ล้วงลึกถาดหลุม: การเดินทางของ "งบ" ก่อนจะเป็นอาหารกลางวันที่เด็กไม่มีสิทธิ์เลือก!

        สวัสดีค่ะชาว Dek-D สืบเนื่องจากกลิ่นตุๆ ของอาหารกลางวันนักเรียนโรงเรียนบ้านท่าใหม่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สภาพรันทดมากทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพ เป็นเหตุให้ผู้ปกครองและนักเรียนพากันออกมาประท้วงจนผู้อำนวยการโรงเรียนถูกสั่งย้าย!
 

 
        ปรากฏว่าตอนนี้กลิ่นที่ว่าก็ยังคงโชยต่อไปอีกไกล เพราะชาวเน็ตพากันออกมาแฉอาหารถาดหลุมแย่ๆ ที่ตัวเองหรือบุตรหลานตนเองเจอเหมือนกัน และนำไปสู่การวิเคราะห์ประเด็นเรื่อง “การทุจริตค่าอาหารกลางวันเด็ก” ที่ผู้บริหารบางโรงเรียนน่าจะแอบโกยเงียบๆ มาตลอด จากเรื่องที่คนมองข้าม กลายเป็นเรื่องที่คนมาโฟกัสมาเป็นพิเศษในช่วงนี้!


Photo Credit: Pixabay

 

เพราะอาหารมีผลต่อร่างกายและการเรียนรู้ของเด็ก
 

        เหตุผลที่พวกเขาพยายามออกมาจับทุจริตกัน ไม่ได้ห่วงแค่เรื่องเด็กจะกินไม่อร่อย แต่เป็นเพราะ “เด็กวัยเรียน” อยู่ในวัยเจริญเติบโตและต้องการสารอาหารที่ช่วยให้การเรียนรู้ต่างๆ เป็นไปด้วยดี หากอ้างอิงจาก “แนวทางการจัดอาหารกลางวันของเด็กวัยเรียน” ของสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เราจะพบว่า “การจัดอาหารให้เด็กวัยเรียน ต้องคำนึงถึงปริมาณพลังงานและสารอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ไอโอดีน เหล็ก แคลเซียม วิตามิน A, B1, B2, B6, B12 และโฟเลท ฯลฯ เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตดี”
 
        ส่วนจะจัดอาหารกลางวันอย่างไรให้เหมาะสม กรมอนามัยได้จัดทำตารางไว้ดังนี้





 
        กรมอนามัยยังกล่าวอีกว่า “ควรกำหนดรายการอาหารเป็นรายสัปดาห์ เดือน เช่น เมนูอาหาร 7 วัน, 15 วัน หรือ 30 วัน เพื่อช่วยให้ได้รับอาหารหลากหลาย”

 

งบต่อหัวแค่นี้...พอไหม?
 

        คราวนี้หากมาว่ากันเรื่องงบประมาณที่โรงเรียนได้รับเป็นเงินอุดหนุนอาหารกลางวัน พบว่า หน่วยงานรัฐจัดสรรให้  10 บาท/หัว  สำหรับอาหารเช้า (ในบางโรงเรียน) โดยเป็นค่าอาหารเต็มจำนวน ไม่หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ และจะได้งบ 80% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด เพราะอาจมีเด็กที่ไม่ได้มากินทุกคน (แต่ปริมาณจะจัดไว้พอดีกับเด็กทั้งหมด)

        ส่วนอาหารกลางวันจะได้  20 บาท/หัว  เป็นค่าอาหารจริงประมาณ 17 บาท ที่เหลือเป็นค่าแก๊สหุงต้ม ค่าน้ำยาล้างจาน ค่าจ้างแม่ครัว และจะได้งบ 100% ของจำนวนนักเรียนทั้งหมด โดยครูที่เป็นคนจัดทำโครงการอาหารกลางวันจะจัดการถัวเฉลี่ย บริหารจัดการให้นักเรียนได้อาหารที่มีคุณภาพและอิ่มทุกมื้อ เพราะค่าใช้จ่ายที่หักไปไม่ได้สิ้นเปลืองมาก เช่น ค่าแก๊สทั้งถัง ก็สามารถใช้ทำอาหารได้ทั้งวัน และใช้ได้ถึงวันต่อๆ ไปด้วย ค่าน้ำยาล้างจานก็คือใช้ล้างถาดหลุมกันตั้งแต่มื้อเช้าถึงมือกลางวัน เป็นต้น
 
        ดังนั้น คำกล่าวอ้างของบางคนที่บอกว่า “20 บาทต่อหัว” มันน้อยมาก และคำท้า "ลองกำเงิน 20 บาทไปซื้ออาหารตามสั่งดูสิ”  ก็เป็นอันตกไป ลองคิดดูว่าการซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารเอง "คราวละมากๆ" ราคาย่อมถูกลงเมื่อเทียบกับการทำอาหารในครัวเรือนปกติ เพราะยิ่งซื้อมากยิ่งได้ราคาต่ำ ยังไม่นับบางโรงเรียนที่มีนโยบายเลี้ยงไก่ไข่หรือปลูกผักสวนครัวมาทำอาหารกินเอง ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปอีก


Photo Credit: Pixabay

 
โรงเรียนจัดการยังไงกับงบที่ได้จากรัฐ?
 
      จากการสัมภาษณ์ครูท่านหนึ่งในโรงเรียน กทม. พบว่าขั้นตอนการบริหารจัดการงบ แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ โรงเรียนต่างจังหวัดที่ได้งบจากกระทรวงศึกษาธิการ (ระบบเดิม) และโรงเรียนใน กทม. ที่ได้รับงบจาก กทม. (ระบบใหม่)
 
1. โรงเรียนต่างจังหวัด ได้งบจากกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ.

        ขั้นตอนการดำเนินการ คือ เขตพื้นที่การศึกษาได้เงินจากกระทรวงศึกษาธิการ > โรงเรียนไปเบิกเงินมาเป็นงบต่อหัว > ครูที่เป็นคนทำโครงการอาหารกลางวันจัดสรรงบเอง ถ้าเงินเหลือก็คืนเข้าคลัง
 
         - การทุจริตในระบบนี้จะเกิดขึ้นในโรงเรียน เป็นไปได้ 2 เคส คือ 1. โกงโดยครูผู้จัดโครงการที่ฮั้วกับร้านวัตถุดิบ ปลอมบิลเองว่าซื้อไปเยอะ แต่ซื้อของกากๆ มา 2. ผู้อำนวยการฮั้วเองเลย แล้วบังคับให้ครูผู้จัดโครงการ เขียนโครงการให้โกงตาม

         - ระบบนี้จะออกมาเป็นภาคเรียน ตั้งแต่เดือนที่เปิดเทอม (ยังไม่เปิดเทอมดี เงินก็เข้าบัญชีโรงเรียนแล้ว) 


Photo Credit: Pixabay

 
2. โรงเรียนใน กทม. ได้งบจาก กทม.

        ขั้นตอนการดำเนินการ คือ กทม. จัดสรรงบมาให้ที่เขต โดยไม่มีงบผ่านเข้ามาทางโรงเรียนเลย > เขตเปิดรับบริษัทจัดส่งวัตถุดิบอาหารเข้ามาประมูลราคา > ได้บริษัทที่จัดส่งอาหาร > เขตประกาศให้โรงเรียนทำฎีกาเบิกจ่ายรายสัปดาห์หรือรายการเมนูของแต่ละวัน พร้อมรายการวัตถุดิบโดยละเอียด เช่น วันจันทร์มีพะโล้กับผัดแตงกวา ขอไข่ไก่ 250 ฟอง / หมู 10 กิโลกรัม / น้ำมันพืช 1 ลัง / แตงกวา 10 กิโลกรัม ฯลฯ > เขตอนุมัติ จ่ายเงินให้บริษัท > บริษัทจัดส่งวัตถุดิบอาหารให้โรงเรียน > มีครูที่เป็นคณะกรรมการมาตรวจสอบว่าการจัดส่งอาหารตรงฎีกาที่ส่งไปหรือไม่

        - ระบบนี้คือระบบใหม่ที่ป้องกันการทุจริตของโรงเรียนได้ แต่เขตก็ "อาจ" ไปฮั้วกับบริษัทวัตถุดิบแทนได้เหมือนกัน

        - ข้อเสียของระบบนี้คือทำให้ได้เงินช้ากว่าระบบเดิมในข้อ 1. เพราะเงินเพิ่งเริ่มออกตอนเปิดเทอม กว่าจะทำฎีกาได้ก็ต้องรอ ในขณะที่เขตยังไม่ทันจะโอนเงินให้บริษัทวัตถุดิบ ก็ถึงเวลาที่บริษัทต้องจัดส่งให้ทางโรงเรียนแล้ว ทางบริษัทจึงต้องยอมเข้าเนื้อออกเงินทดรองเองไปก่อน
 
        อย่างไรก็ตาม หากบริหารจัดการได้ดีและโปร่งใส นักเรียนย่อมได้อาหารในปริมาณที่เหมาะสมและถูกหลักโภชนาการ อย่างเช่นตัวอย่างโรงเรียนเหล่านี้
 

 


 

แต่ผู้ใหญ่บางกลุ่มก็เอาเปรียบแม้กระทั่งเด็ก!


       หากพิจารณาวิธีการบริหารจัดการงบอย่างที่บอกไป จะเห็นว่าการแก้ปัญหาทุจริตแบบนี้มันยากมาก ถึงแม้ว่าจะคิดระบบใหม่ขึ้นมา โดยเอาเงินไปจัดสรรที่เขตทั้งหมด ไม่ให้ทางโรงเรียนเข้ามาเกี่ยวข้องเลย ก็ไม่ได้หมายความว่าเขตกับบริษัทวัตถุดิบจะโกงต่อไปไม่ได้ ยกตัวอย่าง
 
        โรงเรียน A จ.พิจิตร ที่ตรวจพบว่าวัตถุดิบประกอบอาหารมีน้ำหนักไม่ครบ เช่น เนื้อปลาหายไป 30 กิโลกรัม ผักสด หายไป 30 กิโลกรัม ฯลฯ จากการตรวจแค่ช่วง 1 สัปดาห์ จำนวนวัตถุดิบหายไปคิดเป็นมูลค่าร่วมหมื่นบาท
 
        โรงเรียน B จ.ลพบุรี คุณครูท่านหนึ่งออกมาแฉว่า ได้งบเกือบสองแสน แต่อาหารย่ำแย่มาก 
 
Photo Credit: แหม่มโพธิ์ดำ
 
        โรงเรียน C จ.ยะลา ผู้บริหารทำเอกสารปลอม อ้างชื่อคณะกรรมการเพื่อทำแผนเบิกงบ แถมยังจัดอาหารรสเผ็ดๆ และไม่ถูกหลักโภชนาการให้ เช่น จัดแกงส้มละแกงกะทิให้เด็กอายุ 2-6 ขวบรับประทาน จนเด็กต้องไปซื้อลูกชิ้นกินเพิ่มเอง
 
        โรงเรียน D จ.สมุทรสงคราม สมาชิกเฟซบุ๊กได้เล่าในช่องคอมเมนต์เพจข่าวชื่อดังแห่งหนึ่งว่า โรงเรียนของหลานบางทีบอกว่า "ข้าวหมด" นักเรียนไม่มีข้าวกิน อาหารก็ไม่อร่อย


 
        เช่นเดียวกับข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและสุ่มตัวอย่างมาสัมภาษณ์ แต่ละคนเคยมีประสบการณ์กับอาหารกลางวันของโรงเรียนต่างกัน หากเป็นผู้ที่ออกมาบ่นระบายตามเว็บบอร์ดจะเป็นไปในทางแย่มากกว่า เช่น
 
        “ข้าวผัดจืดๆ เย็นๆ ข้าวแข็งๆ”

        “อาหารโรงเรียนประถมเหรอ ข้าวมันไก่ ข้าวมันคือข้าวมันห่วย ๆ ไก่ คือ เศษไก่ ฉีกฝอย ๆ แห้ง ๆ เป็นไรที่แบบนี้คือข้าวมันไก่เหรอเนี่ย”

        “ข้าวไข่เจียว ไข่เจียวฉีกฝอย ๆ ความอร่อยไข่เจียวจืดสนิท ราดแกงส้ม ผักเยอะ ๆ แกงส้มจืดสนิท”

        "ก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่ กว่าจะได้ทาน เส้นอืด เพราะ ราดน้ำเรียบร้อยแล้ว มีเศษเนื้อไก่ฝอย ๆ คิดดูว่า กว่าทุกห้องจะมีที่โรงอาหาร ต้องพนมมือ มื้อนี้มีค่า อย่ากินทิ้งกินขว้าง เส้นอืดเรียบร้อย” 

        และอาหารฟรีที่ไม่อร่อยก็ทำให้นักเรียนต้องอุดหนุนอาหารจากร้านค้าที่มาตั้งขายในโรงเรียน เช่น ขนมปัง ลูกชิ้น นม ฯลฯ นอกจากนี้ อดีตนักเรียนโรงเรียนหนึ่งยังแชร์ประสบการณ์ว่า ตนเคยกินอาหารจากแม่ครัวคนเดียวกัน ความอร่อยระหว่างตอนเป็นอาหารถาดหลุมที่ไม่เสียเงิน กับตอนที่ขอซื้อแยกต่างหาก มันต่างกันมาก จึงเข้าใจว่าโรงเรียนต้องการหาเงินทางนี้ด้วย
 


 

(แถม) เมื่ออาหารแย่ๆ กลายเป็นฝันร้ายเรื้อรังไปจนโต
 

        การที่บางคนไม่ชอบกินอาหารบางชนิด อาจมาจากประสบการณ์ที่ตนเคยกินสิ่งนั้น “ครั้งแรก” ในอาหารกลางวันของโรงเรียน ซึ่งอาจจะเย็นชืดหรือไม่อร่อย ทำให้ First-Impression ต่ออาหารชนิดนั้นๆ มันแย่มาก พอครูยิ่งมาบังคับในสถานการณ์นั้นอีกก็กลายเป็นเพิ่มโอกาสให้เด็กปิดใจต่ออาหารชนิดนั้นไปตลอดชีวิต พูดง่ายๆ ว่า เหตุผลหลัก = อาหารแย่ และ ครู = ตัวกระตุ้นให้เลวร้ายยิ่งขึ้น
 
        จากการสำรวจ พบว่าเคสแบบนี้มีให้เห็นบ่อยมาก เช่น
 
       "ปกติแม่ไม่เคยทำถั่วงอกให้กิน แต่มากินครั้งแรกก็ในอาหารของโรงเรียนนี่แหละ แล้วมันไม่อร่อยไง เย็นๆ ทำไว้ตั้งแต่ตอนไหนไม่รู้ ครูก็บังคับให้กิน เค้ามาด่าแล้วหยิกจนเราร้องไห้ ชีวิตนี้เลยเกลียดถั่วงอกมาก เต้าหู้ยี้ก็เหมือนกัน...พูดแล้วก็จะอ้วก” 
 
       "แกงกะทิหน่อไม้เป็นอาหารกลางวันที่โรงเรียนสมัยประถม เราไม่ชอบรสชาติตั้งแต่ครั้งแรกที่กิน มันมันๆ กลิ่นแปลกๆ แต่โดนครูบังคับกิน ถ้ากินไม่หมด ครูจะให้กลับไปนั่งกินจนกว่าจะหมด ทุกวันนี้ไม่ชอบแกงมันๆ ไม่กินหน่อไม้ เห็นแล้วชอบนึกถึง แค่ได้กลิ่นก็อยากอ้วกแล้ว"


