ยาคุมมีแบบไหนบ้าง? แล้วแบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา
น้องๆ ชาว Dek-D คนไหนเคยใช้ยาคุมกำเนิดกันบ้าง? ไม่ว่าจะช่วยเรื่องสิว ผิวพรรณ ปรับฮอร์โมน หรือคุมกำเนิดก็ตาม ซึ่งที่นิยมกันมากที่สุดก็น่าจะเป็นแบบกิน เพราะว่าหาซื้อง่าย แต่ว่ายาคุมกำเนิดก็ไม่ได้มีแค่แบบกินเพียงอย่างเดียวเท่านั้นนะ ซึ่งวันนี้พี่ปลิวก็เลยจะมาเปรียบเทียบให้ดูว่ายาคุมกำเนิดแต่ละแบบนั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง เพื่อที่เราจะได้เลือกใช้กันได้อย่างถูกต้อง
ไม่มียาคุมแบบไหนที่คุมกำเนิดได้ 100% และก็ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศได้ด้วย
ยาคุมกำเนิดแบบห่วงอนามัย (Intrauterine Device: IUD)
ห่วงอนามัย หรือ ห่วงคุมกำเนิด เรียกสั้นๆ ว่า ไอยูดี (IUD) มีหลายชนิดและมีรูปร่างแตกต่างกัน โดยมีแกนเป็นพลาสติกหรือโลหะขดเป็นวง มีลักษณะเป็นรูปตัวที ตัวยู และตัววาย ซึ่งจะใส่เข้าไปภายในมดลูก ปัจจุบันชนิดของห่วงอนามัยจะมีอยู่ 3 แบบ คือ
- แบบเคลือบสารทองแดง
- แบบเคลือบฮอร์โมนโปรเจสติน
- แบบไม่มีสารออกฤทธิ์ ที่ไม่เคลือบสารหรือฮอร์โมน
ข้อดี :
- ป้องกันการตั้งครรภ์ได้นานสูงสุด 3 - 10 ปี
- ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
- ไม่มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดการคลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักตัวขึ้น หรือเกิดสิว ฝ้า
ข้อเสีย :
- ไม่สามารถใส่ห่วงอนามัยได้ด้วยตัวเอง
- ต้องคอยเช็กสายห่วงอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะหลังการมีเพศสัมพันธ์
- อาจมีอาการปวดเกร็งมดลูกและมีเลือดออกผิดปกติได้
ข้อควรระวัง :
- เมื่อใส่ห่วงอนามัย ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด
แต่ให้ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศภายนอก
ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด : 99%
ยาคุมกำเนิดแบบฝัง (Contraceptive Implant)
เป็นการฝังหลอดยาที่บรรจุฮอร์โมนโปรเจสติน ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขน ซึ่งตัวยาจะไปยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่ ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์
น้องๆ ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถฝังยาคุมได้ฟรีแล้วนะ!
ตามสถานพยาบาลที่เปิดรับบริการ
ข้อดี :
- ฝัง 1 ครั้ง สามารถคุมกำเนิดได้ 3 หรือ 5 ปี (แล้วแต่ชนิดของยาที่เลือกฝัง)
- ไม่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เหมาะสำหรับคนที่ชอบลืมกินยาคุม
- มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากกว่าการกินและการฉีด
- หากต้องการถอดยาคุมออกก่อนกำหนด สามารถทำได้
- ประหยัดค่าใช้จ่ายระยะยาว เมื่อเทียบกับระยะเวลาคุมกำเนิด
ข้อเสีย :
- การฝังยาคุมและถอดออก ต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนทำเท่านั้น
- อาจมีอาการข้างเคียง เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติ เลือดออกกะปริบกะปรอย เจ็บคัดตึงเต้านม เป็นต้น
ข้อควรระวัง :
- เมื่อใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะบางประเภท จะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง
ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด : 99%
ยาคุมกำเนิดแบบฉีด (Injectable Contraceptive)
ยาคุมแบบฉีด มี 2 ชนิด โดยจะฉีดเข้าสู่กล้ามเนื้อ
- แบบ 1 เดือน เป็นยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม
- แบบ 3 เดือน เป็นยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินเพียงอย่างเดียว
ข้อดี :
- สะดวก ราคาถูก
- แก้ปัญหารอบเดือนมาผิดปกติ และลดอาการปวดประจำเดือน
- ไม่ต้องพบแพทย์ หากต้องการหยุดยา เพราะฤทธิ์ของยาจะค่อยๆ หมดไปเอง
ข้อเสีย :
- ไม่เหมาะกับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หรืออายุเกิน 45 ปี เพราะมีผลต่อกระดูก
- หากเลือกฉีดยาคุมแบบฮอร์โมนรวมจะฉีดเพียง 1 เข็ม ซึ่งคุมกำเนิดได้เพียง 1 เดือน และต้องมาฉีดเป็นประจำทุกเดือน
- อาจเกิดผลข้างเคียง เช่น เลือดออกกะปริบกะปรอย ประจำเดือนมาผิดปกติหรือประจำเดือนขาดไปเลย
ข้อควรระวัง :
- ไม่ควรบีบ หรือนวดบริเวณที่ฉีด เพราะจะทำให้ตัวยาดูดซึมเร็วขึ้นและอาจหมดฤทธิ์เร็วกว่ากำหนด
ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด : 97%
ยาคุมกำเนิดแบบเม็ด (Birth Control Pills)
ประกอบไปด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่มีความสำคัญต่อการป้องกันการตั้งครรภ์ ซึ่งจะมียาเม็ด 2 ชนิด
- ยาคุมแบบธรรมดา 21 เม็ด กับแบบ 28 เม็ด
- ยาคุมฉุกเฉิน แบบ 2 เม็ด และแบบ 1 เม็ด (อ่านบทความ "ยาคุมฉุกเฉิน" กินก่อนมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?)
ข้อดี :
- หาซื้อได้ง่าย
- ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ และลดอาการปวดประจำเดือน
- บางคนอาจช่วยลดการเกิดสิว ขนดก หน้ามัน
ข้อเสีย :
- ยาคุมแบบธรรมดา 21 เม็ด กับ 28 เม็ด ต้องกินเวลาเดิมทุกวัน หากลืมกินยาจะทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลง
- ยาคุมฉุกเฉิน ควรกินให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์ ภายใน 72 ชม.
- อาจมีอาการข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หงุดหงิดง่าย คัดหน้าอก มีเลือดออกกะปริบกะปรอย
ข้อควรระวัง :
- หากลืมรับประทานยาไป 1 วัน ควรรีบรับประทานยาโดยทันทีที่จำได้
ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด : 92%
ยาคุมกำเนิดชนิดแผ่นแปะ (Contraceptive Patch หรือ Birth Control Patch)
การแปะแผ่นยาคุมที่มีตัวยาฮอร์โมนประเภทเดียวกับยาคุมชนิดเม็ดและยาคุมแบบฉีด ใช้แปะบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เพื่อให้ตัวยาดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนัง
ข้อดี :
- ใช้ง่าย สะดวก สามารถแปะแผ่นยาและแกะออกได้ด้วยตนเอง
- มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการทานยาคุมชนิดเม็ด
ข้อเสีย :
- ต้องเปลี่ยนแผ่นยาทุกสัปดาห์
- ต้องคอยเช็กว่าแผ่นแปะมีการหลุดออกหรือไม่
- อาจเกิดอาการคัน แสบ หรือระคายเคืองผิวหนัง
- อาจมีอาการข้างเคียง เช่น เจ็บเต้านม คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดศีรษะ เป็นต้น
ข้อควรระวัง :
- ไม่ควรถอดแผ่นแปะออก แม้ว่าจะไม่ได้มีเพศสัมพันธ์เป็นประจำก็ตาม
ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด : 92%
ยาคุมที่เอามาเปรียบเทียบให้ดูเป็นเพียงแค่การคุมกำเนิดแบบชั่วคราวนะ ไม่สามารถคุมกำเนิดได้แบบ 100% และต้องขอย้ำกับน้องๆ ชาว Dek-D เลยว่า ยาคุมกำเนิดพวกนี้ไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์! ดังนั้น อย่าลืมใช้ถุงยางอนามัยป้องกันด้วยทุกครั้ง และหากใครยังไม่มั่นใจว่าตัวเองเหมาะจะใช้ยาคุมแบบไหน ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชก่อนใช้ยาจะดีที่สุด เพราะยาคุมแต่ละแบบก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย และผลข้างเคียงที่ต่างกัน
1 ความคิดเห็น