หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส
ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีข่าวดังข่าวหนึ่งในโซเชียลคือ มีน้องผู้ชายอายุ 11 ปี ไปพบแพทย์ด้วยอาการมีหนองที่อวัยวะเพศ แพทย์ขอตรวจ HIV แต่น้องตอบด้วยความมั่นใจว่าไม่ต้องตรวจ ทราบอยู่แล้วว่าแฟนเป็น และตนติดเป็นเพื่อนแฟน
จากข่าวนี้พี่หมอต้องบอกว่าความรักเป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่มองลึกลงไปแล้วเราพบว่า เรามีความรู้เรื่องโรคและการติดเชื้อไม่มากพอ โดยเฉพาะปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น แม้จะมีการประชาสัมพันธ์อยู่เรื่อยๆ แต่กลายเป็นว่ายังไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ในการป้องกันโรค หรือดูแลรักษาตนเอง
และจากที่เล่า(บ่น)มา พี่หมอก็เคยเขียนถึง HIV ไปหลายตอนแล้วครับ ย้อนไปอ่านกันได้ แต่วันนี้จะพูดถึงอีก 3 โรคคือ โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม และโรคซิฟิลิส ที่เกือบจะเป็นภัยเงียบเพราะบางครั้งไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยจนอาจไม่กังวลใจ ทั้งที่จริงควรกังวลหน่อย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ติดเชื้อหนองในหรือซิฟิลิส ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อ HIV มากขึ้นจากการมีแผลและการอักเสบบริเวณอวัยวะเพศด้วยครับ
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ติดต่อได้หลายทาง
การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่แค่ทางเพศสัมพันธ์อย่างที่เข้าใจกันเท่านั้นนะครับ แต่ยังสามารถติดต่อทางอื่นได้ด้วย เช่น
- การสอดใส่อวัยวะเพศ ไม่ว่าด้านหน้าหรือด้านหลัง ทั้งเพศชาย-หญิง และรักร่วมเพศ
- การใช้ปากในการมีเพศสัมพันธ์
- การใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เช่น sex toys
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบมากขึ้น
การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เรารู้จักกันและเป็นมากในประเทศไทยรวมถึงทั่วโลกตอนนี้ เช่น โรคหนองใน (Gonococcal infection) โรคหนองในเทียม (Chlamydia infection) โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นต้น โดยสถิติจากกรมควบคุมโรค ในประเทศไทยปี 2564 คิดเป็น 41.97 คน ต่อประชากรแสนคน
โรคหนองในเทียม (Chlamydial infection)
เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มากที่สุด เกิดจากเชื้อ Chlamydia Trachomatis
- มักจะไม่มีอาการ ทำให้เกิดการติดต่อคนสู่คนได้มาก และได้รับการรักษาน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
- หากแสดงอาการ มักจะมาในภาวะแทรกซ้อนแล้ว เช่น ติดเชื้ออุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease) ในผู้ป่วย ที่มีอาการปวดท้องน้อย หรือตกขาวผิดปกติ หรือเกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV มากขี้น
สถิติผู้ป่วยมักจะน้อยกว่าความเป็นจริง ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา นี่เป็นเพียงข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการรายงาน
โรคหนองในแท้ (Gonococcal infection)
เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย Neisseria Gonorrhea ที่ลักษณะอาการมักคล้ายคลึงกับการติดเชื้อหนองในเทียม
- ปัสสาวะแสบขัด หรือมีหนองออกมาจากอวัยวะเพศ (Pus per meatus, Urethritis)
- มักติดเชื้อร่วมกับหนองในเทียม
- เริ่มมีการดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการไม่ได้รักษา
- การรักษาเป็นการให้ยาฆ่าเชื้อแบบฉีด 1 ครั้ง แต่ต้องมีการติดตามอาการใกล้ชิด เช่นกัน
- อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อน ทำให้เกิดโรคในระยะแพร่กระจายได้ คือ Disseminated Gonorrhea หรือคออักเสบ หรือเยื่อบุตาอักเสบ เป็นหนองได้ (Pharyngitis, Conjunctivitis)
โรคซิฟิลิส (Syphilis)
โรคซิฟิลิสเป็นโรคที่มีอัตราป่วยสูงขึ้น คิดเป็น 14.83 ต่อประชากรแสนคนในปี 2564 และโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราป่วยโรคซิฟิลิสในปี 2564 สูงขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปี 2560 ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์จำนวนมากที่สุด โดยส่วนมากจะอยู่ในกรุงเทพมหานคร (ข้อมูลล่าสุดจากกรมควบคุมโรค)
- เกิดจากการติดเชื้อ Bacteria Treponema Pallidum
- มีหลายระยะ ทั้งที่ไม่มีอาการแสดง (Latent phase) อาการแสดง เช่น
- แผลบริเวณอวัยวะเพศ (แผลริมแข็ง : Chancre)
- ผื่นขึ้นตามตัว (Generalized rash)
- การติดเชื้อในระบบประสาท (Neurological Syphilis) เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ชักเกร็งได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีข้อมูลความรู้และการรักษามากขึ้น สถิติกลับพบผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ 10 ปีล่าสุด
การรักษาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
หลังจากพบแพทย์ประเมินอาการแล้ว อาจให้กินยาฆ่าเชื้อ และมักจำเป็นต้องตรวจหาการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ร่วมด้วย เช่น HIV และควรได้รับการตรวจซ้ำภาย 3 เดือน ส่วนการรักษาอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ครับ ที่สำคัญคือควรป้องกันไม่ให้ไปแพร่เชื้อใส่ผู้อื่นต่อ และจำเป็นต้องซักประวัติการมีเพศสัมพันธ์และให้คู่นอนมารับการตรวจด้วย
น้องๆ ชาว Dek-D จำให้ขึ้นใจ!
สรุปแล้วการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ มีได้หลายโรค และมักมีอาการแสดงบริเวณที่มีการติดเชื้อ โดยพี่หมอเองอยากฝากน้องๆ ที่อาจมีความเสี่ยง หรือเข้าสู่ช่วงวัยที่กำลังอยากรู้ อยากลอง ไว้ดังนี้
- การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มีมากมายหลายโรค สิ่งที่นำมาเล่าให้ฟังเป็นเพียงไม่กี่ส่วนที่พบ และออกข่าวในปัจจุบัน ยังมีการติดเชื้อไวรัสตับ หรือ HIV ที่อาจจะมาพร้อมกันได้เสมอ
- การป้องกันด้วยวิธีการใส่ถุงยางอนามัย เรียบง่าย และราคาถูกกว่าการการรักษาตัวโรคและภาวะแทรกซ้อนแน่นอน
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มักมีช่วงที่ไม่แสดงอาการ นั่นหมายความว่า หากคู่นอนไม่มีรอยโรค หรือแผล หรือหนองให้เห็น ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีเชื้อนั้นๆ
- หากพบว่าตนเองติดเชื้อ หรือคู่นอนติดเชื้อ จำเป็นที่จะต้องไปตรวจ หรือได้รับการรักษาร่วมด้วย เพราะอาจจะเป็นพาหะ และไม่แสดงอาการได้เช่นกัน
ถ้าถามว่าโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ในปัจจุบันน่ากลัวไหม ก็อาจจะไม่เท่าแต่ก่อนครับ แต่ก็ทำให้คนตระหนักหรือป้องกันตนเองน้อยลง แม้จะมีวิธีการรักษาที่ดีแล้วก็ตาม ยังไงพี่ก็ฝากน้องๆ ไว้ เพื่อไม่ให้เกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนในอนาคตว่า กันไว้ดีกว่าแก้นะครับ แล้วเราจะใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัย ห่างไกลโรคครับ
นพ.ชนม์พิสิฐ มณฑล
0 ความคิดเห็น