สวัสดีค่ะน้อง ๆ รุ่นพี่ #Dek63 เพิ่งจะผ่านการสอบมาหมาด ๆ หลายคนบอกว่าเห็นข้อสอบแล้วชีวิตท้อแท้ขึ้นมาเลย ทำเอาน้องรุ่นต่อไป ออกอาการหวั่น ๆ เก้าอี้สั่นกันขึ้นมาแล้ว พี่เมก้าบอกเลยว่าความหมดอาลัยตายอยากกับเรื่องเรียนเรื่องสอบนั้น สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และเรามีวิธีเอาชนะมันได้ค่ะ


 
เมื่อฉันสิ้นหวังในการเรียน
                         ก่อนจะเอาชนะอาการหมด passion นั้น น้องๆ ควรทำความรู้จักกับ “ภาวะสิ้นหวังในการเรียน - Learned Helplessness” ไว้ให้ดีค่ะ ภาวะนี้คิดค้นขึ้นโดยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิกและจิตวิทยาการทดลองชื่อว่า “มาร์ติน ซีลิกแมน (Martin Seligman)” เขาได้ทำการทดลองให้มนุษย์ทำงานที่แก้ปัญหาไม่ได้ เมื่ออยู่กับงานนั้นนานขึ้นผลการทดลองพบว่า มนุษย์จะเริ่มเรียนรู้ว่าตนนั้นช่วยเหลือตนเองไม่ได้จนนำมาสู่ความคิดที่ว่า เราไม่อาจทำงานใหม่หรือแก้ปัญหาใด ๆ ให้เป็นผลสำเร็จได้ในที่สุด

                         แนวคิดนี้ส่งผลในทิศทางเดียวกันกับการเรียนค่ะ เมื่อเรียนหรือสอบไปนาน ๆ แล้วรู้สึกว่าความพยายามไม่สัมฤทธิ์ผลสักที หรือผลลัพธ์ไม่ออกมาดีอย่างที่คิด เราก็จะรู้สึกไปว่าความสามารถในการเรียนรู้ของเราเป็นจุดอ่อนมาก ๆ ต่อให้เปิดใจเรียนเรื่องอื่น ๆ ก็คงจะแย่ลงเหมือนกัน พอแรงจูงใจลดลง ความซึมเศร้าเหงาหงอยก็จะตามมา นี่จึงเป็นเหตุผลที่เรามักจะทำตัวเหมือนคนสิ้นหวัง เฉื่อยชา ไร้แรงจูงใจที่จะสู้กับการเรียนจนทำให้ความสามารถในการเรียนยิ่งลดลงตามไปด้วยนั่นเอง

Learned Optimism กันหน่อยไหม?


 
                         แนวคิด “มองโลกในแง่ดีโดยการเรียนรู้ - Learned Optimism” นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์ด้านจิตวิทยาเชิงบวกค่ะ แนวคิดนี้ศาสตราจารย์ซีลิกแมนต่อยอดมาจากแนวคิด “การช่วยเหลือตนเองไม่ได้จากการเรียนรู้ - Learned Helplessness” ที่เราเพิ่งทำความรู้จักกันไปนั่นเอง Seligman พยายามศึกษาความมั่นใจและความรู้สึกมุ่งมั่นพยายามต่อสู้เพื่อความสำเร็จโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แล้วก็พบว่าแนวคิดเกี่ยวกับการมองโลกในแง่ดีสามารถช่วยเราได้ 

สร้างความสุขด้วย PERMA Model
                         PERMA Model คือวิธีการเข้าถึงความสุขแบบง่าย ๆ ภายใน 5 องค์ประกอบ ที่ศาสตราจารย์ซีลิกแมนแนะนำ ดังนี้

                         P - Positive Emotion หลักความมองโลกในแง่ดี องค์ประกอบนี้บอกให้เราโฟกัสไปที่การสร้างอารมณ์เชิงบวกที่มีค่ามากกว่าการยิ้ม อาจจะแสวงหาความสุขจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว เช่น อ่านนิยายที่ชอบ ให้ข้อคิดดีๆ ฝึกพัฒนา EQ ให้รู้เท่าทันอารมณ์ ฯลฯ เพราะสิ่งนี้จะทำให้เราสนุกกับสิ่งที่ทำและพร้อมที่จะเผชิญหน้าความท้าทายที่เข้ามาทุกรูปแบบอย่างสร้างสรรค์   
                         E - Engagement หลักความผูกพัน ในการเรียนหรือทำกิจกรรมต่างๆ ต้องอาศัยความใส่ใจและความสุข ทั้งสองอย่างนี้ทำให้เราได้รับการเติมเต็มทางประสบการณ์ คล้ายกับว่าต่อให้สิ่งที่ทำเป็นเรื่องยากแต่ก็มีความสุขที่จะทำและเชื่อว่าเป็นความคุ้มค่าที่สามารถทำให้สำเร็จได้ องค์ประกอบนี้จะช่วยผลักดันให้เราเก่งขึ้น มีทักษะมากขึ้น และมีการบริหารจัดการอารมณ์ที่ดี 


 
                         R - Relationships ความรัก ความใกล้ชิด และความมั่นคงทางอารมณ์อันเกิดจากการมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน ฯลฯ คือองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการสร้างความสุข ในเวลาที่เราทุกข์ใจหรือต้องเผชิญความยากลำบากก็ยังมีคนเหล่านี้ที่คอยสนับสนุน 
                         M - Meaning คือการทำความรู้จักความหมายและเข้าใจสิ่งรอบตัวว่าเหตุผลในการมีชีวิตอยู่คืออะไร ทำไมเราถึงยังอยู่บนโลกใบนี้ เพื่อที่จะได้เข้าถึงคุณค่าของสิ่งที่ทำและเข้าใกล้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น 
                         A - Accomplishments การสร้างความรู้สึกในวันที่บรรลุเป้าหมาย Seligman เชื่อมั่นในความทะเยอทะยาน วิธีหนึ่งที่เขาแนะนำให้ทำคือ “การเขียนบรรยายเหตุการณ์ในอนาคต” หรือที่นักจิตวิทยาเชิงบวกเรียกว่า “Best Possible Self” โดยให้เราสร้างภาพอนาคตและเขียนบรรยายความสุขที่จะเกิดขึ้นในวันที่เราประสบความสำเร็จ วิธีนี้จะช่วยให้มีความสุขกับการเรียนและเกิดความรู้สึกท้าทายที่จะทำสิ่งที่หวังให้เข้าใกล้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

                         บอกตามตรงว่าพี่เมก้าเองก็เคยท้อเรื่องเรียนอยู่บ่อยๆ ถึงขนาดหยุดอ่านหนังสือสอบไป 3 เดือน แต่สุดท้ายก็คิดขึ้นได้ว่าที่กำลังทำอยู่คือการวิ่งหนีปัญหาไม่ใช่สู้กับปัญหา ต่อให้วันข้างหน้าเราไม่สำเร็จ แต่ครั้งหนึ่งเราก็ยังได้เผชิญหน้ากับมัน ขอให้น้องๆ รักษาเลือดนักสู้ในตัวไว้นะคะ พี่เชื่อว่าเป้าหมายอยู่ในมือของทุกคนแล้ว แค่เราอย่าปล่อยมันก่อนก็พอ     
พี่เมก้า
พี่เมก้า - Columnist นักข่าวสายการศึกษา ที่มีความสุขกับการแต่งฟิค อ่านฟิค เพ้อถึงยัมมี่ฟู้ดไปวันๆ

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

0 ความคิดเห็น