ภาวะซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวนหลังจากมีเพศสัมพันธ์ Post-coital Dysphoria (PCD) อาการแปลกๆ ที่คนส่วนใหญ่เคยเป็น!!!

ภาวะซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวนหลังจากมีเพศสัมพันธ์ Post-coital Dysphoria (PCD) หรือ Post-sex blue

ฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่การมีเพศสัมพันธ์อาจจะไม่ใช่การกระทำที่มีความสุขเสมอไป เพราะเรื่องของอารมณ์นั้นอาจจะอธิบายด้วยการศึกษาและงานวิจัยไม่ได้ทั้งหมด แต่ทั้งนี้มนุษย์เราก็พยายามศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของอารมณ์ต่างๆ ให้ได้มากที่สุดเช่นกันครับ

อย่างเช่นเรื่องที่เราจะคุยกันวันนี้ครับ น้องๆ บางคนอาจจะเคยได้ยิน (หรือเคยเป็นมาก่อน) อาการ Post-coital Dysphoria (PCD) หรือ Post-sex blue หรือภาวะซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวนหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งค่อนข้างซับซ้อนพอตัวครับ พี่หมอจะพยายามอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ นะครับ

อาการ PCD หรือภาวะซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวนหลังจากมีเพศสัมพันธ์นี้ เกิดขึ้นหลังจากเรามีเพศสัมพันธ์แล้ว หลายคนเข้าใจผิดว่าเกิดจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ดีพอ เจ็บปวด หรือฝ่ายใดฝ่ายนึงมีความไม่มีพอใจในการกระทำขณะมีเพศสัมพันธ์กัน แต่ก็ไม่ใช่แบบนั้นเสมอไปครับ เพราะบางคู่มีเพศสัมพันธ์ที่พึงพอใจดี มีความสุข แต่หลังจากนั้นร้องไห้ ยิ่งทำให้อีกฝ่ายมึนงงสับสนจนอาจเกิดการทะเลาะกันได้อีก  

จากการศึกษาวิจัยยังไม่พบหลักฐานแน่นอนว่าเกิดจากอะไรครับ แต่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อธิบายได้ว่า เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยอาจเป็นเพราะฮอร์โมนที่ก่อความสุขขณะมีเพศสัมพันธ์นั้นคือโดปามีน (Dopamine) ลดลงกะทันหัน หลังจากเสร็จภารกิจก็เป็นได้

อาการของภาวะอารมณ์แปรปรวนหลังจากมีเพศสัมพันธ์

  • ร้องไห้ (Tearfulness) อาการของน้ำตาไหล โดยห้ามไม่ได้ บางคนอาจจะอธิบายไม่ได้ด้วยซ้ำว่าทำไมถึงร้องไห้ออกมา เป็นอาการที่แสดงออกมามากที่สุด
  • ซึมเศร้า (Sadness) กลายเป็นว่าหลังมีเพศสัมพันธ์ กลับมีอารมณ์ขุ่นมัว ไม่พูดมีคุย ไม่มีอารมณ์กินข้าวกินปลากันได้เลยทีเดียว
  • อาการวิตกวังกล (Anxiety) บางคนอาจจะมีอาการหวาดระแวงเกิดขึ้น วิตกกังวล กังวลใจไม่ว่าจะเรื่องตอนมีเพศสัมพันธ์ กลัวว่าจะท้อง ได้ยินเสียงต่างๆแล้วตกใจง่ายว่าปกติ เป็นต้น

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเกิดอาการเหล่านี้ได้นะครับ แม้ว่าจะมีการลดระดับของฮอร์โมนเหมือนๆ กัน จึงมีการพยายามทำการศึกษาวิจัย และทำการสอบถามว่าเกิดจากอะไร หรือแต่ละคนมีความรู้สึกอย่างไรที่น่าจะเกี่ยวของกับอาการเหล่านี้

  • คนที่เคยมีการถูกทำร้าย หรือการล่วงละเมิดในวัยเด็ก (Child abuse) ไม่ว่าจะเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Abuse) หรือประวัติการถูกทำร้ายในครอบครัวก็ตาม อาจจะมีโอกาสเกิดอาการเหล่านี้ได้มากกว่า
  • การที่ไม่มั่นใจในรูปร่าง หรือการมีเพศสัมพันธ์ของตนเอง (Self confidence in sex and body) จากการที่บางคนคิดมากมายหลายอย่างขณะที่มีเพศสัมพันธ์ เช่น เราทำอะไรไม่ดีหรือเปล่านะ แฟนเราจะพอใจไหมนะ รูปร่างฉันตรงนี้ย้วยไปไหม ตรงนี้เล็กไปหรือเปล่านะ จนทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาแทน ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ แม้ว่าคู่นอนจะไม่ได้รู้สึกอะไรก็ตาม
  • ความสัมพันธ์กับคู่นอน (Role of attachment) บางครั้งด้วยความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน และอาจจะไม่ได้ตรงไปตรงมากับคู่นอน หรือแฟนเรานั่นแหละครับ ก็อาจจะทำให้เกิดความเครียดได้ ทะเลาะกัน หรือมีปัญหากัน สุดท้ายใช้เพศสัมพันธ์แก้ปัญหา แต่หลังจากช่วงเวลาที่เราลืมมันไปชั่วคราว ปัญหาต่างๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไขก็ย้อนกลับมา กลายเป็นสาเหตุของอาการได้ครับ
อาการ Post-coital Dysphoria (PCD) หรือ Post-sex blue หรือภาวะซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวนหลังจากมีเพศสัมพันธ์
อาการ Post-coital Dysphoria (PCD) หรือ Post-sex blue หรือภาวะซึมเศร้าและอารมณ์แปรปรวนหลังจากมีเพศสัมพันธ์

ทั้งหมดที่เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าหรือความเครียดหลังจากการมีเพศสัมพันธ์นั้น อาจจะไม่ได้นับว่าเป็นโรค (Disease) นะครับ เรียกว่าเป็น "ภาวะหนึ่งที่ทำให้มีอาการ" แต่ก็อาจจะส่งผลต่อชีวิตคู่ได้เหมือนกันครับ ถ้าหากไม่พยายามทำความเข้าใจกัน เพราะบางครั้งก็อาจจะไม่ได้มีสาเหตุที่แน่นอนที่จะอธิบายให้อีกฝ่ายฟังได้ว่า เซ็กส์ครั้งนี้มันดีนะ แต่ฉันเป็นอะไรไม่รู้  

ทั้งนี้ ในการศึกษาพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งนั้น คนเราอาจจะเคยมีภาวะนี้เกิดขึ้นสักครั้งในชีวิต หรือ 1 ใน 5 นั้นอาจจะเพิ่งมีภาวะนี้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ  

วิธีการแก้ไขและรักษา

  • ถ้ามีสาเหตุที่อธิบายได้ ให้พูดคุยกันกับคู่นอน เพื่อทำความเข้าใจ ลดความวิตกกังวลและความเครียดของเราเอง
  • หากมีอาการ ให้ทบทวนว่ามีปัญหาเกิดจากอะไร หากหาสาเหตุไม่ได้ คงต้องทำใจเย็นๆ ค่อยรับรู้สติของตนเองกลับมา เพื่อควบคุมอารมณ์ตนเองให้ได้ ด้วยวิธีต่างๆ เช่นการทำสมาธิ หายใจเข้าออกลึกๆ หรือไปอาบน้ำ ทำกิจกรรมอย่างอื่นสักพัก

โดยส่วนใหญ่ภาวะเหล่านี้จะหายไปได้เอง และไม่ควรกระทบต่อชีวิตประจำวัน เพราะบางครั้งเราอาจจะสับสนกับภาวะซึมเศร้าที่ถูกกระตุ้นด้วยการมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน หากกิจกรรมที่ควรจะมีความสุข กลับกลายเป็นไม่มีความสุข ทำให้เราใช้ชีวิตปกติไม่ได้ เกิดความเครียด และทะเลาะกันบ้านแตกแล้วล่ะก็ การปรึกษาจิตแพทย์ ก็เป็นหนทางออกของชีวิตคู่ที่ควรจะดำเนินต่อไปได้นะครับ  

 

นพ.ชนม์พิสิฐ มณฑล
พี่โด่ง

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

1 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด