คนใกล้ชิดติด HIV จะอยู่ร่วมกันอย่างไรดี ติดต่อกันได้ไหม?

Spoil

  • การติดเชื้อ HIV ไม่ใช่โรคเอดส์ แต่โรคเอดส์คืออาการของการติดเชื้อ HIV ในระยะสุดท้าย
  • เชื้อ HIV ติดต่อกันได้ 2 ทาง คือ ทางเลือด  และการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • กินข้าวร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV ได้ แต่ควรใช้ช้อนกลาง รวมถึงสามารถกอด สัมผัสได้ตามปกติ
  • หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ว่าจะกินยาต้านอยู่ หรือตรวจไม่พบเชื้อแล้ว ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคติดต่ออื่นๆ ได้ด้วย
  • หากต้องอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ควรรังเกียจ  ไม่ซ้ำเติม  ควรเข้าใจและดูแลให้กินยาสม่ำเสมอและพบแพทย์ตามนัด

เพื่อนเมทรับเชื้อ HIV มา เราต้องระวังอะไรไหม?

            สวัสดีค่ะน้องๆ   ชาว Dek-D ที่ติดตามคอลัมน์ Sex Education by Dek-D กันเป็นประจำ หากใครจำได้ พี่หมอเคยเขียนถึงเชื้อ HIV ไปก่อนหน้านี้แล้ว (อ่านเรื่องการติดเชื้อ HIV) ซึ่งได้พูดถึงการรับเชื้อ การรักษาไปแล้ว ครั้งนี้เป็นปัญหาใหม่ มีน้องๆ ถามเข้ามาว่า เพื่อนสนิทติดเชื้อ HIV มา เราอยู่กับเค้าทุกๆ วันเนี่ย ต้องระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษไหม 

วันนี้พี่หมอจะมาบอกเกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยติดเชื้อ HIV  ว่า เราจะอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างไรให้มีความสุขและไม่ติดเชื้อค่ะ  ใครที่มีเพื่อน คนรัก คนใกล้ชิด ญาติ หรือคนในครอบครัวได้รับเชื้อ HIV มา มาอ่านกันเลยค่ะ

1. ปรับทัศนคติกันก่อนว่า การติด HIV ก็เหมือนกับผู้ป่วยติดเชื้อโรคอื่นๆ เราต้องยอมรับความจริงว่าเพื่อนหรือคนใกล้ชิดรับเชื้อมาแล้ว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่รังเกียจ ไม่ซ้ำเติม โดยเราสามารถอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้ตามปกติ เพียงมีข้อระมัดระวังเพิ่มอีกเล็กน้อย  นอกจากนี้การเชื้อ HIV ไม่ได้หมายถึงโรคเอดส์ แต่โรคเอดส์เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อ HIV รุนแรงขึ้นในระยะสุดท้าย ดังนั้นในผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV หรือเพิ่งได้รับเชื้อมา สามารถดูแลรักษาควบคุมเชื้อไม่ให้กระจายและเป็นอันตรายมากขึ้นได้  

2. พาผู้รับเชื้อ/คาดว่าได้รับเชื้อไปพบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรอง และรับคำแนะนำจากแพทย์ ซึ่งควรพบแพทย์ให้เร็วที่สุดเพื่อรับยาต้านไวรัส (อ่านเรื่องยาต้านไวรัสเพิ่มเติม) พร้อมทั้งศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับ HIV เบื้องต้น เช่น เชื้อ HIV สามารถติดต่อกันได้ 2 ทาง คือ การติดต่อทางเลือด  และติดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน  เป็นต้น 

3.  หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะสารคัดหลั่งที่มีเลือดปน อย่างเช่น อุจจาระ หรือปัสสาวะ  เนื่องจากเราสามารถติดเชื้อ HIV จากการสัมผัสเลือดของผู้ป่วยได้แม้ปริมาณน้อยจนมองไม่เห็นก็ตาม 

4. เราสามารถรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยได้ตามปกติ เพราะว่าการติดเชื้อทางน้ำลายนั้นมีโอกาสน้อยมาก แต่พี่หมอขอแนะนำว่าให้ใช้ช้อนกลาง และล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง เพราะนอกจากจะป้องกันการติดเชื้อ HIV แล้ว ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อโรคอื่นๆ ได้อีกด้วยค่ะ

5. เราสามารถกอด หรือสัมผัสตัวผู้ป่วยได้ตามปกติ  โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอยู่สม่ำเสมอจนค่า viral load ขึ้น undetectable    ซึ่งแสดงถึงการตรวจไม่พบเชื้อ (ต้องได้รับการตรวจจากแพทย์สม่ำเสมอ) และไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อสู่ผู้อื่นได้นั่นเอง

6. หากมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยติดเชื้อ HIV หรือแม้จะเป็นผู้ป่วยที่ค่า viral load ขึ้น undetectable แล้วก็ตาม พี่หมอขอแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันทุกครั้งค่ะ เพราะนอกจากป้องกันการติดเชื้อ HIV แล้ว ยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ด้วย 

7.  สำหรับคนที่ต้องอยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย ให้หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แปรงสีฟัน ชุดชั้นใน กรรไกรตัดเล็บ มีดโกน รวมถึงเข็มฉีดยา เพราะจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงการติดเชื้อได้

8.  หากคนใกล้ชิดหรือคนในบ้านป่วย ควรแยกตัวออกจากผู้ป่วยติดเชื้อ HIV นะคะ เนื่องจากผู้ป่วย HIV มีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอมากกว่าคนปกติ ทำให้ติดเชื้ออื่นๆ ได้ง่าย ดังนั้นทางที่ดีเมื่อเรามีอาการป่วยควรแยกตัวจากผู้ป่วย HIV จนกว่าจะรักษาหายเป็นปกติ และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนโรคติดต่อต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้ออื่นๆ จากผู้ป่วย HIV และป้องกันการนำเชื้ออื่นๆ แพร่สู่ผู้ป่วยด้วย

9.  ควรใส่ใจดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ HIV อย่างสม่ำเสมอ  ในกรณีผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่ยังปรับตัวไม่ได้ มักมีอาการเครียด กังวล หรือซึมเศร้า ผู้ใกล้ชิดควรให้กำลังใจและดูแลสภาพจิตใจผู้ป่วยอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการรักษาตัว และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข นอกจากนี้ผู้ป่วยยังต้องกินยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง  ผู้ใกล้ชิดควรช่วยดูและในส่วนนี้ด้วย

10.  หากคิดว่าเรามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ที่อยู่ร่วมกันแล้ว เช่น  ไปสัมผัสถูกเลือดของผู้ป่วย หรือมีเพศสัมพันธ์กันโดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย  พี่หมอแนะนำให้น้องรีบมาพบแพทย์ภายใน  72 ชั่วโมง เพื่อทำการรักษาและทานยาป้องกันได้อย่างทันท่วงที

                จบไปแล้วนะคะกับ 10 ข้อการปฏิบัติตัวอยู่ร่วมกับผู้ป่วยติดเชื้อ HIV เป็นยังไงกันบ้างคะ ฟังดูไม่ยากใช่มั้ย จริงๆ ก็เป็นข้อปฏิบัติที่เราควรทำกันอยู่แล้วไม่ว่าเราจะอยู่ร่วมกับผู้ป่วยหรือไม่ป่วยก็ตาม ซึ่งใช้ได้กับโรคติดต่ออื่นๆ ด้วย 

ใครมีคำถามคอมเม้นต์ไว้ได้เลย แล้วอย่าลืมติดตาม คอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้ พร้อมให้ความรู้ที่ถูกต้องตอนต่อไปกันนะคะ 

               

           ที่มาhttps://www.phyathai.com/article_detail/2566/https://www.cdc.gov/hiv/basics/livingwithhiv/protecting-others.html

 

พี่หมอเลิฟ
พี่หมอเลิฟ - Columnist พี่หมอใจดี ประจำคอลัมน์ Sex Education by Dek-D เรื่องเพศคุยกันได้

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

2 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด