ใครว่าเรียน “เอกเคมี” แล้วตกงาน? ตีแผ่ความจริงนักเคมี ทำงานได้หลากหลาย อนาคตไกล !

               หลายคนอาจมองการว่าเรียนวิทยาศาสตร์สายตรงอย่าง เคมี ฟิสิกส์ ชีวะ เรียนจบไปก็ไม่มีงานทำ แต่จริงแล้วเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ? น้องๆ ชาว Dek-D อยากรู้ไหมว่า...ถ้าชอบวิชาเคมีจนไปเรียนต่อเอกเคมีในมหาวิทยาลัย จบแล้วจะนำไปทำมาหากินอะไรได้บ้าง ? พี่เกียรติไปหาคำตอบมามาเล่าให้น้องๆ ฟังแล้วค่ะ


เอกเคมีในมหาวิทยาลัย เรียนอะไรบ้าง ?

                ในเอกเคมีทั่วไป โดยมากจะแบ่งออกเป็นสี่สาย (1) Analytical Chemistry (2) Organic Chemistry (3) Inorganic Chemistry และ (4) Physical Chemistry โดยจะได้เรียนทั้งสี่สาย แล้วเสริมด้วยวิชาเลือกต่างๆ แม้ว่าเคมีจะเป็น “Pure Science” วิทยาศาตร์พื้นฐานไม่เจาะจงอาชีพเฉพาะทาง แต่หลักสูตรจะเน้นให้สามารถนำไปต่อยอดในด้านที่ชอบต่อไปได้ เช่น สนใจด้านนิติวิทยาศาสตร์ นักเคมีก็เข้าไปทำงานในสำนักงานตำรวจได้ ตำรวจจับเม็ดๆ อะไรมาไม่รู้มาหนึ่งกระสอบ บอกเป็นยาแก้ปวด นักเคมีที่เป็นนักนิติวิทย์ก็ต้องตรวจสอบว่าเจ้าเม็ดนี้ว่าเป็นยาแก้ปวดจริงไหม หรือเป็นยาเสพติดอื่นใด หรือได้เป็นนวัตกร (Innovator) แบบได้ไปร่วมวิจัยโมเลกุล หาวิธีจับโมเลกุล (ก็คือจับกลิ่น) แล้วเอาตัวที่จับกลิ่นนี้ไปใส่ในผ้าทำเป็นผ้าขนหนูดูดกลิ่นได้ บางคนสนใจเรื่องโพลิเมอร์ ก็ไปเรียนต่อปริญญาโท - เอกด้านโพลิเมอร์ หรือสนใจเรื่องยา ก็ไปเรียนต่อด้านเภสัชวิทยาได้


“นักเคมี ไม่มีทางตกงาน”

               นักเคมีไม่ตกงาน เพราะไปได้หลายทาง อย่างน้อยที่สุดทุกบริษัทอุตสาหกรรมก็จะต้องมีฝ่าย Quality Control อย่างบริษัททำน้ำยาปรับผ้านุ่ม ก็ต้องมีฝ่ายตรวจว่าน้ำยาปรับผ้านุ่มล็อตใหม่นี้ กลิ่นเท่ากันไหม กลิ่นได้มาตรฐานหรือเปล่า ซึ่งคนวิเคราะห็ก็คือนักเคมี หรือถ้ามีหัวด้านประดิษฐ์คิดค้น ก็อยู่ฝ่าย R & D (Research and development) เพื่อผลิตหรือสร้างผลงานใหม่ๆ ให้กับบริษัทก็ได้

รูปแบบการเรียนเอกเคมี

                     รูปแบบการเรียนเอกเคมีก็เข้าห้องปฏิบัติการ และมีโปรเจ็กต์ต่างๆ ให้ทดลองทำเหมือนกับสายวิทยาศาสตร์ทั่วไป แต่ปัจจุบันหลักสูตรส่วนใหญ่จะมีความประยุกต์ คือทำให้เข้ากับสถานการณ์ปัญหาบ้านเมืองมากขึ้น มีโปรเจ็กต์ Social Science งานวิทย์เพื่อสังคม ได้ลงพื้นที่จริง ผู้เรียนเอกเคมีในมหาวิทยาลัยก็จะได้เจอ “สิ่งที่ว้าวมากขึ้น” ได้ฝึกสกิลแล็ป อยากทำยาก็ได้ลองสังเคราะห์ปฏิกิริยา ได้วิเคราะห์น้ำ ถ้าต้องนำน้ำเสียนี้ไปทิ้ง มันต้องกำจัดบำบัดอย่างไรบ้าง เผื่อไปทำงานบริษัทใหญ่ หรือไปทำวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม เป็น Hazardous Waste Chemist และในบางแห่งก็จะมีหลักสูตรที่บูรณาการกับสายการจัดการ เป็นผู้มีความรู้ด้านเคมีที่เน้นการบริหาร นักเคมีก็จะสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจจากผลงานวิจัยที่สร้างขึ้นได้ ได้เรียนเพื่อไปดูแลธุรกิจ(ที่เกี่ยวกับเคมี)ของที่บ้านได้ เมื่อมีประสบการณ์ก็สามารถเป็น Consultant ที่ปรึกษาบริษัทได้ด้วย บางแห่งมีหลักสูตร Environmental Chemistry เรียนเรื่องการจำกัดสารเสีย ซึ่งแต่ละหลักสูตรของแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีจุดเน้นต่างกัน มีทั้งหลักสูตรไทยและหลักสูตรอินเตอร์ ที่น้องๆ ต้องศึกษาหลักสูตรก่อนว่าเน้นไปทางด้านใด แล้วค่อยเลือกตัดสินใจเลือกเรียน
 


                 ดังนั้น การเรียนเอกเคมี ก็จะได้เป็นนักเคมีที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านแตกต่างกันไปตามความสนใจ หรืองานที่ตนเองรับผิดชอบดูแล เป็นการนำความรู้ด้านเคมีไปศึกษา วิจัย แก้ไขพัฒนา หรือสร้างสรรค์ในงานที่ตนเองกำลังทำนั่นเอง เช่น Hazardous Waste Chemist เป็นนักเคมีที่เชี่ยวชาญด้านของเสียอันตราย Water Chemist นักเคมีที่วิจัยด้านคุณภาพน้ำ Pharmacologist (นักเคมีด้านเภสัชวิทยา) หรือ Toxicologist วิจัยศึกษาด้านพิษวิทยา Forensic Scientist นักนิติวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

อ.เต้ - ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ
 
                  “เอ๊ะ? แล้วมันมี เคมี แบบอื่นที่อยู่คณะอื่นๆ อย่างวิศวกรเคมี หรือ เภสัชกร มันต่างกับเอกเคมี ในคณะวิทยาศาสตร์อย่างไร” พี่เกียรติไปขอข้อมูลจาก อาจารย์เต้ ผศ.ดร.โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์พิเศษติวผู้สอบโอลิมปิกวิชาการและทุนต่างประเทศต่างๆ จึงได้รู้ว่า “อาชีพเคมีทั้งหลายถึงจะเคมีเหมือนกัน แต่งานที่ทำไม่เหมือนกันเลย”

                สมมติว่าจะทำยาเพื่อฆ่าเชื้อสักอย่าง ต้องเริ่มต้นที่ตกผลึกเอนไซม์ของเชื้อก่อน มาดูว่าเอนไซม์หน้าตาเป็นยังไง ต้องให้นักชีวะหรือนักชีวเคมี (Biochemist) เป็นคนตกผลึกเอนไซม์ แยกโมเลกุลออกมา พอรู้ว่าหน้าตาโมเลกุลของเอนไซม์เป็นยังไง ก็จะให้นักเคมีฟิสิกส์ (Physical Chemist) มาคำนวณอะตอม นำโมเลกุลเล็กๆ ไปคำนวณให้ผลโครงสร้างโมเลกุลยา แล้วส่งต่อถึงมือนักเคมีอินทรีย์ (Organic Chemist) ไปสังเคราะห์ตัวยาออกมา แต่นักเคมีอินทรีย์ทำงานในห้องปฏิบัติการ ไม่สามารถสังเคราะห์ยาจำนวนเยอะๆ ออกมาได้ เครื่องแก้วใหญ่ไม่พอ แท่งกวนสารเล็กไป และยังอาจต้องมีการควบคุมอุณหภูมิอีก คนที่จะสังเคราะห์ยาให้ได้ปริมาณมากๆ ก็คือ วิศวกรเคมี วิศวกรจะไม่ได้เรียนเคมีมากเท่าเอกเคมีจริงๆ ก็จะไม่รู้ว่าโครงสร้างอะไรสร้างปฏิกิริยาใหม่ทำให้เกิดยา แต่จะเรียนว่าอุปกรณ์อะไร อย่างถังผสมสารเคมีแบบนี้ ต้องเร่งด้วยกรดตัวไหน ใช้ใบพัดกวนยาเป็นมุมเป็นองศาใด ใช้ความร้อนเท่าไหร่ในการกระจายวัตถุดิบให้ผสมกันได้ วิศวกรเคมีเรียนมาเพื่อผลิตควบคุมดูแลสารเคมีในปริมาณเยอะๆ ในงานอุตสาหกรรม ซึ่งนักเคมีก็จะไม่รู้ว่าต้องใช้เครื่องจักรอะไร ควบคุมอุณหภูมิในโรงงานยังไง ฯลฯ เพื่อผลิตยาออกมาปริมาณมากๆ เช่นกัน


             แล้วยามันเป็นสารประกอบ นักเคมีได้วิเคราะห์สาร(ยา)ในห้องแล็บ เห็นแล้วว่าสารนี้ฆ่าเชื้อนี้ได้แล้ว แต่ปรากฏว่ายานี้นำไปใช้ไม่ได้ทันที มีกรดเยอะ ลงกระเพาะแล้วกัดกระเพาะ ก็ต้องส่งต่อไปให้เภสัชกรปรุงตำรับยา ทำอย่างไร...ให้กินยานี้แล้วไม่กัดกระเพาะ นำไปใส่แคปซูลไหม หรือต้องนำยานี้ไปผสมกับยาอะไรเพื่อให้ยาทำงานดีขึ้น แล้วจึงค่อยนำไปให้แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วย แล้วถ้าสมมติเกิดมีการดื้อยา มันก็ย้อนกระบวนการใหม่ไปเริ่มต้นใหม่ นักเคมีที่ชอบเรื่องยา ส่วนใหญ่ก็จะเรียนสาย Organic Chemistry เพราะจะได้เรียนการสังเคราะห์ยา แต่ถ้าไม่ชอบทำแล็บ ก็มีสาย Physical Chemistry คือทำทุกอย่างเกี่ยวกับเคมีในคอมพิวเตอร์ ไปเน้นคำนวณโมเลกุลต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ต่อไป

(สายที่เกี่ยวข้องกับเคมี แต่เป็นอีกสาขาอาชีพอีก คือ วัสดุศาสตร์ ดูแนะนำได้จาก "วัสดุที่ใช้ทุกวันนี้ มันเกิดจากอะไร (ภาควัสดุศาสตร์ จุฬาฯ)



 
            ดังนั้น ในส่วนปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ที่เป็นเอกเคมีสายตรง ก็จะสามารถต่อยอดได้แน่นอน มีหลักสูตรปริญญาโทและเอกในด้านที่เกี่ยวข้องต่างๆ และรับผู้เข้าเรียนที่จบสายวิทยาศาสตร์เอกเคมีค่ะ อาจารย์เต้ ยืนยันว่า มีทุนการศึกษาทั้งในและนอกประเทศแน่นอน มีรายได้ดี มีโอกาสได้ทุน ไปทำวิจัยหรือเรียนต่อต่างประเทศ ได้ร่วมงานกับบริษัทใหญ่ๆ ได้ และมีทุนหน่วยงานที่ต้องไปเรียนตามความต้องการของหน่วยงานนั้นๆ รวมถึงทุนวิจัยจากแหล่งต่างๆ ด้วย ซึ่งจริงแล้วนักเคมีเป็นที่ต้องการของหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน เพียงแต่ต้องรู้ว่าตัวเราจะทำงานอะไร ชอบด้านไหน และศึกษาต่อยอดให้ตรงกับสิ่งที่เราสนใจ



 


ถ้าอยากเก่งเคมี ต้องเน้น…
 
               ถ้าอยากเรียนเก่งเคมี นำไปใช้สอบได้ทุกตัวไม่ว่า PAT2 วิชาสามัญ โอเน็ต หรือการแข่งสอบใดๆ ต้องเน้นความเข้าใจเป็นหลัก จริงๆ เคมีก็มีแค่สองบทหลัก คือ พันธะเคมี กับ ปริมาณสารสัมพันธ์ ปัญหาของเด็กส่วนใหญ่ คือ คิดว่าตัวเองเข้าใจพันธะเคมีแล้ว แต่ถ้าเข้าใจพันธะเคมีจริงๆ ตอนเรียนสารประกอบอินทรีย์ก็ต้องไม่รู้สึกว่าท่องอยู่ หรือถ้าเรียนเรื่องกรดเบส แล้วบอกว่าทำไมคำนวณกรดเบสมันยากจัง แบบนี้ก็แปลว่าไม่เข้าใจเรื่องปริมาณสารสัมพันธ์ด้วย ซึ่งถ้าเข้าใจปริมาณสารสัมพันธ์จริงๆ บทที่ต่อเนื่องกันมา เช่น อัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี สมดุลเคมี กรดเบส ทั้งหมดนี้จะง่ายเข้าใจได้ ทุกคนสามารถเก่งวิชาเคมีได้ ถ้าได้ฟังได้ดูการอธิบายคอนเซ็ปต์ที่ดีจากครูในห้องหรือคอร์สเรียนที่ดี คนที่เข้าใจเคมีจะปิ๊งภาพในหัวได้เลย ไม่ต้องท่องสูตรลัดแก้โจทย์อย่างเดียว

           สรุปได้เลยว่า คนที่เลือกเรียนเอกเคมี มีโอกาสได้ทุน มีโอกาสทำงานที่ดี แล้วแถมต่อยอดในด้านที่ชอบด้วย เพราะเอกเคมีเป็นศาสตร์พื้นฐานที่ไปได้ทุกทาง พี่เกียรติรู้สึกเลยว่าอาชีพทางสายวิทยาศาสตร์ยังไปได้ไกลมากกกก (กอไก่ ล้านตัว) โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงโดยตลอด งานวิจัยวิทยาศาสตร์ก็ยังไล่ตามเพื่อแก้ไข ปรับปรุง พัฒนา สร้างใหม่ คอยติดตามการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เสมอ เชื่อได้เลยว่าไม่ว่าอนาคตจะผ่านไปไกลแค่ไหน ถ้าเรายังมองออกว่าเราจะขยายขอบเขตการทำงานและสามารถของเราได้อย่างไร เราไม่มีวันตกงานแน่นอนจ้า



ขอบคุณภาพประกอบจาก - 
https://pixabay.com/users/Megan_Rexazin-6742250
พี่เกียรติ
พี่เกียรติ - Community Master ถนัดแฝงตัวตามกระทู้เด็กดี มีความสนใจเป็นล้านเรื่องขึ้นอยู่กับดราม่าขณะนั้น

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น