือการจดเฉยๆ ค่ะ จดที่เราสรุปมาแล้ว จดให้เต็มหน้ากระดาษ จดเรื่องที่เราอ่าน ไม่ต้องมีอะไรมากไปกว่านั้น แต่ความจริงแล้วแม้กระทั่งสรุปที่เราจดใส่ short note ก็มีจุดสำคัญที่เราควรจะทำเครื่องหมาย * , = , !  เพื่อช่วยเน้นย้ำข้อความหรือประโยคที่สำคัญค่ะ
          นอกจากจะช่วยย้ำเตือนว่าบริเวณที่น้องๆ ทำเครื่องหมายคือจุดสำคัญ น้องๆ ยังสามารถทำเครื่องหมายบริเวณที่น้องๆ ไม่เข้าใจ ลืม หรือจำผิดบ่อยๆ ทุกครั้งที่เปิดกลับมาอ่าน เวลาเห็นเครื่องหมายเหล่านี้ จะได้เป็นการทบทวนทุกครั้งที่อ่านด้วยค่ะ
 

     5.เน้นการใช้ตาราง,กราฟ แทนการจดเนื้อหา
          ลองสังเกตตัวเองดูไหมคะ ว่าเราจะสามารถจำข้อมูลในรูปแบบตารางหรือกราฟได้ดีกว่าตัวหนังสือยาวๆ เวลาที่เราอ่านหนังสือ เราก็มักจะจำตารางที่สรุปเปรียบเทียบได้ดีกว่าเนื้อหาทั้งหมดที่อ่านมา ไม่ต่างกันกับเวลาเราจด short note ค่ะ
          ถ้าน้องๆ ลองเลือกจด short note แบบตาราง กราฟ หรือรูปภาพ นอกจากจะเป็นการสร้างรายละเอียดในการจดให้เราจดจำได้แม่นยำกว่า การที่น้องๆ จะจดในรูปแบบนี้ได้ แสดงว่าจะต้องมีความเข้าใจในเนื้อหาที่มากพอที่จะย่อยให้เข้าใจในรูปแบบอย่างง่ายได้ค่ะ ถือว่าเวิร์คมากกับการอ่านหนังสือเลย
 
     6.ตรวจสอบเนื้อหาที่เราเขียนไปแล้ว
          เชื่อว่าน้องๆ หลายคน จด short note ไปแล้ว ก็ถือว่าจดไปเลยค่ะ ไม่มีกลับมาตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาอีกครั้งแน่นอน เห็นหลายคนเป็นแบบนี้ เวลาจดเนื้อหาที่เข้าใจผิดหรือไม่ถูกต้องไป อ่านแค่ไหนคะแนนก็ไม่เพิ่มสักทีแน่นอนค่ะ
 

          ดังนั้น ลองเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า ถึงจะเป็น short note ที่เราสรุปจากการอ่านและทำความเข้าใจมาแล้ว ก็อย่าลืมกลับมาเช็กความถูกต้องของเนื้อหาที่เราจดลงไปแล้วอีกครั้งค่ะ ถ้าผิดตรงไหนยังไง จะได้รีบแก้ไขกันได้ทัน ก่อนเข้าใจกันไปผิดๆ นะ

     7.จดแบบอย่ามีข้ออ้าง
          ใครที่ชอบจดบ้าง ไม่จดบ้าง ยกมือขึ้นเลยค่ะ ใครที่กำลังทำนิสัยแบบนี้ ขอให้เลิกแบบด่วนๆ เลย เพราะอย่าลืมว่าเนื้อหาใน short note ที่จะมีประสิทธิภาพ คือ ต้องมีความต่อเนื่องของเนื้อหา หรือต้องเป็นเรื่องราวเดียวกันนะคะ ลองนึกภาพว่ากำลัง short note วิชาภาษาไทยแล้วขี้เกียจ อยากข้ามไปจดของวิทย์ แบบนี้ก็มีมึนงงเวลากลับมาอ่านแน่นอนค่ะ
          ดังนั้น ถ้าตั้งใจจะทำ short note แล้ว ขอให้น้องๆ จดอย่างสม่ำเสมอ และตั้งใจจดจริงๆ แบบไม่มีข้ออ้างนะคะ ลองหาไอเดียมาตกแต่ง short note ของเราให้น่าอ่าน ลองหาความรู้ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้มาจดใส่ short note เพิ่มเติม รับรองว่าได้ประโยชน์มากกว่าแน่นอน
 

          เป็นยังไงกันบ้างคะกับ 7 สิ่งที่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจ ถ้าจะจด short note ให้ได้ผล ! พี่อีฟเชื่อว่าเทคนิคการอ่านหนังสือเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลค่ะ บางคนอ่านแบบไม่มี short note ก็ได้ แต่ถ้าใครมาสายที่ชอบจด short note อยู่แล้ว ก็อย่าลืม 7 ข้อสำคัญนี้ ที่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจ จะได้ไม่เสียเวลาจด short note ไปแล้วไร้ค่านะคะ สวัสดีค่ะ :D
 
พี่อีฟ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

3 ความคิดเห็น

l3uttercakes Member 17 เม.ย. 60 16:24 น. 1

เครื่องหมายพิเศษบนshort noteนี่สำคัญจริงๆ ช่วยได้เยอะมากๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนสีในการจดเท่าไร ดินสอล้วนๆ พึ่งพาการเขียนเครื่องหมายนี่แหละ

0
กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยเจ้าของ

กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด