สวัสดีค่ะ อีกไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ช่วงสอบกลางภาค เทอม 1 แล้วใช่ไหม? ระยะนี้แหละ เป็นอะไรที่ทรมานใจสุด ไหนจะต้องเตรียมอ่านหนังสือสอบ ไหนจะเคลียร์การบ้านที่ยากแสนยาก แต่ความหินสุดของการบ้านก็อยู่ที่ช่วงแรกนี่ล่ะว่าเราจะบังคับตัวเองให้ลุกขึ้นมาทำดีๆ หรือลีลาต่อไป จริงไม่จริง!


 
         วันนี้พี่เมก้าก็ขน “เคล็ดลับทำการบ้านให้เสร็จไว” มาฝาก ยิ่งจัดการงานล้นมือได้เท่าไหร่ ก็ยิ่งมีเวลาอ่านหนังสือสอบมากขึ้นเท่านั้นนะคะ เลิกทำตัว Slow Life แล้วมาลุยกันเลย!

Checklist ก่อนเคลียร์การบ้าน
          สมาธิเป็นสิ่งสำคัญมากเวลาทำการบ้าน ถ้าอยากปั่นงานที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จไว เราต้องเรียนรู้ที่จะโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าค่ะ แล้วจะเตรียมพร้อมยังไงได้บ้าง? ตามไปเช็กกันทีละข้อเลย

ที่นี่คือห้องทำการบ้าน
          ห้องทำการบ้านที่ดีควรทำให้เราโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ดีค่ะ น้อง A อาจบอกว่าการอยู่ในห้องเงียบๆ ทำให้สมาธิดีมาก แต่น้อง B กลับถูกโฉลกกับห้องที่มีเสียงคนคุยกันหรือเสียงเพลงคลอเบาๆ มากกว่า (เงียบเกินไป = หลับ) เราเลือกห้องทำการบ้านของตัวเองได้นะคะ ถ้าหลงใหลความเงียบแบบ A ก็ทำการบ้านในห้องสมุด หรือห้องนอนไปยาวๆ แต่ถ้าอยากรู้สึกเหมือนมีคนคอยทำการบ้านเป็นเพื่อนอยู่ข้างๆ ร้านกาแฟซึ่งขึ้นชื่อว่ามีคุณสมบัติทางเสียงแบบ White Noise (เสียงรบกวนที่น่าฟัง) ก็เหมาะค่ะ

มีของสำคัญใกล้ตัว
          อุปกรณ์ในการทำการบ้านต้องพร้อมวางอยู่ข้างตัว จะได้ไม่ต้องลุกหาให้เสียเวลาค่ะ ถ้าจะทำงานแปล อย่างน้อยก็ต้องมี Dictionary ปากกาน้ำเงิน ปากกาไฮไลท์ ฯลฯ อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือน้ำเปล่าในอุณหภูมิห้อง มีงานวิจัยออกมาว่าสมองของคนเรามีอัตราการสูญเสียน้ำเร็ว ทำให้ขาดสมาธิ และหัวตื้อตัน ดังนั้น ถ้าเราค่อยๆ จิบน้ำทีละ 5 - 10 นาที จะทำให้สมองทำงานดีต่อเนื่องยาวนานค่ะ สุดท้ายก็อย่าให้ความหิวจนตาลายมาเป็นอุปสรรคในการทำการบ้าน จัดของว่างที่ดีต่อสุขภาพมาวางใกล้มือเลย

ตัดกิเลสทุกช่องทาง
          น้องๆ นิยามคำว่า “กิเลส” ไว้ยังไง? กิเลสหน้าตาแบบนี้หรือเปล่า? เกม ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ ก็รู้ว่าไม่ใช่เวลา มีการบ้านต้องทำ และบางครั้งตามส่องเรื่องไม่เป็นเรื่องด้วยซ้ำ แต่มันสนุกและอยากสนุกอีก นั่นล่ะกิเลส แถมเป็นตัวการที่ทำให้การบ้านไม่เสร็จ ดังนั้น เริ่มปั่นงานเมื่อไหร่ เอาโทรศัพท์ไปฝากไว้ที่แม่ หรือปิดเครื่องไปเลยค่ะ รอจนทำการบ้านเสร็จ หรือถึงเวลาพักค่อยหยิบมาเล่น ต้องรู้จักแบ่งเวลานะ

มี to do list หรือสิ่งที่ต้องทำ
          to do list จะช่วยให้ชีวิตน้องๆ ง่ายขึ้นมาก ตอนเรารับการบ้านมา มันมีแต่คำว่าเยอะอยู่ในหัวใช่ไหมคะ แต่เราไม่ได้เห็นภาพนี่ “ที่ว่าเยอะมันเยอะขนาดไหนกัน?” เขียนออกมาเลยค่ะว่าตอนนี้มีการบ้านวิชาอะไรบ้าง รายละเอียดสิ่งที่ต้องทำเป็นยังไง ส่งวันที่เท่าไหร่ เพื่อจัดลำดับงานที่ต้องทำก่อน - หลังได้ถูก การเคลียร์งานที่กำหนดส่งใกล้ๆ และค่อนข้างง่ายก่อนก็ทำให้มีกำลังใจดีนะคะ แต่การลุยงานยากก่อนก็เป็นทางเลือกที่ดีไม่แพ้กันค่ะ บางงานสเกลยักษ์และหินจริงๆ ต้องอาศัยเวลา ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งได้เปรียบ

มีตารางทำการบ้าน
          ได้สิ่งที่ต้องทำมาแล้วก็บรรจุลงในตารางทำการบ้านเลยค่ะ ถ้าเราไม่วางแผน ไม่บล็อกเวลาให้ตัวเองว่าวันไหนจะเคลียร์งานวิชาอะไร เราอาจจะก่งก๊งลืมงานชิ้นนั้นไปเลยก็ได้ บางคนเขียนตารางทำการบ้านวันต่อวันเลยนะคะ (เผื่อมีงานแทรก) โหดๆ หน่อยก็เขียนเวลาไว้ด้วยว่าใช้เวลาทำกี่นาที เช่น

          วันจันทร์
          วิทย์   : เขียนสรุปผลการทดลองท้ายบทที่ 7 ตั้งแต่ 17.00 - 18.00 น.
          ไทย   : ถอดคำประพันธ์เรื่องพระอภัยมณี ตั้งแต่ 19.00 - 21.00 น.
          สังคม : หาข้อมูลเตรียมเขียนรายงาน ตั้งแต่ 21.00 - 22.00 น.        

          พอเห็นภาพชัดเจนว่ามีงานอะไรจ่อคิวรอ ไฟในตัวก็จะเริ่มพลุ่งพล่าน ไม่เทกลางคันค่ะ อีกอย่างเราสามารถจัดการกับความเหนื่อยของตัวเองได้ ถ้าเอางานหนักๆ บิ๊กๆ มารวมไว้ในวันเดียว หัวฟูแน่  


เคลียร์การบ้านให้เสร็จไวในพริบตา ลุย!

ลุยงานยากก่อน
          มันจะดีจริงเหรอ? รู้อะไรไหมคะ คนส่วนใหญ่พบว่าการเคลียร์การบ้านที่ดีที่สุดมาจากการลุยงานยากก่อนนะ ถ้าเกลียดเลขมาก แทนที่จะเตะโด่งเลขออกไป แล้วไปอ่านอังกฤษที่ชอบ สู้เหนื่อยกับเลขแล้วค่อยใช้อังกฤษที่ง่ายแสนง่ายเยียวยาจิตใจทีหลังดีกว่า ท่องไว้ “ลำบากก่อน...สบายทีหลัง" ผ่านจุดยากๆ ไปแล้ว ถึงจะหมดแรงไปมากโข แต่หลังจากนี้ก็เหลือแต่งานง่ายๆ ให้ลุย ชิลล์ๆ  

ยากจริง อย่าฝืน
          ถ้างานนั้นของน้องๆ เป็นอะไรที่ยากจริงๆ นึกยังไงก็นึกไม่ออก ให้พักไว้ก่อนค่ะ การนั่งจมหัวอยู่แบบนั้นมันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะรู้สึกพะอืดพะอม ท้อแท้ ยังทำให้เปลืองเวลาไปเยอะด้วย มาทำงานอย่างอื่นที่ทำให้เรารู้สึกดีขึ้นก่อนดีกว่า ส่วนงานยากๆ เหล่านั้น เราอาจจะพร้อมกลับไปสู้กับมันทีหลังก็ได้ ให้เวลาเยียวยาทุกสิ่ง

ทำการบ้านไปพูดไป


 
          ถ้ามีสมาธิทำการบ้านแปบเดียวก็เสร็จ อันนี้เรื่องจริงเลย ถ้าน้องๆ รู้สึกว่าต้องใช้ความพยายามในการโฟกัสกับงานตรงหน้ามากเหลือเกินให้เปล่งเสียงออกมาค่ะ เช่น โจทย์เลขอะไรยากเบอร์นี้! ต้องใช้สูตรไหนแก้เหรอออ? การพูดกับตัวเองมันช่วยย้ำให้สมองรู้ว่ากำลังปั่นเลขอยู่ ความวอกแวกต่างๆ ก็จะหายไป ถ้ากลัวใครมองว่าบ้า ก็ไม่ต้องส่งเสียงดังค่ะ แค่กระซิบๆ ให้รู้ว่ากำลังหาคำตอบให้กับปัญหาต่างๆ อยู่ แค่นี้ก็โอเคแล้ว อ้อ! การฟังเสียงความคิดตัวเอง ช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ด้วยนะ

อย่าจับปลาสองมือ
          เคลียร์ให้เสร็จ 1 งานก่อน แล้วค่อยมูฟไปทำอย่างอื่นค่ะ งานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า multitasking หรือการทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันแบบไม่มีจุดโฟกัส จะไปลด IQ และความสามารถในการคิดการทำความเข้าใจงานยากๆ เคลียร์ให้เสร็จเป็นอย่างๆ ตามตารางที่วางไว้ งานไหนเสร็จ ก็อย่าลืมติ๊กถูกไว้นะคะ ได้เห็นว่างานทยอยลดลง ความฟีลกู้ดก็จะตามมา มีกำลังใจลุยต่อด้วยค่ะ  

รู้ว่าต้องจบเมื่อไหร่
          ทุกอย่างต้องมีข้อสิ้นสุดค่ะ อย่างที่บอกว่าให้กำหนดขอบเขตการทำงานของเราไว้เลย พยายามอย่าทำงานติดๆ กันนานเกิน 1 ชั่วโมงแบบไม่พัก หรือเบียดเวลานอนไปค่อนคืน ทำเท่าที่จะทำได้ ถ้าครบกำหนดเวลาแล้วงานยังไม่เสร็จ ตื่นมาทำตอนเช้าก็ยังไหว เวลาว่างช่วงก่อนเข้าแถว พักกลางวัน หรือคาบเรียนอิสระ ก็ใช้เคลียร์การบ้านง่ายๆ ได้นะคะ ส่วนงานใหญ่ที่ยังไม่เร่ง แต่ต้องใช้เวลาทุ่มทุนสร้างนานหน่อยก็ยกยอดไปทำเสาร์ - อาทิตย์เลยค่ะ   

          เวลาเหนื่อย การบ้านจะยิ่งยากขึ้นเป็นสองเท่า และดูเหมือนว่าทำไปทำมาจะไม่เสร็จสักที ถ้าทำเสร็จงานหนึ่งลองพักไปทำอย่างอื่นสัก 5 - 10 นาที ให้สมองได้คลายเครียด แล้วค่อยกลับมาลุยต่อ รับประกันว่าเสียเวลาน้อยกว่ามานั่งมาราธอนคาโต๊ะทำการบ้านทั้งที่สมองไม่ไปแน่นอน ลองนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปใช้ดูนะคะน้องๆ ถ้าได้ผลก็ฝากบอกต่อให้เพื่อนๆ รู้ด้วยล่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://m.wikihow.com/Concentrate-on-Your-Homework
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด