รวมคำถามสอบสัมภาษณ์เรียนต่อนอก 12 ข้อที่ต้องเจอแน่ๆ

      สวัสดีปีใหม่ค่ะน้องๆ ชาว Dek-D.com ปีใหม่นี้เราก็มาเริ่มต้นกันด้วยเทคนิคดีๆ ในการสอบสัมภาษณ์เรียนต่อต่างประเทศค่ะ กับ 12 คำถามที่ต้องเจอแน่ๆ ในวันสอบสัมภาษณ์ เพื่อที่น้องๆ จะได้เตรียมตัวกันตั้งแต่ต้นปีค่ะ

      ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้มีการสอบสัมภาษณ์หลายรูปแบบ ทั้งทางโทรศัพท์ Skype ให้เจ้าหน้าที่บินมาสัมภาษณ์ที่เมืองไทย หรือให้น้องบินไปสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ (บางทุนจ่ายค่าเดินทางที่ต้องบินไปสอบสัมภาษณ์ให้ด้วย) ส่วนผู้สัมภาษณ์ก็มีทั้งอาจารย์ ศิษย์เก่า เจ้าหน้าที่ หรือตัวแทน ซึ่งรูปแบบการสัมภาษณ์อาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่ 12 ข้อนี้ก็เป็นคำถามยอดฮิตของผู้สัมภาษณ์ที่มักจะถามเสมอๆ รู้ก่อนจะได้เตรียมเขียนบทไว้ล่วงหน้าก่อนใคร ฮะฮะ

 

1. “Tell me about yourself.” ให้เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง

ถามเพื่อ: อยากทำความรู้จักกับน้องในส่วนที่ไม่มีเขียนในใบสมัคร





ห้ามตอบ: ตอบในสิ่งที่มหาวิทยาลัยคาดหวัง เช่น ขยัน เป็นมิตร รับผิดชอบ เพราะใครๆ ก็ตอบแบบนี้

ควรตอบ: หลังจากที่น้องๆ ตอบคำตอบยอดฮิตแล้ว (“ก็หนูเป็นเด็กขยัน ร่าเริง และเป็นมิตรจริงๆ นี่นา”) น้องควรจะเสริมด้วยคุณสมบัติบางอย่างที่ทำให้คณะกรรมการจำน้องได้จากผู้สมัครทั้งหมด จะเป็นเรื่องแปลกแต่จริงหรือเรื่องเล็กน้อยก็ได้ค่ะ เช่น น้องสามารถกลั้นหายใจได้นานกว่าใครในชมรมว่ายน้ำของโรงเรียน สะสมกล่องขนมแปลกๆ ชอบทำสูตรอาหารใหม่ๆ สอนหมาให้เล่นเปียโน หรือจะเป็นเรื่องที่ว่าทำไมเพื่อนๆ ถึงชอบน้อง อาจจะเพราะน้องสามารถคลี่คลายสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานให้เย็นลงได้ หรือน้องสามารทำหน้าตลกๆ ให้เพื่อนที่ร้องไห้หัวเราะได้

 

2. “What do you do for fun in your free time?” น้องทำอะไรในเวลาว่าง

คำถามอื่น: What do you do for fun? What do you do when you’re not in school? What do you do on your weekends?

ถามเพื่อ: ต้องการรู้จักน้องมากขึ้น และมองหาว่าที่นักศึกษาที่มีชีวิตทั้งด้านการเรียนและความสนุกสมดุลกัน




ห้ามตอบ: คำตอบที่แม้เป็นความจริง แต่เป็นข้อเสียที่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียน เช่น ปาร์ตี้ตลอด เล่นเกม เล่นเฟซบุ๊ค นอนกลิ้งไปมา ดูทีวี แม้ว่ากฎสำคัญในการตอบคือความซื่อสัตย์ แต่นี่จะซื่อสัตย์ไปหน่อยมั้ย

ห้ามตอบ: “ไม่มีเวลาว่าง เพราะเป็นนักกิจกรรมตัวยง” ถึงน้องจะเป็นนักกิจกรรมตัวจริงขนาดไหน น้องก็ควรนึกดีๆ ว่าถ้าว่างขึ้นมา ใจน้องอยากทำอะไรที่สุด




ห้ามตอบ: “อ่านตำรา” ไม่ว่าน้องจะสร้างภาพให้ดูเป็นเด็กเรียนหรือเป็นเด็กเรียนขั้นสุดยอด คำตอบนี้ก็เป็นการชี้ให้เห็นเลยว่าน้องเข้าสังคมไม่ได้ ซึ่งไม่ตรงกับลักษณะนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยกำลังต้องการอยู่

ควรตอบ: คำตอบที่จริงใจแต่ไม่ชี้ข้อบกพร่องของตัวเอง และไม่สร้างภาพเกินไป อาจจะเป็นคำตอบธรรมดาอย่างกีฬาหรือดนตรีทั่วไป หรือจะเป็นงานอดิเรกแนวๆ อย่าง ชอบเรื่องเครื่องยนต์ของรถเลยไปอู่ข้างบ้านตลอด ชอบทำอาหารที่มีส่วนผสมแปลกๆ ชอบเล่นครอสเวิร์ด เล่นเกมตึกถล่มกับพี่ หรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง

 

3. “Why do you want to major in …?” ทำไมน้องถึงอยากเรียนวิชาเอกนี้

คำถามอื่น: What academic subject most interests you? What do you plan to study? What are your academic goals? Why do you want to major in business?

ถามเพื่อ: อยากรู้แผนการศึกษา อยากรู้ว่าน้องมีการวางแผนมั้ย และชอบเรียนด้านไหนเป็นพิเศษ




ห้ามตอบ: “ไม่รู้ ยังไม่ได้คิด” แม้จะเป็นความจริงเพราะบางทีน้องแค่อยากเข้าคณะนี้แต่ไม่รู้ว่าจะเรียนเอกโทอะไรยังไง น้องก็ไม่ควรตอบทื่อๆ แบบนี้

ควรตอบ: “ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกอะไรดีระหว่างนี่กับนี่” หรือ “ยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกอะไรดี แต่รู้ว่าชอบด้าน... ดังนั้นเลยคิดว่าจะลงเรียนวิชาพื้นฐานก่อนเพื่อดูว่าชอบหรือไม่” การที่น้องยังไม่รู้ไม่ใช่เรื่องผิด ฉะนั้นอธิบายเลยค่ะว่ามีเอกอะไรในใจบ้าง หรือว่าอยากลองเรียนวิชาไหนก่อนเพื่อดูว่าเหมาะมั้ย เพื่อให้คณะกรรมการเห็นภาพโดยรวมของน้อง แต่ถ้าน้องเข้าเรียนแบบมีเอกเฉพาะทางเลยหรือรู้ตัวว่าอยากเรียนอะไร ก็ตอบไปตามใจปรารถนาเลยค่ะ

 

4. “What do you see yourself doing 10 years from now?” น้องคิดว่าตัวเองจะทำอะไรอยู่ในสิบปีข้างหน้า

คำถามอื่น: What do you want to do with your life? What are your goals? What is your dream job? What do you want to do with your college degree?

ถามเพื่อ: อยากรู้ว่าน้องวางแผนอนาคตมั้ย มองการณ์ไกลหรือเปล่า และมีความมุ่งมั่นตั้งใจจะล่าฝันแค่ไหน




ห้ามตอบ: คำตอบที่แม้จะเป็นความจริงแต่ฟังดูไม่มีจุดยืนอย่าง “ไม่รู้” “อะไรก็ได้ที่ได้เงินเยอะ” “ทำงานกับบริษํทใหญ่ๆ” หรือ “แต่งงานมีลูก 5 คน”

ควรตอบ: ถ้ายังไม่มีภาพเป็นรูปเป็นร่าง (“ขนาดวิชาเอกยังไม่รู้เลย จะไปรู้หรออีกสิบปีเป็นไง”) น้องก็ต้องขยายความให้มากกว่า “ไม่รู้” ค่ะ เช่น ถ้าน้องมีวิชาเอกในใจอยู่ 3 อัน ก็ลองนึกภาพว่าถ้าได้เรียนแต่ละอันแล้วจะเป็นยังไงต่อ เล่าไป 3 ทางได้เลยค่ะ หรือถ้าเรียนแบบกว้างๆ ไม่ได้มีความรู้วิชาชีพเฉพาะทางน้องก็สามารถบอกได้ว่า “แม้จะยังไม่แน่ใจ แต่รู้แน่ว่าต้องทำงานที่ต้องรับมือกับคนเยอะๆ เพราะชอบพูดคุยกับคนและเพื่อนๆ ชอบมาปรึกษาด้วยบ่อย อาจจะลงเรียนวิชาด้านจิตวิทยาและวาทศิลป์เพิ่มเติม” แม้น้องไม่ได้เห็นภาพว่าตัวเองทำงานให้องค์กรใดๆ แต่ผู้สัมมาษณ์ก็จะเห็นแล้วว่าอย่างน้อยน้องก็รู้ว่าข้อดี ความถนัด และพรสวรรค์ของน้องคืออะไร และน้องชอบอะไร เขาจะได้รู้ว่าน้องไม่ได้มาเรียนแบบล่องลอยไปเรื่อยแน่ๆ

 

5. “What will you contribute to our campus community?” น้องจะมีส่วนช่วยชุมชนมหาวิทยาลัยอย่างไรบ้าง

ถามเพื่อ: อยากรู้ว่าน้องจะเต็มใจเสียสละเพื่อส่วนรวมมั้ย จะใจกว้างและร่วมกันพัฒนามหาวิทยาลัยหรือเปล่า




ห้ามตอบ: คำตอบที่เลี่ยงคำถามอย่าง ขยัน บริหารเก่ง หรือเป็นเพอร์เฟ็คต์นิยม เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์ไปตีความเองว่าการที่น้องขยันแปลว่าน้องจะช่วยแน่นอน แบบนี้เป็นคำตอบที่แย่ที่สุดค่ะ

ควรตอบ: นึกถึงสิ่งที่สามารถเป็นรูปธรรมได้ โดยอาจนำมาจากสิ่งที่น้องชอบหรือถนัด เช่น ถ้าชอบร้องเพลง น้องอาจจะไปช่วยร้องเพลงในงานเทศกาลต่างๆ เพื่อเรี่ยไรเงินเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าเก่งกีฬาบางชนิดก็อาจจะช่วยสอนคนที่ไม่เคยเล่นให้เล่นได้ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ทีมของมหาวิทยาลัย หรือถ้าเป็นพวกเห็นอะไรผิดที่ผิดทางไม่ได้ก็อาจจะรณรงค์การทิ้งขยะให้ถูกที่และมีการแยกขยะ เป็นต้น จะเป็นอะไรก็ได้ และยังไม่ต้องมีโครงการเป็นรูปเป็นร่างจริงจังก็ได้ ขอแค่ให้คณะกรรมการนึกภาพออกว่าประมาณไหน

 

6. “Who in your life has most influenced you?” ใครที่มีอิทธิพลต่อชีวิตน้องมากที่สุด

คำถามอื่น: Who is your hero? Who deserves the most credit for your success? Who is your role model? What historical or fictional character would you most like to be like?

ถามเพื่อ: อยากรู้จักน้องมากขึ้น พร้อมทั้งอยากรู้มุมมองของน้องที่มีต่อบุคคลอื่น และลักษณะนิสัยของน้อง




ห้ามตอบ: บุคคลสำคัญของโลกอย่างมหาตมะ คานธีหรืออับราฮัม ลิงคอร์น พวกท่านเป็นมหาบุรุษและทุกคนต่างยกย่องก็จริง แต่นอกจากจะมีคนตอบแบบนี้ไปแล้วสิบคน มันก็ยังฟังดูห่างไกลจากชีวิตจริงเกินไป น้องอาจจะพยายามเป็นคนดีที่ยิ่งใหญ่อย่างพวกท่านก็จริง แต่น้องคงไม่ได้ปฏิบัติตัวตามพวกท่านในระดับชีวิตประจำวันกันใช่มั้ยคะ

ห้ามตอบ: นักการเมือง หรือคนใหญ่คนโตที่สามารถเกิดความขัดแย้งได้ เกิดผู้สัมภาษณ์มีอคติกับฮีโร่ของน้องก็แย่เลย

ควรตอบ: คนในครอบครัว เพื่อน คุณครู อาจารย์ ติวเตอร์ ผู้นำชุมชน หรือบุคคลมีชื่อเสียงที่น้องยึดถือเขาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตจริงๆ เพื่อให้ได้คำตอบที่ใกล้ตัว น้องสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันจริงๆ ยิ่งเป็นคนที่น้องรู้จัก น้องก็สามารถเล่าเรื่องของคนๆ นั้นได้น่าสนใจกว่าเรื่องราวในหนังสือประวัติศาสตร์

 

7. “Recommend a good book for me.” ให้น้องแนะนำหนังสือให้ผู้สัมภาษณ์

คำถามอื่น: What's the last book you read? Tell me about a good book you've read recently. What's your favorite book? Why? What types of books do you like to read? Tell me about a good book you read for pleasure.

ถามเพื่อ: อยากรู้ว่าน้องอ่านหนังสือเยอะหรือไม่ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้มั้ยว่าทำไมหนังสือเล่มหนึ่งถึงควรค่าแก่การอ่าน ความสามารถในการจับจุดสำคัญของเรื่องมาเล่าให้คนอื่นฟัง ประเภทหนังสือที่ชื่นชอบ

ห้ามตอบ: หนังสือที่อยู่ในบทเรียนหรือน่าจะเป็นหนังสือที่มีในบทเรียน (ลองค้นข้อมูลว่าหนังสืออ่านนอกเวลาของเมืองนอกมีเรื่องอะไรบ้าง) เช่น ผลงานของเชคสเปียร์ หนังสือคลาสสิก หรือแบบพระอภัยมณี เพราะฟังดูเหมือนว่าน้องจะอ่านเฉพาะหนังสือที่ออกสอบ




ห้ามตอบ: หนังสือเด็กหรือเยาวชนอย่างบันทึกของเด็กไม่เอาถ่าน หรือกัปตันกางเกงใน เพราะจะใช้ภาษาง่ายๆ ที่เด็กเข้าใจง่าย แสดงว่าน้องมีทักษะการอ่านเท่าเด็กประถม

ห้ามตอบ: หนังสือขั้นสูงที่จะโชว์พาวเวอร์อย่างการวิเคราะห์สภาพจิตอาชญากร ปรัญชาศาสนาขั้นสูง หรือทฤษฎีฟิสิกส์ระดับปริญญาเอก เพราะนอกจากจะดูเหมือนต้องการอวดความเก่งแล้ว เกิดน้องไม่เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้จริงๆ ก็จะอธิบายได้ไม่ดี




ห้ามตอบ: หนังสือฮิต ที่ครองใจทุกคนอย่าง Harry Potter หรือปัจจุบันหน่อยก็ Twilight ถึงแม้ว่าน้องจะท่องได้ขึ้นใจและชื่นชอบเป็นสาวกอย่างถอนตัวไม่ขึ้น (พี่ก็เป็นคนนึงที่อ่านแฮร์รี่จนท่องได้) แต่อย่าลืมว่าใครๆ ก็ชอบ ถ้าไม่มั่นใจว่ามีมุมมองต่อหนังสือพวกนี้ที่ไม่เหมือนใคร ก็ควรหลีกเลี่ยงค่ะ เพราะคนอื่นอ่านพูดถึงเรื่องนี้ได้ดีกว่าน้อง หรือผู้สัมภาษณ์เองก็อาจเป็นแฟนหนังสือเรื่องนี้ที่เป๊ะมากกว่าน้อง

ควรตอบ: เลือกหนังสือที่ไม่ได้อยู่ในประเภทที่กล่าวมา แต่เป็นเล่มที่น้องชอบจริงๆ และรู้สึกดีถ้าจะต้องพูดถึงมัน และต้องมีสาระมากพอที่สามารถนำมาเล่าต่อได้ นอกจากนี้ควรเป็นเล่มที่เหมาะกับระดับอายุและการศึกษา และคิดว่าสามารถทำให้ผู้สัมภาษณ์ทราบว่าน้องชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เพราะมันสำคัญที่สุดตรงนี้ ข้อนี้ไม่ได้ถามเพราะอยากรู้เรื่องย่อหนังสือ ฉะนั้นน้องต้องโยงหนังสือเข้ากับตัวน้องให้ได้ จะเกี่ยวข้องกันด้วยความเหมือนหรือความต่างก็ได้

น้องสามารถพูดถึงหนังสือไทยได้นะคะ เพราะน้องผ่านเรื่องคะแนน TOEFL หรืออื่นๆ มาแล้ว เขาไม่ห่วงเรื่องคำศัพท์ค่ะ

 

8. “Does your high school record accurately reflect your effort and ability?” น้องคิดว่าผลการเรียนมัธยมสะท้อนความสามารถของน้องได้ถูกต้องหรือไม่

ถามเพื่อ: อยากรู้จริงๆ ว่ามันตรงมั้ย และเปิดโอกาสให้น้องอธิบายถึงเกรดบางวิชาหรือบางเทอมที่อาจต่ำกว่าอันอื่น

ห้ามตอบ: ตอบแบบแถๆ ถ้าน้องได้เกรด 4.00 ทุกตัวยกเว้นวิชาเดียวที่เป็น 3.5 น้องไม่ต้องหาข้ออ้างให้วิชานั้นก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วมันไม่ได้ต่างกันเลย ผู้สัมภาษณ์อาจเห็นว่าวิชานั้นน้องได้ 79.5 คะแนนก็ได้ค่ะ แบบนี้ไม่ถือว่าผลการเรียนคลาดเคลื่อนจากความสามารถที่แท้จริงของน้อง




ห้ามตอบ: โทษคนอื่น คำตอบประเภท “จริงๆ เก่งเลขได้ 4 ตลอด แต่เทอมนั้นครูเกลียดผมเลยให้แค่ 2.5” แบบนี้ไม่ได้เลยนะคะ ถ้าเกิดครูคนนั้นมีปัญหากับน้องมากถึงขนาดกลั่นแกล้งลดคะแนนน้องเหลือเกรด 2.5 ผู้สัมภาษณ์จะมองว่าแล้วน้องไม่คิดทำอะไรเลยหรือ ทำไมไม่ปกป้องตัวเองล่ะ ทำไมไม่แจ้งครูท่านอื่นให้เช็คข้อสอบน้องอีกที หรืออีกมุมหนึ่งก็จะมองว่าน้องน่าจะเป็นคนที่ไม่น่าชื่นชอบถึงขนาดโดนครูเกลียดและไม่มีใครยื่นมือเข้าช่วยด้วย จะมองทางไหนก็แย่ทั้งนั้นค่ะ

ห้ามตอบ: “พยายามขยันสุดๆ แล้วนะคะ แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมเกรดไม่ดีขึ้นเลย” ข้อนี้ก็ห้ามค่ะ เพราะมันแสดงให้เห็นว่าน้องไม่รู้ด้วยซ้ำว่าปัญหาอยู่ตรงไหน นักศึกษาที่ดีที่เขาต้องการคือคนที่สามารถระบุปัญหาได้ค่ะ จะได้แก้ได้




ควรตอบ: ถ้ามีปัญหาใหญ่ในชีวิตเกิดขึ้น โดยปกติแล้วเกรดก็จะค่อนข้างแย่ในเทอมนั้นๆ แต่เทอมอื่นจะคงที่หรือดีขึ้น น้องสามารถพูดถึงปัญหาเหล่านี้ได้เช่น คุณพ่อคุณแม่หย่ากันตอนจะขึ้นม. 4 พอดี เกรดช่วงนั้นเลยแย่ หรือน้องป่วยหนัก ต้องเข้าโรงพยาบาลนาน เหตุผลเหล่านี้ถือว่าโอเคค่ะ เพราะมันทำให้ไม่มีสมาธิกับการเรียนเต็มที่ และมันก็สอดคล้องกับผลการเรียนด้วยว่าแย่แค่เทอมเดียว แต่หลังจากนั้นก็ดีขึ้นซึ่งแสดงให้เห็นศักยภาพในการเรียนของน้อง เมื่อน้องให้ความสำคัญกับการเรียนเต็มที่

ควรตอบ: ถ้าน้องคิดว่าผลการเรียนที่ออกมาเหมาะกับน้องแล้ว ไม่มีข้ออ้างจะอ้าง ก็เทอมนั้นแอบเกเร ติดเพื่อน หรือมึนกับการเรียนม.ปลายจริงๆ นี่นา น้องก็ตอบเลยค่ะว่า “ใช่ ผลการเรียนถูกต้องทั้งหมด เทอมนั้นไม่ตั้งใจเรียนจริงๆ แต่พอม. 5 เทอม 2 ก็ตระหนักแล้วว่าการเรียนสำคัญกับอนาคตยังไง เกรดช่วงหลังเลยดีขึ้น”

 

9. “If you could do one thing in high school differently, what would it be?” ถ้าน้องสามารถทำสิ่งหนึ่งสมัยม.ปลายให้ต่างออกไปได้ น้องจะทำอะไร

ถามเพื่อ: อยากรู้จักน้องให้ดีขึ้นอีก อยากรู้ว่าน้องมองโลกในแง่ดีมากแค่ไหน และอยากรู้มุมมองของน้องเกี่ยวกับการคว้าโอกาส

ห้ามตอบ: เรื่องแย่ๆ เรื่องเลวร้ายต่างๆ อย่างเลิกกับแฟน ตบเพื่อน เรียนวิชาที่เกลียด ยุ่งกับสิ่งผิดกฎหมายหรือออกนอกลู่นอกทาง อันนี้ข้ามไปเลยค่ะ ไม่ต้องซื่อสัตย์ขนาดนั้นก็ได้ อุตส่าห์ไม่เขียนเรื่องแย่ๆ ลงไปในเรียงความสมัครเรียนแล้ว น้องจะมาเผาตัวเองตอนสอบสัมภาษณ์หรอคะ จุ๊ๆ นอกจากนี้อาจจะทำให้น้องดูเป็นคนที่จมปลักอยู่กับความทรงจำเลวร้าย ไม่ยอมไขว่คว้าสิ่งดีๆ เข้าตัวให้มากขึ้น




ควรตอบ: นึกถึงสิ่งที่น่าจะทำแต่ไม่ได้ทำ หรือนึกถึงสิ่งดีๆ ที่ทำ แต่อยากทำให้ดีขึ้น เป็นการแสดงความคิดด้านบวกๆๆ เช่น น่าจะสมัครชมรมร้องเพลงประสานเสียง ออดิชั่นเป็นนางเอกละครโรงเรียน เข้าร่วมแข่งขันเลขระดับจังหวัด ตั้งใจเรียนมากขึ้นตั้งแต่เทอมแรก เรียนภาษาต่างประเทศเพิ่ม หรือเป็นเรื่องซึ้งๆ ในครอบครัวอย่างใช้เวลากับคุณตาที่เป็นมะเร็งให้มากขึ้น ก็ได้ค่ะ

 

10. “Tell me about a challenge that you overcame.” ให้น้องเล่าถึงการเอาชนะปัญหาหรือความท้าทาย

ถามเพื่อ: ดูว่าน้องจัดการกับปํญหาอย่างไร วิเคราะห์ปัญหาและแก้ถูกจุดมั้ย การเรียนมหาวิทยาลัยต้องมีปัญหาเพิ่มขึ้นแน่ๆ จึงอยากแน่ใจว่าได้นักศึกษาที่สามารถรับมือกับมันได้




ห้ามตอบ: ปัญหาระดับชาติหรือโลก ไม่ต้องคำนึงถึงน้ำมันราคาแพง ป่าไม้ลดลง หรือรูในชั้นโอโซน แล้วก็ปัญหาที่น้องไม่สามารถแก้ได้ เช่น คุณพ่อคุณแม่หย่ากัน น้องแก้ไขตรงนั้นไม่ได้ แต่เมื่อการหย่ากระทบการเรียน อันนี้เป็นปัญหาที่น้องแก้ได้ด้วยตัวเองค่ะ




ห้ามตอบ: ดราม่า อย่าเล่ารายละเอียดปัญหาแบบขอระบายอารมณ์หรือดราม่านะคะ เพราะผู้สัมภาษณ์ไม่ใช่จิตแพทย์ที่ได้เงินมาฟังปัญหาของน้องค่ะ

ควรตอบ: ขั้นแรกต้องนึกก่อนว่าปัญหาที่ถือว่าท้าทายสำหรับน้องคืออะไร แล้วตอนนั้นน้องแก้อย่างไร แต่ละคนมีปัญหาต่างกันค่ะ เช่น ปัญหาด้านการเรียน บางคนอาจจะเก่งวิทยาศาสตร์ทุกบทยกเว้นกลศาสตร์เรื่องเดียว ก็ต้องเล่าว่าแก้ปัญหานี้อย่างไรไม่ให้สอบตก ปัญหาการทำงาน หลายครั้งที่ทำงานกลุ่มน้องอาจจะต้องเจอคนนี้ที่อู้ตลอด น้องจัดการอย่างไร ปัญหาด้านกีฬา บางคนอาจไม่เก่งกีฬาเลย ปกติก็แค่พอทำได้ แต่เทอมที่ต้องเรียนวอลเลย์บอลนี่เป็นปัญหาระดับชาติที่สุด แล้วน้องทำอย่างไรจึงสอบผ่าน ปัญหาจากการสูญเสีย การสูญเสียคนใกล้ชิดส่งผลต่อการเรียนตลอด แล้วตอนนั้นทำใจได้อย่างไร ปัญหาการไม่เป็นตามที่หวัง หลายครั้งที่ตั้งใจอะไรไว้แต่สุดท้ายก็ไม่ประสบความสำเร็จ น้องให้กำลังใจตัวเองอย่างไร หรือปัญหาการตัดสินใจ บางทีน้องก็มาถึงทางแยกที่ต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง น้องทำอย่างไรต่อ

คิดให้ดีนะคะว่าเคยมีอะไรเกิดขึ้นกับตัวน้องแล้วน้องต้องแก้ไข คนที่เป็นคนมองโลกในแง่ดีตลอดเวลาอาจจะนึกยากหน่อยเพราะจะไม่ค่อยเอาอะไรมาเป็นปัญหา แต่นั่นแหละคือการแก้ปัญหาโดยที่น้องไม่รู้ตัว

 


 



11. “Why are you interested in our college?” ทำไมน้องถึงสนใจเรียนที่นี่

ห้ามตอบ: “แม่สั่ง” “เป็นที่เดียวที่ยังเปิดรับอยู่” “เพื่อนๆ เรียนนี่กันหมด” “ดัง” “จบแล้วรวย” “หรูหราไฮโซ” “ของตาย” หรือ “มีประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจ”

ควรตอบ: ต้องสืบค้นข้อมูลมาให้ดีจากทุกแหล่ง พูดถึงสิ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยนี้ต่างจากที่อื่น และเหมาะสมกับตัวน้อง น้องๆ สามารถอ่านเทคนิคการตอบคำถามนี้แบบเต็มๆ ได้ที่นี่ค่ะ

 

12. “Any questions?” มีคำถามอะไรไหม

คำถามอื่น: What can I tell you about our college?

ห้ามตอบ: สิ่งที่สามารถหาอ่านได้ในเว็บ เช่น เปิดเทอมเมื่อไหร่ มีกี่คณะ มีนักศึกษากี่คน หรือมีสาขา...มั้ย รวมถึงคำถามแย่ๆ เช่น ปล่อย A ง่ายมั้ยหรือบัณฑิตจบใหม่ได้เงินเดือนเท่าไร เพราะฟังเหมือนไม่ได้มาศึกษาหาความรู้

ควรตอบ: หลังจากสืบค้นมาดีแล้ว สามารถถามรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่มีในเว็บเช่น “ชอบรำไทย แต่เห็นว่าที่นี่ไม่มีชมรมการแสดงพื้นเมืองทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นอะไรมั้ยถ้าจะขอตั้งชมรมนี้ และขั้นตอนการตั้งชมรมเป็นอย่างไร” หรือ “ถ้าพูดถึงช่วงเวลาที่ดีที่สุดในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ศิษย์เก่ามักนึกถึงตอนไหน” น้องๆ สามารถอ่านเทคนิคการตอบคำถามนี้ได้ที่นี่ค่ะ

 

เป็นยังไงกันบ้างคะกับ 12 คำถามที่ต้องเจอตอนสอบสัมภาษณ์ น้องๆ ที่ได้ไปถึงรอบสัมภาษณ์แสดงว่ามีคุณสมบัติและความรู้ครบตามที่มหาวิทยาลัยต้องการ เขาเรียกสัมภาษณ์เพื่อตรวจสอบว่าน้องเป็นอย่างที่เอกสารว่าไว้ หรือเป็นมากกว่านั้น ฉะนั้นน้องต้องแสดงให้คณะกรรมการเห็นมากกว่าข้อมูลในกระดาษบนโต๊ะพวกเขา น้องต้องแสดงความเป็นตัวของตัวเองด้วยความจริงใจและมั่นใจค่ะ ผ่านมาถึงขั้นนี้ก็ไม่น่าจะมีอะไรยากเกินความสามารถของเราแล้ว ^^
 


ข้อมูล
collegeapps.about.com/od/theartofgettingaccepted/tp/college-interview-questions.htm

ภาพประกอบ
www.devwebpro.com, galura-basa.blogspot.com
www.york.org, laverne.edu
dramatech.in/, www.tumblr.com

พี่พิซซ่า
พี่พิซซ่า - Columnist คอลัมนิสต์ฝ่ายเรียนต่อนอก

แสดงความคิดเห็น

ถูกเลือกโดยทีมงาน

ยอดถูกใจสูงสุด

22 ความคิดเห็น

กำลังโหลด
กำลังโหลด
Parfait(s) Member 4 ม.ค. 56 16:11 น. 3
รับรองว่าเจอจริงๆ เพราะเราเจอมาแล้วเกือบหมดทุกข้อ แต่เจอตอนที่ต้องเขียน Essay นะ
เกือบตายในบางที TT
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
terrysiansims ผู้กวาดล้างดราม่า Member 4 ม.ค. 56 20:52 น. 6
ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ คราวนี้ไ่ม่พลาดแน่ ครั้งหนึ่งในชีวิตของการไปต่อนอก
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
Nitcha 7 ม.ค. 56 23:50 น. 10
ขอบคุณมากๆค่ะ เป็นแนวทาง ในการเตรียมตัว ที่ดีมากๆ

ตอนก่อนเราไป ยังไม่ค่อยรู้อะไร คุณแม่พาไป IQ Group ที่ BTS อารีย์

เขาก็ให้คำแนะนำดีมากๆ เช่นกัน และคุณแม่บอก ไม่คิดค่าบริการ ฟรีทุกอย่างเลยค่ะ
0
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด
กำลังโหลด