 
       "แกงเขียวหวานอะ ตอนประถมกินเหลือแกงเขียวหวาน จะเอาไปเททิ้ง ครูเห็นบังคับให้กินให้หมด ทุกวันนี้เกลียดแกงทุกชนิดไม่กินเลย"
 
       "ของเรา กินข้าวกลางวันที่โรงเรียนค่ะ เเล้วโรงเรียนชอบทำเเกงจืดที่ใส่ไก่บดเเล้วจะมีเศษหนังไก่ลอยๆอยู่บนน้ำซุป พะอืดพะอมสุดๆ กินไม่ได้เลยค่ะ สมัยประถมจะกินข้าวเสร็จช้าที่สุดเลย จนจบป.6 ลาเเล้วนรกหนังไก่ต้ม จนโตมาก็ไม่กินหนังไก้ต้มอีกเลย เคยเผลอกินเข้าไปเเล้วมันเเบบพะอืดพะอม ภาพในอดีตลอยมา บึ๋ยย ขนลุกอ่ะ ><"
 
       "ตอนเด็กๆ กลางวันรร.จะมีอาหารถาดหลุมๆเเจก เเละทุกมื้อจะมีถั่วเขียวต้มน้ำตาลคะ เกลียดมาก ทุกวันนี้เจอถั่วเขียวเอามาทำอะไรไม่เอาทั้งนั้น"
 
       "ไม่กินเส้นหมี่ค่ะ ตอนเด็กๆที่โรงเรียนจะทำอาหารกลางวันให้ ซ้ำกันทุกอาทิตย์ เส้นหมี่ต้มใส่เศษหมูปรุงรสมาให้แล้วด้วยพริกน้ำส้มสายชูปลอมๆ (ให้เด็กประถมกิน) จะวนมาทุกวันพฤหัส"


Photo Credit: Pixabay
 
       "อาหารเที่ยงโรงเรียนประถมนี่เป็นอะไรที่เกลียดมาก ประเด็นคือมันทำไม่อร่อย แล้วบังคับให้เด็กกินให้หมด แทนที่เด็กจะกินแล้วมีความสุข กลายเป็นต้องฝืนใจกิน จากที่ไม่ชอบกินผักกลายเป็นคนเกลียดผักเพราะแบบนี้แหละ ดีที่ทุกวันนี้ยังพอฝึกกินได้บ้าง ประเด็นคือถ้าอยากจะฝึกให้เด็กมันกินอะไรที่ไม่อร่อยแต่มีประโยชน์ ก็ควรทำให้มันอร่อยรึเปล่า ถึงจะต้องลดคุณค่าทางโภชนาการลงบ้างด้วยการปรุง แต่อย่างน้อยก็ไม่ทำให้เด็กมันเกลียดฝังใจไปจนโต พวกแนวคิดบังคับฝืนใจเด็กให้มันกินๆ แล้วมันจะกินได้เอง เป็นอะไรที่โง่มาก"
        
       "เราเลยยยย ฝังใจสมัยประถมต้น ทำบ่อยมาก เมนูนี้ ผัดหัวไชโป๊วใส่ไข่ ผัดทิ้งเอาไว้ แห้งๆแข็งๆ เย็นๆ เค็มๆเหม็น ฮือออ..ดันสีเหมือนจิ้งจก ที่ถูกประตูทับจนแห้งอีกด้วย..ทรมานใจมากก โดนครูบังคับให้ทาน เราต้องกินข้าวเคล้าขี้มูกกับน้ำตา ยิ่งทำให้เค็มเข้าไปอีก หลังจากนั้น..พอพักกลางวันชะโงกหน้าไปดูเมนู พอเห็นเป็นเมนูนี้ เราจะวิ่งไปแอบในห้องน้ำเลย จนโตมาปฎิญาณตนว่า ถ้ามีเมนูนี้เรายอมอดข้าวอะ..อยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ ดราม่าจริงจังมากก55"


 
        บางคนจึงอยากลองเสนอวิธีที่น่าจะดีกว่า "การบังคับให้กิน" เช่น 

        - ครูควรใจเย็น ค่อยๆ พูดให้เด็กเข้าใจว่าทำไมถึงควรกินอาหารชนิดนั้น ไม่ใช้การดุด่าหรือทำร้ายร่างกาย บางอย่างที่เด็กไม่ชอบจริงๆ ก็ต้องยืดหยุ่น ลองหาสิ่งอื่นที่ให้สารอาหารเหมือนกันมาทดแทนกัน 

        - อย่าทำเมนูซ้ำๆ บ่อยเกินไป เพิ่มโอกาสให้เด็กเจอเมนูที่หลากหลายขึ้น เช่น เมนูอาหาร 15 วัน หรือ 30 วัน 

        - อนุญาตให้เด็กตักกับข้าวบางอย่างแลกกับเพื่อนบ้าง เด็กจะได้แฮปปี้กับการกินในมื้อนั้นมากขึ้น

        - อนุญาตให้เด็กต่อรองกับคนที่ตักอาหาร (ในกรณีต่อแถวรับ) เช่น ไม่ชอบกินผัก ขอลดปริมาณผักลง แล้วเพิ่มเป็นเนื้อหมูแทน แต่ทั้งนี้ก็ต้องควบคุมไม่ให้ขาดสมดุลมากเกินไป 

        - บางครั้งก็ดูปริมาณที่เด็กกินด้วย เพราะแต่ละคนกินมากกินน้อยไม่เท่ากัน

        - สำรวจความพึงพอใจของเด็กว่าส่วนใหญ่พวกเขาไม่ชอบกินอะไร หรือสังเกตว่าอาหารชนิดไหนถูกเททิ้งมากที่สุด แล้วลองปรับเปลี่ยนเป็นเมนูอื่นที่มีคุณค่าทางโภชนาการใกล้เคียงกัน

        - แก้ที่ต้นเหตุ ควรเช็กฝีมือการทำอาหารของแม่ครัวเป็นระยะ พยายามจัดจานให้น่ากินมากที่สุด


        เราจะเห็นว่าอาหารกลางวันของวัยเรียน ไม่ควรเป็นเรื่องที่ถูกมองข้ามเหมือนที่เคยเป็นมาตลอด เพราะมันส่งผลต่อการเรียน พัฒนาการ และสภาพจิตใจของเด็กเองด้วย เราได้แต่หวังว่าการตรวจสอบอย่างจริงจังในช่วงนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว และหวังว่าคนในสังคมจะช่วยเป็นหูเป็นตาเพื่อให้อาหารกลางวันของเด็กไทยได้มาตรฐานขึ้นกว่าเดิม
 
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
สายสืบเด็กดี

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

LucasFer Member 10 ส.ค. 64 16:36 น. 1

มีมาตั้งนานแล้วครับ ถ้าใครไม่เชื่อ ลองดุ่มๆไปดูในโรงเรียนได้ กับข้าวครู.. แม่เจ้า ยิ่งกว่าบุฟเฟ่ต์ ส่วนของเด็ก.. เหมือนของเหลือจากครูอ่ะ ใครๆเค้าก็รู้กันทั่วครับ ทีนี้พวกคนกลุ่มที่พูดถึง ชอบให้เราเสียภาษีเยอะๆ แขวะคนไม่เสียภาษี มีเยอะครับในเว็บปันติปส์ รู้ไหมครับ เขาเอาภาษีเราไปทำไม .. อย่างที่เห็นข้างบนนั่นแหล่ะครับ จะคนให้ทำงานเสียภาษีงกๆ พวกนี้โคตรเอาเปรียบ.

0
กำลังโหลด
กำลังโหลด