5 วิธีดูแลอวัยวะเพศหญิง (ที่หมอแนะนำ)

Spoil

  • ควรล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำเปล่า ไม่ใช้สบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง หรือน้ำยาทำความสะอาด
  • หลังล้างทำความสะอาดควรเช๋็ดหรือซับให้แห้งทุกครั้ง โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเท่านั้น
  • นอกจากการล้างทำความสะอาดแล้ว กางเกงชั้นในก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดูแลรักษาความสะอาดเป็นประจำด้วย

อยากรู้เรื่องการทำความสะอาดอวัยวะเพศหญิงค่ะ

ถ้าเทียบกันแล้ว สาวๆ มักจะเป็นกังวลกับร่างกายของตนเองมากกว่าหนุ่มๆ เพราะพูดได้ว่าซอกหลืบแห่งความซับซ้อนนั้นดูเหมือนจะเยอะกว่าของผู้ชายมากนัก ไม่ว่าจะเป็นเต้านม (Breast) โดยเฉพาะอย่างยิ่งอวัยวะเพศ (Female genitalia) ซึ่งมีรายละเอียดทั้งความซับซ้อนภายใน การใช้งาน และการดูแลครับ และคำถามของเราวันนี้เป็นคำถามเรื่องของการรักษาความสะอาดอวัยวะเพศหญิง  ซึ่งจริงๆ ก็เป็นคำแนะนำที่ใช้ได้กับทุกวัย แต่ในเมื่อถามมาที่เว็บ Dek-D.com พี่หมอก็ขอเน้นเป็นสุขอนามัยหญิงวัยรุ่นแล้วกันนะครับ มาดูรายละเอียดกันเลย

ความซับซ้อนของอวัยวะเพศหญิง

อวัยวะเพศหญิงมีความซับซ้อนและบอบบางมากอย่างที่บอกไปแล้วนะครับ โดยเรื่องนี้น้องๆ น่าจะได้เรียนรู้กันมาแล้วในวิชาสุขศึกษาที่โรงเรียน (หากใครยังไม่ลืมนะ)  โดยความบอบบางก็ขึ้นอยู่กับลำดับของความซับซ้อนนี้เอง  มาดูกันว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง

หากมองด้วยตาเปล่า เราจะเห็นอวัยวะเพศหญิงจากด้านนอกตามลำดับ คือ แคมใหญ่ (Labia majora) แคมเล็ก (Labia minora) และ เม็ดละมุด (Clitoris) ซึ่งเป็นส่วนที่สัมผัสและทำความสะอาดได้ง่าย แต่สำหรับด้านในลึกเข้าไปในส่วนของ ท่อเปิดทางเดินปัสสาวะอยู่ด้านบน (Urethra) และภายในช่องคลอด (Vagina) ไปจนถึงปากมดลูก (Cervix) นั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อเยื่อบอบบางและติดเชื้อได้ง่าย หากเราดูแลสุขอนามัยส่วนด้านนอกดี ส่วนด้านในนี้ก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไรครับ ดังนั้น สิ่งที่พี่หมอจะเน้นย้ำวันนี้ก็คือการดูแลสุขอนามัยภายนอกเป็นสำคัญครับ 

ทำความสะอาดอย่างไร?

สิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ ในการทำความสะอาดอวัยวะเพศของสาวๆ  มีดังนี้ครับ

1. การล้างทำความสะอาด 

ควร ทำความสะอาดภายนอกอย่างทะนุถนอม ด้วยน้ำสะอาดหรือในบางที่แนะนำให้ใช้น้ำอุ่นทำความสะอาด  โดยควรทำความสะอาดทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ 

ไม่ควร  สวนล้าง หรือขัดทำความสะอาดด้วยอุปกรณ์  รวมถึงไม่ควรใช้สบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง หรือน้ำยาทำความสะอาดเฉพาะที่  หรือทิชชูเปียกที่มีส่วนผสมของน้ำหอม

เนื่องจากสภาพกรดเบสในช่องคลอดจะมีความเป็นกรดอ่อนๆ (Weak Acidity) เพื่อใช้ในการเลี้ยงดูแบคทีเรียปกติ และป้องกันสภาพการติดเชื้อโดยทั่วๆ ไปในช่องคลอด จึงไม่ควรทำการสวนล้าง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้โดยตรงต่ออวัยวะภายในแล้ว ยังเพิ่มโอกาสการติดเชื้อแบคทีเรียได้อีกด้วย (Bacterial infection) ซึ่งสังเกตได้จาก ตกขาวเปลี่ยนสี และมีกลิ่นเหม็นมากขึ้นครับ

ส่วนที่ไม่แนะนำให้ใช้สบู่ที่มีฤทธิ์รุนแรง/ น้ำยาทำความสะอาด/ ทิชชูเปียกที่มีน้ำหอม รวมไปถึงอะไรแปลกๆ เช่น น้ำเกลือ หรือแอลกอฮอล์ (ที่มีการแนะนำกันผิดๆ ตามอินเทอร์เน็ต) อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ครับ ซึ่งปัจจุบันก็มีด้วยกันหลากหลายยี่ห้อ แต่พี่หมอขออนุญาตไม่รีวิวนะครับ เพราะไม่ได้ใช้เอง ฮ่าๆ 

2. การเช็ดให้แห้ง หรือเป่าแห้ง

ควร เช็ดให้แห้งหลังจากล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ  ลองนึกถึงการสระผม การเป่าแห้งเป็นสิ่งที่ควรทำเหมือนเป่าผมกันเลยทีเดียว ความอับชื้นที่ตามมาหากไม่ดูแลผมให้แห้งฉันใด เชื้อราและผื่นคันก็อาจจะตามมาได้ฉันนั้นครับ โดยเช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลังเท่านั้น โดยเฉพาะเมื่อถ่ายหนัก เพื่อลดการปนเปื้อนติดเชื้อ และสำหรับคนชอบเป่าแห้งหลังอาบน้ำใหม่ๆ ควรเป่าด้วยพัดลมอุณหภูมิปกติครับ 

ไม่ควร เช็ดด้วยความรุนแรง ไม่ควรเช็ดจากด้านหลังมาด้านหน้าหรือถูไปมา และไม่ควรเป่าด้วยลมร้อนครับ อาจเกิดการอักเสบได้

3. สุขอนามัยวันปกติ

เรารู้อยู่แล้วว่าตามปกติแล้วสาวๆ จะมีตกขาวที่เป็นเมือกขาวใส ไม่มีสีแปลกๆ เช่น เขียว เหลือง ปนเลือด และไม่มีกลิ่นเหม็นเน่าหรือคาวแบบน้ำปลา แต่การจะมีตกขาวมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยครับ

ในวันปกติแบบนี้ สาวๆ หลายคนนิยมใช้ แผ่นอนามัย ทั้งเป็นประจำและเฉพาะในวันที่ต้องการความมั่นใจเป็นพิเศษ เช่น สวมชุดรัดรูปหรือเสื้อผ้าสีอ่อน กรณีนี้ก็ต้องระมัดระวังเรื่องของสุขอนามัยเช่นกันครับ

ควร เปลี่ยนแผ่นอนามัยระหว่างวัน และถึงแม้จะใช้แผ่นอนามัย ก็ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยน้ำ และเช็ด/ซับให้แห้งเสมอครับ

ไม่ควร ใส่แผ่นอนามัยเป็นเวลานาน จะยิ่งเพิ่มความอับชื้น เกิดการสะสมเชื้อโรคและแบคทีเรีย  นำไปสู่การอักเสบ ติดเชื้อได้ครับ

4. สุขอนามัยวันที่มีประจำเดือน

สิ่งแรกคือสาวๆ ต้องรู้ว่าผ้าอนามัยยี่ห้อไหน แบบไหน เหมาะสมกับสรีระตัวเอง ไม่ว่าจะวันมามากหรือมาน้อยก็จะช่วยให้ทำกิจกรรมได้มั่นใจ และไม่เกิดอาการแพ้จากการเสียดสีหรืออับชื้นครับ ดังนั้นการเลือกผ้าอนามัยให้เหมาะก็สำคัญ รวมถึงการเลือกกางเกงชั้นในที่เนื้อผ้าเบาสบาย ไม่หนาเกินไปด้วยครับ 

ควร เปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4-6 ชั่วโมง  เพื่อลดความอับชื้น เลือดประจำเดือนเป็นเลือดสะอาดนะครับ แต่เมื่อมันออกมาแล้วสะสมที่ผ้าอนามัยทั้งวันก็จะเกิดความอับชื้น ไม่สบายตัว  และเกิดการติดเชื้อได้ครับ สำหรับการล้างทำความสะอาดเมื่อเข้าห้องน้ำ ก็ทำตามปกติตามข้อบนๆ ได้เลยครับ

ไม่ควร  ใส่ผ้าอนามัยนานเกินไป โดยเฉพาะผ้าอนามัยแบบสอดที่ต่างประเทศเคยมีข่าวติดเชื้อจนถึงแก่ชีวิตด้วย เนื่องจากใส่ไว้นานเกินไปครับ  และสำหรับถ้วยอนามัยที่สาวๆ หลายคนเริ่มนิยมใช้กันในขณะนี้ ก็ต้องทำความสะอาดให้ดีพร้อมใช้ด้วยเช่นกันครับ

5. กางเกงชั้นในและเสื้อผ้าก็สำคัญ

นอกจากการดูแลรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างทำความสะอาด เช็ด/ซับให้แห้งแล้ว กางเกงชั้นในและเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ก็สำคัญครับ

ควร  ใช้กางเกงชั้นในที่เนื้อผ้าบางเบา ระบายอากาศ ไม่หนาจนสะสมเหงื่อระหว่างวันจนอับชื้น  กางเกงชั้นในควรเป็นผ้าที่ทำความสะอาดง่าย แห้งเร็ว โดยควรซักให้สะอาดและตากให้แห้งสนิทเสมอ และควรเปลี่ยนเมื่อใช้มาเป็นเวลานาน  

ไม่ควร  ใช้กางเกงชั้นในที่รัดแน่นจนเกินไป อาจเกิดการเสียดสีทำให้เจ็บหรือมีอาการคันได้  นอกจากกางเกงชั้นในแล้ว ไม่ควรสวมกางเกงชั้นนอกที่รัดแน่นซ้ำไปอีกชั้นด้วยเช่นกัน มีโอกาสทำให้เกิดอาการคันและเชื้อราตามมาได้ครับ

นอกจากการดูแลรักษาความสะอาดแล้ว การสังเกตอวัยวะเพศและจดบันทึกการมีประจำเดือนหรือสังเกตสีตกขาวนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญครับ ตอนที่แล้วพี่หมอมีพูดถึงไปบ้างแล้วว่า จะทำให้เราสังเกตความผิดปกติที่เกิดขี้นได้เร็ว และเมื่อต้องไปพบแพทย์ก็สามารถให้ข้อมูลได้ถูกต้องแม่นยำด้วย ทั้งนี้ ความผิดปกติบางอย่างหายเองได้ บางอย่างต้องรักษา อย่ากังวลและปิดบังเก็บไว้คนเดียวครับ น้องๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นอย่าอายที่จะบอกคนใกล้ชิดหรือไปพบแพทย์ ทั้งหมดก็เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตนเองให้สดใหม่พร้อมใช้งานอยู่เสมอนะครับ

 

นพ.ชนม์พิสิฐ มณฑล
พี่โด่ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

ความคิดเห็นนี้ถูกลบเนื่องจาก

ถูกลบโดยทีมงาน เนื่องจากงดตั้งกระทู้วิจัย โครงงาน หรือใช้พื้นที่เว็บบอร์ดเพื่อการส่งการบ้าน เนื่องจากเป็นการรบกวนผู้ใช้บอร์ดท่านอื่นๆ ขออภัยในความไม่สะดวก

กำลังโหลด
กำลังโหลด