ใครๆ ก็บอกว่าช่วงเวลามัธยมเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ตามหลักจิตวิทยาแล้ว วัยนี้เป็นวัยที่ต้องการมีสังคม สังคมของเด็กก็คือกลุ่มเพื่อนนั่นเอง จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า "ติดเพื่อน" ตามมาให้พ่อแม่หนักใจ เพราะจะทำอะไรทีก็ต้องตามเพื่อนเสมอ
       การติดเพื่อนไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายนะคะ ถ้าไม่ได้ทำอะไรที่ไม่ดีหรือทำให้ใครเดือดร้อน แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ถ้าติดเพื่อนจนเกินพอดี จะกระทบชีวิตประจำวันของเรา รวมทั้งความสัมพันธ์กับครอบครัวด้วย ลองมาเช็กกันดีกว่าว่า ตอนนี้เรากำลัง "ติดเพื่อน" เกินไปหรือเปล่า กับ 10 พฤติกรรมเหล่านี้


 

    1. อะไรๆ ก็เพื่อน สำคัญกว่าทุกคนบนโลกใบนี้
    วัยที่กำลังสนุกกับเพื่อน ยิ่งถ้าได้อยู่กับเพื่อนที่ทัศนคติเหมือนกัน ชอบอะไรๆ เหมือนกัน ยิ่งคุยถูกคอ มันจะคนละอารมณ์กับการคุยกับคนในบ้านเลยค่ะ ทำให้วัยนี้เราจะไม่ค่อยชอบคุยกับพ่อแม่ หรือ ญาติๆ เพราะคุยด้วยไม่ถูกคอ จะทะเลาะกันลูกเดียว จึงชอบอยู่กับเพื่อน กินข้าวกับเพื่อนก็อร่อยกว่า หรือพ่อแม่ชวนเที่ยวชนกับนัดของเพื่อน ก็เลือกเพื่อน นี่แหละจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มทิ้งความสำคัญกับครอบครัวแล้ว

   2. ต้องมีส่วนร่วมกับเพื่อนตลอด
       เพื่อนทำอะไร เราจะต้องอยู่ในเหตุการณ์ด้วยเสมอ ตัวติดกันปาท่องโก๋ บางอย่างที่ไม่ชอบทำก็ต้องไปด้วย เพราะต้องการการยอมรับจากกลุ่มค่ะ แรกๆ อาจฝืนใจ แต่อยู่ไปเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นความสมัครใจและเต็มใจ ทำอะไรก็ได้ขอแค่มีเพื่อนอยู่ด้วย ตรงกันข้าม ถ้าเพื่อนทำอะไรแล้วไม่ชวน จะน้อยใจ โกรธไปสามวันเจ็ดวัน

   3. มีอาการหวงเพื่อน
      ไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์แบบแฟนกันนะคะ แต่กับเพื่อนก็มีความรู้สึกแบบนี้ค่ะ หวงเพื่อน ไม่อยากให้ไปสนิทกับใคร เจ็บปวดใจทุกทีเวลาเห็นเพื่อนสนิทของเราไปคุยกับคนอื่น เพราะกลัวจะถูกทิ้งนั่นเองค่ะ หลายคนบอกว่า เพื่อนไปมีแฟน ยังโอเคกว่าเพื่อนไปสนิทกับคนอื่น
    
  
4. ไม่กล้าไปไหนคนเดียว
     การติดอยู่กับเพื่อนตลอดเวลา ส่วนนึงเป็นเพราะขาดความมั่นใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่มันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่กล้าใช้ชีวิตคนเดียวเข้าไปใหญ่ จะไปไหน ทำอะไร ก็ต้องชวนเพื่อนไปตลอด จริงๆ พี่มิ้นท์ก็มองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร ไปกับเพื่อนก็เพิ่มความปลอดภัยได้ด้วย แต่ต้องแยกแยะว่า ในบางเวลาเราก็ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง เพื่อนไม่สามารถช่วยเราหรือไปไหนกับเราได้ทุกทีค่ะ


 

   5. ไม่กล้าปฏิเสธเพื่อน
      เป็นปัญหาต่อเนื่องที่ว่า ต้องอยู่กับเพื่อน เพราะไม่กล้าอยู่คนเดียว มันจะขาดความมั่นใจ ดังนั้นลึกๆ ในใจของคนติดเพื่อน จะมีนิสัยอย่างนึงคือ ไม่กล้าปฏิเสธเพื่อน เพื่อนใช้ให้ทำอะไรก็ทำให้ เพื่อนชวนทำอะไรก็ทำ ทำตามเพื่อนทุกอย่าง กลัวแปลกแยก กลัวเพื่อนจะเทเราให้อยู่คนเดียว ซึ่งถ้าเจอกลุ่มเพื่อนที่ไม่ดี พากันทำสิ่งที่ไม่ดี จะเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเลยก็ว่าได้

   6. เอาแต่ใจมากขึ้น
      บางคนไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมตัวเองเปลี่ยนไป หลายครั้งที่อารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียว โมโหง่าย เอาแต่ใจ เวลาอยู่กับครอบครัว บางทีสาเหตุอาจจะไม่ได้มาจากที่บ้านทั้งหมดหรอกค่ะ เราต้องยอมรับด้วยว่า เวลาอยู่กับเพื่อนๆ พฤติกรรมเราจะค่อยๆ ปรับไปจนสามารถอยู่ร่วมกับเพื่อนได้ พอกลับบ้านมาเจอคู่สนทนาคนละวัย ความคิดก็ไม่ตรงกัน ก็ชวนทะเลาะกันได้ง่ายขึ้น

   7.  อยู่ไม่ติดบ้าน
       ถ้าไม่ใช่เรียนพิเศษแล้ว พี่มิ้นท์เชื่อว่าน้องๆ หลายคนอยากใช้เวลาวันเสาร์อาทิตย์พักผ่อนอยู่บ้านใช่มั้ยคะ หรือ อาจจะออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆ เป็นครั้งคราว กินข้าว ดูหนัง กับเพื่อนตามปกติ แต่คนที่ติดเพื่อนมากๆ จะต่างค่ะ คือ ใจไม่อยู่กับบ้าน อยากออกไปหาเพื่อน ไม่ต้องไปเที่ยวก็ได้อะ ขอแค่ไปนั่งเล่นบ้านเพื่อนแก้เซ็ง วันหยุดยาวๆ ก็ขอไปนอนค้างบ้านเพื่อน ยิ่งถ้าไม่อยู่ติดบ้านทุกอาทิตย์เลย เข้าข่ายติดเพื่อนอาการหนักเลยค่ะ


 

   8. มีกรุ๊ปเป็นแสน ไลน์เด้งทั้งวัน
       ชีวิตนี้จะขาดเพื่อนไม่ได้เลยทีเดียว ถึงตัวจะไม่ได้อยู่ด้วยกันกับเพื่อน ก็ขอให้ได้เม้าท์กันหน่อย แค่ยกมือถือขึ้นมาแชท โทรคุย แทบจะตลอดเวลา จนไม่เป็นอันทำอย่างอื่นเลย
 

   9. เป็นกังวลถ้าคิดว่าวันนึงไม่มีเพื่อนคนนี้จะทำยังไง
      คนที่ติดเพื่อนหนักๆ จะยกเพื่อนเป็นคนสำคัญที่สุดในชีวิต จะนึกภาพตัวเองไม่ออกเลยว่า ถ้าไม่มีเพื่อนคนนี้ จะมีชีวิตอยู่ยังไงบนโลกใบนี้ แค่คิดบางคนก็น้ำตาไหลแล้วค่ะ ทั้งหมดนี้ก็เพราะการขาดความมั่นใจในตัวเองล้วนๆ เลย

   10. ความสัมพันธ์กับทุกคนพัง
      มีกระทู้มาให้เห็นบ่อยๆ ว่า แฟนติดเพื่อนหนักมาก, ลูกชายติดเพื่อนจนเสียคน ฯลฯ ถ้าเราได้ยินคำนี้จากคนที่เกี่ยวข้องโดยตรง ให้พิจารณาตัวเองได้แล้วค่ะ เราคงจะมีพฤติกรรมแบบนั้นจริงๆ เพราะถ้าเราติดเพื่อนหนักมากๆ เข้า ก็จะละเลยครอบครัวหรือแฟน จนพวกเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงและเกิดอาการน้อยใจค่ะ ถ้ายังไม่รีบปรับปรุง ระวังความสัมพันธ์กับทุกคนจะพังนะจ๊ะ
 
      ถ้ามีแค่ 1-2 ข้อ ก็คงเป็นเรื่องปกติสำหรับวัยรุ่นที่จะชอบอยู่กับเพื่อนเพราะสบายใจกว่า แต่ถ้ามีมากกว่า 5 ข้อขึ้นไป ก็อาจจะต้องหันมาตอบตัวเองกันหน่อยว่า "ติดเพื่อน" จริงหรือเปล่า
      พี่มิ้นท์ขอพูดอีกครั้งว่า การติดเพื่อน (พอประมาณ) ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหายอะไร ถ้าเรายังรู้จักควบคุมตัวเอง ไม่ไหลตามเพื่อนไปทุกเรื่อง แต่ถ้าติดหนักจนทิ้งความสัมพันธ์รอบตัว และเริ่มทำสิ่งผิดกฎหมายหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดี ที่สำคัญ คนที่บ้านของน้องๆ นั่นแหละค่ะ ที่เขาเป็นห่วง
พี่มิ้นท์
พี่มิ้นท์ - Columnist พี่สาวใจเย็น ผู้เกิดมาในแอดมิชชั่นยุคแรก แต่เข้าใจ TCAS มากกว่า

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

sw-shop Member 7 ก.พ. 64 23:03 น. 3-1

เหมือนกันเลยค่ะ น้องสาวอยู่ ม.3 ติดเพื่อนมากกกก สงสารก็แต่คุณป้าปวดประสาทมากเพราะเป็นห่วงน้อง

https://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/jj-10.png https://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/bb-03.png

0
กำลังโหลด

5 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
sw-shop Member 7 ก.พ. 64 23:03 น. 3-1

เหมือนกันเลยค่ะ น้องสาวอยู่ ม.3 ติดเพื่อนมากกกก สงสารก็แต่คุณป้าปวดประสาทมากเพราะเป็นห่วงน้อง

https://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/jj-10.png https://www0.dek-d.com/assets/article/images/sticker/bb-03.png

0
กำลังโหลด
น้ำหวาน 15 ธ.ค. 65 20:40 น. 4

เราอยู่ ป.6 จะไปสอบเข้ากับเพื่อนเเต่กลัวเพื่อนไม่ติดรร.ใหม่ด้วย กลัวมาก รักเพื่อนคนนี้ เเต่ไม่ได้ถึงขั้นนั้นนะคะ เเค่รักเพื่อน แบที่ เพื่อนรักเราค่ะ เรารักเพื่อนคนนี้มาก มันทำให้เราไม่ยุ่งกับคนอื่นเลย เพราะเราเอาเเต่อยู่กับเพื่อนคนนี่ เราไม่อยากหาเพื่อนใหม่เลย เรากำลังคิดอยู่เลยว่าท่าสักวันไม่มีเพื่อนคนนี่เราจะทำยังไง

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด