Peak Brain สูตรลับฟิตสมองให้โฟกัสดีขึ้น สำหรับคน “ไม่มีสมาธิเรียนตอนกลางวัน”

          เคยได้ยินเรื่องเซนส์ของความง่วงไหมคะ ว่ากันว่าหลังจากที่เราตื่นนอนมา 7 - 9 ชั่วโมง สมองจะค่อยๆ ลดระดับความตื่นตัวลง แล้วก็ทำให้เรากลับมาง่วงนอนในที่สุด นี่อาจเป็นเหตุผลที่หลายคนเชื่อว่า “เราจำเป็นต้องนอนพักกลางวัน” เพื่อให้สมองกลับมามีพลัง พร้อมทำงานเต็มที่นั่นเอง 


 
          วันนี้ฟิตเกรดจะพาน้องๆ ที่มักจะหลุดโฟกัสเวลานั่งเรียนตอนกลางวัน เรียนแล้วหลับ เหม่อ เหนื่อย ไปดูต้นตอของอาการเหล่านี้ แล้วแก้ไขไปพร้อมๆ กันด้วย "สูตร Peak Brain ปลุกสมองให้คึกคัก" ค่ะ

ทำไมชอบเหม่อลอยตอนกลางวัน?
          ไม่มีสมาธิตอนกลางวัน อาการเป็นยังไง? บางคนบอกว่าจะไม่มีสมาธิ ก็เฉพาะเวลาหิว มีเรื่องให้เครียด คิดไม่ตก หรือไม่มีอารมณ์เรียนสไตล์คนติสต์ แต่บางคนไม่มีสมาธิทุกวัน ไม่ง่วงก็นั่งเหม่อลอย ตามสิ่งที่ครูสอนไม่ทันจนเรียนไม่รู้เรื่อง ต้นตอของอาการเหล่านี้มีที่มาค่ะ ชวนน้องๆ มาเช็กไปพร้อมกันว่าเราเป็นแบบนี้หรือเปล่า

นอนหลับไม่เพียงพอ
          กลุ่มผู้เชี่ยวชาญมูลนิธิการนอนหลับแห่งชาติ (The National Sleep Foundation) ได้เสนอแนะหลักการนอนหลับในแต่ละวันของทุกช่วงวัยว่า ควรนอนวันละกี่ชั่วโมงเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ สำหรับน้องๆ วัยเรียนช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการนอนหลับควรอยู่ในช่วง 8 - 10 ชั่วโมง ถ้านอนน้อยติดต่อกันหลายวันจะส่งผลต่ออารมณ์และประสิทธิภาพการทำงานของสมอง เช่น หงุดหงิดงุ่นง่าน ไม่มีสมาธิ สมองคิดช้าลง ความจำสั้น ฯลฯ ดังนั้น ต้องสำรวจตัวเองว่าแต่ละวันเรานอนหลับเพียงพอหรือเปล่า

มีความผิดปกติจากการหลับ
          สำหรับกรณีนี้ไม่ใช่ว่าเราไม่ยอมหลับยอมนอนเอง แต่เป็นความผิดปกติที่วงจรการตื่นและหลับในกลุ่มโรคนอนผิดเวลาประเภทล่าช้าผิดปกติ (Delayed Sleep Phase Disorder) ทำให้เวลาการนอนของเราเลื่อนไปจากปกติที่ควรจะเป็นจนการนอนหลับแย่ลง กลางวันแทนที่จะตื่น กลับรู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา ความสามารถในการคิดแย่ลง สมาธิลดลง แล้วไปสดชื่นกะปรี้กะเปร่าในตอนกลางคืนแทน  

อ่อนเปลี้ยเพลีย “แดด”
          เรื่องอากาศก็มีผลกระทบโดยตรงเหมือนกันค่ะ มีงานวิจัยออกมาหลายชิ้นว่าอากาศร้อนส่งผลกระทบต่อร่างกายและสมาธิการเรียนของนักเรียนได้ หลายคนร้อนจนสมองตื้อ อ่อนระโหยโรยแรง สติหลุดตาเริ่มปิด ไม่มีกะจิตกะใจเรียนหนังสือไหวจริงๆ ถึงได้มีงานวิจัยเรื่องอุณหภูมิที่เหมาะสมในห้องเรียนเผยออกมาเรื่อยๆ สำหรับบ้านเรา ถ้าเป็นห้องเรียนที่มีเครื่องปรับอากาศคงอุณหภูมิไว้ที่ 24 - 25 องศาเซลเซียสก็ถือว่าเหมาะสมค่ะ 


ขอบคุณภาพจาก https://unsplash.com
 
          จากทั้งหมดที่ว่ามาไม่ว่าจะเป็นอดนอน มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ อ่อนเพลียเพราะแดดตอนกลางวัน ถามว่ามีวิธีแก้ไขยังไง? ถ้าตอบไปตามทีละข้อก็สามารถแก้ได้ด้วยการปรับพฤติกรรมของเราเองค่ะ อย่างการนอนไม่พอและมีความผิดปกติจากการหลับ น้องๆ สามารถใช้ “Sleep Diary บันทึกการนอนหลับ” เพื่อเก็บข้อมูลการหลับ-ตื่น แล้วนำมาปรับพฤติกรรมการนอนหลับให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติที่ควรจะเป็นได้ การเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลาเดียวกันทุกวันคือสุขลักษณะการนอนที่ดีที่สุดแล้วค่ะ 
          
          ส่วนอาการเพลียแดด ถ้าแก้ที่โรงเรียนไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะต้องขยับตัวเราไปอยู่ในที่ที่มีลมพัดโกรกสบาย อย่างน้อยถ้าพัดลมเป่ามาไม่โดนตัว การนั่งติดประตู หน้าต่าง (ที่แดดส่องไม่ถึง) ก็อาจช่วยได้ จิบน้ำเย็นเยอะๆ ก็ช่วยให้สดชื่นขึ้นได้เหมือนกันค่ะ 

          ทั้งนี้ถ้าหากเราลองวิธีต่างๆ ที่ว่ามานี้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเรียกสมาธิกลับคืนมาได้ล่ะ พี่เมก้าก็มีอีกสูตรหนึ่งมาฝากค่ะ 

เรียกสมาธิด้วย Peak Brain!
          ว่ากันว่าช่วงเวลาท้าทายของการเรียนมักจะอยู่ในช่วงที่พลังของเราได้รับการสูบฉีดถึงขีดสุด! เมื่อไหร่ที่น้องๆ เรียนแล้วรู้สึกว่ามีพลัง มีโฟกัส นั่นแหละคือช่วง Primetime เวลาที่ดีที่สุดในการเรียนหนังสือของเรา สมมติน้องบอกว่า “ตอนกลางวันโฟกัสไม่ได้ สมองฟุ้งซ่านมาก ต้องมืดจริงๆ ถึงจะอ่านหนังสือรู้เรื่อง” นั่นแปลว่าช่วงเวลาที่สมองทำงานแบบมีประสิทธิภาพมากที่สุดของน้องคือตอนกลางคืน “อ่าว! อย่างงั้นก็แปลว่าเราไม่ต้องเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ใช้ชีวิตแบบนกฮูกต่อไปเรื่อยๆ ได้น่ะสิ” 

          ไม่ได้หมายความว่าแบบนั้นค่ะ หลายคนก็เริ่มเห็นว่าถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ชีวิตตอนกลางวันของเราน่าจะเริ่มพัง เพราะโรงเรียนก็เปิดสอนตอนกลางวัน เรายังคงต้องดำเนินกิจวัตรประจำวันในช่วงเวลากลางวันอยู่ จะปล่อยให้เรียนไปแบบงูๆ ปลาๆ ตอนกลางวัน แล้วมานั่งอ่านเองตอนกลางคืนก็คงไม่เทพขนาดนั้น เราเลยต้องสร้างวงจร Primetime ขึ้นมาใหม่ด้วยการใช้ "Peak Brain หรือการฝึกสมองให้โฟกัสแบบขั้นสุด"


ขอบคุณภาพจาก https://unsplash.com
 
          วิธีง่ายที่สุดแบบไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลยคือการ “คิดตามสิ่งที่ครูสอน” ในช่วงที่เรียนแล้วคิดว่าสมองกำลังใช้งานได้ดี ให้รีบคิดต่อ จดจ่อกับสิ่งที่ครูสอนแบบไม่ปล่อยให้อะไรเข้ามาแทรกได้ ลองดูว่าเรารวบรวมสมาธิได้นานเท่าไหร่ ตอนแรกน้องอาจจะทำเวลาได้ 30 นาทีแล้วสติหลุด แต่ต่อไปเมื่อลองฝึกสมองให้โฟกัสอยู่กับบทเรียนตรงหน้าซ้ำๆ จะสังเกตความเปลี่ยนแปลงได้ว่า เราจดจ่ออยู่กับการเรียนได้นานขึ้น วิธีนี้ก็คล้ายๆ กับการใช้บทเรียนเรียกสมาธิค่ะ สมองจะได้ไม่ฟุ้งซ่านไปคิดเรื่องอื่น 

          อีกวิธีหนึ่งก็มีชื่อเดียวกับสูตร Peak Brain เลยก็คือการเล่น "Peak" เป็นเกมที่สถาบันด้านประสาทวิทยาและพฤติกรรมของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ศึกษามาแล้วว่าเป็นการบริหารสมองอย่างหนึ่ง ต่อให้เล่นเพียง 8 ชั่วโมงต่อเดือน ก็สามารถช่วยปรับสมาธิ ฝึกฝนการใช้ความคิด ความจำ และการตัดสินใจได้ค่ะ ถ้าให้พี่เมก้ายกตัวอย่างก็จะมีเกมฝึกสมอง เช่น เกมจับคู่ภาพ เกมปริศนาภาพ เกมตัวต่อ ฯลฯ ลองหามาเล่นได้ค่ะ ในแอปพลิเคชั่นมีหลากหลายมาก  

          ตอนพี่เมก้าเรียนก็จะมีความง่วงอยู่บ่อยๆ พี่ก็เป็นประเภทนกฮูกเหมือนกัน เรียนในห้องแล้วชอบวูบหลับตลอด อาศัยอ่านเองตอนดึกๆ แต่บอกเลยว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะการที่เราหลับบ่อยๆ ทำให้ตามเนื้อหาที่เรียนไม่ทัน แล้วพอมาอ่านเองก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดีค่ะ ฮือ T T ถ้าพอมีทางไหนที่จะช่วยเรียกสมาธิกลับคืนมาได้ ก็อยากจะช่วยกันค่ะ ว่าแต่น้องคนไหนมีเคล็ดลับอยากจะแชร์ให้เพื่อนๆ อ่านมั้ยเอ่ย เสนอไอเดียไว้ได้เลย
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

เด็กมหาลัยน่ารัก 18 ต.ค. 62 10:21 น. 1

ฝากห้องโอเพนแชทสำหรับพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตมหาลัย แชร์ทริคต่างๆ คุยเกี่ยวกับชีวิตมหาลัย จบแล้วทำอะไรดี สามารถแชร์กันแบบ real time ได้เลยค่ะ โปรดแตะลิงก์ด้านล่างเพื่อเข้าร่วมโอเพนแชทนี้

https://line.me/ti/g2/XJ7oXsYSqEop01KaavRBRw #ชีวิตเด็กมหาลัย #จบแล้วทำอะไรดี #เด็กมหาลัย #ใต้โต๊ะเด็กมหาลัย


0
กำลังโหลด
กำลังโหลด